จับผิดหุ้น

ก่อนที่จะเข้าไปวิเคราะห์หุ้นที่จะลงทุน  สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะทำก่อนเพื่อเป็นการประหยัดเวลาและไม่ทำให้ “หลงผิด” ไปกับหุ้นก็คือ  การตรวจสอบว่าบริษัทและตัวหุ้นนั้นมีอะไรที่ “ผิดปกติ”  หรือไม่?  โดยที่ความผิดปกตินั้น  อาจจะเป็นได้ทั้งการที่บริษัททำได้ดีกว่าปกติหรือแย่กว่าปกติเมื่อเปรียบเทียบกับสถานะของบริษัทหรือ “ธรรมชาติ” ของอุตสาหกรรม  หรือไม่ก็เป็นการผิดปกติในด้านของราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นที่อาจจะมากเกินกว่าขนาดของ Market Cap.  หรือเป็นเรื่องของมูลค่าของหุ้นที่อาจจะใหญ่โตจน “เป็นไปไม่ได้” เป็นต้น   และถ้าจะว่าไปแล้ว  อะไรก็ตามที่ผมรู้สึกว่า “ผิดปกติ”  ผมก็จะเก็บความคิดนั้นไว้เพื่อเป็นเครื่องเตือนตัวเองว่า  เราอาจจะมีโอกาสวิเคราะห์หุ้นตัวนั้นผิดได้  เราจะต้องระมัดระวังมากขึ้น

การ  “จับผิด” ตัวหุ้นที่เห็นได้ง่ายและชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดวันต่อวัน  หุ้นตัวไหนที่มีปริมาณการซื้อขาย “มากกว่าปกติมาก” นั้นน่าจะวัดจากปริมาณการซื้อขายหุ้นเทียบกับ Market Cap. ของหุ้นของบริษัท  โดยทั่วไป  ผมคิดว่าหุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายต่อวันสูงกว่า 1% ก็น่าจะถือว่าเป็นหุ้นที่มีการ “เก็งกำไร” สูง  ซึ่งหมายถึงว่ามีคนเล่นหุ้นตัวนั้นมาก  คือซื้อหุ้นมาเพื่อที่จะขายต่อทำกำไรอย่างรวดเร็ว  พวกเขาคงไม่ได้คิดถึงเรื่องของพื้นฐานของกิจการนักแต่มักเน้นที่ข่าวหรือ “สตอรี่” ของบริษัทที่มักจะไม่ค่อยจริงหรือเป็นไปได้ยาก  ดังนั้น  เวลาเราวิเคราะห์หุ้นเหล่านี้  เราอาจจะต้องระวังว่า  ราคาหุ้นอาจจะสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานถ้าเรื่องราวต่าง ๆ  นั้นมีโอกาสที่จะไม่เกิดขึ้นหรือไม่สำเร็จสูง  อย่างไรก็ตาม  ตัวเลขปริมาณการซื้อขายหุ้นนี้ก็คงต้องมีการประเมินว่ามันสูงเกิน 1% ไปมากน้อยแค่ไหน  เช่นเดียวกัน  เราต้องดูว่าปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาดของหุ้นตัวนั้นเป็นอย่างไร  เพราะถ้าหุ้นหมุนเวียนนั้นมีน้อยเช่น  มีแค่ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์  อัตราการซื้อขาย 1% ก็จะยิ่งดูสูงขึ้น  แต่ถ้าหุ้นหมุนเวียนสูง  อัตรา 1% ต่อวันก็อาจจะยอมรับได้

การจับผิดในด้านของราคาหุ้นนั้น  สิ่งที่ผมจะดูก็คือ “ความผันผวนของราคาหุ้น”  โดยเฉพาะที่  “ร้อนแรง” มาก ๆ  นั้น  ราคาที่ปรับตัวขึ้นหรือลงมักจะสูงกว่าปกติมาก  บางวันกระโดดขึ้น 3-5% โดยที่ไม่มีเรื่องราวอะไรเลยหรือมีแต่ข่าวที่ไม่ได้น่าตื่นเต้นในด้านของพื้นฐาน  ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารหรือ “แหล่งข่าว”  คาดว่ากำไรไตรมาสนี้จะ “โต” เป็นต้น  อาการของราคาหุ้นที่ดีดตัวขึ้นแรงเป็นนิจสินนั้น  สิ่งที่ผมกังวลก็คือ  มันอาจจะเป็นหุ้นที่ถูก  “Corner”  หรือหุ้นที่ผู้บริหารและ/หรือนักลงทุนรายใหญ่ได้ซื้อหุ้นจนเหลืออยู่ในมือของนักลงทุนรายย่อยน้อยมากจนทำให้เมื่อมีคนเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มอีก  ราคาก็จะ “กระโดด” ขึ้นไปแรงมาก  ในสถานการณ์แบบนี้  ราคาหุ้นก็มักจะ “อยู่ในการควบคุม”  ของคนบางคนหรือบางกลุ่มได้

สุดท้ายในเรื่องของราคาหุ้นก็คือ  ผมมักจะดู Market Cap. ของหุ้นก่อนที่จะเริ่มเข้าไปวิเคราะห์  เพราะมูลค่าตลาดของหุ้นนั้นมันบ่งบอกถึง  “ขนาด”  ของกิจการว่ามันใหญ่แค่ไหน  ซึ่งผมก็มักจะดูว่ามันอยู่ในอุตสาหกรรมอะไร  คู่แข่งที่มีขนาดใหญ่มี Market Cap. เท่าไรเทียบกับขนาดของบริษัท  ถ้าพบว่าบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใหญ่โตนักหรือยอดขายของบริษัทก็ไม่ได้สูงมากแต่มูลค่าหุ้นของบริษัทในขณะนั้นสูง “เป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท”  ผมก็จะต้องระวังมากเวลาวิเคราะห์  หรือไม่ก็เลิกดูหรือเลิกสนใจไปเลย  เพราะโอกาสที่เราจะซื้อหุ้นคงจะมีน้อย  หรือถ้าซื้อก็มีโอกาส “ผิดอย่างแรง” สูง

การ “จับผิด” ตัวบริษัทเองนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญมาก  สิ่งที่ผมจะดูก็คือยอดขายและกำไรของกิจการ  แต่ที่อาจจะสำคัญยิ่งกว่าก็คือ  “กำไรต่อยอดขาย” หรือ Net Profit Margin  โดยยอดขายนั้นจะเป็นตัวที่บ่งบอกถึงการเจริญเติบโตของธุรกิจว่ามีลูกค้าเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน  แต่ข้อมูลนี้ต้องดูว่ามันเป็นยอดขายจากสินค้าเดิมของบริษัทหรือไม่  การที่ยอดขายเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากการขายสินค้าใหม่ที่บริษัทไปซื้อกิจการอื่นมานั้น  ผมจะไม่ให้ความสำคัญนัก   ต่อจากยอดขายก็เป็นเรื่องของกำไร  ซึ่งเป็นตัวเลขที่สำคัญมาก  แต่นี่ก็จะต้องเป็นกำไรจากยอดขายสินค้าเดิมของบริษัทมากกว่า “กำไรพิเศษ” ที่เกิดขึ้นครั้งเดียว  การเติบโตของกำไรที่โตเป็น 30-50% ต่อปีนั้น  เป็นสิ่งที่ผมเองต้องระวังมาก  เพราะนี่มักจะไม่ใช่กำไรที่จะยั่งยืนและเป็นสิ่งผิดปกติที่ผมกำลังจับ

สุดท้ายก็คือ  กำไรต่อยอดขายที่ผมจะมองดูว่าบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมใดและสินค้าของบริษัทเป็นอะไร  โดยทั่วไป  สินค้าแต่ละอย่างมักจะมีตัวเลขกำไรต่อยอดขายมาตรฐาน  เช่น  การค้าปลีกอาจจะมีกำไรต่อยอดขายประมาณ 3-5%  สินค้าโภคภัณฑ์อาจจะ 2-3% โรงพยาบาลอาจจะ 8-15% สินค้าผู้บริโภคอาจจะ 5-10% อะไรทำนองนี้  ถ้าบริษัทมีมาร์จินที่แตกต่างมาก  ผมก็จะดูเป็นพิเศษ  แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  ผมจะดูข้อมูลย้อนหลังอย่างน้อย 5 ปี ว่าเป็นอย่างไร  ถ้าพบว่ามาร์จินของบริษัทปีล่าสุดนั้นสูงผิดปกติ  ผมก็จะต้องระวังว่ามันอาจจะไม่ยั่งยืน  ปีต่อไปมาร์จินอาจจะลดลงกลับสู่ภาวะปกติได้

การจับผิดที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือการที่ Operation หรือการปฏิบัติการของบริษัทนั้น  “ดีเกินไป”  เช่น  ต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่งอย่างมีนัยสำคัญโดยที่ “แหล่งของประสิทธิภาพ” นั้นไม่ชัดเจน  หรือสามารถขายสินค้าในตลาดใหม่ ๆ ได้ในราคาที่สูงเท่า ๆ  กับหรือสูงกว่าตลาดเดิมโดยที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนทางการตลาดเพิ่ม  นอกจากนั้น  การจับผิดจะต้องดูไปถึงตัวเลขลูกหนี้ที่อาจจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับยอดขายซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าธุรกิจอาจมีปัญหาในการเก็บเงินจากลูกหนี้ได้  เป็นต้น

การจับผิดกลุ่มสุดท้ายที่จะต้องดูก่อนที่จะวิเคราะห์และลงทุนในหุ้นก็คือ  ดูว่าบริษัทมีการทำ  “วิศวกรรมทางการเงิน”  เพื่อเพิ่มมูลค่าของหุ้นหรือไม่  ตัวอย่างก็เช่น  การออกวอแร้นต์จำนวนมาก  การแตกพาร์ของหุ้นโดยไม่สมเหตุผล  การออกหุ้นใหม่แบบ Private Placement ให้กับบุคคลภายนอกในราคาต่ำ  หรืออะไรก็ตามที่ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานของบริษัทแต่มีศักยภาพที่จะ Dilute หรือทำให้ผู้ถือหุ้นต้องถูกแบ่งกำไรออกไปในอนาคต  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้นอกจากอาจจะทำให้มูลค่าหุ้นที่เราเห็นลดลงแล้ว  บางทียังบ่งบอกว่าเจ้าของหรือผู้บริหารพยายามเพิ่มราคาหุ้นหรือความมั่งคั่งให้ตนเองโดยที่ไม่ได้อิงกับพื้นฐานของกิจการเพียงอย่างเดียวด้วย

ถ้าตรวจสอบแล้วยังไม่เห็นว่ามีอะไรผิดปกติ  การวิเคราะห์ของเราก็จะเริ่มขึ้นได้ด้วยความสบายใจว่าอย่างน้อยเราไม่ได้ “ถูกหลอก” หรือถูกทำให้ “หลงเข้าใจผิด”  และมองภาพทุกอย่างสดใสหรือดีกว่าความเป็นจริง  ซึ่งนั่นจะทำให้เราให้มูลค่าของหุ้นสูงกว่าที่ควรเป็นและอาจจะเข้าไปซื้อหุ้นที่แพงเกินพื้นฐาน  เพื่อถือลงทุน “ระยะยาว” ซึ่งในที่สุดก็จะขาดทุนหรือไม่ได้กำไรทั้ง ๆ  ที่เราก็อาจจะ “วิเคราะห์อย่างดีแล้ว”

การทำอะไรที่เริ่มต้นด้วยการ  “จับผิด” นั้น  ดูไปแล้วก็เหมือนคนที่  “มองโลกในแง่ร้าย”  และคนที่มองโลกในแง่ร้ายนั้น  คนมักจะคิดว่าไม่น่าจะประสบความสำเร็จได้ดีเท่ากับคนที่ “มองโลกในแง่ดี”  อย่างที่เรามักจะเชื่อในเกือบทุกวงการ  อย่างไรก็ตาม  ในเรื่องของการลงทุนนั้น  ความสำคัญในเรื่องของความสำเร็จซึ่งก็คือการทำกำไรจากหลักทรัพย์นั้นไม่สำคัญเท่ากับการหลีกเลี่ยงความล้มเหลวจากการขาดทุน  ดังนั้น  การหาจุดที่อาจจะทำให้เราเสียหายอย่างหนักได้ตั้งแต่แรกจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง   ชาร์ลี มังเกอร์  เคยกล่าวว่า  เขาอยากรู้ว่าเขาจะตายที่ไหนเพื่อที่ว่าเขาจะได้ไม่ไปที่นั่น  ผมเองตีความว่า  มังเกอร์ บอกให้เราพยายามหลีกเลี่ยง “จุดอันตราย” ของการลงทุนที่อาจจะทำให้เรา  “ตาย” ได้  และการ  “จับผิด” ก็เป็นหนึ่งในวิธีที่จะหลีกเลี่ยงจุดตายนั้น

ที่มาบทความ: http://www.thaivi.org/จับผิดหุ้น/

TSF2024