เส้นทางชีวิตของคนโดยทั่วไปนั้นมักจะถูกกำหนดล่วงหน้าไว้พอสมควรตั้งแต่เกิด สำหรับคนไทยหรือคนที่อยู่ในประเทศไทยในช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมานั้น ดูเหมือนว่าความเป็นอยู่หรือความเจริญก้าวหน้าของคนน่าจะดีขึ้นมาก แต่ถ้าคุณเป็นคนที่เกิดมาในครอบครัว “ชั้นล่างสุด” หรือครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าคนอื่นในสังคม โอกาสที่คุณจะเกษียณอย่างสบายหรือร่ำรวยก็น่าจะมีน้อย ว่าที่จริงถ้าคุณเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ก็มีโอกาสสูงที่คุณก็ยังอยู่ใน “ระดับล่าง” ทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ดี การเปลี่ยนแปลง “ระดับชั้น” นั้นไม่ง่ายโดยเฉพาะในสังคมที่หลาย ๆ เรื่องในชีวิตต้องอิงหรืออาศัยระดับชั้นของครอบครัวอยู่มากอย่างในประเทศไทย
การที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นมากแบบก้าวกระโดดนั้น ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับการที่เราเจอ “จุดเปลี่ยนของชีวิต” หรือ “สร้าง” มันขึ้นมาแล้วเราก็มุ่งหน้าเดินไปในเส้นทางนั้นอย่างมุ่งมั่น ซึ่งมันจะนำทางไปสู่ชีวิตใหม่ที่เราจะดีขึ้น รวยขึ้น และได้รับการยอมรับมากขึ้น ยิ่งเรามีจุดเปลี่ยนมากเราก็มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า ในขณะที่คนที่ไม่ได้พบกับจุดเปลี่ยนของชีวิตเลย ทุกอย่างเป็นไปตาม “ครรลอง” หรือรูปแบบมาตรฐานของสังคม ชีวิตเขาก็จะโตไปตามกระแสเหมือนกับคนส่วนใหญ่ โอกาสก้าวหน้าขึ้นในระดับชั้นของสังคมมีน้อยในขณะที่โอกาสถอยหลังนั้นกลับสูงกว่า เหตุเพราะมีคนที่สามารถเปลี่ยนชีวิตตนเองขึ้นมาอยู่ข้างหน้ามากขึ้น
ผมเองน่าจะพูดได้ว่าเกิดในครอบครัวที่อยู่ชั้นเกือบจะล่างสุดของสังคม พ่อแม่เป็นผู้อพยพชาวจีนที่ไร้การศึกษาและงานที่ทำได้อย่างเดียวก็คือการใช้แรงงานเป็นช่างก่อสร้าง ไม่ใช่เรื่องราวประเภท “เสื่อผืนหมอนใบ” ที่สร้างตัวเองขึ้นมาเป็นเจ้าสัวได้ในชั่วอายุของตนเอง ผมเองเคยศึกษาดูแล้วพบว่าชีวิตของคนรวยที่มาจากจีนโพ้นทะเลนั้น ส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดต่างก็มี “ต้นทุน” ทั้งเรื่องเงิน ความรู้และคอนเน็คชั่นในการที่จะทำธุรกิจในประเทศไทยและ/หรือต่างประเทศตั้งแต่ต้น ผู้อพยพโพ้นทะเลหลังสงครามโลกครั้งที่สองในช่วงก่อนการปฏิวัติสังคมนิยมในจีนส่วนใหญ่แล้วก็เป็นคนที่ “ลี้ภัยทางเศรษฐกิจ” เพราะที่บ้าน “ไม่มีอะไรจะกิน” ดังนั้นโอกาสของผมที่จะ “เปลี่ยนชีวิต” ก็คงจะยากอยู่ไม่น้อย
จุดเปลี่ยนชีวิตของผมและคงจะของคนจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยที่อยู่ในสังคมระดับล่างสุดที่ผมเห็นก็คือเรื่องของการศึกษา ในปัจจุบันผมไม่รู้ว่าต้นทุนในการเรียนจนจบในระดับอุดมศึกษานั้นเป็นอย่างไร คนชั้นล่างที่สุดสามารถเรียนได้หรือไม่ถ้าเขามีศักยภาพในการเรียนพอ แต่ในยุค 50-60 ปีที่แล้วดูเหมือนว่ามันเป็นเรื่องที่ “เป็นไปได้” เพราะค่าเทอมในโรงเรียนของรัฐทุกระดับนั้นต่ำมาก นอกจากนั้นเราไม่เคยต้องจ่ายเงินค่ากิจกรรมหรืออะไรอย่างอื่นเลยนอกจากค่าสบู่หนึ่งก้อนหรือแก้วน้ำหนึ่งใบที่เรานำไป “จับฉลาก” ในวันปีใหม่หรือวันเด็กผมก็จำไม่ได้
ที่จริงผมเองก็คงไม่ได้เรียนหนังสือเกินชั้นประถมปีที่ 7 ในสมัยนั้นถ้าไม่ใช่เพราะผมเป็นลูกคนสุดท้องซึ่งทำให้ครอบครัวสามารถส่งเสียให้เรียนต่อได้จนจบปริญญาตรี และนั่นก็คือจุดเปลี่ยนของชีวิตที่สำคัญที่สุดของผม การเรียนจบปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมที่เป็นที่ต้องการมากในช่วงที่ประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่นั้น ทำให้ผมสามารถหาและเก็บเงินได้ ผมเลือกงานที่ให้เงินเดือนปานกลางแต่สามารถเก็บเงินได้มากเพราะมันอยู่ต่างจังหวัดที่เป็นชนบทไม่มีที่ใช้เงินและโรงงานมีที่อยู่และอาหารให้กิน 3 มื้อ รายจ่ายสำคัญของผมก็คือค่ารถทัวร์เดินทางกลับบ้านที่กรุงเทพสัปดาห์ละวัน ของที่ต้องซื้อหลักก็คือสบู่กับยาสีฟัน เงินที่ผมเก็บได้นั้น ผมไม่ได้นำไปลงทุนอะไรนอกจากฝากแบ้งค์ เหตุผลเพราะผมไม่เข้าใจเรื่องของตลาดหุ้นที่เพิ่งจะเปิดในขณะนั้น การเล่นหุ้นในสายตาผมยังเป็นเรื่องของนักเก็งกำไรหรือนักการพนันซึ่งมันก็คงเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ในยุคนั้น
เงินที่ผมเก็บออมหลังจากใช้จ่ายส่วนตัวและจ่ายให้ที่บ้านทุกเดือนเป็นเวลา 6 ปีนั้น ในที่สุดมันถูกนำไป “ลงทุนเรียน” ต่อทั้งปริญญาโทในประเทศและเอกในต่างประเทศซึ่งก็ใช้เงินน้อยมากคือเป็นค่าเครื่องบินเดินทางไป ส่วนค่าเรียนและกินอยู่นั้น โชคดีที่ว่าผมสามารถขอทุนไปช่วยอาจารย์ทำงานทำให้ไม่ต้องใช้เงินตัวเองเลย ผมเรียนต่อเพราะคิดดูแล้วผมคงไม่สามารถเปลี่ยนชีวิตด้วยการทำงานเป็นวิศวกรในต่างจังหวัดหรือแม้แต่ย้ายเข้าทำงานในกรุงเทพ ผมอยากหาจุดเปลี่ยนของชีวิต
หลังจากได้ปริญญาเอกทางการเงินและกลับประเทศไทยเมื่ออายุ 32 ปีโดยที่ยังแทบไม่มีเงินเก็บเลย ผมก็เปลี่ยนมาทำงานการเงิน ผมหวังว่าชีวิตอาจจะเปลี่ยนได้ แต่การแต่งงานมีครอบครัวและมีลูกทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป ความกล้าเสี่ยงของตัวเองลดลงมาก ความคิดที่จะเป็นผู้ประกอบการหรือการลงทุนทำธุรกิจที่เคยฝันและทำมาตั้งแต่เด็กหดหายไปมาก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือถึงอยากทำก็ไม่รู้จะทำอะไร การเรียนยิ่งสูงก็ยิ่ง “ล้างสมอง” เราว่าโอกาสประสบความสำเร็จนั้นมีน้อย ยิ่งอยากได้เงินมากก็ต้องยิ่งเสี่ยงมาก ดังนั้น กว่าสิบปีที่อยู่ในแวดวงการเงินนั้น ชีวิตก็ดีขึ้นเรื่อยแบบช้า ๆ แต่ก็ไม่มีอะไรที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนชีวิต สิ่งที่ผมพยายามชดเชยก็คือเลี้ยงลูกให้มีชีวิตและ/หรือความสามารถที่สูงกว่าตัวเองโดยการส่งเรียนโรงเรียนอินเตอร์จากตัวเองที่เรียน “โรงเรียนวัด” อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังพยายาม “ค้นหาตัวเอง” มาตลอดแต่ก็พบว่า “ปัจจัยในการแข่งขัน” ของตนเองในประเทศไทยนั้น มีไม่เพียงพอที่จะประสบความสำเร็จมากได้ พูดโดยเฉพาะก็คือ สิ่งที่เราสู้ได้มีเพียงเรื่องเดียวก็คือ “ความคิด” แต่เรื่องของการปฏิบัติและสถานภาพส่วนตัวและครอบครัวไม่ดีพอ
น่าจะเป็นเรื่องของ “โชคชะตา” ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นในปี 2540 ที่ทำให้ผม “ต้องเปลี่ยนชีวิต” เพราะผมต้องถูกให้ออกจากงานเมื่ออายุ 44 ปี การตกงานและเงินเก็บก้อนสุดท้ายที่ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตแบบเดิมไปจนเกษียนหรือตลอดไปนั้นทำให้ต้อง “หาทางเอาตัวรอด” ซึ่งก็พบว่าการลงทุนแบบ Value Investment ที่มีแนวความคิดว่า “ลงทุนในหุ้นก็เหมือนกับการลงทุนในธุรกิจ” เพียงแต่เราไม่ใช่เจ้าของคนเดียวและเราก็ไม่ต้องบริหารด้วยนั้น เป็นทางออกที่ดีมาก เฉพาะอย่างยิ่ง เราสามารถกระจายความเสี่ยงโดยการลงทุนในหุ้นหลายตัวหรือหลายธุรกิจและธุรกิจเหล่านั้นก็ “ไม่เสี่ยง” เพราะอยู่มานานและหลายบริษัทก็เป็นผู้นำอันดับต้น ๆ หรืออันดับหนึ่ง กิจการมีกำไรมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่สำคัญจ่ายปันผลงดงาม บางตัวถึง 10% ต่อปีจากเงินที่เราลงทุน ว่าที่จริงถ้าเราลงทุนเงินทั้งหมดที่มีอยู่แล้วรับปันผลมาใช้จ่ายก็ยังพอใช้ซึ่งผมก็ทำจริง ๆ และทำต่อมาอีกเกือบ 20 ปี นอกจากการลงทุนแล้วผมก็ยังได้ “ค้นพบตัวเอง” หลังจากพยายามหามานานว่าผมควรเป็น VI และทำงานเผยแพร่แนวความคิดนี้ และตั้งแต่นั้นมาผมก็ทุ่มเททุกอย่างเพื่อ VI
ผมยังทำงานเป็นลูกจ้างต่อมาเพื่อหาเงินมาลงทุนเพิ่มเพราะมันไม่จำเป็นที่จะต้องเลิกทำงานโดยเฉพาะถ้างานมันยังทำเงินให้เราอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ภายใน 7 ปีแรกที่ผมลงทุน “เต็มร้อย” ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนนั้นสูงมากจนผมมี “อิสรภาพทางการเงิน” อย่างสมบูรณ์ เงินจากการทำงานน่าจะไม่เกิน 10-20% ของเงินที่ได้จากการลงทุน ผมก็ลาออกจากงานประจำเมื่ออายุ 52 ปีและลงทุนต่อมาจนถึงทุกวันนี้
ผมโชคดีที่ชีวิตเปลี่ยนโดยไม่ได้ตั้งใจและได้ยึดถือเส้นทางที่โชคชะตาหยิบยื่นให้ คนจำนวนมากคงไม่ได้มีโอกาสอย่างนั้น อย่างไรก็ตาม คำแนะนำของผมสำหรับคนที่ยังไม่พบจุดเปลี่ยนในชีวิตก็คือ พยายามมองหาหรือไม่ก็สร้างมันขึ้นมา หัวใจสำคัญก็คือ พยายามลืมข้อจำกัดหรือ “ภูมิหลัง” ของเรา เลือกทำในสิ่งที่ตัวเองรักและชอบทำมากที่สุดถ้าเป็นไปได้ อย่าเลือกเส้นทางมาตรฐานที่สังคมยอมรับแต่มันไม่เหมาะกับเรา เมื่อเราเริ่มทำในเส้นทางที่ “ใช่” สำหรับเราแล้ว ทุกอย่างจะง่ายขึ้นและเราจะทำมันได้ดีและมีความสุข เราจะไม่เครียดและในที่สุดมันจะนำเราไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นมาก สำหรับผมแล้ว มัน “เหนือกว่าจินตนาการ”
ที่มาบทความ: thaivi.org