คิดอย่างไรไม่ลำเอียง

ในโลกปัจจุบันที่ “ต้นทุนในการสื่อสาร” ลดลงมาต่ำมากจนแทบเป็นศูนย์  เราก็ได้เห็น  Content หรือข้อมูลข่าวสารถูกส่งออกไปมากมายมหาศาลจน “รับไม่ไหว”  บางเรื่องก็เป็นเรื่องจริง  จำนวนพอ ๆ  กันก็เป็นเรื่องไม่จริงหรือที่เราเรียกว่า “Fake News” แต่ที่จริงแล้วคนที่ส่งออกไปก็ไม่รู้ว่าข่าวต่าง ๆ  นั้นจริงหรือไม่  ถ้าเขาชอบข่าวหรือข้อมูลนั้น  เขาก็เพียงแต่ส่งมันต่อไป  เพื่อที่จะให้คนอื่นรู้และเห็นด้วย  นี่คงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากให้คนอื่นคิดและเห็นเหมือนกับตนเอง  เพราะคนที่มีความคิดความเห็นเหมือนกันจะช่วยส่งเสริมให้ “ยีน” ของพวกเขาสามารถเอาตัวรอดและเผยแพร่เผ่าพันธุ์ได้ดีขึ้น

ผมเอง  หรือที่จริงน่าจะเกือบทุกคนต่างก็มี “กลุ่มไลน์”  หลาย ๆ  กลุ่ม  เช่น กลุ่มเพื่อนโรงเรียนเก่า  กลุ่มชมรมกิจกรรม  กลุ่มคนทำงานในแผนกหรือในโครงการ  กลุ่มนักลงทุน  และกลุ่มสนใจการเมือง  เป็นต้น   ข้อมูลข่าวสารแต่ละวันที่ผมได้รับนั้น  ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้และความคิดเห็นโดยเฉพาะในเรื่องที่ผมสนใจและ “เห็นด้วย”  ผมก็มักจะดูหรืออ่านแบบตั้งใจมากกว่าเรื่องที่ผมไม่สนใจหรือไม่เห็นด้วย  นี่ก็เป็นเรื่องปกติ  เป็นธรรมชาติของยีน  เวลาทำไปมาก ๆ  นาน  ๆ  ความรู้และความคิดเหล่านั้นก็จะถูก “ย้ำ” เข้าไปในสมองซึ่งอาจทำให้ความรู้ของเรามากขึ้น  แต่ถ้าเป็นความคิดเห็นมันก็มักจะ “แรง” ขึ้น  และเราก็จะปฎิเสธความคิดเห็นที่ “แตกต่าง” มากขึ้น  ซึ่งในที่สุดก็อาจจะนำไปสู่  “ความขัดแย้งกัน” รุนแรงขึ้น  และนี่ก็คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น  “ทั่วโลก” โดยเฉพาะในด้านของการเมืองซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความรู้หรือความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ  ของเราในวันนี้  ผมคิดว่ามีโอกาสที่จะเกิด Bias หรือเกิด “ความลำเอียง” มากขึ้น  เรากำลังถูก  “ล้างสมอง” ทุกวันอย่างไม่รู้ตัว  เราอาจจะรู้สึกว่าความคิดเห็นของเรานั้นถูกต้องและคนส่วนใหญ่ต่างก็คิดและทำแบบนั้น  เพราะเพื่อนส่วนใหญ่และคนรู้จักที่เข้ามาอ่านหรือพูดคุยในไลน์ต่างก็เห็นด้วย  คิดและทำแบบนั้นทั้งนั้น  อาจจะมีบ้างบางคนที่ “เพี้ยน” หรือเป็นคน “นอกคอก” หรือ “มีผลประโยชน์”  หรือ  “ไม่รู้ข้อมูลจริง” เพราะ “ไม่ได้ศึกษา” และไปหลงเชื่อ “เฟคนิวส์” จากคนอื่นที่มี “เจตนาที่เลวร้าย”  ไม่ประสงค์ดีต่อสังคมหรือประเทศชาติ  “โลก” ของคนเราที่คิดว่าจะ “กว้าง” ขึ้นเพราะอินเตอร์เน็ตที่แพร่หลายซึ่งทำให้ข้อมูลความรู้และความคิดเห็นกระจายไปทุกที่อย่างไม่มีข้อจำกัดนั้น  อาจจะไม่กว้างขึ้นอย่างที่คิด  สำหรับหลายคนแล้ว  โลกของเขาอาจจะ “แคบลง”  เพราะสมองไม่ยอมรับความคิดใหม่และที่แตกต่างจากพื้นฐานความคิดเดิมของตนเองที่ “ถูกย้ำ” ทุกวัน

แต่นักลงทุนโดยเฉพาะแบบ VI นั้น  เราจะปล่อยให้ความรู้  ความคิดและความเห็นของเราต่อโลกและต่อทุกสิ่งมีความ “ลำเอียง” ไม่ได้  เราอาจจะมีความคิดเห็นแบบหนึ่งที่เราเห็นด้วยและเราชอบ  แต่เราต้องรู้ว่าโลกและคนอื่นคิดและรู้สึกอย่างไร  คน “ส่วนใหญ่” เขาคิดอย่างไร  คนแต่ละกลุ่มคิดอย่างไร  อนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงไปไหม  เราต้องมีภาพโดยเฉพาะ  “ภาพใหญ่”  ในแต่ละเรื่องที่ถูกต้องจริง ๆ  ไม่ใช่ถูกต้องในความคิดของเราหรือที่เราอยากเห็น  แน่นอนว่าคนทั่วไปที่เป็น  “นักสู้” นั้น  เมื่อเขาคิดและอยากให้คนอื่นเห็นด้วย  เขาก็อาจจะ “สู้” โดยการส่งข้อมูลความคิดเห็นของเขาเข้าสู่ระบบสื่อสารมวลชน  แต่คนที่เป็น “นักเลือก” ซึ่งกลุ่มหนึ่งก็คือนักลงทุนนั้น  ก็จะต้องคอยสังเกตว่าอะไรคือความรู้หรือความคิดเห็นของคนส่วนมากหรือคนกลุ่มไหน  เพื่อที่จะนำมาวิเคราะห์ว่าจะ “เลือกลงทุน” อย่างไรโดยที่ “ไม่มีความลำเอียง”

ตัวอย่างเล็ก ๆ  ที่ผมเห็นก็คือการลงทุนในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะที่เวียตนามซึ่งผมก็เห็นมีการ Debate หรือโต้เถียงกันในเว็บไซต์เกี่ยวกับการลงทุนว่าเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเวียตนามดีจริงหรือ?  โดยที่มักจะเปรียบเทียบกับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่เราอยู่และเรารักและรู้สึกดีมาตลอดชีวิต  ดังนั้น  เรามี Bias อยู่แล้วโดยธรรมชาติ  ดังนั้น  เวลาคนนำเสนอข้อเปรียบเทียบ  เขาก็จะนำสิ่งที่ดีกว่าทั้งหลายของไทยมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่แย่กว่าของเวียตนาม  อาทิเช่น  ระบบการคมนาคมขนส่งเช่น  รถไฟฟ้าและใต้ดินที่เรามีไม่รู้กี่สายแล้วในขณะที่เวียตนามนั้นสร้างมาไม่รู้กี่ปีก็ยังไม่เสร็จซักแห่งเดียว เป็นต้น   นอกจากนั้น  ถ้าจะว่าไป  สาธารณูปโภคเกือบทุกอย่างของเวียตนามก็  “แพ้ไทย” อย่างไม่เห็นฝุ่น  รวมไปถึง “ดัชนี” ความก้าวหน้าทั้งหลาย เช่นการสาธารณสุข การพัฒนาด้านคนและอื่น ๆ  ไทยก็ชนะทั้งนั้น  ส่วนที่ไทย “แพ้” เช่น  เรื่องของการลงทุนจากต่างประเทศหรือการส่งออกซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในประเด็นของการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตก็จะไม่พูดถึง เป็นต้น

ประเด็นก็คือ  ถ้าจะเปรียบเทียบ  ระดับ  ของการพัฒนาประเทศหรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจแล้ว  ไทยก็เหนือกว่าเวียตนามค่อนข้างมากอย่างแน่นอนในขณะนี้  ดังนั้น  แทบทุกอย่างที่วัดว่าประเทศไหน “รวย” หรือดีกว่ากันไทยก็ชนะแน่นอน  แต่ในด้านของการลงทุนในตลาดหุ้นนั้นเราไม่ได้วัดกันที่ “ระดับ”  แต่เราวัดกันที่ “การเติบโต” ของเศรษฐกิจ  เพราะถ้าเศรษฐกิจโตเร็ว  หุ้นก็มักจะโตไปตามเศรษฐกิจในระยะยาว  นี่เป็นเรื่องที่ไม่มี Bias และถ้าเวียตนามโตเร็วต่อไปเรื่อย ๆ  วันหนึ่งเขาก็จะมีรถไฟฟ้าหรือสาธารณูปโภคอย่างที่ไทยมีในวันนี้

การแก้ปัญหาหรือวิธีคิดที่จะทำให้เราไม่ลำเอียงนั้น  ประเด็นแรกก็คือ  เราต้องรู้ว่าเราอาจจะลำเอียงได้ในเรื่องที่เรากำลังคิด  ความลำเอียงนั้นเกิดขึ้นเมื่อจิตใจเรามีความชอบหรือความรักหรือมีความคุ้นเคยในสิ่งที่เรากำลังพิจารณา  นอกจากนั้น  การที่เราอยู่ในวัฒนธรรมของประเทศไทยก็ทำให้เราเกิดความลำเอียงได้ไม่น้อย  เพราะนั่นคือสิ่งที่เราประสบพบเห็นตั้งแต่เกิด  ไม่มีทางที่เราจะแก้หรือ “Unlearn” มันได้ง่าย  ดังนั้น  เราจึงควรจะรู้ว่าวัฒนธรรมไทยนั้นมีความแตกต่างจากประเทศอื่นอย่างไรบ้าง

ความรักหรือความชอบนั้น  จะทำให้เรารู้สึกดีและดังนั้น  เราก็จะมีความลำเอียงว่ามันจะดีกว่าความเป็นจริง  ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือเรื่องของหุ้น  ถ้าเราเป็นเจ้าของถือหุ้นมานานพอสมควรและมันให้ผลตอบแทนที่ดีเราก็จะ “รัก” มันและคิดว่านี่คือบริษัทที่ดี  มีการบริหารงานที่ดี  มากกว่ามองข้อเสียที่อาจจะมีมากกว่า  และอาจจะทำให้เราไม่ขายมันทั้ง ๆ ที่มันไม่คุ้มค่าแล้ว  นี่ก็ทำให้ในวงการนักลงทุนมีคำเตือนว่าเราไม่ควรจะ  “รักหุ้น” มากเกินไป  เพราะเราจะ Bias

วิธีการคิดหรือวิเคราะห์ที่จะหลีกเลี่ยงความลำเอียงที่ผมมักใช้เป็นประจำก็คือการ  “คิดแบบใช้สถิติ” คือแทนที่จะมองเป็น “รายตัว”  ว่ามันดี  หรือโตเร็ว  หรืออะไรก็ตาม  ผมจะดูว่าโดยปกติค่าเฉลี่ยของเรื่องนั้นหรือสิ่งนั้นในระยะยาวถ้ามี เป็นอย่างไร  และค่าความผันผวนโดยธรรมชาติจะทำให้ค่าสูงและค่าต่ำประมาณไหน  แล้วนำข้อมูลนั้นมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เรากำลังพิจารณา  ถ้าเราให้คุณค่ากับสิ่งที่เรากำลังดูนั้นสูงกว่าค่าทางสถิติมากหรือแย่กว่ามาก  บางทีเราก็อาจจะกำลัง “ลำเอียง” ก็ได้  และถ้าเป็นแบบนั้น  เราก็อาจจะต้องทบทวนดูอีกครั้ง  ตัวอย่างในเรื่องนี้ก็อาจจะรวมถึงการตั้งผลตอบแทนคาดหวังจากการลงทุนในตลาดหุ้นที่คนมักจะลำเอียงในทางสูงเช่น  ตั้งผลตอบแทนคาดหวังปีละ 20-25% ต่อปีแบบทบต้นในระยะยาวอย่างน้อย 5-10 ปี  ซึ่งถ้าดูจากสถิติในอดีตแล้ว  เป็นไปได้ยากมาก  เพราะแม้แต่เซียนหุ้นระดับโลกเอง  ถ้าลงทุนแบบ “ไม่เสี่ยงเกินไป” และพอร์ตมีขนาดใหญ่พอสมควร   การได้ผลตอบแทนปีละ 15-18% ต่อปีก็ถือว่าสุดยอดแล้ว

อีกวิธีหนึ่งที่จะลดความลำเอียง  โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมหรือการเมืองก็คือ  การศึกษาหรือใช้ข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ทั่วโลก  วิธีนี้จะทำให้เราลำเอียงน้อยลงเวลาวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย  แนวทางของผมก็คือ  สังคมไทยนั้นเป็นสังคมที่มีการพัฒนาระดับกลางค่อนไปทางสูงเล็กน้อย  และผมเชื่อว่าการพัฒนานั้นก็สะท้อน  “คนไทย”  โดยรวมว่าเรามีความสามารถระดับเดียวกันเมื่อเทียบกับโลกนั่นคือ  เราไม่ได้เก่งหรือเด่นมากแต่ก็ไม่เลวนักในด้านต่าง ๆ  รวมถึงการจัดการกับปัญหาหรือวิกฤติ  ดังนั้น  ผมก็มักจะไม่เชื่อคำพูดที่ว่า  “เราดีที่สุดในโลก”  หรือ  “เราแย่มากที่สุด” โดยที่คำพูดดังกล่าวนั้นมักจะมาจากคนที่ลำเอียงทั้งทางด้านดีและร้ายขึ้นอยู่กับมุมมองของเขาต่อรัฐไทยหรือรัฐบาล  เป็นต้น

ที่พูดมาทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถคิดแบบไม่ลำเอียงเลย  นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เราเพียงแต่ลดมันลงเพื่อทำให้สามารถคิดและวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องมากขึ้นในโลกที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยข่าวสารที่ทำให้เราเกิดความลำเอียงมากขึ้น

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2021/06/21/2522