สวีดัส – สวัสดีครับ นักลงทุนทุกท่าน บทความนี้เป็นบทความควันหลงงาน Unlock day ที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนที่แล้วครับ เนื่องจากว่าพอหลังจากงาน Unlock ก็มีคำถามเข้ามาหาผมเยอะพอสมควร ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องกองทุนที่ผมได้พูดถึงในวันงาน นั่นก็คือ “T-Labetow” ไม่ใช่ !! ……“T-Lowbeta” ครับ (ติดผวนคำมาจากพี่เจ็ท Fundtalk)
ยิ่งไปกว่านั้นครับ พี่แบงค์ หรือ Mr. Messenger ของเรา ถึงกับโทรมาหาผม เพื่อบอกว่า “หมอนัท พี่อยากให้เนื้อหาบทความที่จะออกมาใหม่นี้ พูดถึงกองทุนนี้ด้วย มันน่าสนใจมาก ๆ เลย” แน่นอนครับว่า ผมก็เลยต้องมาเล่าให้นักลงทุนฟังกันว่า ทำไมกองทุนนี้ ไม่ว่าจะเป็น นักลงทุน ผู้จัดการกองทุน และนักวิเคราะห์กองทุนหลาย ๆ คน ถึงสนใจกัน
ไม่พูดพร่ำทำเพลงอะไรทั้งนั้นครับ กองทุนนี้ที่น่าสนใจเพราะว่า “ความผันผวน” ของกองทุนโดยรวมนั้น “ต่ำมาก” แถมผลตอบแทนก็ทำได้ดีทีเดียว เอาเป็นว่า ด้วยความผันผวนต่ำ ๆ แบบนี้แหละครับ ที่โดนใจของผมมาก ๆ เลยครับ
เนื่องจากกองทุนที่มีความผันผวนไม่สูง ถ้าเราลงทุนอยู่ด้วยก็จะทำให้พอร์ตการลงทุนของเราในบางช่วงเวลานั้นไม่ติดลบมากจนเกินไปจนเกิดความหวั่นไหว แต่ว่าถ้าเราถือกองทุนหุ้นที่มีความผันผวนมาก ๆ แล้วละก็ สิ่งที่จะตามมาก็คือ เกิดอาการร้อนรน ร้อนใจ อยู่ไม่สูข และอาจจะทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้ เช่น ขายกองทุนออกมาก่อน ซึ่งแน่นอนครับ ส่วนใหญ่เมื่อเราขาย ราคามันก็มักจะขึ้นเสมอ (ไม่รู้ว่าเพราะอะไร)
ทั้ง ๆ ที่ระยะยาวแล้ว เราก็อาจจะได้ผลตอบแทนที่ดีจากกองทุนที่มีความผันผวนเยอะก็เป็นได้ครับ แต่มันไม่ใช่ว่าทุกคนจะทนได้ ดังนั้นการเลือกกองทุนที่มีความผันผวนต่ำจะช่วยให้ เราอยู่กับกองทุนได้นานมากขึ้น และถ้ายิ่งถือกองทุนแบบนี้ในระยะยาว ๆ นั้น ก็ยิ่งรู้สึกดี ปลอดภัยมากขึ้นครับ
“บางครั้งการอยู่เฉย ๆ ก็อาจจะดีกว่าการดิ้นรน หรือ ไล่ล่าหาผลตอบแทนก็เป็นไปได้”
ข้อสำคัญอีกประการคือ หากเราขาดทุนมาก ๆ จากความผันผวนที่สูง ๆ การ “เอาคืน” หรือ การที่เราจะต้องทำกำไรให้มากขึ้น เพื่อให้พอร์ตกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ ก็มักจะกินเวลา และต้องหาผลตอบแทนที่สูงมากขึ้น เอาเป็นว่า เสี่ยงน้อยกว่า ก็ขาดทุนน้อย และก็มีโอกาสที่จะได้กำไรมากกว่าในระยะยาวครับ
ถึงแม้จะเป็นกองทุนที่เปิดมาได้เพียง 3-4 ปี แต่ผลตอบแทนที่ได้ก็ไม่น้อยหน้าใคร โดยกองทุนนี้ก็จะมีการคัดเลือกหุ้นที่มีขนาด เล็ก-กลาง ด้วยกลยุทธ์ในการเลือกหุ้นแบบ Low-beta หรือ แนวคิดการคัดเลือกหุ้นที่มีความสัมพันธ์ขึ้น-ลงตามดัชนีตลาดต่ำ หรือเป็นแนวทางการลงทุนในหุ้นประเภท Defensive หรือหุ้นที่ไม่ผันผวนตามตลาดเท่าไรนัก
ในต่างประเทศมีแนวคิดจากผู้จัดการกองทุนหลายท่านที่บอกว่า การลงทุนด้วยสไตล์ Low-beta นี่แหละ ทำให้ผลตอบแทนระยะยาว ๆ นั้น ดีกว่าการลงทุนแบบอื่น ๆ เนื่องจากหุ้นในกลุ่มนี้เป็นหุ้นที่ไม่ได้ผันผวนตามตลาดหุ้นเสียเท่าไหร่ และมีพื้นฐานดี ซึ่งต่อให้เศรษฐกิจไม่ดีก็ยังมีโอกาสทำกำไรได้ หรือ โอกาสที่จะปรับตัวลดลงแบบหนัก ๆ ไม่ค่อยมี ดังนั้น หุ้นประเภทนี้จะมีข้อดีตรงที่ว่าในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนหรือ ตลาดหุ้นเป็นขาลง ราคาของหุ้นประเภทนี้ก็อาจจะไม่ลงตามไปมาก หรือ เรียกได้ว่าไม่ว่าตลาดจะเป็นขาขึ้น หรือ ลง ก็ยังคงทำผลตอบแทนได้ดี ไม่แพ้กองทุนอื่น ๆ เลยครับ
โดยถ้า พิจารณาในระบบการเลือกกองทุนสไตล์ “คลินิกกองทุน” (2R 2S 2F) แล้วละก็น่าสนใจมากครับ
2R = Risk + Return
Return + Risk นั้น ทำได้ดีทีเดียวครับ คือ สามารถเอาชนะกองทุนที่เป็นระดับ Top ด้วยกันได้อย่างสบาย และยังมีความผันผวนน้อยกว่ากองทุน SET 50 ที่เป็นกองทุนดัชนีด้วยครับ
ภาพเปรียบเทียบความผันผวน ระหว่างกองทุน T-LowBeta (สีส้ม) กับ กองทุน SET50 (สีแดง)
ถ้ามาดูที่ความผันผวนจะเห็นชัดเจนครับ ว่าเวลาตลาดปรับตัวลดลงแรงๆ กองทุนนี้ก็จะมีการผันผวนอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าน้อยพอสมควรครับ
2S = Style + Selective
ส่วนสไตล์การลงทุน และแนวทางการเลือกหุ้นนั้น ก็น่าสนใจมากครับ เรามาดูกันครับ ว่ากองทุนนี้เลือกหุ้นอะไรไว้ในพอร์ตการลงทุนกันบ้างครับ
ซึ่งผมเองในตอนที่เห็นพอร์ตการลงทุนของกองทุนนี้นั้น มันเหมือนกับ เจอเนื้อคู่ครับ เพราะว่าหุ้นในพอร์ตของกองทุนนั้น มีหุ้นที่ผมค่อนข้างจะถูกใจรวมกันอยู่เยอะมากครับ เอาเป็นว่า 5 ใน 10 นั้นเป็นหุ้นที่ผมเองก็ลงทุนอยู่แล้วด้วย (ใจตรงกันเลย)
โดยหุ้นในกลุ่มนี้ จะมีอะไรคล้าย ๆ กัน และ เป็นหุ้นที่มีความผันผวนน้อยเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นไทย หรือ ที่เราเรียกว่า Low Beta นั่นเองครับ โดยหุ้นจะมีลักษณะดังนี้ คือ
- มักจะเป็นหุ้นที่มี Business Model ที่ดี และมีความผูกขาดทางการค้า
- หุ้นในกลุ่มเหล่านี้มีพื้นฐานทางการเงินที่ดี
- เมื่อนำหุ้นเหล่านี้เข้ามาอยู่ในพอร์ตการลงทุนแล้ว จะทำให้พอร์ตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลตอบแทนสูงขึ้น ความเสี่ยงต่ำลง และมี Sharpe ratio สูงขึ้น
- หุ้นกลุ่มนี้ได้ช่วยลดความเสี่ยงได้ดีมาก ทำให้ต้นทุนที่ลงทุนไม่ลดลงต่ำมากไป
- เป็นหุ้นที่มักจะมีกระแสเงินสดอยู่มาก และมีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ
และกองทุนนี้เองก็เลือกหุ้นได้ค่อนข้างหลากหลายกลุ่มครับ กระจายความเสี่ยงพอสมควรเลยครับ โดยถือหุ้นประมาณ 34 ตัว (ข้อมูลจาก Website Morningstar Thailand ณ วันที่ 21/6/59) เห็นไหมครับ สไตล์การลงทุนนั้น คงพอจะตอบได้แล้วนะครับ ว่าทำไมกองทุน T-LowBeta จึงน่าสนใจ
นอกจากนี้ Feature ของกองทุนก็น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เป็นกองทุนที่มี Auto Redemption หรือที่เราเรียกว่า การขายคืนอัตโนมัติ ครับ ซึ่งจะคล้าย ๆ กับการปันผล แต่ว่าจะ เป็นการขายหน่วยลงทุนออกมาแทน ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีเงินปันผล 10% อย่างที่กองทุนปันผลปกติครับ และถ้าเราไม่ต้องการที่จะขายด้วยวิธีนี้ ก็สามารถแจ้งให้คงเงินไว้ในกองทุนต่อได้นะครับ ไม่จำเป็นต้องขายออกมาตามที่ทาง บลจ. แจ้งครับ
และยังมีการลงทุนขั้นต่ำไม่สูง เหมาะกับคนที่มีเงินน้อย แต่อยากลงทุนระยะยาว แบบค่อย ๆ สะสมไปครับ
ส่วน 2F ที่เหลือคือ Fee + Fund Manager
ค่าธรรมเนียม (Fee) ผมถือว่าค่อนข้างที่จะเป็น ข้อจำกัด ของกองทุนนี้เพียงอย่างเดียวเลยละครับ ซึ่งผมมองว่ามี ราคา ค่าตัวค่อนข้างแพงมาก โดยอยู่ที่ค่าธรรมเนียมทั้งหมด หรือ TER = 2.328% (ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2558) ซึ่งนักลงทุนก็ควรที่จะพิจารณาว่า ด้วยค่าธรรมเนียมแบบนี้ ถ้าลงทุนระยะยาว ๆ แล้วจะคุ้มหรือไม่ครับ ซึ่งโดยส่วนตัว ผมว่าแพงไปหน่อยครับ
Fund manager นั่นก็คือ คุณบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ และทีมงาน ซึ่งถือว่าเป็นทีมผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์สูง มีแนวคิดการลงทุนที่ดี ซึ่งผมเองก็ติดตามผลงานของพี่บุญชัยอยู่เรื่อยๆ จากบทความ และรายการต่างๆ ถ้าใครสนใจก็ไปติดตามบทความจากพี่บุญชัยได้ที่ Posttoday หรือไม่ก็ ลองดูใน Youtube ก็ได้ครับ รับรองว่ามี clip ดี ๆ ที่พี่บุญชัยมาให้ความรู้ มุมมองการลงทุนแบบฟรี ๆ อีกด้วยครับ
ก่อนจากกันไป ผมขอฝากให้นักลงทุนทุกท่าน ที่จะลงทุนกับกองทุนหุ้นครับ ว่าผมอยากให้ทุกท่านมีการวางแผนให้ดีก่อนการลงทุน โดยการบริหารสภาพคล่องก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องรู้จัก Money Management ด้วย อย่าเน้นการลงทุนในกองทุนหุ้นเพียงอย่างเดียว
และเพิ่มความระมัดระวัง ก่อนลงทุน โดยอย่าพยายามขาดทุน ไม่ต้องใจร้อนรีบลงทุน ตราบใดที่เงินยังอยู่ในมือ มันไม่หายไปไหนแน่ ๆ ถ้าลงทุนแล้วขาดทุนเร็ว ขาดทุนเยอะ เวลาเอาคืนมันยากมากครับ
สุดท้าย อย่าซื้อกองทุนจากการแนะนำของคนอื่น ต่อให้เป็นกูรูก็เถอะครับ อย่าไปไว้ใจ 55+ ศึกษาให้ดีก่อนนะครับ ไม่ต้องเชื่อในสิ่งที่ผมเขียนมา ต้องไปดูข้อมูลต่างๆ ให้เห็นด้วยตาก่อน แน่นอนว่าบทความนี้ ผมอยากให้นักลงทุนได้เห็นแนวทางการคัดเลือกกองทุน และวิธีการอย่างคร่าว ๆ ว่า เราควรจะพิจารณาอะไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการลงทุนเท่านั้นครับ
ขอให้ทุกท่านมีวินัย และโชคดีในการลงทุน แล้วพบกันครั้งหน้าครับ