หุ้นเล็กแสนล้าน

เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว Trinh Van Quyet ประธานบริษัท FLC Group และเจ้าของและผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท Faros Construction ในตลาดหุ้นเวียตนาม วัย 41 ปี ได้กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในตลาดหุ้นเวียตนามด้วยมูลค่าหุ้นรวมกว่า 50,000 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่ค่อยจะมีใครรู้จัก การที่เขากลายเป็นบุคคลที่ “มั่งคั่งที่สุด” ใน “ชั่วข้ามคืน” นั้น เป็นเพราะหุ้นบริษัทก่อสร้าง Faros ที่มีชื่อย่อของหุ้นว่า ROS ที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดเมื่อเดือนกันยายน 2016 มีราคาเพิ่มขึ้น 10 เท่าเป็นประมาณ 170 บาทต่อหุ้นภายในเวลา 3 เดือน หุ้น ROS ยัง “ร้อนแรง” ต่อมาจนถึงวันนี้และมีราคาประมาณ 240 บาทต่อหุ้น Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้น ROS สูงถึงประมาณหนึ่งแสนล้านบาทไทยและมีส่วนที่มีนัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นโฮจิมินเพิ่มขึ้นมากและเป็นจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ด้วย หุ้น ROS ใหญ่โตติดอันดับ 1 ใน 10 หุ้นที่ใหญ่ที่สุดของตลาดและมี Market Cap. ประมาณ 4-5% ของตลาด การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นมีส่วนต่อการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดที่ทุกคนต้องจับตามอง

แต่ใน “โลกของความจริง” ที่อิงอยู่กับพื้นฐานทางธุรกิจนั้น หุ้น ROS ณ. ปัจจุบันก็ยังเป็น “หุ้นเล็ก” ที่มียอดขายปีที่แล้วเพียงประมาณ 5,000 ล้านบาท และถ้ามองย้อนหลังไปอีกปีหนึ่งคือปี 2015 บริษัทมียอดขายเพียง 750 ล้านบาท กำไรของปี 2015 อยู่ที่ประมาณ 130 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2016 กำไรกระโดดขึ้นมา “หลายเท่าตัว” เป็นประมาณ 640 ล้านบาท และถ้าคิดเปรียบเทียบกับบริษัทหรือหุ้นก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั่วไปในตลาดหุ้นเวียตนามที่มักจะมีค่า PE ต่ำกว่า 10 เท่าแล้ว Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นของ ROS ก็ไม่น่าจะเกิน 6,400 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริง ค่า PE ของ ROS กลับสูงถึง 160 เท่า ค่า PB สูงถึง 15 เท่า ดูเหมือนว่า “นักเก็งกำไร” ชาวเวียตนามเองจะไม่สนใจว่าราคาหุ้นจะแพงแค่ไหน เพราะปริมาณการซื้อขายหุ้นตัวนี้คึกคักติดอันดับต้น ๆ ทุกวัน

ก่อนหน้าการปรากฏตัวของหุ้น ROS นั้น ถ้าพูดถึงหุ้นพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับ “ยักษ์” ของเวียตนาม ทุกคนก็จะต้องพูดถึงหุ้น Vingroup หรือหุ้น VIC ที่เป็นเจ้าของและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทตั้งแต่ช็อปปิงมอลขนาดใหญ่ คอนโดและบ้านเพื่อขาย อาคารสำนักงาน และอื่น ๆ อีกมาก ที่มีเจ้าของเป็นคนรวยอันดับหนึ่งของประเทศ หุ้น VIC เองนั้นต้องถือว่าเป็น “เจ้าพ่อ”

ทางด้านอสังหาริมทรัพย์เพราะยอดขายของบริษัทปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 90,000 ล้านบาท หรือประมาณ 18 เท่าของ ROS แต่มี Market Cap. เพียง 170,000 ใหญกว่า ROS เพียง 70%

ปรากฏการณ์ “หุ้นเล็กแสนล้าน” หรือ “หุ้นจิ๋วหมื่นล้าน” หรือในความหมายที่ครอบคลุมกว่าก็คือปรากฏการณ์ที่หุ้นที่มีขนาดธุรกิจขนาดเล็กบางบริษัทมีมูลค่าหุ้นใหญ่มากจน “ไม่น่าเชื่อ” และนักธุรกิจที่อยู่ในวงการเดียวกันก็คิดว่า “เป็นไปไม่ได้” แต่นักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นก็ยังเข้าไปซื้อขายกันอย่างหนักและบางทีนักวิเคราะห์ก็ยังเชียร์ให้ซื้อเพราะราคาก็ยัง “ต่ำกว่าพื้นฐาน” นั้น ดูเหมือนว่าจะมีคุณสมบัติบางอย่างที่คล้ายคลึงกันไม่ว่าจะอยู่ในตลาดหุ้นไหน

คุณสมบัติแรกที่ผมคิดว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญก็คือ บริษัทจะต้องมีการเติบโตของรายได้และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกำไร แบบ “ก้าวกระโดด” ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา เช่น ในกรณีของหุ้น ROS ที่กำไรโตขึ้นถึงเกือบ 4 เท่า หรือ 400% ที่จะทำให้นักวิเคราะห์สามารถใช้เกณฑ์ PEG ที่บอกว่าถ้าบริษัทโตกี่เปอร์เซ็นต์ก็สามารถมีค่า PE เท่านั้นเท่า ดังนั้น ในกรณีแบบหุ้น ROS ถ้าค่า PE ของหุ้นไม่เกิน 400 เท่าก็น่าจะยัง OK

คุณสมบัติข้อสองก็คือ จะต้องมี “Story” หรือเรื่องราวที่สามารถแสดงได้ว่าอนาคตของบริษัทจะโตต่อไปได้อีกมาก เช่น ในกรณีของ ROS ก็คือ บริษัทเริ่มมีแผนทำรีสอร์ทขนาดใหญ่หลายแห่ง แต่ละแห่งลงทุนในระดับหมื่นล้านบาท นอกจากนั้น ถ้ามองออกไปไกล ๆ บางทีอาจจะ 3-5 ปี จะมีการลงทุนรวมกันถึงแสนล้านบาทและทั้งหมดนั้นอยู่ในสถานที่ที่ “สุดยอด” เช่น ที่เกาะฟูก๊วก เมืองตากอากาศอันดับหนึ่งที่รัฐบาลกำลังโปรโมต เป็นต้น

คุณสมบัติข้อสามก็คือ หุ้นที่หมุนเวียนในตลาดหุ้นจะต้องมีไม่มาก ในกรณีของ ROS เองนั้น หุ้นอยู่ในมือของ Mr. ตรินห์มากกว่า 70% ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ “ผิดปกติ” ในตลาดหุ้นเวียตนามที่หุ้นมักจะอยู่ในมือของรัฐวิสาหกิจ หุ้นบริษัทเอกชนนั้น ส่วนใหญ่ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็จะถือหุ้นไม่มากและมักจะไม่เกิน 25% คุณสมบัติข้อนี้จะทำให้หุ้นสามารถถูก “Corner” หรือถูก “ต้อนเข้ามุม” โดยนักลงทุนส่วนบุคคลหรือนักเก็งกำไรรายใหญ่ได้ง่าย ซึ่งก็จะทำให้ราคาหุ้นสามารถปรับตัวขึ้นไปได้เรื่อย ๆ ตราบที่ยังมีคนสนใจจะเข้าไปเล่นเก็งกำไรสั้น ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ

ประเด็นสุดท้ายก็คือ ทำไมคนที่ถือหุ้นมาก ๆ ไม่ขายหุ้นเพื่อที่จะทำกำไรระดับ “มโหฬาร” ถ้าเขาคิดว่าราคาหุ้นมันสูงเกินไปแล้ว? หรือเขาเองรู้หรือเชื่อว่าบริษัทของเขานั้นมันดีจริงและน่าจะมีมูลค่าหุ้นตามที่เห็น ดังนั้น เขาก็ไม่ขาย? ข้อนี้ผมเองก็ไม่รู้ ผมเพียงแต่เห็นจากประสบการณ์ว่า หุ้นเล็กแสนล้านหรือหุ้นจิ๋วหมื่นล้าน นั้น ไม่ว่าเจ้าของหรือผู้บริหารหรือคนที่ถือหุ้นรายใหญ่จะมั่นใจแค่ไหนในตัวธุรกิจ หุ้นเกือบทุกตัวในที่สุดก็กลับมามีมูลค่าสอดคล้องกับพื้นฐานที่เป็นจริงนั่นก็คือ เป็นหุ้นที่มีมูลค่า

เล็กหรือมูลค่าจิ๋วตามขนาดของธุรกิจ มีโอกาสน้อยมากที่หุ้นที่ขึ้นไป 10 เท่าหรือ 10 เด้งในเวลาอันสั้นแล้วขึ้นต่อไปอีกมาก ส่วนใหญ่แล้ว มันมักจะลงกลับมา 5-8 เด้งถ้ากิจการไม่ได้เลวร้ายอะไร แต่ในบางกรณีถ้ามีการฉ้อฉล บางทีก็ลงมากกว่านั้น ในบางกรณีที่กิจการไปได้ดีจริง คือกิจการก็โตต่อไปในระดับที่ดีพอใช้ หุ้นก็อาจจะพอรักษาระดับอยู่ได้

ประสบการณ์เหล่านั้นผมเองคิดว่าไม่ใช่ว่าเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่จะไม่รู้ ถ้าเขาสามารถปล่อยหรือขายหุ้นออกไปได้เขาก็คงจะทำ แต่การขายหุ้นโดยเฉพาะในยามที่หุ้นกำลังวิ่งแรงหรือคงระดับราคาอยู่นั้นไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อราคาหุ้นนัก มันอาจจะทำให้หุ้นตกลงมาอย่างเร็วจน “มูลค่าความมั่งคั่ง” หดหายไปอย่างรวดเร็วก่อนที่เขาจะขายได้มากพอ ดังนั้น ผมคิดว่าคนที่มีหุ้นมากคงต้องพยายาม “จัดการ”เรื่องของราคาหุ้นให้สูงพอและมีเสถียรภาพที่จะขายได้ อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งเขาก็ไปไม่ถึงจุดนั้น หุ้น “ถล่มทลาย” แบบ “ไม่ทันรู้ตัว” และความฝันที่ว่าตนเองมีความมั่งคั่งเท่านั้นเท่านี้ก็อาจจะหายวับไปกับตา ประสบการณ์ของผมเองก็นึกไม่ออกว่ามีกรณีไหนที่สุดท้ายเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ขายหุ้นได้ทัน หรือบางทีผมอาจจะไม่รู้จริงก็ได้ สำหรับผมแล้ว ผมไม่ซื้อหุ้นเหล่านั้นแน่นอน คำทำนายของผมในกรณีหุ้น ROS ก็คือ มันก็จะถอยกลับไปอยู่ในที่ที่มันควรจะเป็น-ไม่ช้าก็เร็ว ทั้งหมดที่เขียนมาก็เพื่อที่จะเตือนสตินักลงทุนรายย่อยของไทยเองที่มักจะเจอหุ้นแบบ ROS ว่าที่จริงเรามีมากกว่ามากในตลาดหุ้นไทย

ที่มาบทความ : http://www.thaivi.org/หุ้นเล็กแสนล้าน