เล่าธุรกิจ BYD

จุดเริ่มต้นของ BYD

BYD ย่อมาจากคำว่า “Build your dreams” เป็นบริษัทสัญญาชาติจีน ก่อตั้งโดย Wang Chuanfu

Wang Chuanfu จบปริญญาตรีในสาขาเคมีและวัสดุศาสตร์ ในช่วงต้นยุค 90s เขาทำงานเป็นนักวิจัยด้านโลหะวิทยา ซึ่งเป็นงานที่คลุกคลีอยู่กับโลหะหายากที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแบตเตอร์รี่

กระทั่งปี 1995 จึงตัดสินใจเปิดบริษัท BYD ที่เมืองเซินเจิ้น นับหนึ่งด้วยการเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สำหรับใช้ในอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น โทรศัพท์มือถือ กล้องดิจิทัล แล็ปท็อป เป็นต้น

ช่วงต้นของธุรกิจ BYD เติบโตจนเป็นเจ้าตลาดกว่า 50% ในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับมือถือในจีน และมีลูกค้าทั่วโลก เช่น Nokia, Samsung, Apple, Motorola, Dell เป็นต้น

ปี 2000 BYD กลายเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนรายใหญ่ที่สุดของโลก และอีก 2 ปีต่อมา ก็ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง

ก้าวสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2003 บริษัทแตกไลน์ธุรกิจใหม่ “BYD Auto” โดยการควบรวมกิจการของ Qinchuan Auto ผู้ผลิตรถยนต์ในจีนที่ตอนนั้นกำลังเจอวิกฤต

เป้าหมายระยะไกลของ BYD Auto คือการรุกเข้าสู่ธุรกิจยานยนต์พลังงานสะอาด ซึ่งถือว่าแปลกใหม่ในเวลานั้น

ทำให้ระยะแรก บริษัทยังคงผลิตรถยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันออกมาขายสู่ตลาด แต่หลังบ้านก็พยายามพัฒนาต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ไปพร้อม ๆ กัน

ความพยายามของ BYD สำเร็จในปี 2008 ด้วยการเปิดตัวรถรุ่น F3DM ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) คันแรกของโลก รวมทั้งสามารถพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเวอร์ชันต้นแบบ BYD E6 ได้สำเร็จ

ในปีเดียวกัน Berkshire Hathaway ของ Warren Buffett ก็ตัดสินใจเข้าซื้อหุ้น BYD จำนวน 10% คิดเป็นมูลค่า 230 ล้านดอลลาร์ เวลานั้น BYD มีมูลค่าบริษัทเพียง 3,359 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

การลงทุนที่ยอดเยี่ยมของ Charlie Munger 

เล่าธุรกิจ BYD

Charlie Munger เป็นผู้ผลักดันให้ Berkshire Hathaway เกิดการลงทุนใน BYD โดยทุบโต๊ะและเอ่ยปากเองว่านี่เป็นดีลที่ยอดเยี่ยม เราจะพลาดโอกาสแบบนี้ไปไม่ได้

เขามองเห็นศักยภาพของผู้ก่อตั้ง Wang Chuanfu และบอกว่าชายคนนี้เป็นเหมือนการผสมผสานระหว่าง Thomas Edison กับ Jack Welch คือมีทั้งความสามารถในการแก้ปัญหาทางเทคนิค และมีความสามารถในการบริหารจัดการ เพื่อบรรลุเป้าหมาย

ช่วงปี 2023 Charlie กล่าวว่า ไม่มีการช่วยเหลืออะไรของเขาที่มีคุณค่าต่อ Berkshire Hathaway มากเท่ากับการสนับสนุนให้ลงทุนใน BYD

Berkshire Hathaway เคยถือหุ้น BYD มากถึง 20% โดยขายทำกำไรครั้งแรกเมื่อปี 2022 หลังราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาราว 20 เท่า และทยอยลดสัดส่วนจนเหลือ 6.9% ในปัจจุบัน แต่กระนั้นนี่ถือเป็นหุ้นจีนที่ตำนานวีไอถือยาวกว่า 16 ปีแล้ว

ผู้นำในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก 

เล่าธุรกิจ BYD

ทุกวันนี้ BYD ก้าวขึ้นสู่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างเต็มรูปแบบ โดยมี Market Share เป็นอันดับ 1-2 ของโลก ขึ้นลงสลับกับ Tesla (TSLA) แบบไตรมาสต่อไตรมาส

ตลอดปี 2023 ที่ผ่านมา BYD ผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) มากถึง 3 ล้านคัน โดยขยายธุรกิจไปในหลายประเทศ รวมถึงลงทุนตั้งฐานการผลิตทั้งในจีน, สหรัฐฯ, แคนาดา, บราซิล, ญี่ปุ่น ฮังการี, อินเดีย และไทยที่มีแผนจะตั้งโรงงานใหม่ สำหรับรองรับการผลิตในปี 2024 นี้

จุดแข็งที่ทำให้ BYD ประสบความสำเร็จ ประกอบมาจากความสามารถในการผลิตแบตเตอรี่ได้เอง จึงควบคุมการผลิตได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้คุมราคาได้ถูกกว่าแบรนด์อื่น ๆ

นอกจากนี้ การมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ในจีน ก็เป็นเบาะกันกระแทกให้บริษัทแข็งแกร่ง ก่อนที่จะขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศต่อไป

อย่างไรก็ตาม BYD กำลังเจอความท้าทายใหม่ในเรื่องสงครามราคาที่เกิดจากการแข่งขันอันรุนแรงของค่ายรถยนต์ในจีน ซึ่งต้องติดตามว่าบริษัทจะปรับแผนกลยุทธ์อย่างไร เพื่อรักษาความเป็น Top of Mind ของแบรนด์ EV ระดับโลก

TSF2024