เทพนิยายในตลาดหุ้น

หุ้นที่มีราคาวิ่งขึ้นหวือหวาร้อนแรงมาก ๆ ในช่วงเวลาอันสั้นนั้น เกือบทั้งหมดต่างก็มักจะมี “Story” หรือเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น ฟังแล้วก็จะรู้สึกประทับใจ คนที่ “ไร้เดียงสา” หรือแม้แต่คนที่คิดว่ามีประสบการณ์มาเพียงพอก็อาจจะยัง “เคลิ้ม” จนต้อง “เสพ” หรือดื่มด่ำกับเรื่องราวดังกล่าวและคิดว่ามันเป็นเรื่องจริง เป็นความฝันที่จะกลายมาเป็นความจริงและชีวิตของตนก็จะมีแต่ความสุข แต่สำหรับผมเองแล้ว ประสบการณ์ที่พานพบมาต่อเนื่องยาวนานบอกผมว่า เรื่องราวความเป็นจริงที่ตามมานั้น ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เป็นไปตามสตอรี่ที่สร้างหรือวาดภาพขึ้นมา มันเป็นแค่ “Fairy Tale” หรือ “เทพนิยาย” ในตลาดหุ้นที่มีการเขียนขึ้นมาอย่างดีสุดยอดที่ทำให้คนอ่านเกิด “จินตนาการ” หรือ “ฝันไป” กับเรื่องราว “สุดวิเศษ” เหล่านั้นชั่วขณะ อาจจะคล้าย ๆ กับผู้หญิงจำนวนมากที่อ่านเทพนิยายเรื่องซินเดอร์เรลล่าแล้วฝันว่าตนเองจะเป็นเหมือนซินเดอร์เรลล่าที่จะได้แต่งงานกับเจ้าชายทั้ง ๆ ที่ในชีวิตจริงนั้นแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย ลองมาดูกันว่าในช่วงเร็ว ๆ นี้เรามี “เทพนิยาย” เรื่องอะไรบ้าง

เทพนิยายเรื่องแรกและน่าจะเป็นเรื่องที่สร้างจินตนาการได้สุดยอดมีคนติดตามกันมากและเคลิบเคลิ้มไปทั้งตลาดก็คือการที่หุ้นขนาดเล็ก-กลางที่อยู่ในกลุ่มผู้บริโภคที่มียี่ห้อโดดเด่นหรือมีแนวทางการขายแบบใหม่และพุ่งเป้าสู่ “ตลาดโลก” หรือนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเติบโตแบบก้าวกระโดดและอาจจะกลายเป็น “ผู้เล่นระดับโลก” ดังนั้น ราคาหุ้นก็สามารถวิ่งขึ้นไปได้เป็นหลาย ๆ เท่าหรือเป็นสิบเท่าได้ในระยะเวลาไม่กี่ปี Market Cap. ระดับแสนล้านบาทก็ไม่ถือว่าแพง

ความเป็นจริงก็คือ หลังจากการเติบโตอย่างรวดเร็วไม่เกิน 2-3 ปี กำไรก็เริ่มสะดุด แผนการหรือโครงการที่จะขยายธุรกิจประสบอุปสรรคไม่เป็นไปตามคาด กำไรถดถอยลงเนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่พูดไว้ถูกดัดแปลงหรือปรับใหม่ บางกรณี “สตอรี่ใหม่” ก็ตามมา แต่ความน่าเชื่อถือก็หมดไป ราคาหุ้นตกลงมาอย่างหนักเหลือเท่ากับราคาก่อนที่จะขึ้นไปหรือต่ำกว่า หลายคน “ตื่นจากความฝัน”

เทพนิยายต่อมาเป็นเรื่อง “ความฝันแห่งภาคตะวันออก” หรือเขตเศรษฐกิจ EEC ของรัฐบาล ว่ามันจะทำให้เกิดการลงทุนและการใช้พื้นที่โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในภูมิภาคตะวันออกหลายจังหวัดในระยะเวลาอันสั้นไม่กี่ปี ความเป็นจริงดูเหมือนว่าจะมาช้ากว่าที่คิดมากหรือบางทีมันอาจจะไม่มาเลยก็ได้โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึง Supply หรือคู่แข่งทั้งเก่าและใหม่ที่อาจจะเริ่มสร้างกำลังการผลิตหรือนิคมอุตสาหกรรมเพิ่ม ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ EEC บางตัวก็มีการปรับขึ้นไปบ้างในตอนแรก ๆ ของการรณรงค์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ดูเหมือนว่าหุ้นในกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จาก EEC แทบจะไม่ไปไหน จำนวนมากตกลงมาด้วยซ้ำ ถ้าจะพูดไป เทพนิยายเรื่องนี้ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นที่นิยมมากเท่าที่คิดตั้งแต่แรก ๆ ด้วยซ้ำ

เรื่องของการสร้างสาธารณูปโภคของรัฐนั้นน่าจะเป็น Fairy Tale มานานพอสมควร “เราจะมีโครงการใหม่ ๆ เป็นแสน ๆ ล้านบาท” รถไฟ สนามบิน ท่าเรือ รถไฟฟ้าในเมืองและระหว่างเมือง เป็นต้น ดังนั้นธุรกิจเช่นรับเหมาก่อสร้างและโครงการที่เกี่ยวข้องจะได้ประโยชน์มหาศาล อย่างไรเสียรับเหมารายใหญ่ ๆ ก็จะต้องได้งานมากมายจนทำไม่ไหวและจะได้กำไรดีเพราะงานมากไม่ต้องแข่งขันด้านราคามาก ในช่วงแรกก็ดูเหมือนว่าหุ้นบางบริษัทก็ปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม เวลาผ่านไปโดยที่โครงการเกิดช้ากว่าที่คิด เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ บริษัทรับเหมาจากต่างชาติเข้ามาแข่ง งานในมือที่คิดว่าจะมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้นกลับน้อยลง ราคาหุ้นตกต่ำลง และคนที่เคยเล่านิทานเรื่องนี้ก็หายหน้าจากไป

เรื่องของเมกาเทรนด์นั้นก็น่าจะเป็น “เทพนิยาย” เหมือนกัน เช่น คนไทยแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพโดยเฉพาะโรงพยาบาลจะได้ประโยชน์ ดังนั้น หุ้นของโรงพยาบาลทุกรูปแบบรวมถึงที่เกี่ยวกับฟันก็วิ่งขึ้นไปหรือมีคนสนใจเข้าไปลงทุนกันมาก ค่า PE ดูเหมือนจะสูงลิ่วระดับ 30-40 เท่าขึ้นไปกันเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อเวลาผ่านมาจนถึงวันนี้ดูเหมือนว่าการเติบโตของยอดขายและกำไรของโรงพยาบาลก็ไม่ได้ดูโดดเด่น โรงพยาบาลที่เคยเป็นสุดยอดและแข่งขันได้ในระดับสากลมีลูกค้าต่างชาติจำนวนมากกลับไม่เติบโตหรือโตน้อย คำแก้ตัวนั้นมีหลายอย่างรวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลท้องถิ่นเองก็ไม่ได้ดูดีอะไรนักในแง่ของผลประกอบการ อย่างมากที่เห็นก็คือ โรงพยาบาลก็โตพอ ๆ กับเศรษฐกิจหรือดีกว่าก็เพียงเล็กน้อย หุ้นโรงพยาบาลที่เคยร้อนแรงตอนนี้ก็นิ่งหรือบางตัวก็ลงมาแรงพอสมควร

โรงแรมที่เคยเป็นหุ้นกลุ่มยอดนิยมเหมือนกันเนื่องจากมันก็อยู่ใน “เมกาเทรนด์” หลังจากที่คนจีนเริ่มออกมาเที่ยวต่างประเทศโดยเฉพาะเมืองไทยเมื่อซัก 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเองก็ดูเหมือนว่าจะโดดเด่นขึ้นกลายเป็นประเทศหรือเมืองที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกในระดับสูง “เทพนิยาย” เรื่องการท่องเที่ยวและโรงแรมถูกแต่งขึ้นและนักลงทุนต่างก็เคลิบเคลิ้มว่ามันคือธุรกิจที่สุดยอดและจะเติบโตไปอีกมาก หุ้นโรงแรมวิ่งขึ้นไปแรงและสูงมาก บางตัวกลายเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” ที่มีมูลค่าตลาดของหุ้นมหาศาล แต่ดูเหมือนว่าการเติบโตที่รวดเร็วนั้นก็ชะลอลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ น่าจะมีโรงแรมใหม่ ๆ เปิดขึ้นมากไม่ต้องพูดถึง “ที่พัก” จากแอร์บีเอ็นบีและอพาร์ตเม้นต์ที่เพิ่มขึ้นมาไม่หยุดหย่อนที่ทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนไม่ได้โตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

หุ้นกลุ่มผู้ขายสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศในยามที่เศรษฐกิจค่อนข้างซบเซาเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงในช่วงนี้ต่างก็ได้รับการแนะนำว่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและดังนั้นก็เป็นหุ้นกลุ่มที่ควรซื้อลงทุน แต่นี่ก็น่าจะเป็นเทพนิยายอีกเช่นกัน เพราะตัวเลขยอดขายของบริษัทจดทะเบียนกลุ่มค้าปลีกแทบจะไม่เติบโตเลย เหตุผลก็ชัดเจน ตัวเลขเม็ดเงินที่ใช้นั้นเทียบไม่ได้กับตัวเลขรวมของการใช้จ่ายปกติที่เป็นอยู่

Fairy Tale ไม่ใช่มีเฉพาะตลาดหุ้นไทย ในตลาดหุ้นอเมริกาเองนั้นก็มี และที่เล่ากันเป็นประจำทุกครั้งที่ตลาดร้อนแรงและบริษัทจดทะเบียนขยายตัวโดยการเข้าควบรวมกิจการบริษัทอื่น ๆ เป็นจำนวนมากเพราะคาดหวังว่าจะทำให้บริษัทเติบโตและมีกำไรเพิ่มขึ้นรวดเร็ว แต่ “เทพนิยาย” เรื่องนี้ก็มักไม่เป็นจริง เพราะหลังจากนั้น ธุรกิจที่ซื้อมาก็มักจะ “เน่า” ผู้บริหารที่เข้ามาใหม่ก็ต้องขายกิจการทิ้ง ซึ่งทำให้วอเร็น บัฟเฟตต์ พูดเปรียบเปรยว่ามันเหมือนเทพนิยายเรื่อง “เจ้าชายกบ” ที่เป็นเรื่องของเจ้าหญิงที่จูบเจ้าชายที่ถูกแม่มดสาบให้เป็นกบแล้วเจ้าชายก็ฟื้นกลับขึ้นมา บัฟเฟตตบอกว่าเจ้าหญิงก็คล้ายกับผู้บริหารที่คิดว่าตนเองสามารถมองหากบหรือกิจการเน่าที่ถูกสาบแล้วฟื้นมันขึ้นมาได้ แต่ในชีวิตจริง มันไม่มี จูบกบกี่ตัวมันก็ยังเป็นกบอยู่นั่นเองไม่เป็นเจ้าชายอย่างที่หวัง

ในตลาดหุ้นไทยเองนั้น หุ้นกลุ่มที่ถูกอ้างว่าเป็น “หุ้นโตเร็ว” ที่มักเป็นกลุ่มที่มีรายได้และกำไรโตเร็วในช่วงเร็ว ๆ นี้ ก็มักเป็น “เทพนิยาย” ที่เป็นเรื่องของจินตนาการ เพราะมันมักจะโตเร็วเฉพาะในช่วงเวลานั้นและเกิดขึ้นเพราะสถานการณ์เอื้ออำนวย ไม่ใช่เรื่องของการโตจากพื้นฐานของบริษัทและเมกาเทรนด์ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป การเติบโตเร็วก็หยุดลง กลายเป็นเติบโตธรรมดาหรือโตช้า บางบริษัทลดลงด้วยซ้ำ ดังนั้น ราคาของหุ้นที่วิ่งขึ้นไปมากเพราะคนฟังนิยายเชื่อและแห่กันมาซื้อก็จะตกลงมาอย่างแรงเหมือนกับนางฟ้าตกสวรรค์เพราะคนต่างก็แห่ขายหุ้นทิ้ง

ในฐานะที่เป็น Value Investor การฟังเรื่องราวต่าง ๆ ของบริษัทจดทะเบียนหรือเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในตลาดหุ้น เราจะต้องระมัดระวังว่ามันเป็นเรื่องที่มีความเป็นจริงสูงหรือเป็น “เทพนิยาย” ที่มีเนื้อเรื่องน่าประทับใจแต่เป็นเรื่องของจินตนาการที่มีโอกาสเป็นไปได้น้อย เพราะถ้าเราวิเคราะห์ผิด โอกาสที่จะเสียหายก็จะสูง

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ที่มาบทความ: https://portal.settrade.com/blog/nivate/2019/12/02/2245

TSF2024