ญี่ปุ่นถอด 94 บริษัท จากตลาดหุ้นโตเกียว

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (TSE) กำลังปรับตัวครั้งใหญ่ หันมาเน้น “คุณภาพ” มากกว่า “ปริมาณ” โดยจะยกเลิกการจดทะเบียนบริษัทจำนวนประมาณ 94 แห่งในปีนี้ ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในรอบ 11 ปี ส่งผลให้เป็นครั้งแรกที่จำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวลดลง

ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวได้รวมกับตลาดหลักทรัพย์โอซากาในปี 2013 จนกลายเป็นรูปแบบที่เห็นในปัจจุบัน โดยปีนี้มีการถอนหุ้นออกจากทั้ง 3 ตลาด ได้แก่ ตลาด Prime, ตลาด Standard และตลาด Growth เพิ่มขึ้นถึง 33 บริษัท เมื่อเทียบกับปีก่อน

คาดว่าในปี 2024 จะมีการจดทะเบียนใหม่ประมาณ 80 บริษัท เนื่องจากการเติบโตของตลาดที่ชะลอตัว แต่คาดว่า ณ สิ้นปี 2024 จะเหลือบริษัทจดทะเบียน 3,842 แห่ง ลดลง 1 แห่งจากปีก่อน โดยตัวเลขดังกล่าวเคยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 40 บริษัท ระหว่างปี 2013 ถึง 2023 

ทว่าในอีกมุม หลายบริษัทที่ยกเลิกการจดทะเบียนนั้น ทำเพื่อเพิ่มอำนาจในการบริหารจัดการหรือเพราะถูกซื้อกิจการจากบริษัทอื่นหรือกองทุน เช่น ครอบครัวเจ้าของบริษัทที่ผลักดันให้ Taisho Pharmaceutical Holdings ยกเลิกการจดทะเบียนในปีนี้ กล่าวว่า 

“การอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อาจกลายเป็นอุปสรรคในการลงทุนระยะยาวหรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน”

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยตลาดหลักทรัพย์โตเกียวกำลังปรับกฎเกณฑ์เพื่อยกระดับคุณภาพบริษัทจดทะเบียน เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของตลาดหุ้นญี่ปุ่น 

ในปี 2022 และ 2023 ที่ผ่านมา ตลาดได้เริ่มบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการบริหารต้นทุนและการดูแลราคาหุ้น ซึ่งบริษัทต่าง ๆ จะต้องแสดงความสามารถในการสร้างมูลค่าและเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งยังมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ “ผู้ถือหุ้นแบบนักเคลื่อนไหว” (Activist Shareholders) เริ่มมีบทบาทมากขึ้น โดยในปีนี้มีข้อเสนอจากกลุ่มนักลงทุนเหล่านี้ถึง 66 รายการ ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับ 2 ในรอบกว่า 50 ปี

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการยกเลิกการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากการซื้อกิจการไม่ได้จำกัดเฉพาะบริษัทขนาดเล็กอีกต่อไป

เช่น การที่ Alimentation Couche-Tard บริษัทค้าปลีกรายใหญ่จากแคนาดา เสนอซื้อกิจการของ Seven & i Holdings ผู้ดำเนินการร้าน 7-Eleven 

นอกจากนี้ จำนวนการถือหุ้นไขว้ระหว่างบริษัทญี่ปุ่นยังลดลงอีก ทำให้การเข้าซื้อกิจการแบบไม่เป็นมิตร (Hostile Takeovers) ทำได้ง่ายขึ้น

ปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวเน้นที่คุณภาพของบริษัทจดทะเบียนมากกว่าปริมาณ โดยมีแผนยกเลิกมาตรการผ่อนปรนในปี 2025 ซึ่งจะบังคับให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้น เช่น การรักษามูลค่าตลาดขั้นต่ำเพื่อคงสถานะการจดทะเบียน 

พร้อมกันนี้ยังมีการหารือเรื่องการปรับมาตรฐานในตลาดเติบโต (Growth Market) ซึ่งอาจส่งผลให้บริษัทที่ราคาหุ้นตกต่ำถูกถอดจากตลาด

ในขณะเดียวกันในยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็มีการลดลงของจำนวนบริษัทจดทะเบียนเช่นกัน ข้อมูลจากสหพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลกระบุว่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2024 สหรัฐฯ มีบริษัทจดทะเบียนเพียงกว่า 4,000 แห่ง ลดลงประมาณ 2,800 แห่ง หรือ 40% จากปี 2000 

ส่วนในยุโรป จำนวนบริษัทจดทะเบียนลดลงเหลือประมาณ 8,000 แห่ง ซึ่งลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2011 ถึง 50% สาเหตุหลักมาจากต้นทุนการจดทะเบียนที่สูงขึ้น และการระดมทุนในตลาดทุนส่วนบุคคลทำได้ง่ายและสะดวกกว่า

มุมมองการลงทุนหุ้นญี่ปุ่น

Finnomena Funds มีคำแนะนำ “Slightly Negative” ทยอยลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น เนื่องจากปัจจัยกดดันจากทิศทางค่าเงินเยนที่มีโอกาสเยนแข็งค่าต่อ หลัง BoJ มีท่าที  Hawkish มากขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจจะยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้ แต่มีความเปราะบางจากเงินเฟ้อที่สูง


อ้างอิง: Asia Nikkei

คำเตือน: การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FinnomenaPort” | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299

TSF2024