ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องราวต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจของประชาชนทั่วไป รวมถึงการลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ดังที่มีการศึกษาและตีพิมพ์ในวารสารบริหารธุรกิจนิดา เล่มที่2/2550 โดย ดร. ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา ที่สรุปว่าการลงทุนระยะยาวแบบอิงกับข้อมูลพื้นฐานและการลงทุนแบบ VI โดยที่มีการศึกษาข้อมูลอย่างลึกซึ้งและมีการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสมนั้น สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตรงกันข้าม การเก็งกำไรหวังผลระยะสั้นจากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นนั้น ไม่สอดคล้องกับเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ในบทความนี้ผมจะอธิบายและเพิ่มเติมความคิดของผมเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงและการลงทุนแบบ VI ว่ามีความสอดคล้องกันมากน้อยแค่ไหน
หลักการหรือปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถสรุปได้สั้น ๆ ออกมาเป็น “สามห่วง” นั่นก็คือ 1) ต้องมีเหตุผล 2) มีความพอประมาณ และ 3) ต้องมีภูมิคุ้มกัน และทั้งหมดต้องตั้งอยู่บน “สองเงื่อนไข” นั่นก็คือ 1) ต้องมีความรู้ และ 2) ต้องมีคุณธรรม
สำหรับผมแล้ว คนที่จะเป็น VI นั้นจะต้องเป็นคนที่มีเหตุผลอย่าง “ยิ่งยวด” เขาจะไม่เชื่อในสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้หรือเป็นเรื่องเล่าหรือข่าวลือต่าง ๆ รวมถึงความเชื่อที่แพร่หลายและบางทีเป็นที่ยอมรับกันในสังคมวงกว้างแต่ไม่มีข้อพิสูจน์ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องไสยาศาสตร์หรือการทำนายแบบ “หมอดู” VI นั้นจะไม่เชื่ออะไรง่าย ถ้าจะกล่าวอ้างอะไรก็ต้องมีข้อพิสูจน์หรือมีสถิติที่สามารถยืนยันได้ว่ามันมีโอกาสเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ตัวอย่างเช่น ผลตอบแทนการลงทุนระยะยาวที่คาดหวังสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นที่มีผลประกอบการที่ดีนั้นคือประมาณปีละ 10% แบบทบต้น ดังนั้น ถ้าเราจะคาดหวังว่าจะทำผลตอบแทนได้ถึง 20-30% ต่อปีในระยะยาวเป็นสิบ ๆ ปีขึ้นไป แบบนี้ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุผล
หลักการสำคัญเรื่องของความพอประมาณนั้น น่าจะเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับ VI มากที่สุดและเป็นเหมือน “ยี่ห้อ” ที่บ่งบอกความเป็น VI พันธุ์แท้ก็ว่าได้ ความพอประมาณนั้น บางคนอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องของ “ทางสายกลาง” ไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง เช่น ถ้าจะลงทุนก็ลงเฉพาะเท่าที่มีเงินออมอยู่ ไม่กู้มาลงทุนหรือไม่ใช้มาร์จินในการซื้อหุ้น ไม่ซื้อวอแรนต์ ออปชั่น หรือตราสารอนุพันธุ์ที่มีการเก็งกำไรสูงกว่าปกติมากเนื่องจากมัน “ทวีคูณ” ความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ตัวแม่ขึ้นไปหลายเท่า บางคนอาจจะมองว่าการลงทุนหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ก็เป็นเรื่องที่ไม่พอประมาณด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องของความพอประมาณนั้น อาจจะไม่มีมาตรฐานตายตัว คนบางคนที่มีความรู้หรือความสามารถทางการลงทุนสูงอาจจะมองว่าการมีหุ้น 100% นั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกินประมาณโดยเฉพาะถ้าลงทุนระยะยาวเป็นสิบปีขึ้นไป เขาสามารถอ้างสถิติผลตอบแทนระยะยาวของตลาดเป็นเครื่องสนับสนุนได้ เช่นเดียวกัน คนที่เพิ่งจะเริ่มทำงานและมีเงินออมไม่มาก เขาก็อาจจะมองว่าการลงทุนเงินทั้งหมดในหุ้นก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินตัวก็ได้
ความพอประมาณหรือความ “พอเพียง” ที่ผมคิดว่าเป็น “สัญลักษณ์” อย่างหนึ่งของ VI นั้นก็คือในเรื่องของการใช้จ่ายในชีวิต โดยหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงเองนั้นไม่ได้บอกว่าเราจะต้องประหยัดอะไรมากมายนักถ้าเรามีเงินมากพอที่จะใช้ ขอเพียงให้รู้ว่าเราต้องไม่ใช้อะไร “เกินตัว” ที่จะก่อให้เกิดปัญหาทางการเงินหรือทำให้ไม่มีเงินเหลือเก็บบ้างก็น่าจะเพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตาม คนที่เป็น VI พันธุ์แท้ทั้งหลายนั้น มักจะมีการใช้จ่าย “ต่ำกว่ามาตรฐานความมั่งคั่ง” ของพวกเขามาก ยิ่งมั่งคั่งมากเท่าไรก็ยิ่งใช้จ่ายคิดเป็นสัดส่วนน้อยลงเท่านั้น กรณีของบัฟเฟตต์เป็นตัวอย่างที่ดี แต่จริง ๆ แล้ว VI คนอื่น ๆ ก็มักจะมีลักษณะไม่แตกต่างกัน ประเด็นก็คือ VI มักจะเป็นคนที่ “รู้ค่าของเงิน” มากจนทำให้ไม่อยากจะใช้ในสิ่งที่มันไม่งอกเงยและในที่สุดก็เสื่อมสลายไปอย่างเช่นรถยนต์หรือสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่มีราคาแพงแต่ให้ประโยชน์ใช้สอยไม่ต่างกับสิ่งของแบบเดียวกันที่มีราคาถูกกว่า
ห่วงที่สามคือเรื่องของการมีภูมิคุ้มกันนั้น ก็เป็นเรื่องที่ VI ให้ความสำคัญมากนั่นก็คือมันตรงกับแนวความคิดเรื่อง Margin of Safety หรือส่วนเผื่อความปลอดภัย ที่เบน เกรแฮมพูดถึงในหนังสือคลาสสิกของเขา นั่นก็คือ เวลาจะลงทุนทุกครั้งนั้นเราต้องคำนึงถึงโอกาสของความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการคาดการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ดังนั้นเวลาซื้อหลักทรัพย์เราจะต้อง “เผื่อ” ว่า ถ้าทุกอย่างเลวร้ายลง ราคาหุ้นก็จะไม่ตกลงมาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่แท้จริงของมัน และนี่ก็คือการเลือกหุ้นเป็นรายตัว แต่ถ้ามองเป็นพอร์ตโฟลิโอ เราก็ต้องกระจายความเสี่ยงโดยการถือหุ้นหรือหลักทรัพย์หลาย ๆ ตัวในหลาย ๆ อุตสาหกรรมที่จะทำให้ “ภูมิคุ้มกัน” ความมั่งคั่งของเราแข็งแรงพอที่จะต้านภาวะเลวร้ายต่าง ๆ ได้
ทั้งสามห่วงหรือสามประเด็นสำคัญที่กล่าวข้างต้นนั้น เราจะไม่สามารถกำหนดได้เลยถ้าเราไม่มีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องของการลงทุนและประวัติศาสตร์ผลตอบแทนการลงทุนรวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในตลาดไทยและทั่วโลก คนที่เป็น VI นั้นจึงต้องศึกษาและเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ มากมายเพื่อที่จะเข้าใจโลกโดยเฉพาะของการลงทุนอย่างลึกซึ้งและไม่เฉพาะแต่บริษัทหรือหุ้นรายตัวที่จะลงทุน โลกของ VI นั้นจะต้องเป็นโลกที่ “กว้าง” เขาจะต้องเข้าใจเหตุการณ์ต่าง ๆ ทางสังคมและการเมืองเช่นเดียวกับเรื่องของเศรษฐกิจ ถ้าเราศึกษาและติดตามคนอย่าง เบน เกรแฮม ก็จะพบว่าเขานั้นมีความรู้กว้างขวางมากทางด้านศิลปะด้วย วอเร็น บัฟเฟตต์เองนั้นสามารถวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางด้านสังคมและการเมืองได้อย่างลึกซึ้ง VI นั้นอาจจะพูดถึงเรื่องของการลงทุนมากมายแต่สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นมักจะถูกกลั่นกรองมาจากพื้นฐานความรู้ที่หลากหลายที่เขาไม่ได้พูด
เงื่อนไขสุดท้ายที่สำคัญและเป็นสิ่งที่จะกำหนดให้เกิดความสำเร็จในระยะยาวอย่างยั่งยืนจริง ๆ ก็คือเรื่องของคุณธรรมที่ VI จะต้องมีและต้องยึดมั่น วอเร็น บัฟเฟตต์ เองเคยพูดว่า เราต้องการคนที่ฉลาด ขยัน และ ซื่อสัตย์มีคุณธรรม แต่ถ้าไม่มีข้อสุดท้าย เราก็อยากให้เขาโง่และขี้เกียจจะดีกว่า เพราะคนที่ไม่มีความซื่อสัตย์นั้นจะทำให้ทุกอย่างเสียหาย ผมเองคิดว่า ในการลงทุนนั้น VI จะต้องประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบที่ถูกต้อง การพยายามปั่นหุ้น ใช้ข้อมูลภายใน หรือการเอาเปรียบนักลงทุนคนอื่นไม่ว่าทางใดนั้น อาจจะให้ผลตอบแทนที่ดีในบางครั้ง แต่ในระยะยาวแล้ว มันก็คงไม่ทำให้เราดีไปกว่าที่ควรจะเป็นมากนัก แต่ถ้าพลาด หรือมีการทำเป็นนิจสินจนคนขาดความเชื่อถือ ในที่สุดผลร้ายก็จะกลับมาสู่ตนเอง ดังนั้น ผมคิดว่าการมีคุณธรรมนั้นจะเป็นเกราะคุ้มกันที่ VI จะต้องสร้างขึ้นให้แข็งแรงเพื่อที่จะยึดโยงชีวิตของเราทั้งหมดทั้งเรื่องการลงทุนและอื่น ๆ ให้อยู่อย่างมั่นคงตลอดไป
ทั้ง 3 ห่วงและ 2 เงื่อนไข ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ต่างก็มีผลกระทบซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง การขาดแคลนในประเด็นใดประเด็นหนึ่งอาจจะกระทบรุนแรงต่อประเด็นอื่น ๆ ได้ ดังนั้น เราไม่สามารถที่จะทำเพียงบางประเด็นและละเลยเรื่องอื่น บางคนอาจจะทำทุกเรื่องได้ดีแต่พลาดเรื่องภูมิคุ้มกัน สุดท้ายเวลามีวิกฤติก็อาจจะล้มละลาย บางคนทำทุกอย่างแต่อาจจะมีความรู้น้อยเกินไปทำให้สิ่งที่ทำนั้นผิดพลาด บางคนเก่งทุกอย่างแต่ย่อหย่อนเรื่องคุณธรรมสุดท้ายกลายเป็น “จำเลย” ทั้งหมดนั้นก็คือตัวอย่างที่จะเตือนให้เราตระหนักว่า หลักการเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จำเป็นที่จะต้องทำอย่าง “บูรณาการ” ต้องทำครบทั้งกระบวนการจึงจะได้ผล เช่นเดียวกับหลักการของ VI ที่ไม่ใช่แค่การเลือกหุ้น แต่เป็นเรื่องของ “ชีวิต” ทั้งหมด
ที่มาบทความ : http://www.thaivi.org/เศรษฐกิจพอเพียงกับ-VI