หุ้น PDD ร่วง 28% ฉุดผู้ก่อตั้งหลุดจากตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของจีน สะท้อนภาวะการบริโภคที่ซบเซา

Colin Huang ครองตำแหน่งบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศจีนได้เพียง 18 วัน หลังจากราคาหุ้นของ PDD Holdings Inc. บริษัทแม่ของแอปพลิเคชันอีคอมเมิร์ซชื่อดังอย่าง Temu ดิ่งลงอย่างหนักในวันจันทร์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินของ Huang ลดลง 1.41 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.76 แสนล้านบาท) ภายในวันเดียว ซึ่งถือเป็นการขาดทุนมากที่สุดของเขา

ปัจจุบัน Huang ตกมาอยู่อันดับที่ 4 ของบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศจีน ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.52 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท)

Temu น้องใหม่มาแรง DNA รุ่นพี่

Temu เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีนที่กำลังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท PDD Holdings Inc. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Pinduoduo แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของจีนที่มีผู้ใช้งานถึง 750 ล้านบัญชี

Temu ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในตลาดการค้าออนไลน์ โดยหลังจากเปิดตัวครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายน 2022 แอป Temu ก็มียอดดาวน์โหลดใช้งานเป็นอันดับ 1 ในหมวดหมู่แอปพลิเคชันซื้อขายสินค้าออนไลน์ แซงหน้าแม้แต่ยักษ์เจ้าถิ่นอย่าง Amazon ภายในไม่กี่อาทิตย์หลังจากเปิดตัว พร้อมทั้งขึ้นแท่นเป็นแอปพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดทั้งใน iOS และ Android แซงหน้า TikTok, Facebook และ Instagram

ปัจจุบัน Temu ได้เปิดให้บริการแล้วกว่า 49 ประเทศ ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี และเปิดให้บริการในเมืองไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ 29 กรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นการขายสินค้าที่ไม่มีแบรนด์ มีสินค้าให้เลือกหลายหลาย ในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งทั่วไป ดึงดูดผู้บริโภคที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย

ถึงแม้ Temu จะดูเหมือนเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซน้องใหม่ แต่จริง ๆ แล้ว Temu ได้รับประโยชน์อย่างมากจากการเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย PDD Holdings โดยอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจากธุรกิจ Pinduoduo ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรุ่นพี่ ทำให้ Temu มีความได้เปรียบในด้านระบบจัดการหลังบ้านและการบริหารคลังสินค้าที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ Temu ยังใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการจัดการโลจิสติกส์และการบริการลูกค้า ส่งผลให้สามารถนำเสนอสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งทั่วไปในตลาด พร้อมทั้งสามารถจัดส่งสินค้าจากจีนไปยังประเทศต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ปัจจัยเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ Temu สามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างโดดเด่นในตลาดอีคอมเมิร์ซระดับโลก

รายได้ลดลงจากค่าเฉลี่ย

PDD รายงานรายได้ไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2024 ออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาด โดยอยู่ที่ 9.71 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 4.6 แสนล้านบาท) ซึ่งลดลงจากค่าเฉลี่ยราว 1 แสนล้านหยวน (ประมาณ 4.7 แสนล้านบาท) นอกจากนี้ PDD ยังออกมาเตือนอีกว่าการเติบโตของยอดขายในอนาคตจะชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม รายรับสุทธิของ PDD อยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท) สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.75 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท) 

ในประเทศจีน PDD ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Retailer) เช่น Alibaba และ JD.com Inc. ด้วยกลยุทธ์การกำหนดราคาที่ต่ำ ขณะเดียวกันก็ใช้แคมเปญส่งเสริมการขายเชิงรุก เพื่อต่อสู้กับธุรกิจดาวรุ่ง เช่น Kuaishou Technology 

สิ่งนี้ทำให้ Colin Huang ผู้ก่อตั้ง PDD Holdings กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศจีนด้วยความมั่งคั่ง 4.93 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.35 แสนล้านบาท)

ผู้บริหารแสดงความกังวล

ทั้งนี้ Chen Lei CEO ของ PDD Holdings ย้ำหลายครั้งว่าแนวโน้มเชิงบวกของบริษัทไม่สามารถคงอยู่ได้ในระยะยาว ท่ามกลางการแข่งขันรุนแรงจากคู่แข่งอย่าง TikTok และ Alibaba ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัท PDD ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ (NASDAQ) ร่วงลงกว่า 28% นับว่าเป็นการลดลงมากที่สุดตั้งแต่บริษัทได้ IPO เข้าตลาดมาในปี 2018

ผู้บริหารของ PDD แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยระบุว่าผู้บริโภคกำลังตัดสินใจซื้อสินค้าอย่างรอบคอบ อีกทั้งยังคำนึงถึงคุณภาพและความคุ้มค่ามากขึ้น

สัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัว? 

สถานการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงภาวะการบริโภคที่ซบเซาลงในประเทศจีน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยยอดค้าปลีกในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2024 เติบโตเพียง 3% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเติบโตกว่า 8% ในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19

ผลประกอบการที่น่าผิดหวังของ PDD อาจเป็นสัญญาณเตือนเกี่ยวกับสุขภาพของเศรษฐกิจจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้า แม้แต่ในสินค้าที่มีราคาเข้าถึงได้ง่าย 

นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณอื่น ๆ เช่น การปิดสาขาของร้านอาหาร Din Tai Fung และรายได้ที่ลดลงของ Starbucks ในประเทศจีน

สถานการณ์นี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อ PDD เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมค้าปลีกของจีนด้วย เช่น Alibaba และ JD.com ที่ราคาหุ้นก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของนักลงทุนต่อภาวะเศรษฐกิจจีนที่กำลังชะลอตัวลง

อยากลงทุนใน PDD Holdings แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง 

กองทุนรวมหลายแห่งในประเทศไทยได้เล็งเห็นศักยภาพการเติบโตของ PDD Holdings และได้นำหุ้นของบริษัทไปรวมอยู่ในพอร์ตการลงทุนแล้ว โดยเฉพาะกองทุนหุ้นจีนที่เน้นลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยี รวมถึงกองทุนหุ้นเทคโนโลยีเติบโตต่าง ๆ  

Finnomena Funds จึงได้รวบรวมตัวอย่างกองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนใน PDD Holdings มาฝาก ดังนี้

TCHCON สัดส่วนประมาณ 9.37%

SCBCTECHA และ TCHTECH-A สัดส่วนประมาณ 8.28%

BCAP-CTECH สัดส่วนประมาณ 8%

BIC สัดส่วนประมาณ 7.58%

KFCMEGA-A สัดส่วนประมาณ 6.7%

ABCG สัดส่วนประมาณ 6.53%

K-CHINA-A(A) สัดส่วนประมาณ 6.14%

KFGG-A และ ONE-UGG-RA สัดส่วนประมาณ 4.23%

KT-CHINA-A สัดส่วนประมาณ 4.17%

*ข้อมูล ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2024 โดย Financial Times สัดส่วนการลงทุนอาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต


ที่มา: Bloomberg, Bloomberg, Bloomberg, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, Financial Times

คำเตือน: ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | กองทุนรวมนี้ลงทุนกระจุกตัวในผู้ออกตราสารหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของ พอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | คำแนะนำการลงทุนนี้เป็นไปตามกรอบการพิจารณาของ Finnomena Funds ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนในระยะเวลาตามแต่ละประเภทของพอร์ตเท่านั้น บริษัทมิได้การันตีถึงผลตอบแทนที่จะได้จากคำแนะนำการลงทุนดังกล่าว มีความเสี่ยงที่ผลตอบแทนอาจไม่เป็นไปตามคาดหวัง หรือมีผลขาดทุนได้ | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE @FinnomenaPort | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299

TSF2024