Charles Ponzi แชร์ลูกโซ่ครั้งแรกของโลก

Highlight (คลิกอ่านหัวข้อที่สนใจได้เลย)


ความฝันที่จะรวยทางลัดนั้นมีมานานตั้งแต่ก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราเสียอีก คำพูดหวานหูอย่าง “อยากเป็นเศรษฐี ฟังทางนี้” หรือ “วิธีสร้างเงินล้าน แบบไม่ต้องทำงาน” ยังคงเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดผู้คนให้หลงใหลและคล้อยตามไปกับคำโฆษณาชวนเชื่อ

แม้ว่าเรื่องราวการหลอกลวงทางการเงินจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ดูเหมือนมนุษย์เราก็ยังคงหลงกลกับมันได้เสมอ ความโลภและความต้องการที่จะรวยเร็ว ทำให้หลายคนอาจละเลยที่จะพิจารณาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน

วันนี้ Finnomena จะพาทุกท่านย้อนกลับไปในอดีตเพื่อทำความรู้จักกับ “Charles Ponzi” ผู้ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ “แชร์ลูกโซ่” หรือ “Ponzi Scheme” กลโกงที่ทำให้ผู้คนสูญเสียเงินทองจำนวนมหาศาล และยังคงเป็นบทเรียนสำคัญที่เตือนใจเราถึงภัยอันตรายของความโลภ

Charles Ponzi บิดาแห่งแชร์ลูกโซ่

Charles Ponzi เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 1882 ในเมืองลูโก ประเทศอิตาลี ชื่อเต็มคือ Carlo Pietro Giovanni Guglielmo Tebaldo Ponzi เขาเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางและได้รับการศึกษาที่ดี แต่ด้วยความทะเยอทะยานและความฝันที่จะร่ำรวย เขาตัดสินใจย้ายไปยังสหรัฐอเมริกาในปี 1903 เมื่ออายุได้ 21 ปี

Ponzi มาถึงบอสตันด้วยเงินติดตัวเพียง 2.5 ดอลลาร์ หลังจากที่เขาใช้เงินเกือบหมดระหว่างการเดินทาง เขาทำงานหลายอย่างเพื่อเลี้ยงชีพ เริ่มแรกเขาทำงานล้างจานในร้านอาหาร และได้ก้าวขึ้นมาเป็นพนักงานบริการ แต่สุดท้ายก็ถูกไล่ออกเพราะโกงเงินทอนลูกค้า

ในเวลาต่อมา Ponzi ได้ย้ายไปแคนาดาและได้มีโอกาสทำงานเป็นผู้ช่วยในธนาคารชื่อว่า Banco Zarossi ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะเขาได้พบว่าธนาคารของเขาให้ดอกเบี้ยลูกค้าสูงถึง 6% ซึ่งสูงกว่าตลาดในเวลานั้นถึง 2 เท่า

แต่จริง ๆ แล้ว มันคือการนำเงินฝากของลูกค้ารายใหม่ มาจ่ายให้กับผู้ฝากรายเก่า ซึ่งสุดท้ายธนาคารต้องปิดกิจการไป และเจ้าของหนีไปต่างประเทศพร้อมกับเงินของเหยื่อจำนวนมหาศาล

ประสบการณ์นี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้เขาคิดแผนการฉ้อโกงของตัวเองในภายหลัง

จุดเริ่มต้นการฉ้อโกงครั้งใหญ่

ในปี 1919 Ponzi กลับมาที่บอสตันและเริ่มธุรกิจที่เรียกว่า “Securities Exchange Company” โดยอ้างว่าสามารถทำกำไรมหาศาลจากการซื้อขาย International Reply Coupons (IRCs) ซึ่งเป็นคูปองที่ใช้แลกเป็นแสตมป์เพื่อส่งจดหมายระหว่างประเทศ

Ponzi อ้างว่าเขาสามารถซื้อ IRCs ในประเทศที่มีค่าเงินอ่อนแอ และขายในประเทศที่มีค่าเงินแข็งกว่า ทำให้เข้าทำกำไรสูงถึง 400% ภายในเวลาเพียง 90 วัน โดยเขาสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทน 50% แก่นักลงทุนภายใน 45 วัน หรือ 100% ภายใน 3 เดือน

แต่ความจริงแล้ว แผนการของ Ponzi เป็นเพียงการนำเงินจากนักลงทุนรายใหม่มาจ่ายผลตอบแทนให้กับนักลงทุนรายเก่า โดยไม่มีการลงทุนจริง วิธีการนี้กลายเป็นที่รู้จักในเวลาต่อมาว่า “แชร์ลูกโซ่” หรือ “Ponzi Scheme”

เมื่อความโลภนำพาไปสู่หายนะ

แผนการของ Ponzi ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ด้วยสัญญาผลตอบแทนที่สูงลิ่ว นักลงทุนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาลงทุนกับเขา ทั้งคนธรรมดา นักธุรกิจ หรือแม้แต่ผู้พิทักษ์กฎหมายอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังหลงเชื่อ

ในช่วงรุ่งเรืองที่สุด เขาสามารถระดมทุนได้มากถึง 1 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 33 ล้านบาท) ต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาลในสมัยนั้น เขาใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ซื้อคฤหาสน์ รถยนต์ราคาแพง และเครื่องประดับมีค่า

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ Ponzi เริ่มดึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชนและทางการ นักข่าวเริ่มสงสัยในความเป็นไปได้ของผลกำไรที่เขาอ้าง และเริ่มสืบสวนธุรกิจของเขา

ในเดือนกรกฎาคม 1920 หนังสือพิมพ์ Boston Post เริ่มตีพิมพ์บทความวิพากษ์วิจารณ์ธุรกิจของ Ponzi อย่างหนัก ทำให้นักลงทุนเริ่มตื่นตระหนกและพากันมาไถ่ถอนเงินลงทุนคืน

จุดจบของ Charles Ponzi กับแชร์ลูกโซ่ที่เพิ่งเริ่ม

วันที่ 10 สิงหาคม 1920 เป็นวันที่แผนการของ Ponzi พังทลาย เมื่อทางการเข้าตรวจสอบบัญชีของเขาและพบว่าเขามีหนี้สินมากกว่า 7 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 230 ล้านบาท) นำไปสู่การจับกุม Charles Ponzi ในข้อหาฉ้อโกงทางไปรษณีย์

ผลกระทบจากการล่มสลายของแชร์ลูกโซ่ของ Ponzi ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของบอสตัน โดยธนาคารหลายแห่งถึงกับล้มละลาย นักลงทุนสูญเสียเงินออมทั้งชีวิต และความเชื่อมั่นในระบบการเงินถูกทำลายลงอย่างหนัก

Ponzi ถูกตัดสินจำคุก 5 ปี แต่ได้รับการปล่อยตัวหลังจากรับโทษไปเพียง 3 ปีครึ่ง หลังจากนั้นเขาพยายามหนีไปยังฟลอริดาและทำการฉ้อโกงอีกครั้ง แต่ก็ถูกจับได้อีก สุดท้าย Ponzi ถูกเนรเทศกลับอิตาลีในปี 1934

Charles Ponzi เสียชีวิตในปี 1949 ด้วยวัย 66 ปี ในสภาพยากจนและถูกลืมเลือน แต่ชื่อของเขากลับกลายเป็นคำที่ใช้เรียกการฉ้อโกงประเภทนี้ เพราะเขาเป็นคนที่ทำให้ “แชร์ลูกโซ่” โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์

เรื่องราวของ Charles Ponzi เป็นบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับความโลภและความเสี่ยงของการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงปัจจุบัน

เทคนิคที่แชร์ลูกโซ่มักใช้เพื่อล่อลวงคน

  1. ใช้เรื่องเล่าที่น่าสนใจ เช่น จากสถานะไม่ดีกลับกลายเป็นร่ำรวยได้ภายในเวลาสั้น ๆ
  2. ใช้คำเยินยอจากคนอื่น เช่น ใช้วิธีนี้แล้วได้ผลจริง ได้เงินจำนวนมาก
  3. ทำให้รู้สึกว่าต้องรีบตัดสินใจ เช่น คอร์สนี้เปิดรับแค่ 10 คนเท่านั้น
  4. ใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน เช่น ช่วงที่ซื้ออะไรก็ราคาขึ้น ช่วงที่แต่ละประเทศมีการเปลี่ยนแปลง คนจะไม่ค่อยสงสัยอะไร
  5. ย้ำว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องหลอกลวง”

ดูยังไงว่าแบบไหนคือแชร์ลูกโซ่

  1. อ้างว่ารับประกันผลตอบแทน การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง การรับประกันผลตอบแทนสูงเกินจริง หรือการยืนยันว่าไม่มีความเสี่ยงเป็นสัญญาณอันตราย
  2. ผลตอบแทนสูงเกินจริง: ผลตอบแทนที่สูงเกินจริง เช่น 10% ต่อเดือน หรือ 2-3% ต่อวัน เป็นไปได้ยากและไม่น่าเชื่อถือ หรือถ้าคิดรวม ๆ แล้วผลตอบแทนเกิน 10% ต่อปี ให้สงสัยไว้ก่อนเลย 
  3. รูปแบบการลงทุนไม่ชัดเจน ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการลงทุนและการสร้างผลกำไรไม่ชัดเจน ตรวจสอบไม่ได้ หรือไม่มีการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  4. ชวนคนอื่นมาลงทุน การที่โครงการลงทุนใด ๆ ชักชวนให้ชวนเพื่อนมาลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนเพิ่มเติม (เพื่อนมาก ยิ่งโบนัสมาก) เป็นลักษณะเด่นของแชร์ลูกโซ่
  5. เร่งให้ตัดสินใจ การเร่งรัดให้ตัดสินใจลงทุนอย่างรวดเร็วโดยไม่มีเหตุผลที่น่าเชื่อถือ เป็นสัญญาณเตือนว่าอาจเป็นการหลอกลวง

อ้างอิง: Thai PBS, The Money Coach 

TSF2024