หุ้นเวียดนาม All Time High

เมื่อวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2564 ดัชนีตลาดหุ้นเวียตนามปรับตัวขึ้นเป็น “All Time High” ที่ 1,320 จุดในช่วงเวลาประมาณ 21 ปีนับจากวันเปิดตลาดหุ้นโฮจิมินห์ในปี 2000  ที่ดัชนีเท่ากับ 100 จุด  นี่เท่ากับว่าดัชนีตลาดให้ผลตอบแทนปีละประมาณ 13.2% แบบทบต้น  ถ้าคิดรวมปันผลก็คงจะเกินปีละ 15% และก็ต้องถือว่าเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ดีเลิศแห่งหนึ่งของโลก  และนี่ก็คล้าย ๆ  กับตลาดหุ้นไทยในช่วง 21 ปีแรก  โดยที่ตลาดหลักทรัพย์เริ่มเปิดเทรดในเดือนเมษายน 2518 และเริ่มต้นด้วยดัชนีที่ 100 จุด  พอถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2539 ดัชนีก็อยู่ที่ 1,321 ให้ผลตอบแทนแบบทบต้นเท่ากับ 13.2% เท่ากับตลาดหุ้นเวียตนามพอดี  อย่างไรก็ตาม  อย่างที่เรารู้  ดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 2539 นั้น  “กำลังตกลงมา” จากดัชนี All Time High ที่ 1,753 จุด ในปี 2537 และพอถึงปี 2540 ก็เกิดวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ที่ทำให้ดัชนีตกต่อเนื่องมาเหลือเพียงประมาณ  2-300 จุดในเวลาอีก 2-3 ปีต่อมา

ยี่สิบเอ็ดปีแรกของตลาดหุ้นไทยและเวียตนามนั้น  นอกจากผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมและเท่ากันแล้ว  สิ่งที่เหมือนกันอีกอย่างหนึ่งก็คือ  “ความผันผวนที่รุนแรง” หรือในแวดวงวิชาการก็คือมี “ความเสี่ยงสูงมากในการลงทุน” ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องปกติสำหรับตลาดหุ้นใหม่ ๆ  ที่คนยังไม่รู้จักวิธีการลงทุนที่ถูกต้องและส่วนใหญ่ก็เน้นการเก็งกำไรเป็นหลัก  ตลาดหุ้นจะคล้าย ๆ  การพนันรูปแบบใหม่ที่ถูกกฎหมายและมีหลักการเล่นคล้าย ๆ  กับการ “แทงม้า” ในสนามแข่งม้ามากกว่าที่จะเป็นเรื่องของการ “ลงทุนในธุรกิจ” อย่างที่มันควรจะเป็น

วันที่เปิดตลาดหุ้นไทยนั้น  ตรงกับวันที่เมืองโฮจิมินห์หรือเดิมคือไซ่ง่อน “แตก”  ประเทศเวียตนามใต้ถูกรวมกับเวียตนามเหนือและเป็นคอมมิวนิสต์ซึ่งทำให้ประเทศไทยซึ่งถูกมองว่าจะเป็น “Domino” ตัวต่อไป  คือจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วยในช่วงที่ “สงครามเย็น” ระหว่างกลุ่มประเทศเสรีประชาธิปไตยกับกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์กำลัง “ร้อนเป็นไฟ”  ดังนั้น  ธุรกิจต่าง ๆ  ในประเทศไทยจึงดูไม่ดีนัก  “ชนชั้นนำ” บางคนในช่วงเวลานั้นคิดถึงว่าจะอพยพไปอยู่ที่ไหนถ้าประเทศไทยกลายเป็นคอมมิวนิสต์  ตลาดหุ้นที่เกิดขึ้นจึงไม่ไปไหนและตกลงมาหลายปีจนเหตุการณ์ด้านการเมืองสงบลง  นักศึกษารุ่น “14 ตุลา” ที่เข้าป่าจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลมาหลายปีกลับสู่เมืองมาใช้ชีวิตปกติ  และเศรษฐกิจไทยก็เริ่มเดินหน้าต่อไปได้อย่างดีเยี่ยมยาวนาน  ซึ่งก็ทำให้ตลาดหุ้นและดัชนีเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแต่ในระหว่างทางก็มีการปรับตัวรุนแรงมากเป็นระยะ ๆ

ตลาดหุ้นไทยเกิด “วิกฤติ” ตลาดหุ้นหลายครั้งเริ่มตั้งแต่ “วิกฤติราชาเงินทุน” ซึ่งดัชนีตกลงไปประมาณ 42% ในปี 2522 หรือ 4-5 ปีนับจากเปิดตลาดหุ้น  “วิกฤติ Black Monday” ในปี 2530 ที่ดัชนีตกลงไปประมาณ 33%  และ “ วิกฤติสงครามอ่าวเปอร์เซีย” ในปี 2533 ที่ดัชนีตกลงไปประมาณ 45% หลังจากดัชนี All Time High ที่ 1,100 จุด  เป็นต้น

ในส่วนของตลาดหุ้นเวียตนามนั้น  “ความผันผวน” ยิ่งมากกว่าตลาดหุ้นไทยหลายเท่า  ทันทีที่เปิดตลาดหุ้น  ดัชนีก็วิ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็วแทบจะทุกวันหรือทุกเดือน  ภายในเวลาเพียงปีเดียว  ดัชนีจาก 100 จุดก็ขึ้นไปถึง 500 จุด ก่อนจะตกลงมาด้วยอัตราที่เร็วพอ ๆ กันจนเหลือประมาณ 130 จุดหรือลดลงกว่า 73% ภายในเวลา 2 ปี  เหตุผลที่เป็นอย่างนั้นผมคิดเล่น ๆ  ว่าคงเป็นเพราะคนเวียตนามอาจจะไม่ได้มีสนามม้าหรือบ่อนการพนันอื่น ๆ  ที่คนจะเล่นเก็งกำไรซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในยีนของมนุษย์มากนัก  ดังนั้น  พอมีตลาดหุ้น  คนก็แห่กันเข้าไปเล่นจนทำให้หุ้นขึ้นไปแบบถูก  “Corner” หรือถูก “ต้อนเข้ามุม” หรือถูกกวาดซื้อจนหมดส่งผลให้หุ้นขึ้นไปสุดโต่งและในที่สุด  Corner ก็ “แตก”  หุ้นตกลงมาที่เดิม  อย่างไรก็ตาม  ภายใน 3 ปีหุ้นก็ปรับตัวกลับขึ้นมาใหม่เป็น 1,140 หรือเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8 เท่าในปี 2007 ก่อนที่จะถล่มลงตามวิกฤติซับไพร์มในปี 2009  ดัชนีเหลือเพียง 250 จุด หรือเป็นการตกลงมาประมาณ 78% และนี่ก็คือความ “โหดร้าย” สำหรับนักเก็งกำไรในตลาดหุ้นเวียตนาม

แต่สำหรับนักลงทุนระยะยาวแล้ว  การลงทุนดูเหมือนจะคุ้มค่า  เพราะหลังจากการตกลงมาอย่างหนัก  ตลาดหุ้นเวียตนามก็มักจะกลับมาอย่างรวดเร็วเสมอ  ภายในเวลาไม่กี่เดือน  ดัชนีก็ปรับตัวขึ้นจาก 250 จุดไปที่เกือบ 600 จุดในช่วงปลายปี 2009 และทรงตัวอยู่ในช่วง 400 ถึง 600 จุดเป็นเวลา 7 ปีจนถึงปี 2016 หรือประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา  และนี่ก็คือช่วงเวลาที่ระบบเศรษฐกิจการเงินของเวียตนามมีการ “ปรับตัว” แบบ “ปฏิรูป” อย่างมั่นคง  มีการลดค่าเงินด่องลงน่าจะประมาณ 30% อัตราเงินเฟ้อที่สูงลิ่วเริ่มนิ่ง  ค่าเงินด่องเริ่มนิ่งและเกาะติดไปกับค่าเงินดอลลาร์  การเอาเงิน “ใส่กระสอบ” ไปซื้อบ้านซื้อรถน่าจะเริ่มหมดไป  สินค้าที่ผลิตจากเวียตนามสามารถแข่งขันได้อานิสงค์อาจจะคล้ายเมืองไทยหลังลดค่าเงินที่การส่งออก “โตระเบิด”  ที่สำคัญ  นักลงทุนจากต่างประเทศเริ่ม  “แห่กันมาลงทุน” ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ  เช่นเดียวกับการลงทุนในตลาดหุ้นจากต่างประเทศที่เริ่มจะเปิดกว้างขึ้น  มีการพูดถึงการ “รวมตลาดหุ้นอาเซียน” ให้นักลงทุนแต่ละประเทศสามารถสั่งซื้อขายหุ้นระหว่างกันได้อย่างสะดวก

ในช่วงเวลานั้น  การลงทุนแบบ Value Investment หรือ VI ของไทยกำลัง “Peak” หรือขึ้นสู่จุดสูงสุด  VI ไทยจำนวนไม่น้อยรวยขึ้นมากและอยากที่จะ “สำรวจ” ตลาดเพื่อนบ้านเพื่อหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ   นำโดยกลุ่มผู้นำนักลงทุน VI และช่องทีวี “มันนี่แชนเนล” ในขณะนั้น   VI ไทยกลุ่มใหญ่ซึ่งแน่นอนรวมถึงผมเองได้เดินทางไป “ดูตลาดหุ้นเพื่อนบ้านในอาเซียน” ซึ่งรวมถึงสิงคโปร์  มาเลเซียและเวียตนาม  ได้พบผู้บริหารของตลาดหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนรวมถึงเยี่ยมชมโรงงานและสำนักงานต่าง ๆ  แต่แทบจะไม่ได้พบนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น “VI” เลย  ที่จริง “สังคม VI” ในประเทศเหล่านี้แทบจะไม่มีอยู่  ประเทศไทยนั้นมี  “สมาคม VI”  ที่ก้าวหน้ามาก!

หลังจากการเดินทางครั้งนั้น  หลายคนซึ่งรวมถึงผมเองก็เริ่มเข้าไปลงทุนในเวียตนาม  ผมเองไม่มั่นใจว่าทำไมเราไม่ไปลงทุนในมาเลเซียหรือสิงคโปร์  คงจะเป็นเพราะเรื่องของเศรษฐกิจเวียตนามที่เติบโตเร็วและมาจากฐานที่ต่ำมากรวมถึงศักยภาพที่จะโตต่อไปได้อีกนาน  อีกประเด็นหนึ่งน่าจะมาจากการที่เวียตนามมีขนาดใหญ่กว่าอีกสองประเทศมากในแง่ของประชากรและมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยรวมถึงการที่อยู่ใกล้ไทยมากกว่าด้วย  แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นตัว “จุดชนวน” ก็น่าจะมาจากการที่ผมมีเพื่อนชาวต่างชาติเข้าไปลงทุนอยู่ก่อนแล้วโดยที่เขาก็มีการคิดวิเคราะห์ที่เป็นเอกเทศจากผมด้วย  ดังนั้น  ผมจึงคิดว่าได้เวลาแล้วที่จะไปลงทุนต่างประเทศโดยเฉพาะเมื่อการเติบโตของประเทศไทยเริ่มจำกัดหรืออิ่มตัวในแง่ของประชากรที่กำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วและยังไม่สามารถที่จะแก้ปัญหานี้รวมถึงปัญหาสังคมและการเมืองที่ก่อตัวมาหลายปีได้

การลงทุนใน “รอบแรก” ของผมนั้นเข้าไปในแบบที่ยังไม่มีความรู้ในตัวกิจการพอ  ดังนั้นผมจึงใช้ระบบ  “ตระแกรงร่อน” เลือกซื้อหุ้นที่เป็นแบบ “VI” ที่มีราคาถูกมากคือมีค่า PE ต่ำกว่า 10 เท่า PB ต่ำกว่า 1 เท่า และปันผลไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี  ซึ่งก็ได้หุ้นขนาดเล็กมาเป็น 100 ตัว  ซื้อแล้วถือไว้จนถึงทุกวันนี้  รอบสองที่ผมเข้าไปลงทุนผมเริ่มจะรู้จักบริษัทจึงเข้าไปซื้อหุ้นเป็นรายตัว  ซึ่งก็จะเป็นแนว  “ซุปเปอร์สต็อก”  ซึ่งผมก็ซื้ออย่างมีนัยสำคัญได้หุ้นมาประมาณ 5-6 ตัว  และสุดท้ายในรอบที่สามก็คือการซื้อ ETF ที่อิงกับหุ้นแนวซุปเปอร์สต็อกที่เป็นหุ้นที่มี Foreign Premium คือ “Daimond ETF”  รวมกันแล้วหุ้นเวียตนามคิดเป็นประมาณ 20% ของพอร์ตของผมในขณะนี้  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาของหุ้นเวียตนามปรับตัวเพิ่มขึ้นและให้ผลตอบแทนดีกว่าพอร์ตหุ้นไทยของผมมาก  โดยเฉพาะในช่วงเร็ว ๆ นี้

ผมคิดว่าแม้ตลาดหุ้นเวียตนามจะขึ้นไปสู่จุดสูงสุดแต่มันก็ไม่แพงเมื่อคำนึงถึงการเติบโตที่รวดเร็วมากของบริษัทจดทะเบียน  เหตุผลก็คงเป็นเพราะว่าเศรษฐกิจเวียตนามเองนั้นเติบโตเร็วมากมานานและจะเติบโตต่อไปอีกมาก  เพราะแม้ในขณะนี้  เศรษฐกิจของเวียตนามเองก็เท่ากับแค่ครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจไทย  และรายได้ต่อหัวของคนเวียตนามเองก็เป็นแค่หนึ่งในสามของรายได้ของคนไทย  ซึ่งผมเองคิดว่าในที่สุดและอาจจะไม่นานมาก  เขาจะไล่เราทันเมื่อคำนึงถึงปัจจัยในการแข่งขันต่าง ๆ  ที่เวียตนามดีขึ้นเรื่อย ๆ  เทียบกับไทย  ดังนั้น  ผมจึงคิดว่าผมจะยังอยู่ในตลาดหุ้นเวียตนามไปอีกนานและก็เตรียมพร้อมที่จะรับความผันผวนที่รุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้เรื่อย ๆ  แต่ผมคิดว่าภายใน 10 ปีนับจากวันนี้  พอร์ตเวียตนามคงใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับพอร์ตหุ้นไทยของผม

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2021/05/31/2514

TSF2024