“Insanity is doing the same thing over and over again and expecting different results”
นั่นเป็นคำพูดที่คนชอบอ้างว่าเป็นของอัลเบิร์ท ไอสไตน์ แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานชัดเจน ความหมายก็คือ “เป็นเรื่องไร้เหตุผลมากที่เราจะทำสิ่งเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าและหวังว่ามันจะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไปจากเดิม” ถ้าจะอธิบายเพิ่มเติมก็คือ ถ้าคุณต้องการผลลัพธ์ใหม่ คุณก็ต้องทำแบบใหม่ ทำแบบเดิมก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิม อย่าไปหวังว่ามันจะได้ผลลัพธ์ใหม่
ในทางวิทยาศาสตร์นั้น นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในทางสังคมศาสตร์หรือในทางเศรษฐศาสตร์แล้วมันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางครั้งการทำแบบเดิมแต่อาจจะได้ผลลัพธ์ใหม่ เช่น เคยเล่นหุ้นสั้น ๆ รายวันแบบเก็งกำไรบางทีหรือบางช่วงก็ขาดทุน แต่บางครั้งหรือบางช่วงก็กำไร อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวถ้าเราทำซ้ำ ๆ สุดท้ายเราก็จะต้องขาดทุน คำถามก็คือ ทำไมนักลงทุนหรือคนเล่นหุ้นก็ยังชอบเล่นเก็งกำไรแบบสั้น ๆ วันต่อวัน? เล่นมาแล้วเป็นสิบ ๆ ปีก็มีและส่วนใหญ่ก็ขาดทุนมาตลอด แต่เขาก็ยังหวังว่าเขาก็จะได้กำไรจากการทำแบบเดิม
ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเกี่ยวกับจิตวิทยาของมนุษย์ที่ส่งผลมาจากยีน เรื่องแรกก็คือ ยีนของคนเรานั้นบอกให้เรา “เก็งกำไร” เป็นยีนของ “นักเสี่ยงโชค” ทุกครั้งที่เราทำ เราจะรู้สึกตื่นเต้นสนุกสนาน และถ้าทำแล้วได้กำไร เราก็จะมีความสุข รู้สึกว่า “เราชนะ” ถ้าทำแล้วขาดทุน เราก็มีความทุกข์ รู้สึกว่า “เราแพ้” แต่เราก็ไม่ได้หมดตัวหรือต้องลำบากอะไรมากนัก เราหวังว่าคราวหน้าจะต้อง “แก้มือ” เราจะต้องชนะด้วย “หุ้นตัวใหม่” และ “ภาวะตลาดหุ้นใหม่” ที่ดีขึ้น แต่วิธีการลงทุนหรือการซื้อขายหุ้นก็ยังเป็นแบบเดิมคือซื้อมาและขายไปในระยะเวลาอันสั้น “การวิเคราะห์หุ้น” ก็ยังเป็นแบบเดิมซึ่งอาจจะไม่ใช่วิธีที่คิดถึงพื้นฐานของกิจการ อาจจะเป็นการวิเคราะห์แบบเทคนิค หรือบางทีก็ใช้วิธีดู “โมเมนตัม” เช่น ซื้อโดยดูว่าหุ้นตัวไหนกำลังปรับตัวขึ้นแรงและมีปริมาณการซื้อขายหุ้นสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด บางคนก็อาจจะเสริมด้วย “ข่าว” ทั้งข่าวดีเกี่ยวตัวบริษัทและข่าวการเข้ามาซื้อขายหุ้นของนักลงทุนรายใหญ่หรือ “จ้าว” ส่วนเวลาขายเองนั้นก็อาศัยการ “จับจังหวะ” ขาย “ทำกำไร” หรือมีเกณฑ์การ “คัทลอส” เมื่อขาดทุนถึงจุดหนึ่ง เป็นต้น
ประเด็นก็คือ นักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นนั้น ยังทำ “แบบเดิม” สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือตัวหุ้นและ/หรือ สถานการณ์หรือเวลาเท่านั้นที่เปลี่ยนไป บ่อยครั้งหุ้นก็ยังเป็นตัวเดิม แต่เรื่องราวเกี่ยวกับบริษัทอาจจะเปลี่ยนไป ราคาหุ้นอาจจะเปลี่ยนไป เช่น ราคาตกลงมามาก เขาเคยเล่นหุ้นตัวนั้นและก็ขาดทุนหนัก เขาคิดว่าราคามันลงมามากเกินไปแล้ว ดังนั้นเขาเข้ามาซื้อและหวังว่ามันจะ “รีบาว” หรือหุ้นจะปรับตัวขึ้น แล้วเขาก็จะได้กำไร การทำแบบนี้หรือทำนองนี้ในระยะยาวแล้ว ผมคิดว่าเขาก็จะขาดทุน เพราะเขายังทำด้วยวิธีการแบบเดิมที่จะได้ผลลัพธ์เหมือนเดิม
คนที่ไม่จำ “บทเรียน” การลงทุนจากอดีตที่ผ่านมานั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องยากที่เขาจะเก่งและพัฒนาฝีมือการลงทุนให้ดีขึ้นไม่ว่าเขาจะทำมานานแค่ไหน ประสบการณ์ที่มากขึ้นนั้นไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้ามันเป็น “ทักษะ” ที่ผิด ยิ่งทำมากก็แก้ไขได้ยากขึ้น ผมยังจำได้ในคำพูดในวงการกอล์ฟที่พูดทำนองว่า “Practice don’t make perfect practice make permanent” ซึ่งความหมายก็คือ การซ้อมหรือปฏิบัติบ่อย ๆ นั้น ไม่ทำให้การตีกอล์ฟดีสมบูรณ์แบบ แต่มันทำให้ท่าที่ตีนั้นติดแน่นและเปลี่ยนไม่ได้ ดังนั้น ถ้ามันผิด มันก็ทำให้เราแย่และปรับเปลี่ยนไม่ได้ เรื่องการลงทุนเองนั้น ผมคิดว่ามันก็คล้าย ๆ กัน และดังนั้น ผมจึงไม่ค่อยได้เห็นคนที่เป็น VI พันธุ์แท้ปรับตัวมาจากนักลงทุนหรือนักเก็งกำไรที่ชอบเล่นสั้น ๆ มานาน VI เก่ง ๆ ที่ผมเห็นนั้นมักจะเริ่มต้นการลงทุนอย่างจริงจังด้วยหลักการ VI ตั้งแต่แรก
การจดจำบทเรียนว่าอะไรหรือวิธีการอย่างไรใช้ไม่ได้แล้วเปลี่ยนวิธีใหม่เพื่อให้เกิดผลลัพธุ์ที่ถูกต้องและดีนั้นเป็นกระบวนการที่ช่วยให้มนุษยชาติพัฒนาขึ้นได้อย่างรวดเร็วและถาวรและนี่ก็คือสิ่งที่เราเรียกว่า “วิทยาศาสตร์” ซึ่งก็เกิดขึ้นมาไม่นานไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง ในอดีตนั้น มนุษย์ยึดหลักการแบบ “ไสยาศาสตร์” ซึ่งน่าจะรวมถึงศาสนา ภูตผีปีศาจ โหราศาสตร์และอื่น ๆ ซึ่งทำให้มนุษย์เราไม่สามารถพัฒนาวิทยาการ เศรษฐกิจ และสังคมได้รวดเร็ว เหตุผลก็เพราะว่าศาสตร์เหล่านั้นไม่อนุญาตให้เราเลือกทำสิ่งใหม่หรือวิธีการใหม่ ๆ เวลาที่ผลลัพธ์ออกมาไม่เป็นไปตามที่คาด ตัวอย่างเช่น เวลาที่ “ผู้วิเศษ” ทำพิธีเรียกฝนแล้วฝนไม่มาเขาก็อาจจะบอกว่ามีอะไรบางอย่างที่ไป “ขัด” ไม่ให้ฝนตก เขาไม่คิดว่าวิธีของเขานั้นผิด เสร็จแล้วคราวหน้าที่เขาจะเรียกฝน เขาก็ยังคงท่องคาถาเดิมไม่เปลี่ยนแปลงและก็หวังว่าฝนจะมาในขณะที่ทางวิทยาศาสตร์เองนั้น ถ้าเขาใช้วิธีติดปีกไว้กับแขนแล้วบินไม่ขึ้น เขาก็จะใช้วิธีใหม่ ทำไปเรื่อยๆ จนสำเร็จกลายเป็นเครื่องบิน เขาไม่ทำแบบเดิมที่ไม่สำเร็จซ้ำ ๆ และหวังว่าวันหนึ่งเขาจะบินได้ และด้วยวิธีการแบบนี้เองที่ทำให้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าและสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ของคนและโลกได้
ในเรื่องของการลงทุนนั้น ผมคิดว่า “กระบวนการลงทุน” คือสิ่งที่กำหนดว่าเราจะประสบผลสำเร็จในการลงทุนหรือการได้รับผลตอบแทนมากน้อยแค่ไหนในระยะยาว ถ้ากระบวนการนั้นไม่ถูกต้องหรือไม่มีประสิทธิภาพ มันก็มักไม่สร้างผลตอบแทนที่ดีให้เราได้ กระบวนการของแต่ละคนนั้นมักจะไม่เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ บางคนต่างกันมากและบางคนก็ต่างกันน้อย ถ้าจะให้ดีเราต้องศึกษาดู เราอาจจะไม่รู้ว่าคนอื่นหรือแม้แต่เพื่อนเราเขาทำอย่างไรแน่ แต่เราสามารถเรียนรู้จาก “เซียน” หรือผู้เชี่ยวชาญได้จากการเขียนหรือการวิเคราะห์วิธีการของเขาได้ ตัวอย่างเช่น เราเรียนรู้แนวทางของบัฟเฟตต์หรือปีเตอร์ลินช์ได้จากหนังสือและบทความจำนวนมากรวมถึงการติดตามการลงทุนของเขาที่มีการเผยแพร่ออกมาตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ในการติดตามหรือเรียนรู้กระบวนการของนักลงทุนอื่นนั้น สิ่งที่ต้องระวังก็คือ เราต้องมั่นใจว่ามันเป็นวิธีการที่เขาทำจริง เพราะในหลาย ๆ ครั้ง สิ่งที่เขาทำกับสิ่งที่เขาพูดก็อาจจะไม่ตรงกันได้
ผมเองเชื่อว่านักลงทุนโดยเฉพาะคนเล่นหุ้นในตลาดหุ้นไทยนั้น มักจะไม่ค่อยจำบทเรียนที่เกิดขึ้น พวกเขายังทำอะไรซ้ำ ๆ เหมือนเดิมทั้ง ๆ ที่เคยทำแล้วก็ขาดทุนอย่างหนักมาแล้ว ตัวอย่างเช่นการชอบเก็งกำไรในหุ้นตัวเล็ก ๆ ที่มี “ข่าวดี” และผู้บริหารออกมาให้ข่าวตลอดเวลา เสร็จแล้วราคาก็พุ่งขึ้นรุนแรงก่อนที่จะตกลงมาแรงไม่แพ้กันในเวลาไม่นานพร้อมกับผลประกอบการที่น่าผิดหวังของบริษัท แต่แล้วหลังจากที่หุ้นนิ่งอยู่ซักพักจนคนอาจจะลืมเรื่องเก่าไปแล้ว หุ้นก็กลับ “ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่” เรื่องราวและพฤติกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับหุ้นก็กลับมา “วนลูป” เหมือนเดิมซึ่งแสดงให้เห็นว่านักลงทุนหรือคนเล่นหุ้นนั้นไม่ค่อยจะจำบทเรียนที่ผ่านมาในอดีต เขากำลังทำแบบเดิมแต่หวังว่าจะไม่ขาดทุนแต่จะได้กำไรในรอบนี้ ซึ่งถ้าจะให้เปรียบเทียบแล้ว ผมคิดว่ามันคงคล้าย ๆ กับคนเล่นหวยที่พยายามหา “เลขเด็ด” มาแทงในแต่ละงวด เขามักจะ “ถูกกิน” แม้ว่านาน ๆ ครั้งจะถูกรางวัลบ้าง แต่ทุกครั้งเขาก็ “ทำอย่างเดิม” คือหาเลขเด็ดและก็หวังว่าเขาจะถูกรางวัล ผมคงไม่ต้องบอกว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของคนเล่นหวยนั้น ในระยะยาวแล้ว ขาดทุน
ทั้งหมดนั้นผมเองไม่ได้หมายความว่ากระบวนการหรือวิธีการลงทุนที่ประสบความสำเร็จนั้นมีทางเดียว สิ่งที่ผมต้องการบอกก็คือ วิธีนั้นมีมากมาย แต่ละคนจะต้องหาว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นถูกต้องหรือไม่ และถ้าดูแล้วมันเป็นวิธีที่ไม่ทำให้ประสบความสำเร็จ ก็จะต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ ไม่ใช่ทำไปเรื่อย ๆ แบบเดิมและหวังว่าวันหนึ่งเราจะชนะ
ที่มาบทความ: thaivi.org