ช่วงเร็ว ๆ นี้ ผมและสมาชิกในครอบครัวซึ่งมี 7 คนรวมถึงเด็กอายุเพียง 2 เดือนต่างก็เจ็บป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับไวรัสที่ติดต่อกันได้ง่ายมาก ผมเองเริ่มจากโควิด หลังจากหายได้ประมาณเดือนสองเดือนก็ติด RSV ซึ่งก็เป็นโรคหวัดอีกแบบหนึ่งที่ติดกันได้ง่ายมากพอ ๆ กับโควิด แต่อาการไม่รุนแรงเท่า อย่างไรก็ตาม ทั้งสองโรคกว่าจะหายก็ใช้เวลาเป็นประมาณ 10 วัน และยังมีผลข้างเคียงตามมาอีกหลายวัน รวมแล้วเป็นเดือนที่ต้องทรมานอยู่กับโรค

ช่วงที่เป็นนั้น ผมก็ได้แต่คิดว่า บางทีโลกเราอาจจะ “เปลี่ยนไปจากอดีต” เราอาจจะต้องผจญกับการติดโรคที่สามารถติดต่อกันทางอากาศและการสัมผัสได้ง่ายขึ้นมาก การท่องเที่ยวหรือพบปะผู้คนใกล้ชิดอาจจะทำไม่ได้เหมือนเดิม การติดเชื้อหรือเป็นโรคซ้ำอาจจะทำให้อาการหนักขึ้นจนเป็นอันตรายอย่างที่ “ผู้เชี่ยวชาญ” พูดกัน ครอบครัวที่อยู่กันถึง 7 คน ไม่รวมพี่เลี้ยงเด็กและแม่บ้านอย่างบ้านผมก็ยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทวีคูณ ไม่สนุกเลย!

แต่ความคิดแบบนั้นจะเป็นจริงหรือ? โลกเปลี่ยนไปแล้วจริงหรือเปล่า? โควิด-19 จะอยู่กับเราและเราจะติดได้ง่าย ๆ และเป็นอันตรายเพิ่มเมื่อติดซ้ำและถ้าเป็นหลายครั้งเข้าอาการของเราจะหนักขึ้นจนอาจจะต้องตายในที่สุดหรือ? พูดตามตรง ผมก็ไม่รู้ แต่ถ้ามองย้อนหลังกลับไปในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ผมเกิดมา โอกาสที่เราจะอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นยาวนานก็น่าจะมีน้อยมาก

แม้แต่ปรากฎการณ์ไข้หวัดสเปนเมื่อ 100 ปีที่แล้วที่คนตายเป็นล้าน ๆ คนและมนุษยชาติก็ไม่รู้ว่าจะแก้ไขหรือป้องกันอย่างไรก็หายไปจากโลกในเวลาไม่นาน ดังนั้น สิ่งที่ผมกลัว หรือกังวลคงจะเกิดขึ้น เพราะผมกำลังประสบกับความเลวร้าย “ในขณะนั้น” ซึ่งก็มักจะทำให้จิตใจคิดว่า “มันจะเป็นแบบนั้นตลอดไป”

จิตวิทยาของนักลงทุนก็เช่นเดียวกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงและเจ็บปวด “เป็นปี” อย่างเรื่องอัตราเงินเฟ้อ หรือดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นสูงต่อเนื่อง ถึงวันหนึ่งเขาก็จะคิดว่ามันจะเป็นอย่างนั้น “ตลอดไป” และหุ้นก็จะต้องตกต่อเนื่องไปอีกนาน ว่าที่จริงวันที่เขาคิดนั้น หุ้นอาจจะตกลงไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว ซึ่งก็ทำให้เขาบาดเจ็บอย่างหนักและอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาคิดว่าเงินเฟ้อและดอกเบี้ยจะอยู่ต่อไปอีกนาน สภาพคล่องจะหายไป และหุ้นก็จะถูกขายและตกลงมาอย่างไม่รู้ว่าจะถึงพื้นตอนไหน

แต่ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ตลาดหุ้น มองย้อนหลังไปเกือบ 50 ปีในตลาดหุ้นไทยและกว่าร้อยปีในตลาดหุ้นสหรัฐก็จะพบว่า ในที่สุด บางทีแค่ 2-3 ปี เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยก็ลดลงมาและตลาดหุ้นก็ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว น้อยครั้งที่เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยจะสูงอยู่นานมาก ว่าที่จริง ธนาคารกลางสหรัฐก็คงไม่ยอมให้เป็นอย่างนั้น เพราะจะทำให้เศรษฐกิจพังพินาศ

ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่สูงขึ้นผิดจาก “ปกติ” มากนั้น เป็นเรื่อง “ชั่วคราว” นักลงทุน “ระยะยาว” ที่มักจะลงทุนในหุ้นแต่ละตัวหรือลงทุนเป็นพอร์ตระยะยาวเกิน 3-5 ปี ขึ้นไปนั้น จึงแทบไม่ต้องสนใจว่าเงินเฟ้อและดอกเบี้ยจะเป็นเท่าไร เพราะเราจะถือหุ้นผ่านช่วงเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่สูงกว่าปกติไปอยู่แล้ว และก็แน่นอนว่ามักจะผ่านช่วงที่ตลาดหุ้นตกต่ำเพราะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่สูงกว่าปกตินั้นด้วย

เช่นเดียวกับเรื่องเลวร้าย เรื่องดี ๆ ต่อตลาดหุ้นเองก็มักจะเป็นเรื่อง “ชั่วคราว” การอัดฉีดเงินจำนวนมากของรัฐบาลต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนเพื่อลดผลกระทบจากโควิด ซึ่งส่งผลให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินเหลือล้นและอัตราดอกเบี้ยต่ำลง และทำให้นักลงทุนส่วนบุคคลเข้ามาเล่นหุ้นและหลักทรัพย์เก็งกำไรเช่นเหรียญดิจิทัลต่างๆ มากขึ้นมหาศาล ได้ส่งผลให้หุ้นและตราสารเก็งกำไรต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นมาก  การปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและ “บ้าคลั่ง” ต่อเนื่อง “เป็นปี ๆ” นั้น ได้ทำให้คนที่ทำกำไรจากการลงทุนเป็นกอบเป็นกำอย่างง่าย ๆ นั้นคิดว่า โลก “กำลังเปลี่ยนไป-ตลอดกาล” และ “คุณค่าของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สิน” นั้น ไม่จำเป็นที่จะเป็นตัวกำหนดราคาหุ้น

พูดง่าย ๆ พวกเขาเชื่อว่าราคาหุ้นก็จะขึ้นไปเรื่อย ๆ และก็ไม่ต้องห่วงว่าราคาจะแพงเกิน “พื้นฐาน” ที่คิดจาก “ผลประกอบการของกิจการ” ไปมากมาย หุ้นจะขึ้นหรือลงขึ้นอยู่กับพวกเขาเองที่จะซื้อหรือขาย โดยที่การจะซื้อหรือขายนั้น  อาจจะขึ้นอยู่กับสตอรี่หรือเรื่องราวที่พวกเขา “เชื่อ” โดยที่ไม่ต้องมีเหตุผลและตัวเลขที่หนักแน่นมารองรับ ในกรณีของบิตคอยน์เองนั้น ช่วงที่มันมีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็วนั้น คนจำนวนมากที่ได้กำไรมากมายต่างก็คิดว่า บิตคอยน์ 1 เหรียญอาจจะมีราคาเป็นล้านดอลลาร์ก็ได้ เพราะอนาคตมันจะ “แทนเงินเฟียตทั้งโลก”

ผมคงไม่ต้องบอกว่าสถานการณ์ช่วงโควิด-19 ที่ดีมาก ๆ ต่อตลาดหุ้นโดยเฉพาะในตลาดหุ้นสหรัฐและอีกหลายแห่งของโลกนั้น เป็นเรื่อง “ชั่วคราว” ที่นักลงทุนน่าจะคาดการณ์ได้ เพราะจะเป็นไปได้อย่างไรที่รัฐบาลแทบทุกประเทศจะอัดฉีดเงินมหาศาลเข้าสู่ระบบในขณะที่คนทำงานน้อยลงเพราะต้องถูก “ล็อกดาวน์”อยู่เป็นครั้งคราวเป็นระยะเวลายาวนาน ถ้าเป็นแบบนั้น ในที่สุดเงินก็ต้องเฟ้อและดอกเบี้ยก็จะต้องเพิ่ม ซึ่งก็จะทำให้หุ้นตก และนั่นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหลังจากเวลาผ่านไป 2 ปีที่นักลงทุน “เชื่อ” ไปแล้วว่าสถานการณ์ที่หุ้นขึ้นอย่างบ้าคลั่งเพราะการเก็งกำไรจะอยู่กับเราตลอดไป

ประเด็นสำคัญที่จะต้องเข้าใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ อะไรคือ “ดีเลิศ” หรือ “เลวร้าย” ที่จะเป็นเรื่อง “ชั่วคราว” ที่นักลงทุนระยะยาวอาจจะไม่ต้องสนใจเพราะ “มันจะผ่านไป”

ผมเองคิดว่าจะต้องเปรียบเทียบกับ “ภาวะปกติ” ซึ่งก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ของเวลาที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยปกติของอเมริกาในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 3% หรือถ้ามองย้อนหลังไป 60 ปี ก็อาจจะขึ้นไปถึง 6% ดังนั้น เราก็อาจจะพูดว่าช่วงเวลาย้อนหลังไป 10 ปีที่ดอกเบี้ยเหลือเพียงไม่ถึง 1% เป็นช่วงเวลาที่ “ดีเลิศ” และเป็นเรื่อง “ชั่วคราว” ที่ยาวมาก ในขณะที่ช่วงเวลานี้ที่อัตราดอกเบี้ยที่ 4% และกำลังจะขึ้นต่ออีก 1% นั้น เป็นช่วงที่เลวร้ายและก็น่าจะเป็นเรื่อง “ชั่วคราว” ดังนั้น ถ้าเป็นนักลงทุนระยะยาวก็อย่ากลัวไปเลย เดี๋ยวมันก็จะลดลง ถ้าสนใจหุ้นตัวไหนก็ลงทุนได้ ดูที่พื้นฐานเทียบกับราคาหุ้น

เรื่องดีเลิศหรือเลวร้ายนั้น ไม่ได้ใช้ดูหรือพิจารณาเฉพาะตลาดหุ้นหรือตราสารอื่นโดยรวม แต่ยังสามารถใช้ได้กับหุ้นหรือกิจการแต่ละแห่งด้วย ในบางช่วงตัวกิจการอาจจะ “ดีเลิศผิดปกติ” เพราะภาวะอุตสาหกรรมที่ดีขึ้น – ชั่วคราว หลังจากที่อยู่ในภาวะปกติมานาน เช่น กิจการไม่ค่อยโต กิจการทำกำไรต่ำวัดจากกำไรต่อยอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3% เพราะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์หรือสินค้าที่มีผู้ขายแข่งขันกันรุนแรงและไม่มีใครได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืนจริง ๆ

แต่แล้วภาวะอุตสาหกรรมก็ดีขึ้นอย่างทันทีเพราะเกิดโควิด-19 ซึ่งทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นและกำไรต่อยอดขายสูงขึ้นมาก นี่ทำให้ผลประกอบการบริษัท “โต” ขึ้นต่อเนื่องมา 2 ปี ภาพของบริษัทเปลี่ยนไปกลายเป็นหุ้นโตเร็ว ราคาหุ้นวิ่งตามมา แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่อง “ชั่วคราว” หลังจากโควิดจบ มันก็จะกลับลงมา ว่าที่จริงมันอาจจะลงมาก่อนโควิดจบหลายเดือน

เช่นเดียวกับ “สิ่งเลวร้าย” ที่เกิดขึ้นกับหุ้นค้าปลีก ผู้บริโภค และการท่องเที่ยวที่ทำให้หุ้นตกเนื่องจาก “เศรษฐกิจถดถอย” เพราะโควิด ซึ่งก็เป็นเรื่อง “ชั่วคราว” ที่ในที่สุดก็จะผ่านไป และหุ้นที่แข็งแกร่งและมีความได้เปรียบคู่แข่งที่ยั่งยืนก็จะกลับมาสู่ภาวะ “ปกติ” ดังนั้น สำหรับนักลงทุนระยะยาวแล้ว ก็ไม่ต้องสนใจมาก สิ่งที่เรามองตลอดเวลาก็คือ ความสามารถในการแข่งขันของหุ้นที่จะผ่านภาวะเลวร้ายต่าง ๆ ไปได้ ส่วนคนที่อยากจะฉวยโอกาส “ทำกำไรเพิ่มเติมในภาวะชั่วคราว” ก็อาจจะทำได้เช่นเดียวกัน แต่นี่ก็อาจจะเป็นศาสตร์และศิลป์อีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าไม่จำเป็นและก็ไม่การันตีว่าจะประสบความสำเร็จ

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

TSF2024