ในช่วงที่ตลาดหุ้นตกลงมาต่อเนื่องนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในหมู่นักลงทุนก็คือความรู้สึก “เจ็บปวด” ในใจ นักลงทุนจำนวนมากต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อลดอาการเจ็บปวดนั้น ส่วนมากแล้วก็จะขายหุ้นทิ้ง “ตัดขาดทุน” เพราะทนเห็นหุ้นที่ถืออยู่ตกลงไปเรื่อย ๆ ไม่ไหว บางคนก็ “ซื้อถัว” คือซื้อหุ้นในราคาที่ลดลงเพื่อถัวเฉลี่ยกับต้นทุนเดิมทำให้ต้นทุนเฉลี่ยลดลงโดยหวังว่าเมื่อหุ้นปรับตัวขึ้นมาอัตราการขาดทุนจากหุ้นตัวนั้นจะได้ลดลงเร็วขึ้น นี่ก็เป็นเรื่องของการเจ็บปวดเนื่องจากราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไปรุนแรงที่มักจะก่อให้เกิดการเจ็บปวดกันทั่วหน้า
แต่การเจ็บปวดในตลาดหุ้นของนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น VI และลงทุนระยะยาวนั้นมีมากมาย บ่อยครั้งเราก็ต้อง “ทน” ที่จะไม่ทำอะไรเพื่อที่จะลดอาการเจ็บปวดนั้น เพราะการทำอาจจะทำให้เราต้องขายและ/หรือซื้อหุ้นซึ่งถ้าเราทำบ่อย ๆ เราก็จะไม่ใช่นักลงทุนระยะยาวที่เน้นถือหุ้นโดยอิงจากพื้นฐานระยะยาวของกิจการเป็นหลัก กลายเป็นนักเก็งกำไรหรือนักลงทุนระยะสั้นซึ่งอิงอยู่กับจิตวิทยาและปัจจัยอื่น ๆ ที่คาดการณ์ได้ยากซึ่งในที่สุดก็ทำให้เรา “แพ้” และไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุนระยะยาว
ความเจ็บปวดของ VI นั้น ถ้าพูดถึงการ “ขาดทุน” จากการลงทุนแล้วผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้เจ็บมากถ้าการขาดทุนนั้นไม่ได้รุนแรงจนกลายเป็นหายนะ เช่นเป็นการขาดทุนไม่เกิน 20% ในระหว่างปี เหตุผลก็เพราะว่าการลงทุนถือหุ้นระยะยาวเป็นที่เข้าใจได้ว่านาน ๆ ครั้งหุ้นมันก็ต้องปรับตัวลงบ้าง แต่ถ้าปรับตัวลงติดต่อกันหลายปีหรือผลตอบแทนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้นย่ำแย่ แบบนี้ VI ก็คงต้องรู้สึกเจ็บปวดแน่นอน แต่สิ่งที่ทำให้เจ็บปวดที่สุดนั้นน่าจะเป็นเรื่องของการขาดทุนของพอร์ตโดยรวมแล้ว มันยังเป็นการขาดทุนที่เลวร้ายกว่าการลดลงของดัชนีตลาดอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย และนี่ก็คือสิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะกำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้สำหรับ VI จำนวนมาก เหตุผลก็คือ ปีนี้ดูเหมือนว่าหุ้นตัวเล็กและกลางจะทำผลงานได้ย่ำแย่เมื่อเทียบกับหุ้นขนาดใหญ่ ผมคิดว่า VI หลายคนอาจจะขาดทุนเกินกว่า 20% ผลจากการที่ “หุ้น VI” หลาย ๆ ตัวที่เป็นหุ้น “ยอดนิยม” ตกลงมากว่า 50% ในช่วงปีนี้
การ “เปรียบเทียบ” นั้น น่าจะเป็นแหล่งของความเจ็บปวดมากที่สุดของนักลงทุนรวมถึง VI ขณะเดียวกันมันก็เป็นเรื่องที่จำเป็นเพราะมันเป็นมาตรฐานหรือเป็นเครื่องวัดว่าวิธีการลงทุนที่เราทำอยู่นั้นมันถูกต้องแค่ไหน ถ้าเราลงทุนไปเรื่อย ๆ “วันต่อวัน” หรือแม้แต่ “ปีต่อปี” โดยไม่ได้เปรียบเทียบกับอะไรเลยรวมถึงดัชนีตลาด บางทีเราก็อาจจะไม่รู้ว่าเราไม่ควรลงทุนเองเลยก็ได้ เหตุผลง่าย ๆ ก็คือ เราสามารถสร้างผลตอบแทนพอ ๆ กับดัชนีตลาดได้เสมอโดยการลงทุนในกองทุนอิงดัชนีเช่น SET 50 ที่คิดค่าบริหารต่ำสุด เป็นต้น
การเปรียบเทียบกับผลงานการลงทุนของเพื่อนหรือคนที่เรารู้จักก็เป็นแหล่งที่สร้างความเจ็บปวดให้กับ VI ไม่น้อยและผมคิดว่ามันไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรรังแต่จะเป็นโทษ เพราะเราอาจจะปรับวิธีการลงทุนซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องและไม่ได้ปรับปรุงวิธีการลงทุนของเราให้ดีขึ้นด้วย เหตุผลก็เพราะว่า ข้อแรก เราอาจจะไม่ได้ข้อมูลผลตอบแทนของคนอื่นที่ถูกต้องก็ได้ เราอาจจะเห็นว่าหุ้นบางตัวของเพื่อนนั้นเติบโตดีมากกว่าหุ้นของเราแต่เราก็ไม่รู้ว่าต้นทุนเขาเป็นอย่างไร เช่นเดียวกัน เราอาจจะไม่รู้ว่าหุ้นบางตัวของเขาก็อาจจะขาดทุนหนักหรือเขายังมีทรัพย์สินอย่างอื่นอีกมากน้อยแค่ไหนและมันสร้างผลตอบแทนอย่างไร คำพูดของคนว่าเขาได้ผลตอบแทนเท่าไรในแต่ละปีหรือแต่ละช่วงเวลาเองนั้น บางทีก็อาจจะเชื่อถือไม่ได้หรือไม่ถูกต้อง การที่คนบางคนมีพอร์ตหรือมีหุ้นที่มีมูลค่ามากขึ้นมากนั้น บางทีก็อาจจะมาจากการนำเงินจากแหล่งอื่นที่มีมากกว่าของเรามากหรือมีการกู้ผ่านการใช้มาร์จินมาลงทุนก็ได้ ดังนั้น การเปรียบเทียบผลการลงทุนกับคนอื่นโดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาอันสั้นเช่นไม่ถึง 10 ปีนั้น ผมคิดว่ามีแต่จะทำให้เจ็บปวด เพราะแม้ว่าผลงานของเราจะ “ดูดีมาก” แต่ “เหนือฟ้าก็ยังมีฟ้า” เราจะหาความสุขได้ยากมากและก็มักจะพบแต่ความเจ็บปวดแม้ว่าเราจะทำได้ดีอยู่แล้ว
“หุ้นลงหุ้นของเราก็ลงด้วย แต่เวลาหุ้นขึ้น หุ้นเรากลับไม่ขึ้น” นี่ก็เป็นความเจ็บปวดที่ทำให้นักลงทุนจำนวนมากต้องขายหุ้นทิ้งในที่สุดเพื่อลดความเจ็บปวด แต่หลายคนก็กลับเจ็บปวดอีกครั้งเพราะหลังจากนั้นหุ้นตัวนั้นก็ปรับตัวกลับขึ้นมา การเป็น VI นั้น เราจะต้องอดทนต่อความผันผวนของหุ้นได้ดีกว่าคนอื่นเพราะอย่างที่บัฟเฟตต์เคยพูดไว้ว่า “ตลาดหุ้นเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนย้ายเงินจากคนที่อดทนไม่ได้ไปสู่คนที่อดทนรอได้” ดังนั้น เวลาเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เราต้องคิดเสมอว่าการผันผวนของหุ้นนั้นไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องสอดคล้องกับดัชนีตลาดเสมอไปโดยเฉพาะหุ้น VI ที่มักจะถูกกำหนดโดยพื้นฐานและผลประกอบการมากกว่าจากอิทธิพลของตลาดหุ้น
การประกาศผลประกอบการรายไตรมาศที่ “น่าผิดหวัง” ดูเหมือนว่าจะเป็นความเจ็บปวดพอสมควรสำหรับ VI ที่ลงทุนโดยที่คาดหวังว่าผลประกอบการของบริษัทจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะยาว หลายคนอาจจะขายหุ้นทิ้งเพื่อลดความเจ็บปวดโดยเฉพาะถ้ามันเป็นความผิดหวังซ้ำมากกว่าหนึ่งไตรมาส อย่างไรก็ตาม การทำแบบนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เหตุผลเพราะว่าบริษัทเองอาจจะมีช่วงเวลาที่ไม่ดีซึ่งอาจจะใช้เวลาเป็นปีหรือมากกว่านั้นก่อนที่กำไรจะดีขึ้นตามปกติเนื่องจากบริษัทอาจจะอยู่ระหว่างการลงทุนขยายงานที่ต้องใช้เวลาก่อนที่จะทำกำไรได้ หรือภาวะเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมในช่วงนั้นอาจจะไม่เอื้ออำนวย ในกรณีดังกล่าว หากเห็นว่ากิจการก็ยังแข็งแกร่งหรืออาจจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เราก็อาจจะต้องอดทนรอ อย่าขายแม้หุ้นจะตก
ความเจ็บปวดของ VI นั้น บางครั้งก็เพราะพบว่าผู้บริหารบริษัทของเราทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเช่น ทำผิดกฎเกณฑ์หรือผิดจรรยาบรรณของการเป็นบริษัทจดทะเบียน ตัวอย่างเช่น การใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายหุ้นหรือตกแต่งบัญชี หรือบางทีก็ทำในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์หรือเสียหายต่อบริษัท เช่น การซื้อทรัพย์สินหรือธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือผลกำไรที่คุ้มค่า หรือมีการจัดสรรกำไรอย่างไม่เหมาะสมเช่นการจ่ายปันผลในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็นทั้ง ๆ ที่บริษัทไม่ได้มีการเติบโตทางธุรกิจนักและมีเงินสดมากการที่บริษัทกระทำดังกล่าวนั้นอาจจะมาจากเรื่องของการฉ้อฉลหรือทำเพราะผู้บริหารไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นหลัก จึงอาจจะตัดสินใจโดยไม่ได้คำนึงถึงผู้ถือหุ้นเท่าที่ควรส่งผลให้ราคาหุ้นหรือมูลค่าหุ้นของบริษัทต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ความเจ็บปวดแบบนี้บางทีเราก็จะต้องอดทนเช่นเดียวกันหากเห็นว่าพื้นฐานของกิจการยังดี ปัญหาที่เกิดขึ้นยังพอรับได้และหุ้นมีราคาต่ำกว่าพื้นฐานพอสมควร การขายหุ้นทิ้งเพื่อลดความเจ็บปวดอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก
สุดท้ายที่จะพูดถึงก็คือเรื่องของความเสียดายและเสียใจที่มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยที่ความเสียดายนั้นมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดหุ้นดี ราคาหุ้นขึ้นกันต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว บางครั้งเรา “เล็ง” ที่จะซื้อหุ้นบางตัวแต่เรา “ต่อรองราคา” มากเกินไปโดยการตั้งเสนอซื้อแทนที่จะเคาะซื้อแต่แล้วราคาก็วิ่งขึ้นไปแรงทำให้เราพลาดและไม่ต้องการไล่ซื้อตาม สุดท้ายราคาหุ้นตัวนั้นขึ้นไปมาก เรารู้สึกว่าเราพลาดกำไรไปมากมายเนื่องจากเรา “เหนียวเกินไป” เรารู้สึกเจ็บปวด ตรงกันข้าม ในช่วงที่หุ้นตกและเรากำลังคิดว่าจะขายหุ้นแต่แล้วเราไม่ได้ขายและหุ้นตกหนักลงไปอีกจนเราขาดทุนจากที่เคยกำไร เรารู้สึกเสียใจและเจ็บปวด อย่างไรก็ตามเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ เรารู้ต่อเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น เราต้อง “ทำใจ”
มีเรื่องเจ็บปวดในตลาดหุ้นตลอดเวลา ถ้าเราไม่ฝึกฝนการ “ทำใจ” ให้ถูกต้องเข้มแข็ง โอกาสที่ความเจ็บปวดจะมาทำร้ายเราทั้งในเรื่องของจิตใจและผลการลงทุนก็จะสูง การเป็น VI และลงทุนระยะยาวนั้น การมีจิตใจที่มั่นคงมีความอดทนและอดกลั้นสูงมีความสำคัญเท่า ๆ กับความรู้ในเรื่องของการลงทุน
ที่มาบทความ: thaivi.org