Passive-Fund-02

สวัสดีครับ ในช่วงนี้ที่นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังให้ความสนใจกับการลงทุนในกองทุนรวมมากขึ้น ก็น่าจะคุ้นเคยกับกองทุนหุ้นทั่วไปที่มีลักษณะเป็นแบบ Active Fund หรือเป็นกองทุนที่ผู้จัดการกองทุนพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ผลตอบแทนของกองทุนชนะค่ามาตรฐาน (Benchmark) หรือพยายามทำผลตอบแทนให้ดีที่สุด โดยมีการคัดเลือกหุ้น ด้วยแนวคิดต่าง ๆ เช่น เลือกหุ้นพื้นฐานดี, เลือกหุ้นที่มีขนาดเล็ก- กลาง รวมถึงบางครั้งก็คำนึงถึงช่วงราคาซื้อขายที่เหมาะสมด้วย

 

แต่จะมีนักลงทุนส่วนน้อยที่จะรู้จัก และชอบการลงทุนกับกองทุนแบบ Passive Fund หรือ ที่เราเรียกว่าเป็นการลงทุนแบบให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง หลายท่านอาจจะเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า แล้วดัชนีคืออะไร ผมขออธิบายแบบนี้ครับ เนื่องจากหุ้นในตลาดมีการซื้อ-ขาย กันนั้นมีการเปลี่ยนแปลงของราคาไปจากเมื่อวาน แต่เราไม่รู้ว่าทั้งตลาดมันเปลี่ยนแปลงไปในทางไหน เราก็เลยเอาราคา หรือ ขนาดของสินทรัพย์ทั้งตลาดมาทำเป็นดัชนี เช่น SET50 index ที่จะนำหุ้น 50 ตัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในตลาดมาทำเป็นดัชนี และกำหนดค่าเริ่มต้นที่ 100 สมมติว่าเวลาผ่านไป 20 วันกลายเป็น 110 ก็แสดงว่ามีการซื้อขายมากขึ้นทำให้ราคาสูงขึ้น ส่วนการอ้างอิงก็คือ การที่กองทุนพยายามลงทุนเลียนแบบการขึ้น-ลงของดัชนีตลาดนั่นเอง

 

แล้วทำไมถึงต้องลงทุนตามดัชนีตลาดด้วย ? ทั้งนี้ก็เพราะว่าในต่างประเทศมีการทดลอง และการเก็บสถิติในระยะยาว แล้วพบว่ามีผู้จัดการกองทุนแบบ Active Fund น้อยคนนักที่จะสามารถทำผลตอบแทนได้มากกว่าตลาด และถ้าเราตรวจสอบลึกลงไป จะเห็นได้ว่ายิ่งระยะยาวเท่าไหร่ Passive Fund ก็มีแนวโน้มที่จะดีกว่า Active Fund มากขึ้นไปด้วย ส่วนข้อดีอีกข้อก็คือการลงทุนแบบนี้มีค่าธรรมเนียมถูกมาก เนื่องจากผู้จัดการกองทุนไม่ต้องมาเสียเวลาในการเลือกหุ้น แค่ลงทุนด้วยสัดส่วนแบบเดียวกับดัชนีอ้างอิงเท่านั้นเองครับ

 

กองทุนประเภทนี้เป็นที่น่าสนใจและได้รับการพูดถึงทั้งนักลงทุนระดับแนวหน้าในเมืองไทยเช่น ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร หรือ นักลงทุนระดับโลกอย่างเบนจามิน เกรแฮม และวอเร็น บัฟเฟตต์ เองก็เคยแนะนำให้นักลงทุนรายย่อย ลงทุนกับกองทุนแบบ Passive อีกด้วยครับ

 

แต่ในบ้านเรากองทุน Active Fund ก็ทำผลตอบแทนได้มากกว่า Passive Fund อยู่เยอะพอสมควร เพราะส่วนมากหุ้นที่อยู่ในบ้านเรายังคงมีจำนวนไม่มาก และยังมีหุ้นเล็ก ๆ ที่รอการเติบโตอยู่ ซึ่งผมคาดการณ์ว่าคงอีกสักพักกว่าที่ตลาดหุ้นในบ้านเราจะพัฒนาไปเป็นเหมือนต่างประเทศครับ แต่ถ้าท่านไหนสนใจจะลงทุนกับกองทุนแบบ Passive Fund แล้วละก็เรามาดูกันเลยว่าปัจจัยอะไรที่มีผลต่อการลงทุน และกองทุนไหนที่น่าสนใจในกันบ้าง

 

ปัจจัยหลักที่เราจะใช้ในการพิจารณาลงทุนกับกองทุนแบบ Passive Fund ก็คือ Tracking Error หรือ ดูว่ากองทุนที่เราสนใจจะซื้อนั้นผิดเพี๊ยนไปจากดัชนีตลาดมากหรือน้อย ถ้าเพี๊ยนมาก (มี tracking error สูง) ก็แสดงว่ากองทุนนั้น “ไม่ดี” เพราะว่าไม่ได้วิ่งตามตลาดอย่างแท้จริง และปัจจัยที่ทำให้เกิด Tracking Error สูงคือค่าธรรมเนียมครับ เนื่องจากถ้ามีการเก็บค่าธรรมเนียมเยอะมากเกินไปจะทำให้ผลตอบแทน คลาดเคลื่อนออกไปจากดัชนีมากขึ้นไปเรื่อย ๆ นั่นเอง

 

และอีกปัจจัยนึงก็คือ วิธีการลงทุนของกองทุน เช่น บางกองทุนอาจจะแค่พยายามเลียนแบบให้ใกล้เคียงกับดัชนีที่สุด โดยไม่ได้ลงทุนในหุ้นทุกตัวตามดัชนีจริง ๆ ก็จะมีส่วนทำให้ผลตอบแทนที่ได้มี Tracking Error ที่ต่างกันไปด้วย

 

No Name 1 Year 3 Years 5 Years
1 K-SET50 1.69 1.31 1.39
2 TMBSET50 2.54 1.70 1.58
3 SCBSET50 1.20 1.11 N/A

ข้อมูล Tracking Error จาก Morningstar Direct ณ วันที่ 2 มีนาคม 2558

 

กองทุนที่มีค่า Tracking Error ต่ำจะให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับตลาดหุ้นจริงๆ และการลงทุนกับกองทุนประเภทนี้ เราไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงอายุของกองทุนว่าจะเปิดมานานแล้วหรือไม่ และ ไม่ต้องคิดมากเรื่องผลตอบแทนที่ผ่านมาด้วย เพราะว่ากองทุนจะวิ่งขึ้น-ลง ตามตลาดหุ้นอยู่แล้วนั่นเองครับ

 

No Name 6 Months

(Chg%)

1 Year

(Chg%)

3 Years

(Chg%)

5 Years

(Chg%)

ค่าธรรมเนียม

ที่เรียกเก็บจากกองทุน

1 K-SET50 -2.4672 +14.3680 +37.3090 +137.6205 0.64%
2 TMBSET50 -2.0046 +15.0952 +38.3127 +138.1149 0.88%
3 SCBSET50 -1.8869 +15.7835 +39.5302 N/A 0.41%
4 1 AMSET50** +1.0381 +19.4336 +66.7510 +196.4921 0.61%

ข้อมูลจาก Siamchart ณ วันที่ 9 มีนาคม 2558

 

จากตารางค่า Tracking Error, ผลตอบแทน และค่าธรรมเนียมแล้ว กองทุนที่ดูดีและน่าลงทุนสำหรับกองทุนประเภทนี้ก็น่าจะเป็น SCBSET50 ครับ แต่ก็เฉพาะในกรณีที่ค่าธรรมเนียมไม่ได้มีการปรับตัวสูงขึ้น เพราะว่าถ้ากองทุนมีการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเมื่อไหร่ ก็จะทำให้ ค่าTracking Error เพิ่มสูงขึ้นไปด้วย

 

ก่อนจะจากกันไปคราวนี้ ผมจะขออธิบายถึง กองทุนอีกประเภทนึง ที่เราไม่ควรจะเอามาเปรียบเทียบกับ Passive Fund ทั่วไป แต่มักจะมีคนเข้าใจผิดว่าเป็น Passive Fund ซึ่งแท้ที่จริงแล้วกองทุนประเภทนี้จะพยายามเอาชนะดัชนีตลาดให้ได้จากการเลือกลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี ถึงแม้ชื่อจะคล้ายกันกับ Passive Fund ก็ตาม เราจะเรียกว่าเป็นกองทุนแบบนี้ว่า “Enhance Fund” ครับ ยกตัวอย่างเช่นกองทุน 1AMSET50** ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผลตอบแทนก็มีแนวโน้มที่น่าจะดีกว่า Passive fund ทั่วไปครับ

สุดท้ายนี้ผมขอทุกท่านให้โชคดีมีกำไรในการลงทุนกับกองทุนที่เลือกนะครับ

 

บทความจาก www.posttoday.com