ข่าวเกี่ยวกับการลงทุนของวอร์เรน บัฟเฟตต์ในช่วงอย่างน้อย 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น ดูเหมือนว่าไม่ใช่เป็นการซื้อหุ้นลงทุน แต่เป็นการขายหุ้นที่ถือมายาวนานหลายตัว ในจำนวนที่ค่อนข้างมากอย่างมีนัยสำคัญ ล่าสุดก็คือขายหุ้นแบงก์สหรัฐบางส่วน ได้เงินมาประมาณ 340,000 ล้านบาท ในส่วนของการซื้อหุ้นลงทุนเองนั้น ดูเหมือนว่าจะน้อยกว่าและตัวเล็กกว่าและก็เริ่มไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะในตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่หุ้นมีราคาถูกมากมานาน
ผลก็คือ เงินสดของเบิร์กไชร์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดนั้นสูงถึงประมาณ 280 พันล้านเหรียญหรือ 9.4 ล้านล้านบาทแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่ “สูงที่สุดในประวัติศาสตร์” ของบัฟเฟตต์ นั่นก็น่าจะมาจากมุมมองของบัฟเฟตต์ต่อตลาดหุ้นของอเมริกาว่า ตลาดหุ้นกำลังเติบโตร้อนแรงเกินไปตั้งแต่หลายปีที่ผ่านมาหลังวิกฤติโควิด-19 ซึ่งทำให้เขาหาหุ้นที่จะลงทุนยาก เพราะหุ้นเหล่านั้น “แพงเกินไป” นอกจากนั้น หุ้นที่ถืออยู่ก็ “แพงเกินไป” ซึ่งก็ทำให้เขาต้องขายบางตัวออกไป และเก็บเป็นเงินสดที่เขาต้องเอาไปลงทุนซื้อพันธบัตรหรือเงินลงทุนระยะสั้นที่ให้ดอกเบี้ยหรือกำไรต่ำกว่าผลตอบแทนจากตลาดหุ้นมากเป็นเวลาหลายปี
พูดได้เลยว่าบัฟเฟตต์ “ตกรถ” ครั้งใหญ่ที่ไม่ได้ซื้อหุ้นที่วิ่งแรงต่อเนื่องมาหลายปีในตลาดหุ้นสหรัฐ ผมเองไม่รู้ว่าบัฟเฟตต์คิดอย่างไร บางทีเขาอาจจะรู้สึกเฉย ๆ ก็ได้ เพราะคนอย่างบัฟเฟตต์นั้น คิดลึกและรอบคอบเสมอ ไม่ตามใครและแน่นอน ไม่ตามตลาด และไม่แคร์ว่าใครจะบอกว่าเขาพลาดไปแล้วและ “ตกรถ” เพราะเขาอาจจะไม่เข้าใจ “หุ้นในโลกยุคใหม่” ที่เป็นหุ้นดิจิทัลและ “AI” ที่กำลังโตขึ้น “คับโลก”
แน่นอนว่าผมไม่คิดอย่างนั้น วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นมาน่าจะหลายรอบในชีวิตการลงทุนของเขา ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือในช่วงปลายปี 1969 ที่เขาได้ผลตอบแทนการลงทุนสุดยอดปีหนึ่งเพราะหุ้นขึ้นไปมากนั้น เขากลับตัดสินใจขายหุ้นทิ้งหมด ปิดกองทุนที่เป็นห้างหุ้นส่วน และคืนเงินให้ผู้ลงทุนหมดเพราะเขาดูแล้วหุ้นมัน “แพงเกินไปมาก” ไม่รู้ว่าจะซื้อหุ้นอะไรที่จะไม่เสี่ยง ซึ่งในครั้งนั้น เขาคาดถูก เพราะหลังจากปิดกองทุนสักพักหนึ่ง ตลาดหุ้นที่ร้อนแรงมากก็ถล่มทะลายในปี 1973-74 และเขาก็กลับมาลงทุนอีกครั้งภายใต้บริษัทหนึ่งที่เขาไม่ได้ขายไปที่ชื่อว่า เบิร์กไชร์ แฮทธาเวย์ และกลายเป็น “ตำนาน” การลงทุนของบัฟเฟตต์มาจนถึงทุกวันนี้
ในครั้งนี้ ที่พอร์ตของบัฟเฟตต์ใหญ่คับตลาดหุ้นและเบิร์กไชร์เป็นบริษัทมหาชน สิ่งที่เขาทำได้ก็คงเป็นแค่ว่า เขาขายหุ้นและถือเงินสดจำนวนมหาศาลเพื่อที่จะรอว่า “วิกฤติ” อาจจะมาเมื่อไรหลังจากที่ตลาดหุ้นร้อนแรงมานาน และในวันนั้น เขาก็คงจะใช้เงินสดที่ “ไม่มีใครจะมีเท่า” เข้าไปกวาดซื้อหุ้นที่ตกลงมามากจนมีราคาถูกที่เขาสบายใจที่จะซื้อ ที่ผ่านมา 2-3 ปี นั้น หุ้นไม่ตกเลยและมีแต่จะขึ้น เขา “ตกรถ” แต่เขาก็ยัง “รอต่อไป” และก็ยังเพิ่มเติมเงินสดขึ้นไปอีก ซึ่งก็เป็นสัญญาณว่าเขายังยึดมั่นกับความคิดที่ไม่เคยเปลี่ยนว่า ถ้าหุ้นแพงต้องไม่ซื้อ และถ้าแพงเกินพื้นฐานไปมากในระยะยาว ก็ต้องขาย เราคงต้องจับตาดูว่าบัฟเฟตต์จะคิดถูกอีกไหม
ประวัติศาสตร์บอกเราว่า บัฟเฟตต์ค่อนข้างจะถูกต้องในการคาดการณ์ หลายครั้งเมื่อเกิดวิกฤติ เบิร์กไชร์มีเงินสดเหลือล้นที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่มีปัญหาและราคาหุ้นตกลงมาแรงมากและทำให้เขาสามารถเข้าไปลงทุนและสร้างผลตอบแทนได้อย่างงดงาม คุ้มค่ากับการถือเงินสดที่ได้ผลตอบแทนต่ำเป็นเวลาอาจจะหลายปี
กลับมาที่ตลาดหุ้นไทย ผมพบว่าแนวความคิดเรื่องของการลงทุนในสไตล์ของบัฟเฟตต์ดังกล่าวนั้น แทบจะไม่มีเลยอย่างน้อยก็ในช่วงตั้งแต่กำเนิดขบวนการ “VI” ในปี 2542-43 จนถึงช่วงเร็ว ๆ นี้
จากการคลุกคลีอยู่ในแวดวงของนักลงทุนที่เรียกตัวว่าเป็น “VI” ในตลาดหุ้นไทยเป็นเวลากว่า 25 ปี ผมพบว่าเหล่า VI ซึ่งรวมถึงผมในช่วงเวลาหนึ่งนั้น มักจะไม่ถือเงินสดจำนวนมากและ/หรือเป็นเวลานาน เหตุผลนั้นผมคิดว่ามีหลายประการ ทั้งหมดมาจากการที่ VI ประสบความสำเร็จสูงมาก ผลตอบแทนจากการลงทุนดีแบบแทบจะเรียกว่ามหัศจรรย์ อานิสงส์จากการที่ตลาดหุ้นและหุ้นที่เรียกว่าเป็น “หุ้น VI” ให้ผลตอบแทนที่ดี “เหนือจริง” ทำให้คนที่เป็น VI มักจะไม่ต้องการถือเงินสดเลย จำนวนมากกู้เงินเพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะคิดว่าการถือหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินสดเสมอและไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์อะไรเลย
ประเด็นแรก ก็คือ VI สามารถหาหุ้นลงทุนในตลาดได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดบูม ผมเองจำได้ว่าในช่วงแรก ๆ ของการเป็น VI ตลาดหุ้นเต็มไปด้วยหุ้นที่โตเร็วตัวเล็ก ๆ และก็มี VI จำนวนมากเข้าไปรุมซื้อ ทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปแรง VI บางคนก็อาจจะขายหุ้นออกไปทำกำไรได้อย่างรวดเร็ว และแทบจะทันทีเมื่อได้รับเงินสดมาก็จะรีบเข้าไปซื้อหุ้นตัวใหม่ ที่ซักพักก็จะมีการเชียร์ให้ VI และนักลงทุนรายย่อยอื่นเข้าไปซื้อ ทำให้ราคาวิ่งขึ้นไปและก็จะถูกขายทำกำไรได้อีก ซึ่งการ “หมุนหุ้น” แบบนี้ มักจะทำกำไรได้สูงกว่าการซื้อหุ้นแล้วเก็บยาวไม่ขายแบบบัฟเฟตต์
ประการที่สอง VI มักมองว่าเงินสดก็เป็นการลงทุนในตราสารอีกอย่างหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนอาจจะแค่ปีละ 1-2% ซึ่งนั่นเท่ากับการลงทุนในทรัพย์สินที่มีค่า PE 50-100 เท่า โดยที่เป็นหลักทรัพย์ที่ “ไม่โต” ดังนั้น เงินสดถือว่าเป็นการลงทุนที่แย่มากในแนวของ VI ที่ชอบหุ้นที่โตเร็วและค่า PE ต่ำหรือเป็นหุ้นถูก
ประการที่สาม แม้แต่ช่วงที่ตลาดหุ้นอาจจะไม่ดีนักและมองไปข้างหน้าก็อาจจะไม่สดใส แต่ VI มักจะไม่ค่อยสนใจ พวกเขาคิดว่าหุ้นที่ตนเองวิเคราะห์และเลือกแล้วนั้น ดีกว่าตลาดมาก ยังไงก็ทำได้เหนือกว่าตลาด หลายคนตั้งเป้าหมายว่าจะ Outperform หรือทำผลงานได้ดีกว่าตลาดปีละประมาณ 10% อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ถึงตลาดจะตกลงมา 7-8% เขาก็คิดว่าเขาอาจจะทำได้ 2-3% ต่อปี ซึ่งก็ยังดีกว่าถือเงินสดที่ให้ผลตอบแทนไม่เกิน 1% อยู่ดี ดังนั้น จะถือเงินสดทำไม?
ประการสุดท้าย VI โดยเฉพาะรุ่นใหม่ ๆ นั้น มักจะมีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก และพวกเขาต่างก็ตั้งเป้าที่จะมีอิสระภาพทางการเงินภายในเวลาไปกี่ปี หลายคนหวังที่จะรวยเป็นเศรษฐีจากการลงทุน แต่ด้วยการที่ยังมีอายุน้อยและไม่ได้มี “เงินต้น” ในการลงทุนมากนัก พวกเขาจึงต้อง “เร่ง” โดยการถือหุ้นให้มากที่สุด บ่อยครั้งมากก็ใช้การกู้หรือมาร์จินหรือเครื่องมือเพื่อเพิ่มจำนวนหุ้นให้มากขึ้น ความคิดที่จะถือเงินสดนั้นจึงไม่มี
และไม่ต้องไปคิดว่าถ้าถือเงินสดแล้วเวลาเกิดวิกฤติหรือเจอหุ้นดีจะได้มีเงินซื้อนั้น มันไม่มีความหมายเลย เพราะพวกเขามักจะไม่ค่อยคิดถึง “วันที่เลวร้าย” แบบนั้น เวลาลงทุนพวกเขามักจะมี “Conviction” หรือความเชื่อที่เต็มเปี่ยมว่า ดีแน่ “All In” หรือซื้อเต็มที่ไปเลย เงินทุกบาทใส่ลงไปในหุ้น
โดยส่วนตัวผมเองนั้น ช่วงแรก ๆ ในชีวิตการเป็น VI ผมก็ลงทุน 100% ในหุ้นหลาย ๆ ตัว มีเงินสดบ่อยครั้งไม่ถึง 1% ของความมั่งคั่งเอาไว้ใช้จ่ายประจำวัน ทุกครั้งที่ขายหุ้นหรือได้ปันผล ภายในเวลาไม่กี่วันก็จะต้องไปซื้อหุ้นตัวใหม่ได้เสมอ เพราะมีหุ้นถูกคุณภาพดีอยู่เต็มตลาด อย่างไรก็ตาม สภาวะทางเศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยเจริญเติบโตสูงมาก กลายเป็นเติบโตต่ำและต่อเนื่องอานิสงส์สำคัญจากประชากรที่แก่ตัวลง และระบบการปกครองที่ถดถอยลงในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ไม่สามารถฟื้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้
ผลก็คือ ตลาดหุ้นและบริษัทจดทะเบียนโดยรวมแน่นิ่งมา 10 ปี เป็น “Loss Decade” การลงทุนในหุ้นให้ผลตอบแทนลดลงมาก ความสามารถที่จะเลือกหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดเองก็ลดลง เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งก็เพราะหุ้นดีแบบ VI ก็มักมีราคาแพงหรือเต็มมูลค่า ดังนั้น ผมก็เริ่มมีเงินสดพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ และก็ต้อง “ย้ายตลาด” เอาเงินสดไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามบางส่วน แต่ก็ยังเหลือเงินสดอยู่ดีในอัตราประมาณ 5-6% และก็อาจจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ
และก็คงต้องทำคล้าย ๆ บัฟเฟตต์ที่อาจจะต้อง “นอนรอบนกองเงินสด” จนกว่าโอกาสในการลงทุนจะเปิด คือมีหุ้นดีราคาถูกทั้งตลาดหุ้นในและต่างประเทศ
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร