Super Japan

ผมเพิ่งกลับจากการท่องเที่ยวกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ก่อน นั่นเป็นการเยือนญี่ปุ่นครั้งที่เท่าไรก็จำไม่ได้ รู้แต่ว่าผมคงไปญี่ปุ่นอีกหลาย ๆ ครั้งเพราะสมาชิกที่บ้านชอบไปมาก เหตุผลนั้นรวมถึงการที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่น่าอยู่น่าเที่ยว มีภูมิอากาศที่เหมาะสมและมีสาธารณูปโภคที่ยอดเยี่ยม มีสถานที่ที่น่าสนใจจำนวนมาก มีอาหารที่อร่อย มีประชาชนที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างดี มีความปลอดภัยเป็นเลิศ พูดโดยรวมแล้วผมคิดว่าเป็นประเทศที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งในเรื่องของการท่องเที่ยวโดยเฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้สมบุกสมบันหรือรักการการผจญภัยซึ่งรวมถึงเด็กเล็กและคนชรา และนั่นก็เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวผมชอบเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นเช่นเดียวกับคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ย้อนหลังประมาณน่าจะ 20 ปีขึ้นไป ญี่ปุ่นเคยเป็นชาติที่เติบโตก้าวหน้ามากโดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยี ในช่วงนั้นคนมองว่าญี่ปุ่นจะก้าวขึ้นเป็น “ผู้นำโลก” ในด้านของนวัตกรรมและเศรษฐกิจและเหนือกว่าสหรัฐอเมริกา สิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงคุณภาพการผลิตที่ดีเยี่ยมในช่วงนั้นล้วนมาจากญี่ปุ่นซึ่งรวมถึงวิทยุและเครื่องเล่นวอล์คแมนที่คนพกติดตัวเพื่อฟังดนตรี บริษัทชั้นนำเช่นโซนี พานาโซนิคและโตโยต้ากลายเป็นบริษัทที่ถูกกล่าวขวัญไปทั่วโลกและคนต่างอยากใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัท แนวความคิดเกี่ยวกับการบริหารที่ก้าวหน้ารวมถึงระบบ “Just in time” ถูกนำไปใช้และสอนในการศึกษาอบรมของผู้บริหารทั่วโลก ในด้านของเศรษฐกิจเองนั้น คนญี่ปุ่นมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าคนอเมริกัน ราคาทรัพย์สินโดยเฉพาะที่ดินนั้น มีค่าสูงจนน่าตกใจ มูลค่าที่ดินในโตเกียวผมจำได้ว่าอาจจะมีค่าสูงกว่าที่ดินในรัฐใหญ่ ๆ ของอเมริกาอย่างแคลิฟอร์เนีย ที่ดินของพระราชวังจักรพรรดิดูเหมือนว่าจะมีค่ามากกว่าเมืองนิวยอร์ค ดัชนีตลาดหุ้นนิเกอิเองนั้นพุ่งขึ้นไปสูง “ทะลุฟ้า” ที่เกือบ 40,000 จุด ในช่วงประมาณปี 1990 นักธุรกิจอเมริกันต่าง “กลัวญี่ปุ่น” โลกเองต่างก็พยายาม “เรียนรู้จากญี่ปุ่น”

หลังจากจุด “Peak” หรือจุดสุดยอดในช่วงประมาณทศวรรษปี 1990 ทุกอย่างในญี่ปุ่นก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือ โลกเปลี่ยนแปลงไปแต่ญี่ปุ่นกลับไม่ได้เปลี่ยนตามโลก นั่นก็คือ โลกเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและอินเตอร์เน็ตซึ่งต้องอาศัยคนรุ่นใหม่ที่มีอายุน้อยมีความคิดสร้างสรรค์สูงมากและไม่ติดอยู่ใน “กรอบ” ของสังคมเดิม แต่ญี่ปุ่นกลับไม่สามารถปรับตัวได้มากนักเนื่องจากวัฒนธรรมของญี่ปุ่นนั้นเน้นที่ความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของสังคมซึ่งทำให้คนไม่ใคร่กล้า “คิดต่าง” และทุกอย่างต้องอาศัยฉันทามติร่วมของคนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายซึ่งส่งผลให้นวัตกรรมต่าง ๆ ถูกผลิตออกมาช้าเกินการณ์ นอกจากนั้น คนญี่ปุ่นเองก็เริ่มแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การเพิ่มคนและผลิตภาพไม่เติบโต ผลก็คือ ญี่ปุ่น “หยุดอยู่กับที่” มาไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นซึ่งเป็น “สัญญาณล่วงหน้า” ที่ดีที่สุดลดลงเหลือต่ำกว่า 10,000 จุด ในช่วงต้นปี 2000 และเพิ่งจะดีขึ้นเป็นประมาณ 23,000 ในเร็ว ๆ นี้

คำถามก็คือ ญี่ปุ่นจะสามารถพลิกฟื้นกลับมาเป็น “ยักษ์” ในเวทีการแข่งขันโลกได้หรือไม่? ประเทศนี้จะค่อย ๆ เป็นเหมือน “ตะวันตกดิน” ที่มีบทบาทน้อยลงไปเรื่อย ๆ เร็วแค่ไหน? หรือถ้าพูดในแบบของนักลงทุน ผมมองญี่ปุ่นว่าจะเป็นหุ้นแนวไหน?

ประการแรก ผมคิดว่าคนญี่ปุ่นเองนั้น เป็นคนที่มีความสามารถวัดจาก IQ ที่สูงและความแตกต่างระหว่างคนเองก็ไม่มาก เหตุผลก็คือ ญี่ปุ่นเป็นประเทศเกาะที่มีคนชาติพันธุ์อื่นเข้าไปผสมผสานน้อย พวกเขาอยู่ในระบบการเมืองขนบธรรมเนียมประเพณีและสังคมที่มีเสถียรภาพมายาวนานซึ่งทำให้คนมีวินัยและมีความคิดร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่ค่อยมีใครทำสิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม คนญี่ปุ่นนั้นจะ “แคร์” ความคิดของคนอื่นในสังคมมาก พวกเขาจะต้องทำตัวให้ดูดีในสายตาของคนอื่น และเกรงว่าจะถูกคนอื่นติเตียนมาก การคิดและทำต่างจากคนอื่นอาจจะถูกมองว่าแปลกแยกและอาจจะทำให้คนอื่นไม่อยากคบค้าซึ่งจะทำให้ความก้าวหน้าช้าลง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้คนญี่ปุ่นนั้นมีคุณภาพเป็นเลิศในทุกด้าน—ยกเว้น ความคิดสร้างสรรค์ที่ค่อนข้าง “หลุดโลก” หรือนอกกรอบสิ่งที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นถ้าจะเป็นผู้นำของ “โลกยุคใหม่”

วินัยและการทำสิ่งที่ดี ๆ ทั้งหลายของคนญี่ปุ่นนั้นต้องบอกว่า “น่าทึ่ง” มากเพราะผมคิดว่าเป็นกันทั้งประเทศและในคนทุกระดับ ในฐานะของนักท่องเที่ยวนั้น คนที่ผมพบเจอและต้องเกี่ยวข้องด้วยเริ่มด้วยแท๊กซี่หรือคนขับอูเบอร์ก็จะให้บริการที่เป็นเลิศ พวกเขาไม่ปฏิเสธผู้โดยสารไม่ว่าเราจะไปที่ไหนหรือใกล้ไกลแค่ไหน เขาจะไม่โกงและบางทีก็ไม่คิดเงินด้วยซ้ำถ้าระยะทางใกล้มาก เวลาเรากินอาหารภัตตาคาร พนักงานเสิร์พมักจะให้บริการแบบเต็มใจและไม่ได้รู้สึกไม่ดีถ้าไม่ได้ทิป ว่าที่จริงญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มีวัฒนธรรมการทิปด้วยซ้ำ ตรงกันข้าม ถ้าเป็นภัตตาคารที่อยู่นอกย่านคนเดิน เวลาเรากินเสร็จ พวกเขาต้องมาส่งเราหน้าร้านและโค้งให้อย่างดี การเสิร์ฟอาหารเองนั้น ผมสังเกตว่าเขามักจะทำอย่างดีและสุภาพ บางคนใช้สองมือถือจานส่งให้เรา ผมคิดว่าพนักงานที่ทำงานเสิร์พอาหารของเขานั้นคงได้รับการอบรมอย่างเป็นระบบและแม้แต่ภัตตาคารเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีเครือข่ายก็มักจะให้บริการได้ดีพอ ๆ กัน

บนถนนหนทางที่เป็นที่ช็อปปิ้งหรือท่องเที่ยวซึ่งรวมถึง “ถนนคนเดิน” นั้น เราจะเห็นที่ทิ้งขยะน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย แต่ถนนจะสะอาดมากเพราะไม่มีใครทิ้งขยะ ถ้าจำเป็นจริง ๆ ก็ต้องเก็บขยะกลับไปทิ้งที่บ้าน ร้านค้าทุกแห่งที่มีห้องน้ำนั้น จะเป็นห้องน้ำที่สะอาดถึงสะอาดมาก ผมแทบไม่เคยเจอห้องน้ำสกปรกเลย และระบบโถส้วมนั้นเป็นระบบออโตเมติกแทบทั้งนั้นซึ่งรวมถึงระบบอุ่นที่นั่งและการฉีดน้ำล้างอัตโนมัติ สถานที่ค้าขายหรือเดินทางทุกแห่งจะมีทางที่รถเข็นปีนขึ้นไปได้หรือไม่ก็ต้องมีลิฟท์ให้ขึ้นไปได้ เช่นเดียวกัน ร้านค้าขนาดใหญ่หน่อยเกือบทุกแห่งก็จะมีห้องให้นมเด็กและเปลี่ยนผ้าอ้อมเนื่องจากคนญี่ปุ่นนั้นเลี้ยงลูกเองและต้องไปไหนมาไหนกับลูกเล็ก สรุปก็คือ ไม่มีคนกลุ่มไหนในญี่ปุ่นถูกละเลยการให้บริการ

คนญี่ปุ่นทุกคนดูเหมือนว่าจะต้องดูแลสถานที่ “ของตน” ให้สะอาดตลอดเวลา เวลาผมไปเที่ยวก็มักได้เห็นคนกำลังทำความสะอาดหน้าร้านหรือหน้าสถานที่ท่องเที่ยว ผมเองรู้สึกทึ่งที่เห็นเขากวาดแม้กระทั่งพื้นดินริมถนนที่มีใบไม้ร่วงหล่นอยู่จนหมด ดังนั้น ผมจึงไม่เคยเห็นเศษกระดาษหรือภาชนะที่ทิ้งเกลื่อนอยู่บนถนนเลย ผมคิดว่าถ้าหน้าร้านหรือหน้าสถานที่ทำงานสกปรก คนอื่นคงตำหนิมากและนี่ก็คงเป็นเหตุผลว่าที่ญี่ปุ่นนั้น แทบทุกแห่งมาตรฐานจะเหมือนกันหมด

ไปเที่ยวนี้ ผมลืมของบนรถแท็กซี่ แต่หลังจากโทรไปบริษัทตามใบเสร็จรับเงิน ภายในเวลาไม่กี่นาทีแท็กซี่ก็เอาของมาคืน ดูเหมือนว่าเขาจะคำนึงถึงความกังวลของเรามากกว่าการเสียเวลาทำมาหากินของเขา อีกครั้งหนึ่ง ผมพบคนแก่ญี่ปุ่นล้มฟาดลงกับพื้นขณะที่ยืนอยู่เฉย ๆ แต่เขาก็ลุกขึ้นยืนได้ค่อนข้างจะทันที แต่หลังจากนั้นประมาณ 10 นาทีก็มีรถพยาบาลช่วยชีวิตมาถึงซึ่งผมเข้าใจว่ามีคนที่อยู่แถวนั้นแจ้งไปที่โรงพยาบาล เขาบอกว่าไม่เป็นไรแต่ก็ต้องเข้าไปนอนในรถประมาณ 10 นาทีเพื่อให้มั่นใจว่าเขาไม่เป็นอะไรแน่ นี่ก็เป็นอะไรที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพและจิตใจที่เอื้ออาทรของคนญี่ปุ่นที่ผมเจอเป็นประจำ

สำหรับผม สังคมและเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นนั้น โดยมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับของโลกแล้ว ต้องถือว่ามีระดับการพัฒนาสูงลิ่วในแทบทุกด้าน ถ้าจะเปรียบเทียบก็อาจพูดได้ว่า เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว “หุ้น” ตัวนี้ก็มีราคาสูงลิ่วเช่นกัน สำหรับคนไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้วก็คงไม่อยากไปเที่ยวเนื่องจากมันแพงมาก แต่เดี๋ยวนี้การเที่ยวญี่ปุ่นดูเหมือนว่าจะ “คุ้มค่า” เพราะค่าใช้จ่ายอย่างเช่นอาหารนั้นก็ไม่แพงกว่าไทยเลย เพราะราคามันอาจจะไม่ขึ้นหรือนิ่งมา 20 ปีเหมือนกัน มองอีกด้านหนึ่ง หุ้นญี่ปุ่นเองก็ตกลงมานานแม้ว่าจะขึ้นมาแล้วเท่าตัวในช่วง 10 ปีหลังนี้ แต่ราคาก็ดูเหมือนว่าจะไม่แพงอย่างสมัยก่อนที่ค่า PE สูงเป็น 50-100 เท่า ดังนั้น ราคาหุ้นตอนนี้ก็อาจจะดูคุ้มค่าได้เหมือนกัน

ตอบคำถามที่ค้างไว้อีกข้อหนึ่งก็คือ ผมคิดว่าญี่ปุ่นนั้นน่าจะเคยเป็นหุ้น Super Stock อยู่ช่วงหนึ่งจนอิ่มตัว และต่อมาดูเหมือนกำลังจะถูก Disrupt โดยเทคโนโลยีดิจิตอล ญี่ปุ่นพยายามต่อสู้แต่ก็ติดขัดเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งแต่ก็ปรับตัวยาก หากทำได้ก็เป็นหุ้นที่น่าสนใจมาก แต่หากทำไม่ได้ อนาคตก็น่าเป็นห่วงโดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงว่าคนรุ่นใหม่เกิดน้อยลงเรื่อย ๆ และคนแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ญี่ปุ่นก็อาจจะกลายเป็นแค่ “ตำนาน” คล้าย ๆ กับหุ้นแนวเทสโก้ของอังกฤษก็เป็นได้

ที่มาบทความ : http://www.thaivi.org/super-japan/

SaveSave