หุ้นญี่ปุ่น

เช้าวันนี้ (15/02/2024) ญี่ปุ่นประกาศ GDP ไตรมาส 4/66 ลดลง 0.4% YoY ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 1.4% เท่ากับว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (technical recession) แล้ว หลัง GDP ติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส เพราะไตรมาส 3/66 GDP ติดลบไป -3.3%

การที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นทำผลงานย่ำแย่เหนือความคาดหมาย ยังทำให้หล่นจากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกให้กับเยอรมนีอีกด้วย

ปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจญี่ปุ่นมาจากการหดตัวของการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนของภาคเอกชน

ประเด็นนี้ถือเป็๋นความท้าทายต่อการกำหนดทิศทางนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ว่าจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) ต่อไป หรือเปลี่ยนทิศทางให้เข้มงวดมากขึ้น ด้วยการยุติดอกเบี้ยนโยบายติดลบ

เพราะก่อนหน้านี้ BOJ เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะค่อย ๆ ฟื้นตัว ในขณะนี้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมาอยู่ในกรอบที่วางไว้ แต่กลายเป็นว่าเงินเฟ้อที่ดีดขึ้น กลับย้อนมากดดันให้การจับจ่ายใช้สอยในประเทศตีงตัว

อีกหนึ่งความท้าทายที่ BOJ ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ย ก็คือทิศทางของค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงไปมาก เพราะฉะนั้น หากญี่ปุ่นยังคงดึงดันให้ดอกเบี้ยต่ำต่อไป เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้น ในอีกแง่ก็อาจจะเป็นปัจจัยกดดันบรรยากาศการลงทุนในญี่ปุ่นระยะยาว

ทั้งนี้ ตลาดประเมินว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 0.25% ภายในสิ้นปีนี้ โดยจะเริ่มขยับตั้งแต่รอบเดือนมีนาคมหรือเมษายน

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ทำไมยังแกร่ง?

หุ้นญี่ปุ่น

แม้จะมีปัจจัยกดดันเต็มไปหมด และดูเหมือนว่า BOJ จะอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก แต่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเช้านี้กลับไม่ได้ตอบสนองต่อข่าวลบดังกล่าว

TOPIX และ Nikkei 225 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 0.30% และ 1.25% ตามลำดับ เดินหน้าทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 34 ปี คำถามคือทำไมจึงเป็นเช่นนี้

จะเห็นว่าตั้งแต่ต้นปี 2024 นักลงทุนต่างชาติขนเงินเข้ามาซื้อหุ้นญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนมากเป็นนักลงทุนสถาบันที่เน้น Time Frame ในการลงทุนระยะยาว หนึ่งในนั้นก็คือ Berkshire Hathaway ของ Warren Buffett

เมื่อ Fund Flow ไหลเข้ามา Volume ตลาดหุ้นคึกคัก กลายเป็นว่าดัชนีทำ New High ไม่หยุด ลุ้น All Time High แม้ค่าเงินจะอ่อนก็จริง

FINNOMENA FUNDS มองตลาดหุ้นญี่ปุ่นอย่างไร?

เรามองว่าภาวะเงินเฟ้อญี่ปุ่นในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ BOJ กำหนดไว้ ทำให้มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว โดยส่งสัญญาณปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้น จาก -0.1% ในปัจจุบัน เป็น 0% ในช่วงเดือนเมษายน 2024

ซึ่งการดำเนินนโยบายรูปแบบดังกล่าวสวนทางกับธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มจะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะเลือกลงทุนสินทรัพย์ที่อยู่ในตลาดอื่น ๆ มากกว่า จึงเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นญี่ปุ่นภายในปีนี้

FINNOMENA FUNDS แนะนำลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น จากปัจจัยกดดันเรื่องการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ยังคงมีอยู่


อ้างอิง

คำเตือน

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | กองทุนรวมนี้ลงทุนกระจุกตัวในผู้ออกตราสารหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของ พอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | คำแนะนำการลงทุนนี้เป็นไปตามกรอบการพิจารณาของ FINNOMENA FUNDS ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนในระยะเวลาตามแต่ละประเภทของพอร์ตเท่านั้น บริษัทมิได้การันตีถึงผลตอบแทนที่จะได้จากคำแนะนำการลงทุนดังกล่าว มีความเสี่ยงที่ผลตอบแทนอาจไม่เป็นไปตามคาดหวัง หรือมีผลขาดทุนได้ | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE @FINNOMENAPORT | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299

TSF2024