HOT NEWS DIGEST – การปล่อยกู้ในยูโรโซนยังคงอ่อนแอ ถึงแม้ ECB จะใช้ดอกเบี้ยติดลบ
- ECB เริ่มใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบในปี 2558 เพื่อหวังที่จะกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้มากยิ่งขึ้น
- แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ ธนาคารต่างๆยังคงนำเงินไปฝากที่ ECB โดยต้องเสียดอกเบี้ยในการฝาก
- เหตุผลที่ธนาคารพาณิชย์ต่างนำเงินไปฝากก็เพราะ ความต้องการสินเชื่อยังซบเซาและปัญหาหนี้เสียที่ยังคงมีอยู่ในยูโรโซน
- การที่ธนาคารไม่ปล่อยกู้นั้น เป็นประเด็นหนึ่งที่คอยกดดันตัวเลขเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ ECB ให้ความสำคัญมาก
FINNOMENA รายงาน
แนวโน้มสินเชื่อยูโรไม่เพิ่ม แม้อีซีบีใช้ดอกเบี้ยติดลบ
แหล่งข่าว : ฐานเศรษฐกิจ 25 มีนาคม 2559
แม้อีซีบีจะออกมาตรการกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ด้วยการตั้งดอกเบี้ยเงินฝากข้ามคืนในแดนลบ แต่ข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่ามาตรการของอีซีบียังไม่ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น
รายงานจากบลูมเบิร์กระบุว่า มูลค่าเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ในยูโรโซนนำมาฝากกับธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่นอกเหนือจากเงินฝากตามข้อบังคับนั้น เพิ่มขึ้น 6 เท่านับตั้งแต่มีการนำนโยบายดอกเบี้ยติดลบมาใช้เมื่อปี 2558 ขณะเดียวกัน การปล่อยสินเชื่อภายในภูมิภาคยูโรโซนแทบจะไม่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากสินทรัพย์มูลค่ารวม 6.46 แสนล้านยูโรที่ธนาคารมีเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ประมาณ 85% ถูกนำกลับไปฝากไว้ที่อีซีบี
แม้อีซีบีจะปรับลดดอกเบี้ยสู่ระดับติดลบ ซึ่งหมายความว่าธนาคารจะต้องจ่ายเงินเพื่อฝากเงินกับอีซีบี แต่หนึ่งเหตุผลที่ธนาคารยอมจ่ายเงินพื่อนำเงินไปฝากเป็นเพราะความต้องการสินเชื่อที่อ่อนแอในภาวะเศรษฐกิจที่ยังค่อยๆ ฟื้นตัวจากภาวะถดถอยและวิกฤติหนี้สาธารณะ เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ ธนาคารยังมีปัญหากับหนี้เสียหรือระดับเงินทุนต่ำ ขณะที่ธนาคารซึ่งอยู่ในกระบวนการปรับโครงสร้างลังเลที่จะเพิ่มการปล่อยสินเชื่อ ผู้เชี่ยวชาญมองว่า แม้แต่นโยบายล่าสุดของอีซีบี ในการจ่ายดอกเบี้ยให้กับเงินกู้ที่ธนาคารมากู้จากอีซีบีอาจจะช่วยไม่ได้มากนัก
FINNOMENA Hot News Digest
คือการนำข่าวเรื่องการเงินการลงทุนที่สำคัญ ๆ ในแต่ละวัน มาทำการย่อย (digest)ให้เข้าใจง่าย ๆ รวมถึงอธิบายถึงผลที่อาจจะเกิดขึ้นจากเรื่องดังกล่าว โดยทีมงาน FINNOMENA เพื่อให้นักลงทุนได้เสริมความเข้าใจในข่าวสารต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และเรียนรู้ที่จะวิเคราะห์เรื่องราวต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง