ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมานั้น คนในแวดวงธุรกิจและเทคโนโลยีที่โดดเด่นที่สุดในโลกคนหนึ่งที่ไม่มีใครสามารถปฎิเสธได้ก็คือ อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของบริษัทเทสลาและสเปซเอ็กซ์ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าและการบุกเบิกทางอวกาศ และก็แน่นอนว่า ตำแหน่งที่เป็นทางการหรือเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปก็คือ “Chief Executive Officer” หรือ “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” หรือก็คือ ผู้บริหารที่ “ใหญ่ที่สุด” ในสายงานบังคับบัญชาของบริษัท อย่างไรก็ตาม งานหลักที่อีลอนมัสก์ทำในบริษัทซึ่งทำให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันและมีชื่อเสียงโด่งดังและหุ้นของบริษัทมีค่ามากที่สุดก็คือ การทำหน้าที่เป็นผู้นำในการค้นคว้าทดลองทางด้านเทคโนโลยีของบริษัท บทบาทของมัสก์นั้นมากเสียจนแทบจะเรียกว่า อีลอนมัสก์ก็คือบริษัท และบริษัทก็คืออีลอนมัสก์ คล้าย ๆ กับสมัยที่สตีป จอบส์ ปั้นบริษัทแอปเปิลจนกลายเป็นผู้นำโลกทางด้านโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์สื่อสารอีกหลาย ๆ อย่าง
ความเคลื่อนไหว ความคิดและการแสดงออกของมัสก์นั้น มักเป็น “ข่าวใหญ่” เสมอ แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อยที่เกิดขึ้นเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อนที่เขาประกาศว่าจะเปลี่ยนชื่อตำแหน่งของตนเองจาก CEO เป็น “Technoking of Tesla” หรือ “ราชันเทคโนโลยีแห่งเทสลา” ซึ่งฟังดูราวกับว่ามาจากนวนิยายวิทยาศาสตร์แฟนตาซีที่คนรุ่นใหม่นิยมอ่านกัน ไม่เพียงแต่ตัวเขา แต่ CFO หรือผู้บริหารสูงสุดทางการเงินของบริษัทก็เปลี่ยนชื่อต่ำแหน่งด้วยเป็น “Master of Coin” หรือ “ปรมาจารย์แห่งเหรียญเงินตรา” ตามชื่อดารานำในหนังซีรี่โด่งดังระดับโลก “Game of Thrones” นอกจากนั้นก็ยังอาจจะมาจากการที่เทสลาได้เข้าไปซื้อบิทคอยน์จำนวนมากเพื่อเป็นการลงทุนเมื่อเร็ว ๆ นี้ และทั้งคู่ไม่ได้เปลี่ยนเล่น ๆ แต่ส่งไปให้ กลต. ของสหรัฐประกาศเป็นทางการ และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกเปลี่ยนมาใช้ตำแหน่งที่ดู “ไม่เป็นทางการ” และเป็นแนว “เด็กขี้เล่น” ที่ไม่จริงจังเมื่อเทียบกับธุรกิจที่กำลัง “เปลี่ยนโลกและท้าทายจักรวาล” อย่างไรก็ตาม งานของมัสก์และ CFO ในบริษัทก็คงยังเป็นอย่างเดิม สิ่งที่เขาทำนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องของการ “ส่งสัญญาณ” หลาย ๆ อย่างที่เป็นประโยชน์กับบริษัทและกิจการไม่น้อยใน “โลกยุคใหม่” ของ “บริษัทยุคใหม่”
ประเด็นแรกก็คือ นี่เป็นการบอกว่าบริษัทเลิกยึดติดกับ “ชนชั้น” หรือระบบที่มีตำแหน่งเป็นขั้น ๆ ที่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยรายงานต่อผู้ที่เป็นหัวหน้าที่มีตำแหน่งสูงกว่าอย่างที่เป็นในระบบโครงสร้างการบริหารงานของบริษัทยุคก่อนและยุคปัจจุบันอีกมาก โครงสร้างการบริหารงานของบริษัทยุคใหม่ที่ต้องการความรวดเร็วในการคิดและตัดสินใจนั้น จะต้อง “แบนราบ” และไม่ถูก “กรอง” โดยคนที่อาจจะอยู่มานานและไต่เต้าจากการทำงานมายาวนานแต่อาจจะไม่ได้มีความสามารถหรือความเข้าใจในสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่โดยเฉพาะจากเทคโนโลยีหรือความคิดหรือกระบวนการใหม่ ๆ ทางการตลาดและการเงิน เป็นต้น
ผมเองยังจำได้ถึงการทำงานในองค์กร “รุ่นเก่า” ที่มักจะเริ่มตั้งแต่ระดับ “เจ้าหน้าที่” ที่มักมีคนทำงานหลักจริง ๆ 3-4 คนที่จะต้องส่งงานให้กับ “หัวหน้าหน่วย” ซึ่งจะต้อง “แทงเรื่อง” ต่อให้ “หัวหน้าส่วน” ซึ่งจะต้องแทงเรื่องต่อให้ “รองผู้จัดการฝ่าย” ซึ่งก็ต้องแทงต่อให้กับ “ผู้จัดการฝ่าย” และก็ต้องผ่านไปถึงผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่หรือรองผู้จัดการใหญ่ก่อนที่จะ “นำเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ด” ซึ่งใช้เวลายาวนานมากและหลายครั้งก็เกิดการ “สะดุด” ที่ระดับใดระดับหนึ่ง แค่นั้นยังไม่พอ ตำแหน่งที่เดิม “ไม่มีอะไรต่อท้าย” ก็มักจะต้องเพิ่มคำว่า “อาวุโส” เข้าไปด้วย เพราะคนที่อยู่มานานนั้น ไม่มีตำแหน่งว่างที่จะขึ้นต่อไป วิธีขององค์กรที่จะทำให้คนรู้สึกว่ามีความก้าวหน้าก็คือ เพิ่มคำว่าอาวุโสเข้าไปในตำแหน่งเดิมโดยที่งานที่ทำก็เหมือนเดิม โดยระบบโครงสร้างแบบนี้ ธุรกิจก็จะมีความอุ้ยอ้ายใช้คนทำงานมากแต่ได้เนื้องานน้อยและไม่มีประสิทธิผลในโลกที่ความเร็วคือหัวใจสำคัญในการแข่งขันทางธุรกิจ
ประเด็นที่สองก็คือ เป็นการส่งสัญญาณว่าบริษัทนี้ หัวใจก็คือ เทคโนโลยี บริษัทอยู่ได้ก็เพราะเทคโนโลยี โดยมีอีลอนมัสก์เป็นผู้นำ เป็นผู้บุกเบิกในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าและการขับเคลื่อนด้วยตนเองโดยไม่ต้องอาศัยคนขับซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีสูงมาก ซึ่งนั่นก็รวมถึงเรื่องของสเปซเอ็กซ์ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างยิ่งยวด แน่นอนว่าบริษัทต้องมี “ความคิดสร้างสรรค์” สูงมากด้วย แต่สำหรับสองบริษัทนี้อาจจะแตกต่างจากธุรกิจ “ดิจิตอล” หลาย ๆ แห่งที่อาจจะใช้เทคโนโลยีน้อยกว่าแต่อาศัยความคิดสร้างสรรค์มากกว่า ตัวอย่างก็เช่น แอปต่าง ๆ เช่นติ๊กต็อกที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่ยุ่งยากอะไรเมื่อเทียบกับความคิดสร้างสรรค์ว่าจะทำอะไรและทำอย่างไรที่จะทำให้คนอยากใช้
ประการที่สามนั้นเป็นเรื่องของ “การตลาด” เพราะเทสลานั้น ที่รถขายได้ดีมากส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะมันมีสมรรถนะและคุณภาพที่ดีมาก ก่อนที่บริษัทจะเริ่มมีกำไรและราคาหุ้นขึ้นไปสูงสุดยอดนั้น รถก็ได้รับการจัดอันดับจากผู้บริโภคว่าวิ่งได้ยอดเยี่ยมและมีปัญหา “น้อยที่สุด” และผู้ใช้มีความพึงพอใจสูงสุดติดต่อกันหลายปี ครั้งหนึ่งผมเคยไปดูรถเทสลาที่โชว์อยู่ในห้างดังของอังกฤษก็พบว่ามันดู “ไฮเท็ก” และรูปลักษณ์ภายนอกดูเป็น “รถแห่งอนาคต” มาก ๆ ทั้งตัวรถและหน้าปัด และยิ่งคิดว่าในอนาคตหรือแม้แต่ปัจจุบันที่ผมยังไม่ค่อยแน่ใจว่าระบบขับเคลื่อนด้วยตนเองทำงานแค่ไหนแล้ว แต่ในใจก็คิดว่า วันหนึ่งเราและครอบครัวอาจจะได้ใช้รถแบบนี้และก็คงจะมีความสุขมากเพราะคนที่สูงอายุขึ้นอย่างผม วันหนึ่งก็ไม่อยากจะขับรถเองแล้ว แม้แต่ลูกหลานที่เป็นคนรุ่นใหม่เองเดี๋ยวนี้ก็ไม่ต้องการหรือไม่อยากขับรถกันแล้ว พูดง่าย ๆ ถ้าวันไหนประเทศไทยพร้อม ผมเองก็อยากจะใช้รถเทสลา
การเปลี่ยนชื่อตำแหน่งของ CEO นั้น ผมไม่รู้ว่าจะไปกระทบกับต่ำแหน่งอื่น ๆ ในบริษัทเทสลาหรือไม่แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น เป็นไปได้ว่าการจัดองค์กรคงจะเปลี่ยนแปลงไปในทำนองเดียวกัน และถ้าเป็นอย่างนั้น ก็จะช่วยแก้ปัญหาทางด้าน “การเมืองในองค์กร” ไปได้มาก นั่นก็คือ คนจะเลิกสนใจว่าใครจะได้โปรโมตตำแหน่งที่ “ใหญ่ขึ้น” คนจะไม่รู้สึกอิจฉาคนอื่นหรือรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม การวิ่งเต้นเพื่อขอตำแหน่งก็น่าจะลดน้อยลงมาก คนจะเน้นในเรื่องของผลงานในสายงานที่ตนเองถนัด ความก้าวหน้าหรือเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นนั้นจะขึ้นอยู่กับผลงานเป็นหลัก ซึ่งนั่นก็จะรวมถึงความคิดสร้างสรรค์ที่จะเป็นตัวชี้ว่าใครมีมากกว่าใคร เพราะในระบบที่องค์กรไม่แคร์เรื่องตำแหน่งและคนไม่ต้องรายงานต่อคนที่ตำแหน่งสูงกว่าอย่างไม่จำเป็น คนก็จะคิดอยากทำอะไรใหม่ ๆ มากขึ้นแทนที่จะคิดถึงการเล่นพวกเล่นพ้องและแสวงหาตำแหน่งที่สูงขึ้น
สิ่งที่อีลอนมัสก์ทำในวันนี้นั้น แท้ที่จริงมีบริษัทขนาดเล็กในอเมริกาทำกันมาน่าจะสักพักหนึ่งแล้ว ตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตหมอนแห่งหนึ่ง เจ้าของเปลี่ยนชื่อตำแหน่งให้ตัวเองเป็น “Chief pillow officer” หรือ “ประธานเจ้าหน้าที่หมอน” บริษัทขายของเล่นเด็กแห่งหนึ่งได้เปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Patch Product เป็น PlayMonster และเปลี่ยนตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดเป็น “Chief Play Monster” ตั้งแต่ปี 2016 นอกจากนั้นยังอนุญาตให้พนักงานแต่ละคนคิดตั้งชื่อตำแหน่งของตนเองใหม่ ซึ่งฝ่ายการตลาดเดิมก็ตั้งชื่อว่า “Chief Fun Monster” เป็นต้น นอกจากการตั้งอย่างเป็นทางการซึ่งจริง ๆ แล้วก็อาจจะยังมีไม่มากนัก ผู้บริหารหรือบริษัทส่วนใหญ่มักจะตั้งชื่ออย่างไม่เป็นทางการซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนชื่อตัวเองเพื่อใช้ในสื่อสังคมเช่นทวิตเตอร์ด้วย ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารหญิงฝ่ายการตลาดของบริษัทขายรองเท้ากีฬาแห่งหนึ่งตั้งชื่อตัวเองเป็น “King of Sneakers” เพื่อให้รู้สึกว่าเป็นผู้ชายเหมือนกับลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัท
อดีตนายกของไทยทักษิณ ชินวัตร ตั้งชื่อตนเองในแอ็ป Clubhouse ว่า “Tony Woodsome” อาจจะเพื่อที่จะบอกว่าการพูดคุยไม่เกี่ยวกับการเมือง หลายปีมาแล้วนักธุรกิจขายรถเบนซ์ชื่อดัง วสันต์ โพธิพิมพานนท์ เปลี่ยนนามสกุลเป็น “เบนซ์ทองหล่อ” เพื่อบอกให้ชัดเจนว่าถ้าอยากจะซื้อรถเบนซ์จะต้องซื้อกับคุณวสันต์ที่ซอยทองหล่อ ผมเอง หลังจากที่เลิกทำงานประจำมานานแต่ก็ยังพบปะและต้องเป็นวิทยากรร่วมกับคนที่ยังมีงานและมีตำแหน่งใหญ่โต เป็น “Chief..” หรือประธานเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ เวลาถูกถามว่าตำแหน่งอะไรผมก็จะบอกว่าผมเป็น “Chief Washing Officer” หรือ “ประธานเจ้าหน้าที่ซักล้าง” เพราะต้องล้างถ้วยชามของบ้านหลังอาหาร ผมเองคิดว่ากระแสการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งหรือชื่อตัวทั้งหมดนี้ก็ยังคงไม่มาถึงไทยในเร็ววันโดยเฉพาะในบริษัทขนาดใหญ่ สังคมไทยดูเหมือนจะยังไม่พร้อมกับเรื่องใหม่ ๆ ที่ “ดูเป็นเด็ก ๆ” แบบนี้ เรากำลังเป็น “สังคมคนแก่”
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2021/03/29/2485