วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 หุ้น Meta เจ้าของ Facebook เว็บสื่อสังคมที่ใหญ่ที่สุดในโลกตกลงมาถึงประมาณ 26% คิดเป็นมูลค่าของหุ้นที่หายไปประมาณ 7 ล้านล้านบาทซึ่งเป็นการลดลงวันเดียวที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก เหตุผลที่หุ้นตกลงมานั้นเป็นเพราะมีการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาศสุดท้ายของปี 2564 ที่ดูเหมือนว่าการเติบโตของบริษัทจะเริ่มถดถอยลง เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ จำนวนคนใช้เฟซบุ๊กในแต่ละวันเริ่มลดลง “เล็กน้อย” เป็นครั้งแรกเนื่องจากคู่แข่งอย่างเช่น “ติ๊กต็อก” และอื่น ๆ กำลังเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของคนรุ่นใหม่ที่เห็นว่าเฟซบุ๊กนั้นเริ่ม “ตกยุค” นอกจากนั้นก็อาจจะเป็นเรื่องของกฎ “ความเป็นส่วนตัว” ของผู้ใช้โทรศัพท์ที่อาจจะทำให้การโฆษณาที่เป็นรายได้หลักของเฟซบุ๊กถูกกระทบและมีผลต่อผลประกอบการในอนาคตของบริษัทด้วย
อย่างไรก็ตาม รายได้และกำไรของบริษัททั้งปี 2564 ก็ยังเพิ่มขึ้นถึง 37% และ 35% ตามลำดับ และนี่ก็เป็นเรื่องน่าตกใจมากที่หุ้นเทค “แห่งอนาคต” ที่ประกาศจะสร้าง “เมตาเวิร์ส” หรือ “โลกเสมือน” ที่คนทั้งโลกอาจจะเข้าไปใช้ชีวิตได้ มีราคาหุ้นตกลงมาราวกับว่าบริษัทกำลังเผชิญกับ “วิกฤติ” อย่างกระทันหัน หรือนี่จะเป็นสัญญาณเตือนว่าเป็นการ “จบรอบ” หุ้นเทคยักษ์ใหญ่ที่มีราคาเพิ่มขึ้นมากมายจนแทบจะครองตลาดหุ้นอเมริกา เพราะหุ้นเทคที่ใหญ่ที่สุด 5 ตัวคือ เฟซบุ๊ก อะมาซอน แอปเปิล ไมโครซอฟท์ และกูเกิล มีมูลค่าตลาดหรือ Market Cap. รวมกันเท่ากับประมาณเกือบ 25% ของหุ้นในดัชนี S&P 500 ซึ่งเป็นตัวแทนของหุ้นทั้งสหรัฐ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ในช่วงเร็ว ๆ นี้ หุ้นเทคและหุ้นและสินทรัพย์เก็งกำไรจำนวนมากเช่น เหรียญคริปโท ต่างก็ตกลงมาค่อนข้างแรงอานิสงค์จากภาวะเงินเฟ้อและการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มจะรุนแรงขึ้นมาก
คำถามสำคัญก็คือ นี่จะเป็น “อวสานของหุ้นเทค” หรือไม่ แน่นอนว่าหุ้นเทคนั้นก็คงจะต้องอยู่กับเราต่อไปอีกนานเท่านาน ไม่มีทางที่มันจะล้มหายตายจากไป รวมถึงการเปลี่ยนตัวบริษัทผู้นำก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นเร็วเพราะบริการหรือผลิตภัณฑ์มักจะมี “Network Effect” หรือมีเครือข่ายที่ทำให้ลูกค้าไม่หนีไปไหนแม้ว่าลูกค้าใหม่ ๆ อาจจะไม่เพิ่มขึ้นเร็วแล้วเพราะตลาดเริ่ม “อิ่มตัว” และคู่แข่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาเสนอสิ่งใหม่ ๆ ที่สามารถ “แย่งเวลา” ไปจากสินค้าหรือบริการเดิม ๆ ได้ ตัวอย่างเช่น “ติ๊กต็อก” ที่สามารถจับตลาดของคนรุ่นใหม่ได้ดีกว่า ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่เป็นการอวสานในแง่ของตัวบริษัทหรือกิจการของบริษัทเทคขนาดใหญ่อย่างแน่นอน แต่สิ่งที่ควรจะคิดก็คือ ถ้ามองในฐานะของ “หุ้น” เทคขนาดใหญ่ที่มีผลงานดีเยี่ยมมานาน มันถึงเวลา “หมดรอบ” หรือ “อวสาน” หรือยัง?
ผมเองคิดว่าช่วงเติบโตเร็วแบบ “Super Growth” ของหุ้นเทคโดยเฉพาะที่เป็นแนว “ดิจิทัล” นั้น น่าจะใกล้พีคหรือไปถึงจุดสุดยอดแล้ว และ “ตัวเร่ง” การเติบโตก็คือ โควิด-19 ที่ทำให้คนทั้งโลกต้องหันมาใช้บริการของบริษัทใหญ่ ๆ เหล่านั้นทันที รอช้าไม่ได้ ผลก็คือยอดขายและกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นมากและหลังจากวันนี้ที่โควิดคลี่คลายลง การใช้บริการก็จะเพิ่มต่อไม่ได้เร็วอีกต่อไปนอกเสียแต่ว่าจะมีผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ เช่นเรื่องของเมตาเวิร์สหรืออินเตอร์เน็ตออฟธิงค์ที่ทำให้เครื่องใช้และสิ่งต่าง ๆ สามารถติดต่อกันเองได้ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าสิ่งเหล่านั้นน่าจะค่อย ๆ เกิดขึ้นมากกว่า
ดังนั้น ผมคิดว่าช่วงเวลานี้น่าจะเป็นช่วงของการปรับตัวลงของหุ้นเทคที่เคยดีมานานและดียิ่งขึ้นในช่วงโควิด-19 จะเรียกว่าเป็น “อวสานของหุ้นเทค” ก็น่าจะได้ แต่จะต้องเข้าใจว่านี่ไม่ใช่บริษัทแย่ลงหรือมีบทบาทน้อยลงในเศรษฐกิจโลก แต่เป็นเรื่องของราคาหุ้นที่อาจจะขึ้นเกินเลยไปมากและการเติบโตของบริษัทที่จะโตช้าลง ประกอบกับการที่ต้นทุนของเงินหรืออัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้นักลงทุนขายหุ้นซึ่งจะทำให้หุ้นเทคปรับขึ้นได้ยาก บางตัวอาจจะตกลงอย่างหนัก โดยที่เฟซบุ๊กเป็นตัวอย่างที่เด่นชัด แต่สิ่งที่คนอาจจะไม่ตระหนักก็คือ “หุ้นเทคจีน” ที่ลงนำไปก่อนแล้วและลงมากกว่าเฟซบุ๊กด้วยซ้ำ
คำถามสำคัญต่อมาก็คือ เราควรขายหุ้นเทคหรือไม่ คำตอบของผมก็คือ ขึ้นอยู่กับราคาเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นฐานที่แท้จริงของหุ้นเทคแต่ละตัว การตกลงมาของหุ้นเทคยักษ์ใหญ่หลายตัวซึ่งรวมถึงหุ้นเทคของจีนน่าจะทำให้หุ้นเทคบางตัว “ไม่แพงอีกต่อไป” และถึงแม้ว่ามันอาจจะไม่โตเร็วมากเหมือนในอดีตอีกแล้วแต่มันก็น่าจะสามารถรักษาสถานะที่เป็นอยู่ได้พร้อม ๆ กับการเติบโตบ้างโดยเฉพาะจากการสร้างบริการและผลิตภัณฑ์ไฮเทคใหม่ ๆ โดยอาศัยทรัพยากรโดยเฉพาะเงินสดที่มีอยู่มหาศาลต่อสู้กับคู่แข่งใหม่ ๆ หรือไม่ก็ซื้อธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพที่จะโตเร็วในอนาคต พูดง่าย ๆ ผมคิดว่าหุ้นเทคขนาดใหญ่นั้นกำลังกลายเป็น “หุ้นแข็งแกร่ง” ที่จะไม่มีใคร Disrupt หรือทำลายล้างได้ง่าย ดังนั้น ถ้าราคาหุ้นสมเหตุผล ก็สามารถลงทุนได้อย่างน่าจะปลอดภัยพอสมควร
ลองมาดูหุ้นเทคยักษ์ของโลกว่าถูกแพงแค่ไหน เริ่มตั้งแต่เฟซบุ๊กที่ราคาต่ำลงมามาก คือลดลงจากจุดสูงสุดถึงประมาณ 37% และค่า PE อยู่ที่ประมาณ 17 เท่า หรือ EP เท่ากับ 5.9% ซึ่งแปลว่าลงทุนหุ้นตัวนี้ ถ้ากำไรในระยะยาวไม่ลดลงก็จะได้ผลตอบแทนไม่น้อยกว่าปีละประมาณ 5.9% ก็ดูไม่แพงเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยที่แม้ว่าจะกำลังเพิ่มขึ้นแต่ก็อาจจะไปได้ไม่เกิน 4-5% ในระยะยาว
หุ้นอะมาซอนมีค่า PE ที่ 62 เท่า และราคาก็ลดลงจากจุดที่เคยสูงสุดประมาณ 15-16% ในช่วงปีที่แล้ว ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังมองว่าเป็นหุ้นซุปเปอร์โกรทที่สามารถโตต่อไปได้อีกมาก รวมถึงอาจจะเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้บริหารที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น การทำร้านค้าปลีกเช่นสะดวกซื้อหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่ต้องมีคนขายหรือคนคิดเงิน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การที่หุ้นมีราคาแพงมากนั้น ถ้ามีอะไรผิดพลาดหรือผิดคาดแม้แต่นิดเดียวก็อาจจะทำให้หุ้นถูกเทขายได้ง่ายเหมือนอย่างเฟซบุ๊ก ดังนั้น ผมเองคิดว่าหุ้นมีความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่จะรับได้โดยเฉพาะสำหรับคนที่เป็น VI ที่อนุรักษ์นิยม
หุ้นแอปเปิลซึ่งเดี๋ยวนี้กลายเป็นหุ้นยอดนิยมของวอร์เรน บัฟเฟตต์นั้น ตกลงมาน้อยมากในรอบนี้ และต่ำกว่า All Time High แค่ 5-6% มีค่า PE ประมาณ 29 เท่า ถึงแม้ว่าจะไม่ถูกแต่ก็ไม่ถือว่าแพง เหตุเพราะว่าสถานะของผลิตภัณฑ์และบริษัทมั่นคงมาก ว่าที่จริงในช่วงแรกที่บัฟเฟตต์เข้าถือหุ้นตัวนี้ มันแทบจะเป็นหุ้น Value ด้วยซ้ำ เพราะค่า PE ตอนนั้นน่าจะไม่เกิน 13-14 เท่า และมีเงินสดมหาศาล บัฟเฟตต์ไม่ได้คิดว่ามันขายความเป็นไฮเทค เพราะว่าโทรศัพท์ของแอปเปิลนั้นเป็น “ไลฟ์สไตล์” ไปแล้ว
หุ้นไมโครซอฟท์นั้น คล้าย ๆ กับหุ้นแอปเปิลในแง่ที่ว่าผลิตภัณฑ์และบริษัทแข็งแกร่งมากและความเสี่ยงที่จะถูก Disrupt น้อยมาก ค่า PE ที่ประมาณ 33 เท่า นั้นน่าจะสมเหตุผล อย่างไรก็ตาม การเติบโตต่อไปเร็ว ๆ ก็คงจะยาก และอุปสรรคของราคาหุ้นที่จะขึ้นไปก็คือภาวะดอกเบี้ยที่กำลังปรับตัวขึ้นซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นที่ขึ้นมามาก ๆ ในช่วงที่ผ่านมาไปต่อได้ยากเช่นกัน
หุ้นกูเกิลหรือหุ้นอัลฟาเบ็ท นั้นดูเหมือนว่าปรับตัวขึ้นมาตลอดและแทบจะไม่ตกเลย คนจำนวนมากคงจะคิดว่าผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะเว็บกูเกิลนั้นหาคู่แข่งยากมากและคนที่จะใช้ก็น่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่ต้องศึกษาหาข้อมูลมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเดี๋ยวนี้ถ้าอยากจะรู้อะไรก็ต้องถาม “อากู๋” ดังนั้น ค่า PE ที่ประมาณ 26 เท่าจึงดูไม่แพงและน่าจะลงทุนระยะยาวได้
หุ้นอาลีบาบาของจีนนั้น ตั้งแต่มีข่าวรัฐบาลจีนเข้ามา “จัดระเบียบ” ก็ตกเอา ๆ จนล่าสุดเหลือเพียงประมาณ 122 เหรียญสหรัฐ ตกลงมาจากจุดสูงสุดถึง 61% และทำให้ค่า PE เหลือเพียง 17 เท่า ทั้ง ๆ ที่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทก็คล้าย ๆ กับอะมาซอนที่ยังมีโอกาสโตอีกมาก ดังนั้น หุ้นตัวนี้อาจจะกลายเป็นหุ้น Value ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การมีเรื่องกับรัฐบาลนั้นเป็นความเสี่ยงที่สำคัญมากและคาดการณ์ได้ยากโดยเฉพาะเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเด็ดขาดและอยู่ภายใต้คนคนเดียวหรือไม่กี่คน
หุ้นเทนเซ็นต์ของจีนซึ่งทำทางด้านสื่อสังคมคล้ายเฟซบุ๊กนั้นก็คงคล้ายกับหุ้นอาลีบาบาแต่ตกลงมาจากจุดสูงสุดน้อยกว่าที่ประมาณ 37% มีค่า PE ที่ 20 เท่า สูงกว่าเฟซบุ๊กเล็กน้อยแต่ก็ดูไม่แพงเมื่อเทียบกับหุ้นทั่วไปที่รวมถึงหุ้นไทย ดังนั้น นี่ก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่พอลงทุนได้แม้ว่าตลาดหุ้นจีนยังมีปัญหา
ทั้งหมดนั้นก็คือหุ้นเทคขนาดใหญ่ที่ตอนนี้เปลี่ยนภาพไปมาก จากการเป็นสิ่งที่เข้าใจและคาดการณ์ได้ยากและราคาแพงมาก กลายเป็น “หุ้นแข็งแกร่ง” ที่มีราคาที่ “จับต้องได้” และในไม่ช้าก็จะเป็นหุ้นที่ “ลงทุนง่าย” สำหรับทุกคน เช่น ผ่าน “DR” ซึ่งเป็นตราสารแทนหุ้นที่ซื้อขายได้ในตลาดหุ้นไทย
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2022/02/07/2629