ยุคสมัยของนักลงทุนไทย

ตั้งแต่ปี 2518 ที่มีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาจนถึงวันนี้เป็นเวลา 46 ปี  Profile หรือคุณสมบัติโดยทั่วไปของนักลงทุนไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก  ส่วนตัวผมเองนั้น  แม้ว่าจะเพิ่งเริ่มลงทุนอย่างจริงจังประมาณปี 2538-39 หรือ 26 ปีมาแล้วแต่ก็ได้เห็นและรับรู้ถึงความเป็นไปของนักลงทุนในตลาดหุ้นมาโดยตลอด  ส่วนหนึ่งเพราะเริ่มเข้าทำงานในแวดวงการเงินที่เกี่ยวกับ  “ตลาดทุน” ตั้งแต่ปี 2528 หรือ 36 ปีมาแล้ว  หรือพูดได้ว่า  ผมทำงานเกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์หลังจากที่ตลาดเปิดไปแล้วประมาณ 10 ปี  งานที่ทำนั้นเริ่มตั้งแต่ในสายของ  “วิชาการ” ต่อด้วย  “การระดมทุน” ซึ่งก็คือ การทำ IPO ให้กับบริษัท  และสุดท้ายก็คือ  “การลงทุน” ด้วยเงินของสถาบัน  ก่อนที่จะกลายเป็น “นักลงทุน” อย่างเต็มตัว  สิ่งที่ผมเห็นและจะพูดถึงในวันนี้ก็คือการเปลี่ยนแปลงของนักลงทุนที่แทบจะเรียกว่า  “สิ้นเชิง”  ตาม “ยุคสมัย” ที่เปลี่ยนไปของตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดทุน

ช่วงเปิดตลาดหลักทรัพย์ใหม่ ๆ  โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีแรกนั้นน่าจะเป็นการ “ลองระบบ” การซื้อขายหุ้นซึ่งเป็นสิ่งใหม่ในระบบเศรษฐกิจของไทยที่เริ่มจำเป็นที่จะต้องมีแหล่งระดมทุนระยะยาวในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ  คนที่รู้เรื่องและเข้ามาซื้อขายหุ้นหรือ  “นักลงทุน” ก็คือนักธุรกิจหรือคนที่มีประสบการณ์จากต่างประเทศจำนวนเพียงหยิบมือเดียว  ปริมาณการซื้อขายน้อยมากและเนื่องจากเกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเกิด “วิกฤติ” ทางการเมืองและอยู่ท่ามกลางสงครามเย็นระหว่างกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์และโลกเสรี  อย่างไรก็ตาม  หลังจากนั้น  ตลาดหุ้นก็ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงและดึงดูดคนที่สนใจในเรื่องของการเก็งกำไรและการพนันเข้ามาเล่นกันมาก  ผมยังจำได้ว่าในขณะนั้นเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่กำลังเรียนปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจด้วยกันที่นิด้าที่มีพ่อเป็นนักการธนาคารคุยให้ฟังว่าตนเองเล่นหุ้นด้วยเงินหลักหมื่นบาทแต่ได้กำไรเดือนละเป็นพันบาทซึ่งในสมัยนั้นถือว่ามาก  เพราะเงินเดือนทั้งเดือนของผมก็แค่ 3,000 บาท  ผมเองรู้สึกทึ่งอยู่เหมือนกัน  แต่ก็ไม่ได้สนใจอะไรมากกว่านั้นแม้ว่าตนเองกำลังเรียน MBA  ผมคิดว่าการ “เล่นหุ้น” เป็นเรื่องของการ “เก็งกำไรหรือการพนัน” ที่ในชีวิตและครอบครัวผมจะไม่ยอมเกี่ยวข้องเลย

“ยุคแรก” ของตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมคิดว่าดำเนินมาจนถึงปี 2540 ที่ตลาดหุ้นถล่มทลายเนื่องจากเกิดวิกฤติการลดค่าเงินบาทไทยหรือ  “ต้มยำกุ้ง” นักลงทุนไทยในช่วงนั้นส่วนใหญ่แล้วก็คือ “นักเก็งกำไรหรือนักการพนัน” ที่ย้ายเงินจากการทำธุรกิจขนาดย่อมหรือจากสนามม้าหรือคาสิโนเข้ามาเล่นในตลาดหุ้น  นี่คือนักเล่นหุ้น  “ขาใหญ่” ในตลาดที่บางคนก็กลายเป็น  “นักปั่นหุ้น” โดยการปล่อยข่าวดี  ซื้อ-ขายหุ้นต่อเนื่องเพื่อสร้างราคาและปริมาณการซื้อขาย  ในบางครั้งก็ทำถึงขนาดจะเทคโอเวอร์กิจการขนาดใหญ่ได้โดยอาศัยการกู้เงินซื้อหุ้นแบบมาร์จินจากบริษัทหลักทรัพย์ที่ตนเองควบคุมอยู่ก็มี  เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายหรือกลต. ที่จะห้ามหรือป้องกัน  และนั่นก็คือ “เซียน” หรือที่ในยุคนั้นเรียกว่า  “เสี่ย” ที่ทุกคนในตลาดหุ้นกล่าวขวัญถึงโดยเฉพาะว่าจะเข้าไปเล่นหุ้นตัวไหน

นักลงทุนรายย่อยหรือนักเล่นหุ้นส่วนใหญ่ในยุคแรกของตลาดหลักทรัพย์นั้น  จำนวนไม่น้อยเป็นผู้หญิงอายุกลางคนที่ชอบเล่นการพนันในวงไพ่ที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยในยุคนั้น  พวกเธอคงจะเริ่มเห็นว่าการเล่นหุ้นนั้นสนุกกว่าและได้กำไรมากกว่าแถมมีเครื่องดื่มและอาหารบริการฟรีตามห้องค้าของแต่ละโบรกเกอร์ที่ติดเครื่องปรับอากาศและอยู่ได้เกือบทั้งวันกับเพื่อนที่คุยกันได้ถูกคอเพราะนี่เป็นตลาดที่ไม่มีใครเป็นฝ่ายตรงข้าม  ทุกคนได้กันหมดในบางวันและก็เสียกันหมดในอีกวันหนึ่ง   ในส่วนของผู้ชายเองนั้น  จำนวนมากก็มักจะมีอายุที่สูงกว่าคนทั่วไปและเป็นเจ้าของธุรกิจหรือร้านเล็ก ๆ  ที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างและมีเวลาเข้ามาเล่นหุ้นในห้องค้า  อย่าลืมว่าในสมัยนั้นระบบการซื้อขายหุ้นยังไม่สมบูรณ์และยังต้องสั่งซื้อขายตรงหน้าเค้าน์เตอร์หรือผ่านทางโทรศัพท์  การติดตามราคาหุ้นนาทีต่อนาทีจากห้องค้าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักเล่นหุ้นซึ่งแทบทั้งหมดเป็นแนว “เก็งกำไร” แทบจะไม่มีข้อมูลพื้นฐานอะไรเลยเพราะยังไม่มีการวิเคราะห์หุ้นเป็นเรื่องเป็นราว

เมื่อเกิดวิกฤติปี 2540 ที่ทำให้ดัชนีตลาดตกลงมาเกือบ 90% จากจุดสูงสุด  นักลงทุนซึ่งก็คือนักเก็งกำไรในตลาดหุ้นที่ไม่ได้ซื้อขายหุ้นอิงปัจจัยพื้นฐานแทบทั้งหมดต่างก็  “เจ๊ง” พร้อม ๆ  กับธุรกิจและความมั่งคั่งส่วนตัว  พวกเขา “สาปส่ง” ตลาดหุ้นและไม่กลับมาอีกเลย  เหลือแต่เซียนบางคนที่เอาตัวรอดมาได้และปรับตัวเข้ากับ “ยุคใหม่ของการลงทุน” นั่นก็คือยุคแห่ง “Value Investment” ที่มองว่าการลงทุนในหุ้นก็เหมือนกับการทำธุรกิจ  หุ้นที่ดีก็คือหุ้นที่สามารถทำกำไรได้ดี  มีความสามารถในการแข่งขันสูง  มีการเติบโต และที่สำคัญที่สุด  ต้องมีราคาที่ถูกหรือไม่แพงเมื่อเทียบกับพื้นฐานของมัน  ต้องมีส่วนเผื่อความปลอดภัยที่เรียกว่า Margin of Safety ซื้อแล้วก็มักจะถือไว้นาน  ขายต่อเมื่อพื้นฐานเปลี่ยนแปลงและราคาหุ้นสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงแล้ว  “ทศวรรษของ VI” เริ่มตั้งแต่ปี 2540 ต่อเนื่องมาประมาณ 10 ปีจนถึงปี 2551 หรือปี 2008 ที่เกิดวิกฤติ “ซับไพร์ม” ทำให้ดัชนีหุ้นตกลงมาเกือบครึ่งหนึ่ง

นักลงทุนยุคที่สองหรือยุค VI นั้น  เปลี่ยนแปลงไปมาก  พวกเขามักเป็นคนที่อยู่ในวัยประมาณ 30 ถึง 40 ปี ขึ้นไปและเป็นคนกินเงินเดือนที่มีรายได้ดีและมีเงินเก็บบ้าง  ที่สำคัญพวกเขาเป็นคนคิดถึงอนาคตที่จะเกษียณก่อนกำหนดและมีความมั่งคั่งสูง  บางทีขนาดเศรษฐีจากการลงทุนในหุ้น  ซึ่งก็ถือว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีความเสี่ยงอย่างที่นักเล่นหุ้นในยุคก่อนกลัวกัน   นักลงทุนยุคนี้ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนที่มีการศึกษาที่ดี  ทำงานวิชาชีพที่มีรายได้สูงเช่นวิศวกรรม  การแพทย์  หรือเป็นผู้บริหารระดับกลางที่กำลังก้าวหน้า  ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ชาย  ที่สำคัญพวกเขาต่างก็ขวนขวายหาความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและบริษัทที่น่าสนใจ  และนำมาแลกเปลี่ยนและวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมของการลงทุนและตัดสินใจซื้อขาย  ซึ่งนั่นทำให้  “หุ้น VI” ในตลาดมีราคาปรับตัวขึ้นมากส่งผลให้คนลงทุนมีกำไรงดงามซึ่งก็ดึงดูดให้คนเข้ามาลงทุนเพิ่มในแนวของ VI และทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นไปอีก

หลังจากวิกฤติปี 2551 ที่ดัชนีตกลงมาเหลือเพียงประมาณ 400 จุดแล้ว  ดัชนีก็ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องอานิสงส์จากการที่บริษัทจดทะเบียนต่างก็ฟื้นตัว  ทำกำไรได้ดีและหุ้นมีราคาถูกมากโดยมีค่า PE เริ่มในช่วงปีแรกของการฟื้นตัวเพียง 7 เท่า  นั่นส่งผลให้นักลงทุนแนว VI “รุ่นใหม่” ที่มีอายุน้อยลงเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจำนวนมาก  นอกจากนั้น  การที่อัตราดอกเบี้ยตกต่ำลงมามากอานิสงค์จากการทำ QE หรือการอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาในระบบของสหรัฐทำให้คนมีเงินรวมถึงลูกหลานของเศรษฐีจำนวนมาก  แห่กันเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น  ผลักดันให้หุ้นโดยเฉพาะที่มีคุณภาพที่ดีแนว VI ปรับตัวขึ้นมหาศาลจนมีค่า PE สูงถึง 30-40 เท่า นอกจากนั้น  VI รุ่นใหม่เหล่านั้นยังมักจะใช้มาร์จินสูง  ซื้อหุ้นน้อยตัว  และเทรดหุ้นบ่อยเพื่อที่จะเพิ่มรอบของกำไรมากขึ้น  ผลก็คือ พวกเขาทำผลตอบแทนได้มหาศาลในระยะเวลาอันสั้นเพียงไม่กี่ปี  และนี่คือยุคที่ผมอยากจะเรียกว่า “Speculative VI” พอถึงสิ้นปี 2560 ก็ดูเหมือนว่าหุ้นดี ๆ  ที่มีราคาไม่แพงก็หมดไป  และสำหรับผมก็เป็นจุด “สิ้นสุดยุคทองของ VI”

นักลงทุนที่เข้ามาตั้งแต่ปี 2561 และเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดโรคระบาดโควิด-19 นั้น  น่าจะเป็นกลุ่มที่เข้าตลาดในช่วงอายุน้อยที่สุด  พวกเขามักจะเป็นคน Gen Y อายุส่วนใหญ่อาจจะไม่ถึง 30-35 ปีและเป็นลูกของคนรุ่นเบบี้บูมที่มั่งคั่ง  จำนวนคนที่เข้ามาในตลาดหุ้นนั้นมีสูงมากกว่ายุคใด ๆ  นอกจากนั้น  ความคิดของคนยุคนี้ก็แตกต่างจากยุคเดิมมาก  พวกเขาเกิดและเติบโตในยุคดิจิตอลที่ชอบอะไรที่เร็ว  ต้องการเห็นผลทันใจ  โควิดทำให้พวกเขาบางคนตกงาน  บางคนก็หางานที่เหมาะสมทำไม่ได้  เกือบทั้งหมดไม่ได้สนใจงานประจำที่น่าเบื่อและไม่สนองตอบความคิดที่เป็นอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ที่จะประสบความสำเร็จ  ดังนั้น  เมื่อพวกเขาเข้าลงทุนในตลาด  สิ่งที่ต้องการก็คือผลตอบแทนที่รวดเร็วไม่ว่าความเสี่ยงจะมากน้อยแค่ไหน  และหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่จะตอบโจทย์นั้นได้ก็คือหุ้นที่มีสตอรี่ที่งดงามและการเติบโตที่สุดโต่ง  ดังนั้น  พวกเขาจึงสนใจแต่หุ้น Growth หรือหุ้นเติบโตเร็วที่มักจะมีราคาสูงเสียดฟ้า  หรือเครื่องมือลงทุนอย่างเหรียญคริปโตที่ปรับตัวขึ้นเป็นหลาย ๆ  สิบหรือร้อยเปอร์เซ็นต์ในเวลาไม่กี่เดือน  และนี่ก็คือยุคของนักลงทุนแนว Growth ที่ครอบงำตลาดในช่วงนี้และยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร

ในประวัติศาสตร์ระยะยาวของตลาดนั้น  “หุ้น VI” ดูเหมือนว่าจะให้ผลตอบแทนแบบทบต้นดีที่สุด  อย่างไรก็ตาม  ในระยะสั้น ๆ  อาจจะแค่ 5-10 ปี บ่อยครั้งหุ้นแนว Growth ก็ให้ผลตอบแทนดีกว่ามาก  เช่นเดียวกัน  ช่วงที่การเก็งกำไรร้อนแรงเป็นไฟหรือเป็นฟองสบู่ การเล่นหุ้นแบบ  “เก็งกำไร” ซึ่งรวมถึงการเล่นบิตคอยน์ก็อาจจะทำให้คนรวยไปได้เลยในระยะเวลาแค่  “ข้ามคืน”

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2021/06/14/2519

TSF2024