ลงทุนถูกทางหรือยัง?

การลงทุนนั้น ผมคิดว่าสำหรับคนที่เริ่มลงทุนใหม่ ๆ หรือลงทุนมาไม่นานในตลาดหลักทรัพย์ใดก็ตาม เรามักจะเริ่มโดยใช้กลยุทธ์หรือวิธีการที่อาจจะไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมกับสถานการณ์หรือภาวะการณ์ของตลาดนั้นแม้ว่าเราอาจจะใช้หลักการใหญ่ ๆ ที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่ดีจะต้องคอยตรวจสอบหรือประเมินว่า อะไรคือสิ่งที่ควรจะปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงเพื่อให้การลงทุนได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในระยะยาว และนั่นก็มักจะนำไปสู่การ “ปรับพอร์ต” ขนานใหญ่เมื่อเวลาผ่านไป การปรับพอร์ตเองก็มักจะใช้เวลาเนื่องจากว่า กว่าจะรู้ว่าพอร์ตแบบใหม่นั้นให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าก็จะต้องใช้เวลา ส่วนใหญ่ก็หลาย ๆ เดือนหรือเป็นปี ๆ จนเรามั่นใจว่า นั่นคือพอร์ตที่เราจะใช้ไปอีกนานหรือตลอดไป

การลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงเริ่มแรกของผมราวปี 2538-39 ก็เริ่มจากการลงทุนแบบไม่ค่อยมีรูปแบบ เป็นแนว “เล่นหุ้น” ตามสถานการณ์ การใช้กลยุทธ์แบบ VI อย่างจริงจังนั้นน่าจะเริ่มในปี 2540 ที่เป็นวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งนอกจากจะเปลี่ยนแนวทางเป็นเรื่องของการ “ลงทุน” แล้ว ยังเป็นการลงทุน “เพื่อชีวิต” คือลงทุนแบบทุ่มเทเอาจริงเอาจังด้วยเงินทั้งหมดที่มีอยู่ ใช้หลักการแบบ “Value Investment” ที่มองหุ้นเหมือนกับ “ธุรกิจ” และลงทุนระยะยาวตลอดชีวิต ที่เน้นว่าจะขาดทุนหรือเสียหายหนักไม่ได้ เพราะมันเป็น “ชีวิตของเรา” และนั่นก็คือภาพใหญ่

เวลาต่อมา กลยุทธ์ลงทุนแบบ VI ที่ซื้อหรือลงทุนในหุ้นแทบทุกรูปแบบ คือไม่ได้สนใจว่าธุรกิจเป็นแบบไหน เช่น เป็นโภคภัณฑ์ล้วน ๆ หรือเป็นหุ้นที่เล่นตามเหตุการณ์พิเศษเช่น เป็นบริษัทส่งออกที่กำลังได้เปรียบทางด้านค่าเงินบาทที่อ่อนตัวอย่างรวดเร็ว หรือเป็นหุ้นสินค้าผู้บริโภคที่มียี่ห้อ ก็เริ่มเปลี่ยนไป พอร์ตเริ่มเปลี่ยนไปเป็นการถือหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” เพียงไม่เกิน 6-7 ตัวที่มีมูลค่าสูงถึง 70-75% ของพอร์ต และนั่นก็คือสิ่งที่ผมทำจนถึงทุกวันนี้

การเริ่มต้นลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามเมื่อ 6-7 ปีก่อนของผมเองก็มีวิวัฒนาการคล้าย ๆ กัน นั่นก็คือ แม้ว่าจะใช้หลักการ “VI” ตั้งแต่แรก แต่วิธีการก็ไม่ได้เหมือนในตลาดหุ้นไทยเลย เอาแค่จำนวนหุ้นก็ถือเป็นกว่าร้อยตัวเข้าไปแล้ว ซึ่งผลลัพธ์การลงทุนที่ได้ก็ต้องบอกว่าน่าผิดหวังและผลระยะยาวก็คงจะไปไม่ได้ หุ้น “ติดหล่ม” มาหลายปีก่อนที่ผมจะเริ่ม “ปรับพอร์ตครั้งใหญ่” ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ ถึงแม้ว่าจะยังมีหุ้นกว่าร้อยตัวอยู่ แต่หุ้นแนวซุปเปอร์สต็อกและหุ้นปลอดภัยราคาถูกเพียงประมาณ 8-9 ตัว กลับมีมูลค่าถึงกว่า 75% ของพอร์ตโดยรวม และผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ก็โดดเด่นในช่วงประมาณปีครึ่งที่ผ่านมา

ปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามโตขึ้นถึง 35% และแทบจะเรียกว่า “ดีที่สุดในโลก” นั้น หุ้นที่ใหญ่ที่สุด 4 ตัวของผมที่ผมคิดว่าเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกให้ผลตอบแทนเฉลี่ยถึงประมาณ 40% แต่ในช่วง 7 เดือนของปี 2565 นี้ ในขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามให้ผลตอบแทนติดลบถึงประมาณ 20% หุ้น 4 ตัวดังกล่าวกลับให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกประมาณ 4% ขณะที่หุ้นกลุ่ม Defensive โดยเฉพาะที่ทำเกี่ยวกับสาธารณูปโภคโดยเฉพาะผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีราคาค่อนข้างถูกอีก 4 ตัวที่มีขนาดใหญ่รอง ๆ มาของพอร์ตก็ให้ผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ยประมาณ 9% และนั่นทำให้พอร์ตหุ้นเวียดนามโดยรวมที่รวมถึงหุ้นอีกกว่า 100 ตัว ยังไม่ติดลบทั้ง ๆ ที่ตลาดหุ้นเวียดนามตกลงมาหนักมาก

ที่สำคัญยิ่งกว่าผลงานทางด้านของ “ราคาหุ้น” ก็คือ ผลประกอบการของบริษัทหรือหุ้นทั้งแปดตัวก็คือ กำไรของเกือบทุกบริษัทต่างก็เติบโตโดดเด่นตามราคาหุ้น ไม่มีหุ้นตัวไหนมีราคาผิดธรรมชาติ ค่า PE ของหุ้นสมเหตุผลที่ไม่เกิน 30 เท่า แต่ส่วนใหญ่แล้วก็อยู่ที่ประมาณ 20 เท่าเศษ ๆ แต่ก็มีบางตัวโดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Defensive ที่มีค่า PE ต่ำกว่า 10 เท่าและปันผลค่อนข้างดีที่เกิน 5% ต่อปี และนั่นจึงทำให้พวกมันไม่ได้ตกลงมารุนแรงในยามที่ตลาดหุ้นผันผวนหนัก ผมเองคิดว่า อนาคตหลังจากนี้ ที่ภาวะเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นแล้ว หุ้นพวกนี้จะปรับตัวขึ้นได้รวดเร็วเพราะมันไม่แพงและยังเติบโตดี

แน่นอนว่าผลตอบแทนจาก “พอร์ตใหม่” เพิ่งจะแสดงออกมาเพียงปีครึ่งหรือ 2 ปี ยังไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่ามันจะคล้าย ๆ กับพอร์ตซุปเปอร์สต็อกในตลาดหุ้นไทยย้อนหลังไปกว่า 10 ปีที่แล้วที่ทำให้ VI ไทยจำนวนมาก “ร่ำรวย” จากการลงทุนไปเลยเพราะสามารถสร้างผลตอบแทนต่อเนื่องในระดับหลายสิบเปอร์เซ็นต์ต่อปีติดต่อกันยาวนาน โดยที่เหตุผลก็คือ หุ้นที่เป็น VI มีการเติบโตของกำไรสูงบวกกับการปรับค่า PE ของหุ้นที่เพิ่มขึ้นไปมากจนบางตัวสูงถึง 30-40 เท่าหรือมากกว่านั้น เนื่องจากนักลงทุนที่มุ่งมั่น “ทั้งประเทศ” แทบจะเรียกตัวเองว่าเป็น VI และ “ไล่ล่า” หาหุ้นที่การเติบโตสุดยอดและดันราคาของหุ้นให้สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น ในขณะที่ในตลาดหุ้นเวียดนามนั้น ยังแทบจะไม่มี “VI” ที่จะเข้ามาลงทุนหรือ “เล่นหุ้น VI” ดังนั้น หุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” ในสายตาของผมหรือ VI ไทย ก็เป็นหุ้นอีกตัวหนึ่งที่นักลงทุนต่างชาติสนใจแต่หุ้น “วิ่งช้า” และนักลงทุนส่วนบุคคลของเวียดนามที่เน้นการ “เก็งกำไร” ไม่ชอบ

เราคงต้องดูกันต่อไปว่า อีกอาจจะ 5-10 ปีข้างหน้า นักลงทุนเวียดนามจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบนักลงทุนไทยในอดีตไหม ถ้าเป็น หุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” ในวันนี้ก็อาจจะเติบโตไปได้อีกมาก ถ้าเราถือไว้ยาวนานก็อาจจะรวยไปเลย แต่ถ้าไม่เป็น อย่างน้อยผมก็คิดว่าเราก็ควรจะได้ผลตอบแทนไม่น่าจะน้อยกว่า 10% แบบทบต้น สิ่งที่ผมรู้สึกดีในการถือหุ้นเหล่านั้นจริง ๆ ก็คือ มันน่าจะเป็นหุ้นที่มีความปลอดภัยสูงและเราสามารถลงทุนในปริมาณที่มากได้อย่างสบายใจ และดังนั้น ผมจึงคิดว่านี่คือพอร์ตที่ผมจะถือยาวและไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญอีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี

สิ่งที่ผมอาจจะทำบ้างก็คือ การ “ปรับพอร์ตในรายละเอียด” นั่นก็คือ หุ้นอีกกว่า 100 ตัว ผมจะทำอย่างไรกับมัน? ในชั้นนี้ผมก็มักจะขายออกไปบ้างเมื่อมีโอกาส แล้วใช้เงินนั้นซื้อหุ้นแนวซุปเปอร์สต็อกแทน อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ไม่ได้ทำอะไร ประโยชน์ของมันก็มีอยู่นั่นคือ มันยังจ่ายปันผลค่อนข้างดีมากกับผมทุกปี นอกจากนั้นหุ้นบางตัวนั้น เนื่องจากตัวเล็กมาก มันจึงโตได้เป็นหลาย ๆ “เด้ง” หรือหลาย ๆ เท่าในเวลาไม่กี่ปี บางตัวเป็น 10 เด้ง ซึ่งก็ทำให้มันสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้โดยเฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นมีการเก็งกำไรสูงอย่างในปี 2564 ที่มันให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นซุปเปอร์สต็อกด้วยซ้ำ

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2022/08/01/2696