ช่วงสิ้นเดือนมกราคมปี 2564 ผมได้เขียนบทความเรื่อง “GameStop สงคราม (หุ้น) ประชาชน” ในบทความนั้นผมได้เล่าเรื่องของหุ้น GameStop หรือ GME ว่าปรับตัวขึ้นมาถึง 19 เท่าในเวลาเพียงเดือนเดียวในช่วงเดือนมกราคม 2564 เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยที่เกาะกลุ่มกันในห้องเกี่ยวกับการลงทุน WallstreetBet ของเวปไซต์ยอดนิยม Reddit ได้เข้ามา “กวาด” ซื้อหุ้น GME เนื่องจากรู้มาว่าหุ้นตัวนี้ถูกชอร์ตเซลจากเหล่า Hedge Fund “นักล่า” จำนวนมากที่เห็นว่า GME กำลังถูก Disrupt จากเทคโนโลยีดิจิทัล ผลของการซื้อหุ้นในตอนนั้นทำให้เฮดจ์ฟันด์ถูก “ต้อนเข้ามุม” หรือถูก “Short Squeeze” ต้องกลับไปซื้อหุ้น GME ในขณะที่ไม่มีหุ้น GME ที่จะเหลือให้ซื้อ ส่งผลให้ราคาขึ้นไปมหาศาล “ชัยชนะ” หรือกำไรก้อนโตตกอยู่กับนักลงทุนรายย่อยแบบไม่น่าเชื่อ เพราะในอดีตนั้น การ “เล่นหุ้น” ถูก “ควบคุม” เกมโดยรายใหญ่ที่มักเป็นสถาบันการลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นเฮดจ์ฟันด์
หลายคนบอกว่าโลกของการลงทุนกำลังจะเปลี่ยนไป รายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดานั้น มี “อาวุธ” ในการลงทุนครบครันเท่ากับรายใหญ่แล้วในโลกยุคใหม่ มีโบรกเกอร์ช่วยซื้อขายหุ้นโดยที่แทบไม่มีต้นทุน พวกเขาสามารถซื้อขายหุ้นราคาแพงอย่างอะมาซอนที่ราคาหุ้นละ 3,000 เหรียญ ได้ด้วยเงินเพียง 50 เหรียญโดยการซื้อเป็นเศษของหุ้นผ่านระบบทางด้านดิจิทัลแบบใหม่ นอกจากนั้นยังสามารถใช้ออปชั่นของหุ้นที่เพิ่มพลังการซื้อขายได้เป็น 10 เท่า และไม่ต้องพูดถึงข้อมูลข่าวสารที่นักลงทุนรายย่อยก็มีโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ ดังนั้น พวกเขาสามารถ “ต่อกร” กับนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ได้ในสนามเดียวกัน สิ่งนี้บวกกับสื่อสังคมรุ่นใหม่ที่ทรงประสิทธิภาพอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้พวกเขาสามารถ “รวมพลัง” คนเป็นล้าน ๆ ให้เข้าไป “เล่นหุ้น” แข่งกับนักลงทุนขนาดใหญ่ทุกกลุ่มได้อย่างเสมอภาคกัน แต่ทั้งหมดก็อาจจะยังไม่เพียงพอถ้าไม่ใช่เพราะการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้คนจำนวนมากต้องอยู่กับบ้านพร้อมกับ “เม็ดเงิน” ที่ “ล้นระบบ” อานิสงส์จากการอัดฉีดของรัฐบาลที่จ่ายให้กับประชาชนเกือบทุกคน ทำให้คนจำนวนมากเข้ามา “เล่นหุ้น” ที่กำลังวิ่งขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดปี 2563 ถึงปัจจุบัน
“New Normal” ของการลงทุนที่มีนักลงทุนรายย่อยเข้ามาเป็น “ผู้เล่นหลัก” โดยเฉพาะในตลาดหุ้นสหรัฐนั้น จะยั่งยืนต่อไปในระยะยาวหรือไม่ หรือนี่เป็นแค่ “สถานการณ์” ชั่วคราวที่เกิดขึ้นเนื่องจากโควิด-19 และภาวะตลาดหุ้นที่ร้อนแรงซึ่งทำให้รายย่อยเข้ามาเล่นเก็งกำไร แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไป โควิดจบไปแล้วและหุ้นตกลงแรงเป็นขาลงไปแล้วเพราะอัตราดอกเบี้ยที่อาจจะกำลังขึ้นและเงินเฟ้อกำลังจะมา ทั้งหมดนี้จะทำให้นักลงทุนรายย่อยที่เป็น “เม่า” ออกจากตลาดหุ้นและกลับไป “ทำงานทำการ” เหมือนเดิมหรือไม่? ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นไปได้และที่จริงก็เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงบูมของหุ้นไฮเท็คก่อนปี 2000 ที่นักลงทุนรายย่อยเข้าไปเล่นหุ้นกันมาก แต่เมื่อ “ฟองสบู่แตก” นักลงทุนรายย่อยก็หายไปนานจนกลับมา “เฟื่อง” อีกในช่วงโควิด-19 นี้ เราคงต้องดูกันต่อไป แต่ในขณะนี้ก็ดูเหมือนว่า “งานเลี้ยง” ยังไม่จบ และก็ดูเหมือนว่าแทบจะไม่ชะลอลงเลย
หุ้น GME ที่ “เซียน” ต่างก็ทำนายว่าเมื่อเวลาผ่านไปก็จะตกต่ำลงมาเหมือนเดิมก่อนที่จะขึ้นนั้น ก็ปรากฏว่าตกลงมาจริง จากราคาประมาณ 325 จุดตอนสิ้นเดือนมกราคม พอถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ก็ตกลงมาเหลือเพียง 40 เหรียญ ลดลงมาถึง 88% แต่พอถึงวันที่ 12 มีนาคม 64 ราคาก็ปรับตัวขึ้นกลับมาเป็น 265 เหรียญ หรือเพิ่มขึ้น 560% ในเวลาไม่ถึงเดือนและต่ำกว่าจุดสูงสุดเพียงประมาณ 20% ดังนั้น เกมจึงยังไม่ “สต็อป” อย่างแน่นอน
ดูจากจำนวนนักลงทุนรายย่อยที่เข้าสู่ตลาดหุ้นเองนั้น ก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่หยุดเลย นักลงทุนรายใหม่ที่เข้ามาอยู่ใน Platform การซื้อขายหุ้นของ Robinhood ก็มีถึง 13 ล้านบัญชีเข้าไปแล้ว และนี่ก็เช่นเดียวกับบัญชีของนักลงทุนส่วนบุคคลของกองทุนรวม Fidelity ก็เพิ่มขึ้นถึง 3.7 ล้านบัญชีเฉพาะในปี 2563 ในส่วนของคนที่เข้าไปใช้เวป Reddit เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นเองก็เพิ่มขึ้นเป็น 9.4 ล้านบัญชีเข้าไปแล้วจากแค่ 9 แสนในช่วงต้นปี 2563 แต่ที่น่าทึ่งที่สุดก็คือ ขณะนี้นักลงทุนรายย่อยมีการซื้อขายหุ้นต่อวันสูงมากจนจะคล้าย ๆ ตลาดหุ้นไทยเข้าไปแล้ว เพราะปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันสูงขึ้นจากประมาณ 10% ของตลาด กลายเป็น 23% และมากกว่าปริมาณการซื้อขายหุ้นของเฮดจ์ฟันด์บวกกับกองทุน Active Fund ที่เป็นกองทุนมาตรฐานที่ต่างก็มีโวลุมแห่งละประมาณ 9-10% ในขณะที่พวกเทรดโดยโรบอทที่เรียกว่า “High Frequency Trading” ก็ยังคงเท่าเดิมที่ประมาณ 45% ของตลาดเหมือนเดิม ในขณะที่นักลงทุนระยะยาวและกองทุนอิงดัชนีนั้นแทบไม่มีนัยสำคัญในการเทรดหุ้น
อายุของนักลงทุนรุ่นใหม่นั้นลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ครึ่งหนึ่งของนักลงทุนอายุต่ำกว่า 34 ปี พวกเขา Aggressive มากในการเล่นหุ้น กล้าได้กล้าเสียกล้าใช้มาร์จินหรือเล่นออปชั่น ใช้อินเตอร์เน็ตในการ “ตามล่า” หาหุ้นหรือคุยกัน จากการทำโพลแบบสอบถามนั้น นักลงทุนบอกว่าจะเอาเงินที่ได้จากรัฐบาลสหรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านเหรียญเพื่อแจกให้ทุกคน ๆ ละ 14,000 เหรียญ มาลงทุนในตลาดหุ้นถึง 37% และถ้าเป็นจริงก็จะมีเงินเข้าตลาดหุ้นถึง 170 พันล้านเหรียญ และถ้าหุ้นตกลงไปก็จะเอาเงินเก็บออมมาลงทุนเพิ่มเข้าไปอีก และนี่น่าจะทำให้นักเล่นหุ้นหรือนักลงทุนส่วนบุคคลแตกต่างจากสมัยหุ้นไฮเท็คบูมปี 2000 ค่อนข้างมาก เพราะในยุคนั้น คนเล่นหุ้นอายุเฉลี่ยสูงถึง 50 ปี และมีพอร์ตลงทุนเฉลี่ยประมานคนละ 47,000 เหรียญหรือ 1.4 ล้านบาท ในขณะที่รอบนี้นักลงทุนรุ่นใหม่มีอายุเฉลี่ยแค่ 31 ปี และเงินที่เล่นนั้นอยู่ตั้งแต่ 1,000-5,000 เหรียญ หรือ 30,000-150,000 บาทเท่านั้น
กลับมาที่ตลาดหุ้นไทยและรวมไปถึงเวียตนามที่ผมพอจะรู้จัก ตั้งแต่เกิดโควิด-19 จำนวนนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ พวกเขาส่วนใหญ่เป็น “มือใหม่” ไม่เคยลงทุนแบบเดียวกับที่อเมริกา เหตุผลที่เข้าตลาดก็เหมือนกันคือเกิดจากโควิดที่ทำให้ตกงานและอยู่กับบ้าน เครื่องมือลงทุนเดี๋ยวนี้สำหรับรายย่อยก็พร้อมและไม่ได้เสียเปรียบรายใหญ่ เช่นเดียวกับข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้ฟรี เม็ดเงินที่ใช้ลงทุนนั้นว่าที่จริงไม่เคยสูงอยู่แล้วและมีเงินแค่หลักพันบาทก็เล่นหุ้นได้สบายมาก ไม่เหมือนของตลาดหุ้นอเมริกาในสมัยก่อนแค่ไม่เกิน 10 ปีที่ต้องใช้เงินซื้อ-ขายหุ้นสูงเนื่องจากหุ้นส่วนใหญ่มีราคาสูงมาก ราคาหุ้นละหลายพันหรือหลายหมื่นบาทเป็นเรื่องปกติ หุ้นเบิร์กไชร์ของบัฟเฟตต์เองนั้นราคาหุ้นละเป็นหลายล้านบาท นักลงทุนรุ่นใหม่ที่เข้าตลาดหุ้นรอบนี้ก็เช่นเดียวกับที่อเมริกา คือมีอายุค่อนข้างต่ำ ผมคาดว่าก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 30 เศษ ๆ เป็นส่วนใหญ่ และเป็นนักลงทุนที่กล้าได้กล้าเสียเล่นเร็วซึ่งทั้งหมดทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันของตลาดหุ้นไทยสูงเป็นแสนล้านบาทกลายเป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับที่ตลาดหุ้นเวียตนามที่โวลุมสูงเป็นประวัติการณ์เป็นหลักหมื่นหรือสองสามหมื่นล้านบาทในบางวันจนทำให้ระบบเทรดหุ้นของตลาดรองรับไม่ไหวแล้ว
การแห่เข้ามาเล่นหุ้นของนักลงทุนส่วนบุคคลรอบนี้ทำให้เกิดการ “ผิดเพี้ยน” หรือ “ไร้เหตุผล” ของราคาหุ้นและหลักทรัพย์ต่าง ๆ รวมถึงบิทคอยน์ ในความเห็นของชาลี มังเกอร์ ซึ่งอายุใกล้ร้อยปีแล้ว บอกว่า คนรุ่นใหม่เหล่านี้ไม่ได้อิงกับพื้นฐานแต่เก็งกำไรอย่างกับการเล่นม้า คำสัมภาษณ์ของเขาถูกตอบโต้ในอินเตอร์เน็ตว่า “อย่ามายุ่ง ตาแก่ขี้ฉุน” ผมเองคิดว่านี่ก็คงเหมือนกับในตลาดหุ้นไทยที่หุ้นจำนวนมากในช่วงนี้ต่างก็วิ่งกันโดยไม่สมเหตุผลและผมเชื่อว่าส่วนสำคัญมาจากนักเล่นหุ้น “เก็งกำไร” โดยเฉพาะจากคนรุ่นใหม่ที่เข้ามา “รุม” หาหุ้นที่จะเล่นทุกวัน ซึ่งผลักดันราคาหุ้นให้ขึ้นไปบางทีหลายเท่าในเวลาไม่กี่วันหรือไม่กี่เดือน คล้าย ๆ กับหุ้นเกมสต็อปและหลักทรัพย์ “เก็งกำไร” อื่น ๆ
ใครจะคิดอย่างไรก็ไม่รู้ แต่ในช่วงเร็ว ๆ นี้ดูเหมือนว่าผลงานของหุ้นแต่ละตัวจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักลงทุนส่วนบุคคลอยู่ไม่น้อย พวกเขาจะถูกหรือผิดในแง่ของการเลือกหุ้นอิงจากปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็นหรือไม่นั้นไม่มีความหมาย เพราะในระยะสั้นหรือกลาง-สั้น ราคาก็ขึ้นอยู่กับแรงซื้อหรือแรงโหวตของเม็ดเงินที่มากกว่า ดังนั้น สำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เน้นการลงทุนระยะยาวจริง ๆ แล้ว การติดตามดูหรือวิเคราะห์ความคิดของนักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยดูเหมือนว่าจะจำเป็นทีเดียว เช่น ถ้านักเล่นหุ้นเหล่านี้มีธีมอะไรที่จะเป็น “กระแส” ต่อไป คุณก็อาจจะต้องตามหรืออย่างน้อยก็ไม่ฝืนกระแสถ้ายังต้องการรักษาผลงานการลงทุนที่ดีในระยะสั้น แต่สำหรับผมเองที่เป็นนักลงทุนระยะยาวถึงยาวมากแล้ว ผมเองก็จะไม่ตาม ผมยังคงยึดมั่นอยู่กับหลักการ VI อย่างเคร่งครัด ผมจะไม่รีบรวยในสิ่งที่ผมไม่รู้ดี
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2021/03/15/2478