กองทุน ปันผล

สวัสดีครับ มาพบกับผม หมอนัทกันอีกครั้งนะครับ

ปลาย ๆ ปีแบบนี้นักลงทุนส่วนใหญ่คงมุ่งเน้นการลงทุนไปกับกองทุน LTF หรือไม่ก็ RMF อยู่แน่ ๆ ใช่ไหมละครับ แต่ว่าไม่ว่าจะช่วงไหนของปี มักจะมีคำถามหนึ่ง เข้ามาหาผมอยู่เสมอ ๆ อยู่ คือถ้าจะเริ่มลงทุนและอยากได้กระแสเงินสดกลับมาใช้จ่ายแล้วละก็ จะมีกองทุนแบบไหนบ้างที่น่าสนใจ และส่วนใหญ่ของคำถามนั้น ก็มักจะเขียนต่อท้ายมาอย่างสั้น ๆ ว่า “อยากได้กองทุนหุ้นที่ให้ปันผลดี ๆ” สักกอง (อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง 5 คำถามยอดฮิต กับการลงทุนในกองทุนรวม LTF/RMF )

ซึ่งก่อนจะไปถึงเรื่องกองทุนปันผลที่น่าสนใจนั้น สิ่งที่นักลงทุนควรจะทราบคือ กองทุนปันผลทั้งหลายนั้น จะต้องมีการเสียภาษีเงินปันผล 10% ด้วยนะครับ ทั้งนี้นักลงทุนเองจะสามารถเลือกให้หัก ณ ที่จ่ายไปเลยก็ได้ หรือว่า จะนำมารวมกับรายได้แล้วนำไปคิดภาษีตอนสิ้นปีก็ได้ครับ แต่วิธีหลัง หากนักลงทุนมีการเสียภาษีที่มากกว่าอัตราขั้น 10 % แล้วละก็คงไม่คุ้มค่าแน่ ๆ ครับ และเงินปันผลนั้นไม่สามารถที่จะทำการ เครดิตปันผลคืนได้เหมือนกับ เงินปันผลจากหุ้นครับ ดังนั้น ถ้านักลงทุนคิดจะลงทุนกับกองทุนปันผลแล้วละก็ อย่าลืมเรื่องภาษี ที่เป็นต้นทุนอีกทางด้วยนะครับ

และสิ่งที่สำคัญมาก ๆ และนักลงทุนทุกท่านไม่ควรลืมก็คือ

“ไม่มีกองทุนไหนที่จะเป็นกองทุนหุ้นปันผลที่ดีได้ตลอดเวลา”

ทั้งนี้ ก็เพราะว่าผลตอบแทนและการปันผลนั้น จะขึ้นอยู่กับ กำไรสะสมของกองทุน หรือ รายได้ของกองทุนนั่นอง ถ้าหากช่วงไหนที่กองทุนทำผลตอบแทนได้ไม่ดี หรือขาดทุนอยู่ ก็อาจจะไม่จ่ายปันผลออกมาก็เป็นไปได้

ส่วนนึงที่หลายคนเข้าใจผิดนั้นก็เพราะเสน่ห์ของ คำว่า กองทุนปันผลก็คือ “กระแสเงินสด” ที่มีออกมาให้เห็นเรื่อย ๆ และ “จับต้องได้” เรียกได้ว่า เสริมสร้างกำลังใจของนักลงทุน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าหากพูดถึงการลงทุนระยะยาว และคาดหวังให้เงินเติบโตสูง ๆ ได้นั้น “กองทุนไม่ปันผล” ดูจะเป็นคำตอบที่ดีมากกว่า

และถ้านักลงทุนเองพอจะมีเวลาซัก 2-3 นาที ในการส่งคำสั่งขายกองทุนเองแล้วละก็ นักลงทุนก็สามารถที่จะสร้าง “เงินปันผล” ให้กับตนเองได้อย่างไม่ยากเย็น และไม่มีภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย เพราะว่าการขายกองทุนส่วนที่เป็นกำไรนั้น จะ “ไม่เสียภาษี”ครับ

ตอนนี้หลาย ๆ ท่านอาจจะเริ่มเปลี่ยนใจไปลงทุนกับกองทุนไม่ปันผลแล้วก็ได้ แต่ถ้าท่านไหนที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ยังคิดว่ากองทุนประเภทนี้เป็น “กองทุนที่ใช่” ถูกใจตัวเองแล้วละก็ เรามาดูกันครับ ว่า “กองทุนปันผล” แบบไหนที่น่าสนใจกันบ้าง

1.) กองทุนหุ้น

เริ่มจากกองทุนหุ้นกันก่อนเลย เพราะว่าเป็นที่นิยมของนักลงทุนทั่วไปเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่ง กองทุนหุ้นปันผลส่วนใหญ่ จะมีการปันผลให้ปีละ 1 ครั้ง แต่ก็จะมีบางกองทุนที่เน้นเรื่องของการจ่ายกระแสเงินสดกลับมาให้ อาจจะเห็นบางกองทุนปันผลถึง 4-5 ครั้งใน 1 ปีครับ และบางครั้งอาจจะมากกว่านั้นได้ ถ้าหากกองทุนมีกำไรสะสมอยู่มาก

แต่จุดสำคัญที่นักลงทุนต้องเข้าใจก็คือ กองทุนหุ้นที่ปันผลบ่อยๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากองทุนที่ปันผลน้อยครั้งกว่านะครับ ทั้งนี้ผลตอบแทนจากกองทุนจะขึ้นกับสินทรัพย์ที่กองทุนเลือกลงทุนว่าให้ผลตอบแทนโดยรวม (เงินปันผลจากหุ้น และ กำไรส่วนต่าง) ที่ดีหรือไม่ และกำไรสะสมของกองทุนที่เกิดขึ้น

และอย่าลืมนะครับว่า “กองทุนหุ้น” นั้นมีความผันผวนของผลตอบแทนมากๆ เนื่องจากว่าเป็นการเก็งกำไรเสียเป็นส่วนใหญ่ เงินปันผลจากหุ้นที่อยู่ในกองทุนเองก็ไม่ได้สม่ำเสมอขึ้นๆ ลงๆ ได้เช่นเดียวกัน อีกทั้งกองทุนเองไม่ได้ถือหุ้นปันผลอย่างเดียวเท่านั้น มีหุ้นที่เน้นการเติบโตอยู่ด้วย แต่ถ้าหุ้นนั้นไม่ได้เติบโตอย่างที่คิดละก็….ไม่อยากจะนึกภาพตามเลย ดังนั้นไม่แปลกเลยครับที่เราจะเห็นกองทุนที่ปันผลมาเรื่อย ๆ บางครั้งก็หยุดปันผลเสียอย่างนั้น

ดังนั้น ทางเลือกแรกนี้ ต้องบอกว่าเหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้สูง อาจจะไม่ค่อยเหมาะกับการลงทุนเพื่อการเกษียณเท่าไหร่ครับ แต่ถ้าอยากลงทุนหลังเกษียณอาจจะมีสัดส่วนของกองทุนหุ้นปันผลที่ไม่ต้องเยอะมากเกินความเสี่ยงหลังเกษียณครับ

บางคนเลือกที่จะเอากองทุนหุ้นปันผลหลาย ๆ ตัวมารวมกัน เพื่อทำให้เงินลงทุนที่ลงทุนไปนั้น ถูกจ่ายออกมาทุกเดือนเลยก็มี แต่วิธีการนี้ต้องระวังมาก ๆ โดยเฉพาะที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง เนื่องจากอาจจะไม่มีกองทุนไหน ๆ เลยที่จะสามารถจ่ายปันผลก็ได้ครับ

2.) กองทุนตราสารหนี้ 

หลาย ๆ คนอาจจะไม่ทราบว่ากองทุนตราสารหนี้เองก็มีเงินปันผลได้เช่นเดียวกันครับ แต่ความนิยมนั้นอาจจะไม่เท่ากับกองทุนหุ้น เนื่องจากผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้แบบปันผลนั้น ก็ไม่ได้ต่างจากกองทุนตราสารหนี้ธรรมดาครับ ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยก็อยู่ที่ 2-4% แถมยังต้องเสียภาษี หัก ณ ที่ จ่ายด้วยอีก 10% ความน่าสนใจจึงลดลงไปนั่นเอง

แต่กองทุนเหล่านี้ก็มีข้อดีครับ ถ้าเอามารวมกับกองทุนหุ้นปันผล ในสัดส่วนที่เหมาะกับความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้ เหมาะสมมากขึ้น และก็ลดเรื่องการที่กองทุนหุ้นจะไม่จ่ายปันผลไปด้วยครับอย่างน้อย ๆ ก็ได้เงินจากกองทุนตราสารหนี้มาบ้าง ก็จะได้พอร์ตการลงทุนที่มีเงินปันผลออกมาเรื่อย ๆ หรือ พอที่จะเรียกได้ว่าเป็น income portfolio ที่เน้นเรื่องของเงินปันผลที่ออกมา แต่ก็ต้องมีการบริหารซึ่งไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

กองทุนตราสารหนี้แบบปันผลนั้น ถึงแม้ว่าจะได้ผลตอบแทนต่อปีน้อย แต่ความผันผวนก็จะไม่สูงเช่นกันครับ ดังนั้น น่าจะเหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงสูงไม่ได้

(อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง “กองทุนตราสารหนี้ ที่ต้องมีไว้ในพอร์ตเกษียณ” )
(อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง “เลือกกองทุนรวมตราสารหนี้อายุสั้นหรือยาวดี?” )

3.) กองทุน income

ถ้าหากนักลงทุนเบื่อกับการลงทุนในกองทุนหุ้น และกองทุนตราสารหนี้แบบปันผล ซึ่ง ถ้าลงทุนแยกกัน ผลตอบแทนที่ได้อาจจะไม่ค่อยสม่ำเสมอแล้วละก็ กองทุน Income น่าจะเป็นคำตอบที่ดีกว่าใน 2 แบบแรกครับ จริง ๆ กองทุนแบบนี้ ก็จะคล้าย ๆ กับการ เอากองทุนหุ้น ผสมกับกองทุนตราสารหนี้ หรืออาจจะมีสัดส่วนของสินทรัพย์อื่น ๆ ด้วย และจับมารวมกัน โดยออกแบบให้ความเสี่ยง ความผันผวนไม่สูงมากนัก เพื่อที่จะได้ทำการจ่ายกำไรสะสมของกองทุนออกมาเป็นงวด ๆ อย่างสม่ำเสมอ

ดังนั้นกองทุนแบบนี้ ก็จะมีผลตอบแทนไม่สูงมากนัก แต่จะเน้นไปที่กระแสเงินสดที่จ่ายออกมาให้กับนักลงทุน โดยผลตอบแทนเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3-6% ต่อปี แต่ก็จะออกมาในรูปของเงินปันผล หรือ การขายคืนอัตโนมัติ (กองทุนเป็นผู้ขายหน่วยให้) ที่มีแบบทุกเดือน ทุกไตรมาส แล้วแต่นโยบายการจ่ายของกองทุนครับ ซึ่งจะช่วยเรื่องของ ภาษีได้ครับ คือไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% จึงเหมาะกับนักลงทุนทั่วไปที่อยากมีรายได้กลับเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ

แต่อย่าลืมนะครับว่า กองทุนอาจจะไม่จ่ายปันผล หรือ ไม่จ่ายกระแสเงินสดออกมาได้เช่นเดียวกันกับกองทุน 2 แบบแรก ซึ่งโอกาสก็จะน้อยลงไป เนื่องจากว่ามีเงินปันผลจากสัดส่วนของตราสารหนี้เข้ามาช่วยทดแทนให้นั่นเอง

4.) กองทุนอสังหา ฯ และ โครงสร้างพื้นฐาน

กองทุนอสังหา ฯ และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เองก็เป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งสำหรับคนที่อยากได้กระแสเงินสด เข้ามาใช้อยู่เรื่อย ๆ เนื่องจากกองทุน 2 นี้ ส่วนใหญ่จะให้ผลตอบแทนที่มากกว่า ผลตอบแทนจากกองทุนตราสารหนี้ ถึงแม้ว่าจะได้ผลตอบแทนโดยรวมที่น้อยกว่ากองทุนหุ้นก็ตาม แต่เรื่องของความสม่ำเสมอที่ได้ของผลตอบแทนก็จะมากกว่ากองทุนหุ้นครับ

ถ้าเรียงตามผลตอบแทนรวมจากสินทรัพย์ จากมากไปน้อยก็จะได้ดังนี้
กองทุนหุ้น,กองทุนอสังหา ฯ > กองทุนตราสารหนี้

แต่ถ้าเรียงความสม่ำเสมอของผลตอบแทน จากมากไปน้อยก็จะได้ดังนี้
กองทุนตราสารหนี้,กองทุนอสังหา ฯ > กองทุนหุ้น

ที่กองทุนอสังหา ฯ ได้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ เพราะว่า ผลตอบแทนไม่ได้เกิดจากการเก็งกำไร แต่เกิดจากค่าเช่า หรือ รายได้จากโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น โรงไฟฟ้า ทางด่วน ฯลฯ แถมผลตอบแทนจากเงินที่ได้ก็อยู่ที่ประมาณ 6-8% ต่อปี ที่มากกว่ากองทุนตราสารหนี้อีกด้วย แต่แน่นอนว่าความเสี่ยงก็จะมีมากกว่ากองทุนตราสารหนี้ นอกจากเงินปันผลที่ได้รับก็ยังมีโอกาสได้รับกำไรจากการขายกองทุนอสังหา ฯ อีกทางครับ

และอย่าลืมว่าถ้าหาก ไม่มีคนมาเช่าอสังหา ฯ กองทุนเองก็อาจจะไม่จ่ายเงินปันผลก็เป็นไปได้ และยังมีความเสี่ยงด้านราคาอีกด้วย เพราะว่า บางช่วงกองทุนอสังหา ฯ อาจจะมีราคาที่แพงเกินไป ทำให้เราได้ผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ไม่เท่าเดิมครับ แต่ความเสี่ยงก็ยังคงน้อยกว่ากองทุนหุ้น

เห็นไหมครับว่าทางเลือกที่จะได้เงินปันผลนั้น ไม่ได้มีแค่กองทุนหุ้นเพียงอย่างเดียว ยังคงมีทางเลือกอื่น ๆ อีกมากมายเลยครับ

ถ้านักลงทุนที่วางแผนไว้ว่าอยากได้ปันผลที่ดีสม่ำเสมอ และเงินที่ลงทุนไปไม่ผันผวนมากจนกระทบเงินต้นจนใจหายแล้วละก็ กองทุนอสังหา ฯ + กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และ กองทุนตราสารหนี้นั้น น่าจะเป็นคำตอบมากกว่ากองทุนหุ้น เพียงอย่างเดียวครับส่วนกองทุนหุ้นปันผลนั้น อาจจะเป็นกองทุนประเภทท้าย ๆ ที่นึกถึงเลยก็ว่าได้ แต่ถ้าต้องการผลตอบแทนโดยรวมที่ดีขึ้น และกระจายความเสี่ยงมากขึ้น ก็อาจจะมองถึงกองทุนหุ้นในสัดส่วนที่มากขึ้นครับ

ส่วนวันนี้ผมคงต้องขอลาไปก่อน ขอให้โชคดีกับการลงทุนในกองทุนนะครับ