คนที่อยู่ในตลาดหุ้นมานานและติดตามศึกษาหุ้นตลอดเวลารวมทั้งพยายามจดจำกรณีศึกษาหุ้นที่น่าสนใจและมีเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นมาก ๆ ก็มักจะพบหุ้นกลุ่มหนึ่งที่ “เคย” เป็นหุ้นที่โดดเด่นสุดยอดในแง่ของการที่หุ้นมีราคาปรับตัวขึ้นไปสูงสุดยอดในเวลาอันสั้น บางทีกว่า 10 เท่าในเวลาเพียง 2-3 ปี และนี่ไม่ใช่หุ้น “Turnaround” ที่หุ้นฟื้นตัวจากวิกฤติที่บริษัทเกือบเอาตัวไม่รอดและมูลค่าหุ้นเหลือเพียงน้อยนิดราคาหุ้นเป็นเศษสตางค์ แต่เป็นหุ้นธรรมดา ๆ ขนาดย่อม ๆ ที่อยู่ ๆ ก็มีราคาวิ่งขึ้นมหาศาลจนบางทีมีมูลค่าเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาทกลายเป็นหุ้นขนาดกลางหรือใหญ่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกลายเป็น “หุ้นนางฟ้า” ปรากฏการณ์แบบนี้บ่อยครั้งเกิดขึ้นเนื่องจากผลประกอบการที่โตขึ้นอย่าง “ก้าวกระโดด” เช่นโตขึ้นกว่า 30-50% เมื่อเทียบกับปีก่อนไตรมาสต่อไตรมาสและดำเนินต่อกันมาหลายไตรมาส บางบริษัทเป็นเพราะมีการเปิดดำเนินการของธุรกิจใหม่ที่ “มีอนาคตที่สดใส” และเป็น “เมกาเทรนด์” ที่อาจจะดำเนินต่อไปอีกนาน แต่บางบริษัทก็เป็นเพราะมีการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่ “มีขนาดใหญ่แบบไม่จำกัด” ซึ่งทั้งสองกรณีทำให้บริษัทถูกมองว่าจะกลายเป็นบริษัทที่โตได้ “ในระดับโลก”
ลำพังแค่กำไรของบริษัทโตมากจากฐานที่ต่ำในเวลาสั้น ๆ เพียง 4-5 ไตรมาสคงไม่ทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปได้มากเป็นเท่า ๆ และมีค่า PE เป็น 50-100 เท่าได้ Story หรือเรื่องราวว่าบริษัททำธุรกิจที่มีอนาคตสดใสเป็นเมกาเทรนด์หรือบริษัทขยายกิจการไปสู่ตลาดใหญ่ระดับโลกก็ไม่ใช่ประเด็นที่น่าสนใจอะไรนักเนื่องจากมีบริษัทจำนวนไม่น้อยก็ทำแบบนั้น ว่าที่จริงหลาย ๆ บริษัทก็ทำแบบเดียวกันมาแล้วแต่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ หรือหลาย ๆ บริษัทอาจจะประสบความสำเร็จแต่ความสำเร็จนั้นก็อาจจะไม่โดดเด่นพอที่จะทำให้บริษัทโดยรวมที่มีขนาดใหญ่มีกำไรโตมากพอที่จะสร้างความตื่นเต้นให้กับนักลงทุน แต่สิ่งที่ทำให้หุ้นเหล่านั้นกลายเป็น “หุ้นนางฟ้า” ได้นั้นผมคิดว่าเป็นเพราะขนาดของ Free Float หรือจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดมีน้อยมากเมื่อเทียบกับคนที่เข้าไปซื้อหุ้นลงทุน ซึ่งนั่นทำให้หุ้นมักจะถูก “Corner” หรือถูกซื้อเกือบหมดโดยนักลงทุนรายใหญ่เพียงไม่กี่รายที่เข้าไปซื้อหุ้นโดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ผลก็คือ ราคาหุ้นก็จะวิ่งขึ้นไปสูงลิ่วโดยอาจจะไม่ได้อิงกับพื้นฐานที่แท้จริงของกิจการ และนั่นนำมาซึ่ง ….สิ่งดี ๆ ทั้งหลายเกี่ยวกับหุ้น เพราะราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นเรื่อย ๆ นั้น มันมักจะเป็นสิ่งที่ “ยืนยัน”
ว่าบริษัทดี ยิ่งราคาหุ้นขึ้นไปมากเท่าไร บริษัทก็ยิ่งดูดีขึ้นเท่านั้น จนถึงวันหนึ่งมันก็ถึงจุดที่ดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้อย่างที่พูดในภาษาอังกฤษว่า “Too good to be true”
หุ้นที่ “Too good to be true” นั้นโดยทั่วไปมักจะมีตัวเลขทั้งในเรื่องของการประกอบการและผลประกอบการที่โดดเด่นกว่าตัวเลขเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอย่าง “เทียบกันไม่ได้” เรื่องราวที่ฟังจากผู้บริหารก็มักจะออกมาในแนวที่ว่า บริษัทมีระบบการทำงานและพนักงานที่มีข้อมูลความรู้และทักษะที่เหนือกว่าบริษัทอื่นที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันหรือใกล้เคียงกันทั้ง ๆ ที่บริษัทไม่ได้มีการวิเคราะห์วิจัยระบบการทำงานหรือมีการอบรมพนักงานเป็นพิเศษ สิ่งที่บริษัททำก็ไม่ใช่สิ่งที่บริษัทอื่นจะทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เวลาผู้บริหารพูด นักวิเคราะห์และนักลงทุนก็มักจะไม่ตั้งคำถาม นี่ก็อาจจะเป็นเรื่องของจิตวิทยาที่ว่าถ้าคุณประสบความสำเร็จดูจากราคาหุ้นที่ขึ้นไปสูงและเร็วขนาดนั้น คุณจะพูดอะไรคนก็จะเชื่อและดูดีไปหมด แต่ถ้าหุ้นตก นักลงทุนขาดทุน นักวิเคราะห์ผิดหวัง ต่อให้คุณอธิบายอย่างไรก็ไม่มีใครคิดหรือเชื่อว่าระบบหรือคนของคุณดี ตัวอย่างที่เห็นก็เช่นในเรื่องของธุรกิจปล่อยเงินกู้รายย่อยที่มีหลายบริษัทมีการดำเนินงานและตัวเลขสำคัญ เช่น อัตราหนี้เสียที่ดี “เหลือเชื่อ” แต่นักลงทุนและนักวิคราะห์ก็เชื่อ เป็นต้น
ตัวเลขเกี่ยวกับมูลค่าหุ้นก็เป็นตัวเลขที่ดูเหมือนว่ามันจะดีจน “เหลือเชื่อ” ได้เช่นกัน “หุ้นนางฟ้า” นั้นมักจะมีมูลค่าหุ้นที่สูงมากเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกัน หุ้นนางฟ้าบางบริษัทนั้น “รายได้” ทั้งบริษัทเป็นแค่ครึ่งเดียวของ “กำไร” ของบริษัทอื่น แต่มูลค่าหุ้นเป็นสองเท่าของบริษัทนั้นก็มี โดยเหตุผลที่ใช้ในการ “สร้างความชอบธรรมของราคาหุ้น” ก็คือ “มันโตเร็วกว่ามาก” และการมีค่า PE 50-100 เท่าในขณะที่คู่แข่งที่ใหญ่กว่ามากในแง่ธุรกิจนั้นหุ้นมีค่า PE เพียง 10-15 เท่า ก็เป็นเรื่องปกติ เหนือสิ่งอื่นใด เขาใช้ค่า PEG ในการประเมินมูลค่าหุ้น นั่นก็คือ ถ้ากำไรบริษัทโตได้ 50-100% ใน 1 ปี ค่า PE ก็เป็น 50-100 เท่าได้ นี่เป็นเหตุผลที่นักวิเคราะห์ใช้เพื่อบอกว่าราคาหุ้นนางฟ้าเหล่านั้น “ไม่แพง” และควร “ซื้อ” มีนักวิเคราะห์น้อยมากที่กล้าหาญแนะนำให้ขายหุ้นที่กำลังวิ่งขึ้นแรงแบบหุ้นนางฟ้าไม่ว่าราคาหุ้นจะเป็นเท่าไร
ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นก็คือเรื่องราวของหุ้นที่เปลี่ยนจาก “หุ้นธรรมดา” มาเป็น “นางฟ้า” ในช่วง “ข้ามคืน” หรือไม่กี่ไตรมาศหรือแค่ 2-3 ปี หุ้นหลายตัวสามารถรักษาสถานะนั้นไว้ได้ บางตัวก็เป็นปี ๆ ตราบที่ตัวเลขดี ๆ เช่น กำไรที่โตขึ้นยังออกมาเรื่อย ๆ และ Story ดี ๆ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังดำรงอยู่ ซึ่งทั้งหมดนั้นยังต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ว่า “ราคาหุ้นจะต้องคงอยู่ในระดับสูง” เพราะถ้าความมั่นใจหมดไป อาจจะเพราะว่าคนเริ่มสงสัยในความดีหรือสิ่งดี ๆ ของบริษัทและ/หรือราคาหุ้นเริ่มตกลงอย่างรวดเร็ว สถานะ “นางฟ้า” ของหุ้นก็จะถล่มทะลาย หลังจากนั้น ราคาหุ้นก็จะตกลงมาอย่างหนัก บางทีเกินครึ่ง บางตัวเหลือไม่ถึง 10% ของราคาเดิม เรื่องดี ๆ ต่าง ๆ ที่นักวิเคราะห์และนักลงทุน
ชื่นชมสรรเสริญก็จะหายไป นั่นก็คือนาทีที่ “นางฟ้าตกสวรรค์” คนที่เสียหายหนักก็คือ นักลงทุนรายย่อยที่เข้าไปเล่น ส่วนรายใหญ่หรือเจ้าของหุ้นเองนั้น บางคนก็ “กลับไปที่เดิม” แต่ส่วนมากก็จะรวยจากการขายหุ้นไปบางส่วนในราคาที่สูงเหลือเชื่อ ซึ่งแม้ว่าราคาจะตกลงมาครึ่งหนึ่งจากราคาสูงสุด เขาก็ยังได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ
จากประสบการณ์ของผม หุ้นนางฟ้าส่วนใหญ่นั้นมักไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในระยะยาว เหตุผลก็เพราะว่า “สิ่งดี ๆ” ของหุ้นเหล่านั้นส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้น “ชั่วคราว” ในบางสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย บางบริษัทเองนั้น ผู้บริหารก็เป็น “คนสร้าง” สิ่งดี ๆ เหล่านั้นขึ้นเองด้วยวิธีการที่แยบยลและไม่โปร่งใส โดยส่วนใหญ่แล้ว ในช่วงแรก ๆ ไม่มีใครสนใจขุดคุ้ยหรือหาเหตุผลที่แท้จริง ทุกคนที่เกี่ยวข้องแม้แต่นักนักวิเคราะห์นั้นต่างก็มีผลประโยชน์เวลาหุ้นขึ้นไปเร็วและแรง ทุกคนอยากเห็นหุ้นขึ้น แต่ถ้ามันไม่ดีจริงในระยะยาว วันหนึ่งหุ้นก็จะต้องตกลงมาที่พื้นฐานของมัน หน้าที่ของ VI ที่ดีก็คือ อย่าเข้าไปร่วมเล่นกับมัน ผมเองเชื่อในสุภาษิตฝรั่งที่ว่า “If it is too good to be true, it probably is.” แปลว่า “ถ้าอะไรมันดูดีเกินกว่าที่จะเป็นจริง มันก็คงจะไม่จริง” และถ้ามันไม่จริง วันหนึ่งหุ้นก็จะต้องตกลงมาในจุดที่มันเป็นจริง เราไม่รู้ว่าวันนั้นคือวันไหน มันอาจจะเกิดขึ้นเร็วจนเรา “ขายหุ้นไม่ทัน”
ที่มาบทความ : http://www.thaivi.org/too-good-to-be-true/