เทศกาลปั่นหุ้น

ช่วงเร็ว ๆ นี้  โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว  เกิด “กระแสใหม่” ที่ร้อนแรงมากในการลงทุนหรือควรจะเรียกว่า “เล่นหุ้น” มากกว่านั่นก็คือ การที่หุ้นโดยเฉพาะหุ้นตัวเล็กหลาย ๆ  ตัวมีราคาเพิ่มขึ้นมากในเวลาอันสั้น บางวันหุ้นตัวเล็กถึง 4-5 ตัวมีราคาขึ้นไปที่ซิลลิ่งหรือ 30% โดยที่ไม่ได้มีข่าวอะไรพิเศษ  นอกจากนั้น  หุ้นอีกจำนวนไม่น้อยก็วิ่งขึ้นไปมากกว่า 10% ทั้ง ๆ  ที่ก่อนหน้านั้นหุ้นก็ไม่ได้ปรับตัวขึ้นเป็นเรื่องเป็นราว  เกิดอะไรขึ้น?  จริงอยู่  ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นบ้างอานิสงค์จากการที่เศรษฐกิจไทยเริ่มจะฟื้นตัว  ผลประกอบการของบริษัทใหญ่ ๆ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่ประกาศมาก็ดีขึ้นเช่นเดียวกับหุ้นพลังงานที่มีกำไรเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก  แต่นั่นก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทเล็ก ๆ  มากนัก  ดังนั้น  ทำไมอยู่ ๆ  หุ้นเล็กหลาย ๆ  ตัวก็วิ่งขึ้นไปเร็วมากและดูเหมือนว่าหลาย ๆ  ตัวจะวิ่งต่อเนื่องไปหลาย ๆ  วันจนราคาขึ้นไปหลายเท่าตัวภายในเวลาไม่กี่วัน?

คำตอบของผมอยู่ที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้โดยเฉพาะตั้งแต่เริ่มเกิดโควิด-19 ใหม่ ๆ  เมื่อประมาณ 2 ปีมาแล้ว  เริ่มตั้งแต่นักลงทุนส่วนบุคคลจำนวนมาก อาจจะเป็นล้านคน “แห่” กันเข้าตลาดหุ้นเพราะเห็นว่าในภาวะที่ “ยากลำบาก” และไม่รู้จะทำอะไรดีแต่มีเงินสดเหลืออยู่มาก ตลาดหุ้นน่าจะ “ตอบโจทย์” ได้ดีที่สุด  นั่นทำให้ดัชนีตลาดหุ้นที่ย่ำแย่มาหลายปีปรับตัวขึ้นทั้ง ๆ  ที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจตกต่ำลงมาก  แต่หุ้นที่ปรับตัวขึ้นมากกว่าหุ้นกลุ่มอื่นโดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ก็คือ “หุ้นตัวเล็ก” ที่โตขึ้นมาก  บางตัวปรับตัวขึ้นไปหลาย ๆ  เท่าหรือหลายสิบเท่าภายในเวลาปีเดียว  นั่นเป็นเพราะนักลงทุนรุ่นใหม่ที่มีอายุน้อยและส่วนใหญ่ก็ไมได้สนใจในเรื่องของพื้นฐานและมูลค่าของกิจการในการลงทุน  เข้าไปซื้อเพราะเห็นว่าหุ้นวิ่งขึ้นไปได้ง่ายและเร็วกว่าหุ้นตัวใหญ่

แต่หุ้นที่เป็นตัว “จุดชนวน” ให้เกิดกระแสที่ผมอยากจะเรียกว่าการ “ปั่นหุ้น” เพราะทำให้หุ้นมีราคาผิดจากที่ควรจะเป็นมาก  น่าจะเป็นหุ้นของบริษัทที่ผลิตสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในช่วงโควิดเช่น  ถุงมือยางและชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกส์บางอย่าง  ซึ่งหุ้นเหล่านั้นถูกซื้อจนราคาหุ้นขึ้นไปสูงจนไม่น่าเชื่อ  จากหุ้นขนาดกลาง ๆ และไม่ติด 50 อันดับแรกของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์กลายเป็นหุ้นขนาดใหญ่และยักษ์ที่สามารถท้าทายหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศได้  โดยที่เหตุผลนั้น  นอกจากเรื่องของผลประกอบการที่น่าจะดีขึ้นมากแบบ “ชั่วคราว”  แล้ว  ก็คือการที่หุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ในมือของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ไม่ขายแม้ว่าราคาจะขึ้นไปมาก  ทำให้หุ้นที่หมุนเวียนในตลาดมีน้อยกว่าความต้องการซื้อมาก  ส่งผลให้หุ้นถูก “Corner” และทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปแบบ “หลุดโลก”

บทเรียนการ Corner หุ้นที่มี Story หรือมีเรื่องราวว่าจะมีผลประกอบการเติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” นั้น  น่าจะทำให้นักลงทุนรายใหญ่บางคนในตลาดหุ้นไทย หรือรายที่ไม่ได้ใหญ่มากแต่เน้นแนวเก็งกำไรที่มีอยู่มากโดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 สนใจที่จะทำบ้าง เพราะเห็นแล้วว่าสามารถที่จะขับเคลื่อนราคาหุ้นได้มหาศาลแทบจะไม่จำกัด โดยที่กระบวนการและวิธีที่จะเข้าไปทำนั้นก็ดูเหมือนว่าจะไม่ผิดกฎหมายการปั่นหุ้น ดังนั้น  การ Corner หุ้นตัวเล็กก็เกิดขึ้น เพราะนี่เป็นเป้าหมายที่ทำได้ง่าย ใช้เงินไม่มาก และมีโอกาสที่จะดึงดูดนักเล่นหุ้นรายย่อยรวมถึงที่เป็นคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาร่วมได้ง่าย ผลของการทำในช่วงแรกนั้นได้ผลตามคาดหรือต้องบอกว่าเกินคาดมาก หุ้นบางตัวที่ถูก Corner มีราคาหรือมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่เคยเป็นหุ้นตัวเล็กมีมูลค่าหุ้นทั้งบริษัทระดับร้อยหรือพันล้านบาทกลายเป็น “หุ้นแสนล้าน” บาทในเวลาไม่กี่เดือน  คนหรือกลุ่มคนที่เข้าไปทำปฏิบัติการนี้โดยใช้เงินแค่ 10 หรือ 100 ล้านบาท อาจจะกลายเป็นมหาเศรษฐีหุ้นพันหรือหมื่นล้านบาทไปแล้วก็ได้

และนั่นก็นำไปสู่หุ้นตัวต่อ ๆ  ไปและโดยนักเล่นรายใหญ่และ/หรือกลุ่มนักเล่นรายกลาง ๆ อื่น ๆ  ที่เห็นว่าการทำ Corner หุ้นโดยเฉพาะที่เป็นตัวเล็กนั้น “ทำได้ไม่ยาก” และน่าจะได้กำไรมหาศาล ขอให้มีคุณสมบัติที่เอื้ออำนวยให้ประสบความสำเร็จได้ ซึ่งผมคิดว่าอย่างน้อยจะต้องเป็นดังต่อไปนี้

ข้อแรก หุ้นที่หมุนเวียนในตลาดจะต้องมีสัดส่วนน้อย เช่น 25-30% ของหุ้นทั้งหมด และคิดเป็นเม็ดเงินก็ไม่ควรจะมาก  เช่น ไม่เกิน 300 ล้านบาท  จาก Market Cap. 1,000 ล้านบาท ในตอนเริ่มต้น  โดยที่ผู้ถือหุ้นใหญ่นั้นจะไม่ขายแม้ว่าราคาจะขึ้นไปมาก ซึ่งนี่จะต้องมีเหตุผลมั่นใจพอสมควร ในหลายกรณีนั้นก็อาจจะเป็นเพราะมีการตกลงกันก่อนว่าจะไม่ขายอย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่งหรือจนกว่าหุ้นจะขึ้นไปถึงจุดหนึ่ง เป็นต้น การที่เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่จะรักษาสัญญานั้นก็เป็นเพราะตนเองก็จะได้ประโยชน์มหาศาลจากการที่ราคาหุ้นขึ้นไป  ถ้ารีบขายก่อนหุ้นก็อาจจะสะดุดและตกกลับลงมา ดังนั้นเขาจึงไม่ขาย  เผลอ ๆ  ผู้ถือหุ้นใหญ่บางรายอาจจะเป็นคนเริ่มหรือชวนคนอื่นมาเล่นด้วยซ้ำ

ข้อสอง เป็นบริษัทที่อยู่ในธุรกิจหรือผู้บริหารกำลังเริ่มเข้าไปทำธุรกิจ “แห่งอนาคต” ที่จะสามารถทำกำไรแบบ “มโหฬาร” ได้  ไม่ว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนก็ไม่สำคัญ เพราะเรื่องของ “สตอรี่” นั้น คนไม่สนใจเรื่องโอกาสความเป็นไปได้ว่าจะมีกี่เปอร์เซ็นต์ วัตถุประสงค์ก็คือ “หาสตอรี่ให้กับคนที่อยากจะเชื่อ” อยู่แล้ว  ตัวอย่างตอนนี้ก็เช่นเรื่องของการลงทุนซื้อ-ขายหรือการทำเหมืองขุดบิทคอยน์  เป็นต้น  สำหรับประเด็นนี้ ถ้าจะให้มีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นก็คือ บริษัทกำลังมีผลประกอบการดีขึ้นหรือมีฐานะการเงินที่ดีพอที่จะเข้าไปทำภารกิจแห่งอนาคต “ได้อย่างแน่นอน”

ข้อสามก็คือเรื่องของการ Execute หรือการลงมือปฏิบัติ ผมคิดว่าการทำเป็น “กลุ่ม” หรือ “ก๊วน” ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันนั้นจะมีความปลอดภัยที่จะไม่ถูกตรวจสอบจากทางการได้  นั่นหมายถึงว่าเส้นทางเงินจะต้องเป็น “ของใครของมัน” ไม่มีการใช้ Nominee หรือตัวแทนในการซื้อขาย จำนวนสมาชิกก็ต้องมีหลายคนที่ไม่มีอะไรเกี่ยวพันในทางสายเลือดหรือทางกฎหมาย  แม้แต่การซื้อขายนั้น ผมก็คิดว่าต้องไม่ได้สั่งจากคนคนเดียว กล่าวให้ชัดก็คือมันน่าจะเป็น “Conspiracy Theory” คือทุกคนอาจจะมีแค่เป้าหมายที่ตรงกันนั่นคือการทำ Corner หุ้น  ส่วนในทางปฏิบัตินั้น  น่าจะมีความยืดหยุ่นพอสมควรที่จะทำให้ทางการไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการร่วมมือกันทำ  ประเด็นสำคัญผมคิดว่าอยู่ที่ช่วงเริ่มต้น  “จุดพลุ” ให้นักเล่นส่วนบุคคลโดยเฉพาะรายย่อยเข้ามาร่วม  หลังจาก  “จุดติด” คือมีคนเข้ามาสนใจและร่วมเล่นมากพอและหุ้นวิ่งขึ้นไปอย่างแรงและเกิด  “ปฏิกิริยาลูกโซ่” คือมีรายใหม่เข้ามาเล่นต่อกันไปแล้ว  คนเริ่มทำก็อาจจะหยุดและรอทำขั้นต่อไป  นั่นก็คือ

ข้อสุดท้าย  การทำ Maintenance หรือคอยประคองราคาและปริมาณการซื้อขายต่อเนื่องไปเพื่อที่จะค่อย ๆ  “ออกของ” หรือทยอยขายหุ้นในราคาที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้  ในกระบวนการนี้ผมคิดว่าพวกเขาจะต้องคอยติดตามหุ้นอย่างใกล้ชิดแต่จะทำต่อเมื่อพบจังหวะที่การซื้อหรือขายอาจจะไม่สัมพันธ์กันซึ่งอาจจะทำให้ราคาหุ้นตกลงมาแรงจนทำให้คนตกใจและขายตาม  ในช่วงนี้  บ่อยครั้งหุ้นจะค่อย ๆ  ซึมลงและอาจจะทยอยตกลงมาอย่างช้า ๆ  ติดต่อกันหลาย ๆ  วัน  หน้าที่ของคนที่ดูแลหุ้นก็คือ  จะต้อง  “ลากหุ้น”  กลับมาอย่างแรงถึงจุดเดิมหรือใกล้กับจุดเดิมเพื่อที่จะทำให้คนที่ขายไปเสียดาย และทำให้คนที่อยากจะขายก็จะไม่ขายตอนที่หุ้นตก  เพราะคิดว่าถือหุ้นไว้ดีกว่าเพราะเดี๋ยวมันก็จะขึ้นกลับมา อะไรทำนองนี้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ดูแลไม่ให้ “กราฟ” เสีย

ทั้งหมดนั้นก็คือภาพของกระบวนการที่ผมคิดว่าจะเป็น จากการสังเกตพฤติกรรมที่ปรากฏของหุ้นและการรับรู้ว่ายุคนี้มีนักลงทุนประเภทไหนเข้ามาเล่นในตลาดหุ้นบ้าง ประกอบกับการวิเคราะห์จิตวิทยาของมนุษย์ว่าคิดหรือทำอะไรหรืออย่างไรกับการเก็งกำไร  ผมเองก็ไม่ได้มั่นใจว่า “นักปั่นตัวจริง” ทำอย่างนั้นทั้งหมดหรือเปล่า แต่ผมเชื่อว่าหุ้นมีคนปั่นแน่นอน  และผลที่ออกมาก็แน่นอนเพราะประวัติศาสตร์มันฟ้อง

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร หุ้นที่ถูก Corner นั้น ในที่สุด  ซึ่งบางครั้งอาจกินเวลาเป็นปีหรือหลายปีหลังจากที่หุ้นขึ้นไปสูงสุด มักจะตกกลับลงมา อาจจะใกล้เคียงกับราคาเดิมก่อนจะขึ้น ถึงตอนนั้น หุ้นตัวนั้นก็มักจะ หมดอนาคต” หุ้นแน่นิ่งไม่มีคนสนใจไปอีกนาน  คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องต่างก็แยกย้าย  คนที่เป็น เจ้ามือ” หรือคนทำอาจจะรวยไปเลย  แต่คนเล่นส่วนใหญ่ก็มักจะขาดทุน บางคนอาจจะ เจ๊ง” จากหุ้นตัวนั้น  และทุกคนก็จะมองหา หุ้นเป้าหมาย” ตัวใหม่เล่นจนกว่าจะหมด  เทศกาลปั่นหุ้น” ในรอบนี้

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2022/02/21/2637

TSF2024