หนังสือเปิดโลกใหม่

การเป็น “VI” ที่สมบูรณ์สำหรับผมก็คือ คนที่ “รอบรู้” ในศาสตร์ “รอบด้าน” อย่างถูกต้อง ที่สำคัญก็คือเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การทำธุรกิจและการลงทุน โดยที่ความรู้ “พื้นฐาน” ที่สำคัญมากที่สุดก็คือ ความรู้เกี่ยวกับ “คน” หรือพูดให้ชัดเจนก็คือ “พฤติกรรมของคน” โดยที่ความรู้ใน “ภาพใหญ่” คือเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการทำธุรกิจนั้น เราไม่จำเป็นต้องรู้ลึกแต่ต้องรู้กว้างและรู้จริง ส่วนความรู้ในเรื่องของการลงทุนนั้น เราต้องรู้ลึกและรู้จริง

วิธีการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดไม่มีอะไรดีไปกว่าการอ่านหนังสือ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ การเลือกหนังสือที่จะอ่าน เหตุผลก็เพราะว่ามีหนังสือมากมายเกินกว่าที่เราจะอ่านไหว แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  หนังสือมีรายละเอียดมากเกินไปจนเราไม่เห็นภาพใหญ่ หนังสือจำนวนมาก “ไม่ถูกต้อง” เพราะคนเขียนก็ไม่รู้จริงหรือที่แย่ยิ่งกว่าก็คือ เขียนจากความคิดที่ “ลำเอียง” ที่มาจากพื้นฐานทางจิตวิทยาของตนเอง  ผมเองได้อ่านหนังสือหลากหลายมากในหลากหลายศาสตร์ดังกล่าว ถึงวันนี้เมื่อคิดย้อนหลังไป มีหนังสือหลายเล่มที่คิดว่าช่วยให้ผม “ตาสว่าง” คือ “รู้” ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ หรือ “รู้” ในสิ่งที่ผมเข้าใจผิดมานาน หนังสือหลายเล่มหรือน่าจะส่วนใหญ่เป็น “หนังสือประวัติศาสตร์” หรือแนวอิงประวัติศาสตร์ที่เขียนโดย “เซียน” ที่มีการศึกษามาเป็นอย่างดี ที่ “เล่าเหตุการณ์” ต่าง ๆ ต่อเนื่องกันมาอย่างมีเหตุมีผลและมาจาก “พื้นฐาน” ที่ถูกต้องนั่นก็คือ ความเป็น “มนุษย์” ที่เป็นคนสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนถึงวันนี้

หนังสือเล่มแรกซึ่งจริง ๆ ก็คือหนังสือพื้นฐานสำคัญที่สุดที่ผมคิดว่า VI หรือคนทั่วไปควรจะอ่านเป็นอย่างยิ่งก็คือ  หนังสือชื่อ   Sapiens: A Brief History of Humankind หรือ เซเปียนส์: ประวัติย่อของมนุษยชาติ เขียนโดย ยูวัล แฮรารี นักประวัติศาสตร์ชื่อดังชาวยิว นี่คือหนังสือที่เล่าเรื่องราวของมนุษย์พันธุ์เซเปียนตั้งแต่เริ่มต้นวิวัฒนาการและการก่อร่างสร้างเมือง เอาชนะสัตว์ทั้งปวงรวมถึงมนุษย์เผ่าอื่นที่เพิ่งล้มตายและ “สูญพันธุ์” ไปแค่ 4-50,000 ปีมานี้เอง ส่วนการเอาชนะสัตว์อื่นทั้งปวงและสามารถ “ครองโลก” ได้อย่างเด็ดขาดเองนั้น ก็น่าจะเพิ่งเกิดขึ้นแค่ไม่เกิน 10,000-20,000 ปี และการสร้างเมือง รัฐ และสถาบันต่าง ๆ ในการปกครองรวมถึงศาสนานั้นก็แค่ 4-5,000 ปีที่ผ่านมา ไม่ต้องพูดถึง “ประเทศ” อย่างที่เรารู้จักที่มีขอบเขตดินแดนแน่นอนที่เพิ่งจะก่อตั้งขึ้นเมื่อไม่กี่ร้อยปีที่แล้วนี่เอง

แฮรารีบอกว่า ที่เซเปียนส์พัฒนาตนเองได้เร็วมากก็เพราะว่ามนุษย์มีจิตสำนึก รู้จักคิดและมี “จินตนาการ” สามารถคิดฝันและเชื่อในสิ่งที่ไม่มีตัวตนหรือมีคุณค่าทางธรรมชาติและก็ปฏิบัติไปตามความเชื่อนั้นได้  ตัวอย่างที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ก้าวหน้ามหาศาลก็เช่นเรื่องของ “เงิน” ที่ทุกคนเชื่อว่ามันสามารถเอาไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการได้ทั้ง ๆ ที่มันเป็นก้อนโลหะหรือเป็นกระดาษหรือในปัจจุบันเป็นแค่ตัวเลขดิจิตอลในคอมพิวเตอร์เป็นต้น ดังนั้น พวกเขาจึงยอม “ทำงาน” อะไรบางอย่างให้กับคนอื่นเพื่อหาเงินมาใช้เพื่อเอาชีวิตให้รอดและเก็บไว้เพื่ออนาคตของตนและลูกหลาน    เช่นเดียวกัน “บริษัท” ก็เป็นแค่ “นามธรรม” ที่สามารถทำงานไปได้เรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องในขณะที่คนอาจจะตายหรือหายไปในเวลาไม่กี่สิบปี ดังนั้น บริษัทจึงสามารถดำเนินการและพัฒนาสินค้าของตนไปอย่างต่อเนื่องยาวนานและสามารถพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทำให้โลกก้าวหน้าขึ้น เป็นต้น

ผมเองคิดว่าเซเปียนส์น่าจะเป็นหนังสือที่ติดอันดับอย่างน้อย “หนังสือแห่งทศวรรษ” ของโลกโดยเฉพาะทางด้านประวัติศาสตร์ คนที่อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะสามารถ “ต่อยอด” ไปอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ของโลก รัฐ และประเทศได้อย่างมีความเข้าใจที่ถูกต้อง และจะไม่ถูกทำให้หลงเข้าใจผิดจาก “ความลำเอียง” ที่เกิดจากรัฐหรือผู้คนที่พยายามสร้าง “สตอรี่” ที่เทิดทูนประเทศตนเองและลดค่าประเทศอื่นซึ่งก็เป็นธรรมชาติหรือพฤติกรรมของคนที่ติดมากับยีนของมนุษย์ตั้งแต่ยุคหมื่นปีที่แล้ว

ถ้าพูดถึงประวัติศาสตร์ของไทยเองนั้น หนังสือที่ “เปิดโลกใหม่” ให้กับผมก็คือ หนังสือหลายเล่มที่เขียนโดย  ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทยแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา นี่คือกลุ่มหนังสือที่พูดถึงประวัติศาสตร์ของไทยที่แตกต่างจากประวัติศาสตร์ “ทางการ” ของรัฐไทยที่คนไทยทุกคนต้องเรียนและได้รับรู้มาตลอด แน่นอนว่านักวิชาการ “กระแสหลัก” ของไทยคงจะไม่เห็นด้วยกับความคิดและการวิเคราะห์ของ ดร.ธงชัย เป็นอย่างยิ่ง เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ประวัติศาสตร์ของประเทศนั้น เหตุผลสำคัญที่สอนให้คนรับรู้ก็คือ เพื่อให้คนรักและภาคภูมิใจกับความเป็นชาติ ดังนั้น เรื่องราวที่จะลดทอนความรู้สึกแบบนั้นจึงน่าจะถูกต่อต้าน อย่างไรก็ตาม  ถ้าเราจะเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ได้จริง เราก็ควรจะได้เรียนรู้จากความจริงที่เกิดขึ้นในอดีต และนี่ก็คือส่วนหนึ่งของหนังสือที่จะช่วยให้เราเรียนรู้ “การเมือง” ของไทยได้ดีขึ้น

หนังสือแนวประวัติศาสตร์เกี่ยวกับตลาดหุ้นและการลงทุนที่ผมคิดว่าได้กลายเป็นหนังสือคลาสสิกระดับเดียวกับหนังสือ Intelligent Investor ของเหล่า VI ก็คือ  A Random Walk Down Wall Street โดย Burton Malkiel  ซึ่งเป็นหนังสือที่อิงอยู่กับทฤษฎี “ตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ” ซึ่งบอกว่าไม่มีกลยุทธ์อะไรที่จะสามารถเอาชนะตลาดได้อย่างยั่งยืนยกเว้นแต่จะต้องเสี่ยงมากขึ้น เนื้อหาไม่ได้บอกวิธีการลงทุนที่จะเอาชนะตลาด แต่เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวความเป็นมาของตลาดหุ้น เรื่องที่คนเข้าใจผิด และให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์กับนักลงทุนทุกคนและทุกแนว อ่านแล้วจะทำให้เราเห็นพัฒนาการระยะยาวของตลาดหุ้นในโลกจนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะในเวอร์ชั่นใหม่ ๆ ของหนังสือที่จะออกมาทุกหลาย ๆ ปี  ไม่ล้าสมัย คนที่ไม่เคยอ่านเลย เมื่ออ่านจบก็อาจจะรู้สึกได้ว่าความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดและการลงทุนเพิ่มขึ้นมาก

หนังสือ 2 เล่มสุดท้ายที่ผมรู้สึกว่าได้ “เปิดตา” ผมให้เข้าใจเรื่องของการแข่งขันทางธุรกิจของบริษัทได้มากที่สุดเล่มหนึ่ง เพราะมันพูดถึงตำแหน่งและการแข่งขันทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ชื่อว่า Positioning : The Battle for Your Mind และ Marketing Warfare โดย Al Ries กับ Jack Trout นี่เป็นหนังสือทางการตลาดเล่มเล็ก ๆ และอ่านง่ายมากที่ผมซึ่งเคยเรียนจบ MBA ทางการตลาดไม่เคยได้รับรู้เลย เพราะเวลาที่ผมเรียนการตลาด เขาจะสอนเรื่องโครงสร้างการแข่งขันของอุตสาหกรรม จุดอ่อนจุดแข็งของกิจการ วิถีการทำการตลาด การจัดการช่องทางการตลาด  การทำแคมเปญเพื่อขายสินค้า เป็นต้น แต่ไม่เคยเรียนถึง “พื้นฐาน” ของจิตใจลูกค้าเลย ไม่รู้กระบวนการคิดของสมองหรือจิตใจของลูกค้าต่อสินค้าซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะสำคัญที่สุด อ่านหนังสือเล่มนี้จบจะทำให้เราสามารถวิเคราะห์ว่าสินค้าไหนจะได้เปรียบ “อย่างยั่งยืน” และโดดเด่นแค่ไหน คู่แข่งขันจะสามารถเอาชนะหรือต่อสู้ด้วยวิธีการอย่างไร สิ่งที่สำคัญก็คือ การต่อสู้ทางการตลาดนั้น เขาบอกว่ามันอยู่ใน “หัว” ของคน และถ้าเราเข้าไป “จอง” ตำแหน่งในนั้นได้แล้ว คนอื่นจะมาแทนที่ทำได้ยากมาก ยกตัวอย่างตอนนี้ก็อาจจะบอกว่าโทรศัพท์มือถือแอปเปิลนั้น ได้เข้าไปเป็น “หมายเลขหนึ่ง” ของผู้ใช้หรือลูกค้าจำนวนมากของเขาแล้ว  ยากที่ใครจะมาแทนที่ได้  เป็นต้น

หนังสือที่เปลี่ยนความเข้าใจหรือเปลี่ยนมุมมองหรือ เปลี่ยนชีวิต” ของแต่ละคนนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำให้ประสบความสำเร็จหรือชีวิตดีขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว บ่อยครั้ง มันเป็นหนังสือที่ตรงกับ จิตวิทยาพื้นฐาน” ของแต่ละคนด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคน ๆ หนึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นนักเก็งกำไร แต่ไม่เคยหรือไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องการเล่นหุ้นทางเทคนิค วันหนึ่ง เมื่อเขาพบหนังสือที่เปลี่ยนแนวคิดการวิเคราะห์อย่างสิ้นเชิง เช่น มีการใช้วิชาการทางด้านข้อมูลที่ซับซ้อนทางฟิสิกส์เข้ามาเล่นหุ้น เขาก็อาจจะเปลี่ยนวิธีการวิเคราะห์เดิมไปอย่างสิ้นเชิงได้ โดยที่อาจจะเป็นผลดีหรือผลเสียก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในกรณีของผมเองนั้น ผมคิดว่า  หนังสือที่กล่าวมาข้างต้นช่วยให้ผมสามารถวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ  ไม่เฉพาะแต่เรื่องของการลงทุนดีขึ้น  แต่รวมถึงการใช้ชีวิตด้านอื่น ๆ  ด้วย เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ การเป็น “VI” ของผมนั้น มันไม่ใช่เรื่องของการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่มันคือ ชีวิต” และชีวิตผมก็เปลี่ยนแปลงไปมากส่วนหนึ่งจากการอ่านหนังสือเหล่านั้น รวมถึงหนังสือที่มีแนวทางแบบเดียวกันที่ตามมา

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2021/08/30/2553

TSF2024