กรมสรรพากรเตรียมแก้ไขกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีจากผู้มีรายได้จากต่างประเทศที่พำนักในไทยเกิน 180 วัน แม้ไม่ได้นำเงินเข้าประเทศ โดยมุ่งสร้างความเป็นธรรมตามหลัก World Wide Income

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรกำลังอยู่ระหว่างการปรับแก้ไขกฎหมายเพื่อให้บุคคลที่มีรายได้จากต่างประเทศและพำนักอยู่ในประเทศไทยเกินกว่า 180 วัน มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยไม่คำนึงว่าจะนำเงินเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่ผู้มีรายได้จากต่างประเทศจะเสียภาษีก็ต่อเมื่อนำเงินเข้ามาในประเทศไทยเท่านั้น

ปรับกฎหมายภาษีสู่สากล

“ตามหลักของ World Wide Income เมื่อมีรายได้ และอยู่เกิน 180 วัน มีหน้าที่ต้องเสียภาษี ซึ่งในปัจจุบันหากยังไม่นำเงินเข้ามาก็จะยังไม่ถูกเก็บภาษี แต่เรากำลังจะแก้กฎหมายเป็นว่า ไม่จำเป็นต้องนำเงินเข้ามา แต่ก็ต้องเสียภาษี หากมีเงินได้จากต่างประเทศ และอยู่ในไทยเกินกว่า 180 วัน ตอนนี้กำลังร่างกฎหมาย และจะเร่งเสนอกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรม จะพยายามให้เริ่มใช้ในปี 68” อธิบดีกรมสรรพากร ระบุ

ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นไปตามหลัก Pillar 2 ซึ่งเป็นการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ที่กำหนดให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่ เสียภาษีเงินได้ในอัตราภาษีที่แท้จริงไม่น้อยกว่า 15% โดยกรมสรรพากรกำลังเร่งดำเนินการร่างกฎหมายและจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

ลงทุนผ่านกองทุนรวมไทยไม่ต้องเสียภาษี

การเปลี่ยนแปลงกฎหมายภาษีครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้จากต่างประเทศที่พำนักอยู่ในไทย โดยเฉพาะผู้ที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตรง หรือมีธุรกิจในต่างประเทศ โดยจะต้องเสียภาษีรายได้จากต่างประเทศแม้ยังไม่ได้นำเงินกลับเข้ามาในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือผู้ที่ลงทุนผ่าน DR (Depositary Receipt) และได้เสียภาษีในประเทศต้นทางไปแล้ว โดยที่ประเทศนั้นมีอัตราภาษีสูงกว่าไทยและมีสนธิสัญญาภาษีซ้อนกับไทย จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนในประเทศไทย


ที่มา: Infoquest, SET Investnow, Krungsri