VI กับการเมือง

“การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน”  นี่เป็นคำกล่าวที่ผมคิดว่าเป็นจริง  ทุกคนต่างก็มีความคิดเห็นทางการเมืองของตนเองและถ้าเปิดโอกาสให้แสดงออก  “อย่างเสรี”  เขาก็จะพูดหรือแสดงออกมา  ความคิดทางการเมืองนั้น  ก็เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ  ทางสังคม  มีวิวัฒนาการมายาวนานตั้งแต่มนุษย์เริ่มสร้างสังคม  อยู่กันเป็นหมู่บ้าน  เมือง  และกลายเป็นรัฐและประเทศ  เริ่มต้นนั้น  การเมืองการปกครองก็เริ่มต้นโดยผู้ปกครองที่มี “อำนาจ” ในการสั่งการให้ผู้คนปฏิบัติตามเพื่อให้สังคมอยู่ในระบบหรือกฎเกณฑ์ที่จะทำให้คนที่อยู่ในสังคมสามารถร่วมกันจัดการงานต่าง ๆ  ที่จะทำให้คนส่วนใหญ่มีโอกาสที่จะ “อยู่รอด” มากขึ้น  อำนาจของคนในช่วงแรก ๆ  นั้น  มักจะมาจากความสามารถหรือคุณสมบัติส่วนตัว เช่น  เป็นผู้ชาย  เป็นคนที่มีรูปร่างสูงใหญ่แข็งแรง  เป็นต้น  ต่อมาเมื่อมนุษย์เจริญขึ้น  คนที่มีอำนาจก็ค่อย ๆ  เปลี่ยนไป  เช่น  กลายเป็นคนที่ฉลาด  มีความรู้  และได้รับการศึกษามากกว่า  เป็นต้น

กระบวนการเปลี่ยนแปลงของอำนาจจากคนกลุ่มหนึ่งไปสู่คนอีกกลุ่มหนึ่งนั้น  มักจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย  บ่อยครั้งก็เกิดการต่อสู้กลายเป็นสงครามที่ทำให้คนล้มตายไปจำนวนมาก  เหตุผลก็เพราะคนที่อยู่ในอำนาจนั้น  มักจะได้รับผลประโยชน์มากมายในขณะที่คนที่ “ไม่มีอำนาจ” ซึ่งมักเป็นคนที่ “ด้อยกว่า” อาจจะเนื่องจากการเกิดหรือการถูกกดขี่เอาเปรียบจากระบบการเมืองหรือสังคมเดิมนั้น  ต้องเป็นผู้รับภาระต่าง ๆ  ผ่าน  “ระบบ” ต่าง ๆ  เช่น  ภาษีหรือกฎหมายที่ “ไม่ยุติธรรม” สำหรับพวกเขา

ระบบของ “อำนาจ” นั้น  ในช่วงที่โลกยังไม่เจริญก็มักจะอยู่ในมือของคนจำนวนน้อยถึงน้อยมาก  ตัวอย่างเช่น ฟาโรห์ของอียิปต์  เป็นต้น  ต่อมาเมื่อโลกเจริญขึ้นเรื่อย ๆ  จำนวนคนที่มีอำนาจก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  แต่จำนวนคน “มีอำนาจ” ที่เพิ่มเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้น  เพิ่งจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ  นี้หรือไม่เกินร้อยกว่าปี  นั่นก็คือวันที่โลกยอมรับว่า  “ผู้หญิง” ก็มีอำนาจเท่า ๆ  กับผู้ชาย  เพราะด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการศึกษา  ผู้หญิงหรือผู้ชายก็มีความสามารถไม่แพ้กัน

นอกจากเรื่องของอำนาจแล้ว  แนวความคิดหรือหลักการว่าคนบางคนหรือบางกลุ่มนั้นมีอำนาจมากกว่าคนอื่นเองนั้น  ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง  เริ่มต้นนั้นก็เช่นเดียวกัน  คนที่มีอำนาจสูงสุดหรือเด็ดขาดมีเพียงคนเดียวหรือน้อยมาก  ต่อมาเมื่อสังคมใหญ่และซับซ้อนขึ้น  จำนวนคนที่มีอำนาจมากก็เพิ่มขึ้น  และเมื่อโลกเจริญขึ้นที่ส่งผลให้คนมีการศึกษามากขึ้น  พวกเขาก็ต้องการที่จะมีอำนาจมากขึ้น  จนมาถึงจุดหนึ่ง  สังคมหรือประเทศที่เจริญก้าวหน้ามากที่สุดก็ไม่สามารถที่จะ “กีดกัน” คนบางคนหรือบางกลุ่มไม่ให้มีอำนาจ  และนั่นทำให้คนทั้งประเทศ “มีอำนาจเท่ากันหมด”  ในทางกฎหมาย  และนี่ก็คือระบบ  “ประชาธิปไตย” ที่ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์แม้แต่ผู้นำประเทศที่เป็นประธานาธิบดีอย่างของสหรัฐอเมริกา  เป็นต้น

ในประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มที่นั้น  การจัดสรรอำนาจก็จะลดหลั่นกันไป  คนบางคนหรือบางกลุ่มก็มักจะมีอำนาจมากกว่าคนอื่น  คนที่มีอำนาจน้อยกว่าคนอื่นเองนั้นก็ยังอาจจะมีมากและพวกเขายัง  “ยอมรับ”  หรือไม่สามารถที่จะ “ต่อสู้”  เพื่อเพิ่มอำนาจของตนเองให้เท่าเทียมกับคนอื่นที่ “อยู่ในอำนาจ”  อย่างไรก็ตาม  ความก้าวหน้าของประเทศและสังคมที่ดำเนินไปเรื่อย ๆ  บางทีอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับอดีตร้อยหรือหลายร้อยปีที่ผ่านมานั้น  ทำให้คนที่มีอำนาจน้อยสามารถเพิ่มศักยภาพหรือความสามารถของตนขึ้นมาเรื่อย ๆ  และเมื่อถึงวันหนึ่ง   พวกเขาก็อยากที่จะมีอำนาจเท่า ๆ  กับคนอื่นและถ้าถูกปฏิเสธหรือถูกกีดกัน  พวกเขาก็จะลุกขึ้นมา  “ต่อสู้”  ด้วยวิธีการต่าง ๆ  และนั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมาตลอด

ในสังคมของประเทศที่พัฒนาแล้วและทุกคนมีอำนาจเท่า ๆ  กันแล้ว  ความคิดทางการเมืองก็จะเปลี่ยนเป็นเรื่องของสิทธิและเสรีภาพที่เขาจะทำได้ถ้าสิ่งนั้นไม่ได้เดือดร้อนใครหรือทำให้คนอื่นเสียสิทธิอันชอบธรรมของตนเอง  คนที่มีแนวโน้มที่สนับสนุนแนวทางแบบนี้มักจะเป็นคนที่มองว่า  เราควรส่งเสริมให้คนมีความเป็น “ปัจเจกชน” อย่าไปสร้างกฎหมายหรือกฎเกณฑ์อะไรก็ตามที่จะไปลดความคิดสร้างสรรค์และแรงจูงใจในการทำงานของคน  นอกจากนั้น  พวกเขามักจะเคารพในสิทธิต่าง ๆ  ของคนแม้ไม่ใช่เรื่องของกฎหมายอย่างเช่นเรื่องของเพศสภาพ  การให้ผู้หญิงมีสิทธิที่จะทำแท้ง  การนับถือหรือไม่นับถือศาสนา หรือเรื่องต่าง ๆ ที่  “ไม่ได้เดือดร้อนใคร”  เป็นต้น  ในอีกด้านหนึ่ง  พวกเขาก็อยากส่งเสริมให้คนทุกคนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเพื่อให้ “เท่าเทียม” กับคนอื่น ๆ  พวกเขาคิดว่าคนเกิดมาก็เท่ากัน  แต่ที่แย่กว่าคนอื่นเป็นเพราะระบบเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย  ดังนั้น  คนในสังคมที่รวยกว่าก็ควรที่จะต้องเสียสละเพื่อให้สังคมส่วนรวมดีขึ้น  และนี่ก็อาจจะเรียกว่าเป็นแนวคิดแบบ  “เสรีนิยม”

ตรงกันข้ามกับเสรีนิยมก็คือแนวคิดแบบ “อนุรักษ์นิยม”  ที่มีความคิดว่า  “คนไม่เท่ากัน”  คนบางคนหรือบางกลุ่มนั้นเหนือกว่า  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเกิดหรือการพัฒนาตนเอง  การให้สิทธิที่เท่าเทียมกันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง  พวกเขาคิดว่าสังคมที่ดีนั้น  จะต้องมีคนที่ดีกว่าเป็นผู้นำ  การมีกฎหมายหรือประเพณีและวัฒนธรรมที่  “ดี” และทุกคนยึดมั่นในคำสอนของศาสนาหลักของประเทศ   จะทำให้สังคมก้าวหน้าและ “สงบสุข”  ดังนั้น  พวกเขาก็มักจะส่งเสริมอะไรก็ตามที่เป็นความคิดของสังคมยุคเก่า

เรื่องที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น  VI ก็คือ  คนที่เป็นนักลงทุนระดับเซียนโดยเฉพาะที่เป็นแนว VI พันธุ์แท้ระดับโลกอย่างวอเร็น บัฟเฟตต์  นั้น  พวกเขามีความคิดทางการเมืองแบบไหน?

ชัดเจนว่าวอเร็น บัฟเฟตต์นั้นอยู่ข้าง  “เสรีนิยม”  คือเป็นเดโมแครท ทั้ง ๆ  ที่พ่อของเขาซึ่งเป็น  นักการเมืองเต็มตัวและเป็นสภาชิกสภาคองเกรสหลายสมัยนั้นเป็น “อนุรักษ์นิยม” สุด ๆ และเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน  ว่าที่จริงในช่วงที่โอบามาเป็นประธานาธิบดีนั้นก็มีข่าวว่าเขาอยากให้วอเร็น บัฟเฟตต์ เป็นรัฐมนตรีคลังแต่บัฟเฟตต์ปฎิเสธ  บัฟเฟตต์เองนั้นก็มักเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอยู่เสมอ  เขามักช่วยหาเสียงแนว  “ประกาศสนับสนุน” ผู้สมัครที่เขาชื่นชอบ  แต่คงไม่ได้บริจาคเงินมากมาย  เขายังเคยเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองที่สุดฉบับหนึ่งและเป็นหนังสือพิมพ์แนวเสรีนิยม  ตัวบัฟเฟตต์เองเห็นว่าสังคมอเมริกันนั้น  คนรวยยังได้เปรียบคนจนมากและยังจ่ายภาษีน้อยเกินไป  เขาบอกว่าเลขาของเขาจ่ายภาษีคิดเป็นเปอร์เซ็นต์สูงกว่าตัวเขาดังนั้นเขาเรียกร้องให้เก็บภาษีคนรวยมากขึ้น

จอร์จ โซรอส เองนั้น  แม้จะไม่ได้เป็น VI แต่หลักความคิดและการลงทุนของเขาเองผมคิดว่าไม่ได้ต่างกัน  เขาเป็นคนที่สนใจและเกี่ยวข้องกับการเมืองสูงมากโดยเฉพาะในประเทศฮังการีซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของเขา  และยุโรปตะวันออกที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยโดยเฉพาะในอดีต  โซรอสเองนั้นถึงกับตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสร้าง  “สังคมเปิด”  ในประเทศต่าง ๆ  ด้วยเงินจำนวนมาก

สำหรับ VI ไทยเองนั้น  ผมคงไม่สามารถพูดอะไรได้มากนัก  เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะว่าสังคมการเมืองของไทยเองนั้น  ยังไม่ได้พัฒนาเพียงพอที่คนจะประกาศตนสนับสนุนแนวความคิดบางอย่างได้โดยเฉพาะที่เขายังต้อง  “อยู่กับระบบ” เพราะเขาทำธุรกิจหรือทำงานในหน่วยงานหรือบริษัท  เพราะในบางครั้งอาจจะทำให้คนทำ “มีปัญหา” ได้  ไม่ต้องพูดถึงว่าจะเข้าไปทำงานการเมือง  นอกจากนั้น  ในสังคมไทยเอง  คนจำนวนมากหรือส่วนใหญ่ก็มักจะยังไม่ค่อยยอมรับความแตกต่างทางการเมือง  การแสดงจุดยืนที่ชัดเจนก็อาจจะทำให้  “เสียเพื่อน”  ได้

ในส่วนตัวผมเองนั้น  ผมคิดว่าแนวความคิดทางการเมืองของผมมีพัฒนาการมาเรื่อย ๆ  ตั้งแต่เด็กที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยม  และเริ่มเป็นเสรีนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ  ตั้งแต่เริ่มเป็น VI เมื่อกว่า 20 ปีก่อน  ส่วนสำคัญน่าจะมาจากการศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการเมืองเนื่องจากมีเวลามากขึ้นหลังจากเกษียณจากงานประจำในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มักจะประกอบไปด้วยคนที่มีแนวโน้มการเป็นอนุรักษ์นิยมตามธรรมชาติในสังคมไทย

ที่มาบทความ: http://www.thaivi.org/vi-กับการเมือง/