ชั่วคราว VS ถาวร

ความสามารถที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของนักลงทุน “VI พันธุ์แท้”  ที่เน้นการลงทุนระยะยาวนั้น  ผมคิดว่าคือความสามารถในการวิเคราะห์แยกแยะความแตกต่างระหว่างสิ่งที่จะเกิดขึ้น “ชั่วคราว” กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่าง “ถาวร”  โดยคำว่าชั่วคราวนั้น  น่าจะรวมถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวหรืออาจจะ 2-3 ครั้ง ซึ่งถ้าจะมองเป็นเวลา เช่น เป็นปี  ก็อาจจะเกิดขึ้นปีเดียวหรือสองสามปี  ในขณะที่คำว่าถาวรนั้น  น่าจะเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นเป็นประจำหรือยาวอย่างน้อยก็น่าจะ 4-5 ปีขึ้นไปจนถึงตลอดไป  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการที่บริษัทบางแห่งขายทรัพย์สินเช่นที่ดินแปลงใหญ่ออกไปแล้วได้กำไรนั้นก็จะถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นครั้งเดียว  ปีหน้าไม่มีอีกแล้ว  นี่ถือเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นชั่วคราว  แต่กิจการผลิตและขายน้ำผลไม้ที่บริษัททำอยู่เป็นปกติและมีกำไรประมาณหนึ่งมานานหลายสิบปีนั้นถือเป็นเรื่องที่ถาวรและนักวิเคราะห์เรียกว่าเป็น  Recurring Income หรือเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นซ้ำทุกปี

การที่บริษัทมีรายได้และกำไรโตขึ้นโดดเด่นในปีหนึ่งหรือสองปีโดยที่การโตขึ้นนั้นเกิดขึ้นจากธุรกิจเดิมไม่ได้มีการขายที่ดินหรือ “กำไรพิเศษ” อย่างอื่นนั้น  นักวิเคราะห์และนักลงทุนโดยทั่วไปก็มักจะพูดว่าเป็นบริษัทที่กำลังเติบโตเร็ว  ดังนั้นพวกเขาก็เชียร์และเข้าไปลงทุนในหุ้นตัวนั้น  ผลก็คือ ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปสูงมาก  ในยามที่ตลาดหุ้นก็เป็นใจด้วย  ค่า PE อาจจะขึ้นไปเป็น 50-100 เท่า  คนที่เข้าไปซื้อก่อนก็ทำกำไรไปอย่าง “มโหฬาร” แต่แล้วพอเข้าปีที่สาม  รายได้และกำไรก็นิ่งและ/ หรือตกลงมา  คนก็ขายหุ้นกัน  ราคาตกลงมามาก  คนที่เข้าไปซื้อในยามที่ทุกคนคิดว่ามันคือหุ้นเติบโตก็ขาดทุนกันหนักกลายเป็น “หายนะของหุ้น”  เป็นไปได้ว่าการเติบโตของหุ้นตัวนั้นเป็นการ “เติบโตชั่วคราว”  ถ้าเราเข้าไปซื้อหุ้นตัวนี้ในราคาที่แพงมาก  โอกาสที่เราจะ “เจ๊ง” ก็มีสูง  ดังนั้น  การที่เรารู้หรือเข้าใจว่าบริษัทกำลังเติบโตแบบชั่วคราวหรือถาวรก็จะช่วยให้เรารอดพ้นจากอันตรายได้

การเติบโตแบบชั่วคราวนั้น  ผมเคยเขียนไว้นานมาแล้วว่ามันจะเหมือนกับเด็กที่กำลัง  “อ้วน” ขึ้นอาจจะเพราะว่าอาหารอุดมสมบูรณ์  เปรียบเสมือนกับสภาพของตลาดที่เอื้ออำนวย  มีความต้องการสินค้าในอุตสาหกรรมมากขึ้น  บริษัทในฐานะที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้นก็พลอยได้ประโยชน์มียอดขายเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ  แต่ Demand หรือความต้องการที่เพิ่มขึ้นนั้นในไม่ช้าก็ลดลงหรือมี Supply หรือผู้ผลิตเพิ่มขึ้น   ยอดขายสินค้าของบริษัทก็จะหยุดโตหรือลดลงกลับมาที่เดิม  หรือเรียกว่าร่างกาย “ผอม”  ลง  น้ำหนักลดลง   ส่วนการเติบโตแบบถาวรนั้น  ผมเปรียบให้เหมือนกับเด็กที่ “สูง” ขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะมีน้ำหนักมากขึ้นและเป็นการมากขึ้นอย่าง “ถาวร”  แม้ว่าในบางช่วงเขาอาจจะผอมลงและน้ำหนักจะลดลงบ้าง  แต่มันก็จะลดลง  “ชั่วคราว” ในที่สุดแล้วน้ำหนักก็จะกลับมาถ้าไม่ได้ป่วยไข้หรือเจ็บหนัก

การที่บริษัทจะโตแบบถาวรและมีราคาหุ้นที่สูงและแพงแบบถาวรได้นั้น  โครงสร้างและ Business Model หรือรูปแบบในการทำมาหากินของบริษัทจะต้องเอื้ออำนวยให้เป็นแบบนั้น  เริ่มต้นก็จะต้องดูว่าการเติบโตนั้นจะยาวนานและโตขึ้นไปได้มากเนื่องจากมันอยู่ในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ไม่ใช่อุตสาหกรรมเล็กที่โตยังไงก็ได้แค่นั้นเพราะเป็นไปไม่ได้ที่บริษัทจะครอบครองทั้งตลาดหรือใหญ่กว่าตัวอุตสาหกรรมได้

นอกจากเรื่องของอุตสาหกรรมแล้ว  “ความสามารถในการแข่งขัน” ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะทำให้บริษัทสามารถโตได้อย่างถาวร  ถ้าความสามารถของบริษัทไม่ได้สูงกว่าบริษัทอื่นมาก  โอกาสที่บริษัทจะ “ชนะ” คู่แข่งก็ทำได้ยาก  แต่ถ้าดูแล้วความสามารถในการแข่งขันของบริษัทค่อนข้างโดดเด่นก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะโตได้แบบถาวร  สิ่งที่จะต้องวิเคราะห์เพิ่มก็คือดูว่ามันเป็นความสามารถในการแข่งขันที่ “ยั่งยืน”  หรือไม่  คู่แข่งจะสามารถ “พัฒนา” ความสามารถในการแข่งขันทันไหม?  ถ้าคู่แข่งน่าจะสามารถทำได้  เราก็จะต้องเข้าใจว่าบริษัทนั้นอาจจะโต “ชั่วคราว”  การซื้อหุ้นที่โตชั่วคราวในราคาแพงนั้นอาจจะกลายเป็น  “หายนะ”  ตัวอย่างเช่น  ครั้งหนึ่งมีบริษัทขายคอนโดที่โดดเด่นมากในเซ็กเตอร์ระดับกลางจนคนกล่าวขวัญไปทั่ว  เปิดที่ไหนก็ขายระเบิด  แต่หลังจากผ่านไป 2-3 ปี ความโดดเด่นก็หายไปเพราะมีบริษัทจำนวนไม่น้อยเข้ามาทำคอนโดในกลุ่มนี้และก็ทำได้ดีเหมือน ๆ  กัน  การเติบโตของบริษัทนั้นก็หยุดลง

ความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ  แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วมันก็จะอยู่ทนและยิ่งถ้าอุตสาหกรรมยังไม่อิ่มตัว  การเติบโตก็จะยั่งยืนถาวร  ในอดีตนั้น  ความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนซึ่งก่อให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืนนั้นมักขึ้นอยู่กับเรื่องของยี่ห้อสินค้าที่โดดเด่นมาก ๆ  และขนาดของธุรกิจที่ใหญ่โตมากกว่าคู่แข่งมาก  ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีดิจิตอลและการสื่อสารก้าวหน้ามาก  เรื่องของเครือข่ายกลายเป็นสิ่งที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างถาวร  ตัวอย่างเห็นได้ชัดก็คือเรื่องของเฟซบุค ไลน์  และเจ้าของแพลทฟอร์มค้าขายออนไลน์อย่างอะมาซอนและอาลีบาบาเป็นต้น

ในตลาดของไทยเองนั้น  การหากิจการที่ “โตอย่างถาวร”  น่าจะมีไม่มากโดยเฉพาะในปัจจุบันที่สินค้าและบริการจำนวนมากมีการแข่งขันกันข้ามพรมแดนและบริษัทระดับโลกเข้ามาค้าขายในประเทศจำนวนมาก  สิ่งที่เหลืออยู่พอให้เราเลือกลงทุนน่าจะเป็นว่าบริษัทจะโตได้อย่างมั่นคงอีกนานแค่ไหน?

การวิเคราะห์ว่าบริษัทไหนหรือสินค้าอะไรจะโตแบบชั่วคราวหรือถาวรนอกจากจะดูจากอุตสาหกรรม  ความสามารถของบริษัทแล้ว  เราก็จะต้องดูถึงลูกค้าที่ใช้สินค้าด้วยว่าพวกเขาเป็นใครมีพฤติกรรมอย่างไร

ถ้าเป็นเรื่องของการบริโภคส่วนบุคคลที่มีลูกค้าเป็นแสนเป็นล้านคน  โอกาสที่พวกเขาจะกลับมาซื้อเหมือนเดิมก็จะสูง  ดังนั้น  ธุรกิจเหล่านั้นก็มักจะมีความเป็น “ถาวร” สูง  และถ้าตลาดยังไม่อิ่มตัว  ยังมีความต้องการในสินค้าเพิ่มโดยเฉพาะในจุดที่ร้านค้าของบริษัทยังไปไม่ถึง  บริษัทก็จะยังสามารถเติบโตแบบถาวรต่อไปโดยการขยายสาขาและเพิ่มยอดขายในร้านเดิมได้

ธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาและขายอสังหาริมทรัพย์นั้น  ด้วยการเติบโตของประชากรที่ลดลงอย่างรวดเร็วและความสามารถในการแข่งขันที่ไม่มีใครเหนือกว่าใครอย่างยั่งยืนก็ทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับบริษัทใดบริษัทหนึ่งจะโตได้อย่างยั่งยืน  ดังนั้น  สำหรับผมแล้วอาจจะมีบ้างสำหรับบางบริษัทที่จะโตได้ชั่วคราวซึ่งทำให้การซื้อหุ้นในราคาที่แพงกว่าปกติมีค่า PE เกินกว่าอุตสาหกรรมมากเป็นสิ่งที่อันตราย

ธุรกิจเกี่ยวกับความบันเทิงต่าง ๆ  รวมถึงทีวีนั้น  หลังจากที่มีการ “เปิดเสรี” อย่างกว้างขวางทำให้เกือบทุกอย่างเป็นเรื่อง  “ชั่วคราว”  เหตุผลก็คือ  ในปัจจุบันนั้นทางเลือกของผู้บริโภคมีหลากหลายมาก  “แค่ปลายนิ้ว”  พวกเขาก็สามารถเปลี่ยนความต้องการสินค้าและบริการจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้และพวกเขาก็ทำ  ดังนั้น  ผมเองคิดว่าราคาหุ้นที่เหมาะสมก็ควรจะต้องสะท้อนกำไรปกติที่ควรจะเป็นในระยะยาว  อย่างไรก็ตาม  การหากำไรปกติในระยะยาวของอุตสาหกรรมนี้ก็ยังทำได้ยากเพราะธุรกิจนี้ยัง “ไม่ลงตัว”  นั่นก็คือยังไม่มีการปิดตัวของกิจการที่ไม่สามารถแข่งขันได้เป็นเรื่องเป็นราว

ธุรกิจเกี่ยวข้องกับน้ำมันและปิโตรเคมีนั้นเป็นธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ที่อิงกับตลาดโลกเกือบทุกด้าน  การเติบโตที่จะเป็นเรื่องถาวรก็คือการเพิ่มกำลังการผลิตไม่ใช่การเติบโตของรายได้หรือกำไรที่มักจะเป็นเรื่องชั่วคราวที่ขึ้นอยู่กับราคาของผลิตภัณฑ์ในตลาดโลก  การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้นั้น  แน่นอน  ราคาจะแพงไม่ได้  ผมเองคิดว่าการตัดสินใจลงทุนนั้นควรจะมองจากกำไรปกติในระยะยาวซึ่งควรจะหาจากยอดขายคูณด้วยมาร์จินที่เหมาะสมเช่น กำไร 3% ของยอดขาย   จากนั้นเราก็ให้มูลค่าว่าราคาหุ้นไม่ควรเกิน 10 เท่าของกำไรที่คำนวณได้นั้น  เป็นต้น

ทั้งหมดนั้นก็เป็นแค่ตัวอย่างของบางอุตสาหกรรม  นักลงทุนที่เน้นการลงทุนระยะยาวควรที่จะยึดมั่นกับแนวทางวิเคราะห์แบบระยะยาวหรือความยั่งยืนถาวรของกิจการมิฉะนั้นก็อาจจะหลงผิดคิดไปว่าหุ้นที่กำลังลงทุนนั้นเป็นหุ้นที่โตจริงทั้ง ๆ  ที่มันเป็นเรื่องชั่วคราว

ที่มาบทความ: thaivi.org

TSF2024