ในช่วงนี้ดูเหมือนว่าจะมีกรณี “แชร์ลูกโซ่” หรือการ “โกงประชาชน” โดยการชักชวนให้คนมาลงทุนในกิจการที่สัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูงมาก เช่น 6-7% ต่อเดือนขึ้นไปโดยที่ “คนโกง” เองนั้นไม่มีหรือไม่สามารถหาโครงการลงทุนที่ทำผลตอบแทนอย่างนั้นได้แต่ใช้วิธีการนำเงินลงทุนที่ได้รับมาจ่ายเป็นผลตอบแทนรายเดือนตามที่สัญญา ซึ่งทำให้ “นักลงทุน” รู้สึกและมั่นใจว่าเป็นการลงทุนที่ดีเยี่ยมตามที่ “โฆษณา” ไว้ ซึ่งก็ทำให้นักลงทุนรายต่อ ๆ ไปหรือแม้แต่รายเดิมนำเงินมาลงทุนเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเงินลงทุนเพิ่มขึ้นมากจนถึงจุดหนึ่ง คนที่เป็น “เจ้ามือ” ชักชวนคนให้มาลงทุนก็จะ “เชิดเงินหนี” และได้เงินไปมหาศาล ส่วนคนที่ “หลง” เข้าไปลงทุนจำนวนมากที่ไม่รู้ “เบื้องหลัง” หรือคนที่รู้แต่คิดว่าตนเองจะสามารถ “ถอนการลงทุน” ออกก่อนก็จะขาดทุนอย่างหนัก บ่อยครั้งเงินลงทุนกลายเป็นศูนย์
สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว พวกเขาคิดว่าคนที่เข้าไปลงทุนกับ “แชร์ลูกโซ่” นั้นมักเป็นคนที่ “ขาดความรู้ทางการลงทุนอย่างสิ้นเชิง” หรือไม่ก็ “โลภจนหลง” ต่างจาก “คนเล่นหุ้น” ที่มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนสูงกว่ามาก พวกเขาคิดว่าเขาจะไม่มีวันถูกหลอกด้วย “วิธีง่าย ๆ” แบบนั้นอย่างแน่นอน แต่นี่เป็นเรื่องจริงหรือ? มันไม่มี “หุ้นลูกโซ่” ที่ “เจ้ามือ” ชักชวนให้คนเข้ามาลงทุนด้วยความไม่รู้หรือโลภหวังได้ผลตอบแทนที่สูงผิดปกติและก็ได้ผลตอบแทนจริงในช่วงแรก ๆ และดึงดูดคนลงทุนรายหลังเข้ามาลงทุนต่อเนื่องกันไปจน “เม็ดเงินที่อยู่ในมือ” ของเจ้ามือเพิ่มขึ้นมหาศาลก่อนที่เจ้ามือจะ “เชิดเงินหนี” โดยการขายหุ้นทิ้งทำให้หุ้นตกลงไปมหาศาลและทำให้นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนทีหลังขาดทุนอย่างหนัก บางทีเกือบเป็นศูนย์อย่างนั้นหรือ? ส่วนตัวผมนั้นคิดว่ามันมี “หุ้นลูกโซ่” ในตลาดหลักทรัพย์และหุ้นเหล่านั้นมีวิธีการจัดการและลักษณะคล้ายกับแชร์ลูกโซ่มากจนแทบจะเรียกว่า “แฝดคนละฝา” มาดูกันว่าเป็นอย่างไร
ข้อแรกก็คือเรื่องของผลิตภัณฑ์ แชร์ลูกโซ่จะต้องอ้างว่านำเงินไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่กำลัง “ร้อนแรง” เช่น ในช่วงแรกในกรณี “แชร์แม่ชม้อย” ก็จะอ้างว่าลงทุนซื้อขายน้ำมันที่ราคากำลังวิ่งขึ้นสูงมากอานิสงค์จากวิกฤติน้ำมันในช่วงหลายสิบปีก่อน หลังจากนั้นก็มีแชร์อีกจำนวนมากเช่น แชร์ชาร์เตอร์ที่เป็นเรื่องการเงิน แชร์ไม้กฤษณา และล่าสุดก็คือ แชร์ท่องเที่ยวที่กำลังเป็นธุรกิจ “ร้อนแรง” เพื่อที่จะอ้าง
ได้ว่าสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงลิ่วได้ ส่วนในเรื่องของ “หุ้นลูกโซ่” เองนั้น ก็เช่นเดียวกัน จะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ร้อนแรงในช่วงเวลานั้น อย่างในช่วงเร็ว ๆ นี้ก็ต้องเป็นเรื่องของพลังงานทดแทน ลอร์จิสติก การปล่อยกู้ลูกค้าเครดิดต่ำ หรือสินค้าผู้บริโภคเป็นต้น
ข้อสองในเรื่องของ “เจ้ามือ” ที่จะต้องเป็นคนที่มีความ “น่าเชื่อถือ” ที่จะทำให้สามารถชักชวนให้คนเข้ามาลงทุนได้มาก ในกรณีของแชร์นั้น กรณีอย่างแชร์แม่ชม้อยซึ่งเป็นกรณีแรกก็อ้างว่ามี “แบ็ค” หรือ “ผู้อยู่เบื้องหลัง” เป็น “คนมีสีระดับสูง” เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีคนระดับ “ซินแส” ที่มีชื่อเสียงและอีกกรณีหนึ่งก็เป็นแพทย์ที่เป็นอาชีพที่คนยอมรับสูง ในกรณีของหุ้นเองนั้น “เจ้ามือ” ก็อาจจะต้องเป็น “เซียนหุ้น” ที่มี “ผลงาน” และมี “พลังเงิน” เป็นที่ยอมรับ แต่ก็แน่นอนว่าในเรื่องของหุ้นนั้น มันไม่ได้มีการประกาศว่าใครเป็น “เจ้ามือ” เงินที่นักลงทุนเข้าไปลงทุนเองก็ไม่ได้ส่งให้กับใครแต่เป็นการซื้อหุ้นในตลาด อย่างไรก็ตาม นี่เป็นความแตกต่างที่ไม่ได้มีนัยสำคัญถ้าผลมันก็เหมือนกันนั่นก็คือ มีเงินเข้ามาลงทุน
ข้อสามก็คือการชักชวนและประชาสัมพันธ์ให้คนจำนวนมากเข้ามาลงทุน ในเรื่องของแชร์นั้น ตอนแรกก็มักจะเป็นเพื่อนฝูง มีการบอกเล่าถึงสิ่งดี ๆ ทั้งหลายของผลิตภัณฑ์ ต่อมาก็เริ่มเห็นผลตอบแทนเป็นรายเดือน ต่อมาก็เริ่มมีการบอกต่อเพื่อนของเพื่อน ต่อมาก็ไปถึงประชาชนทั่วไป เม็ดเงินลงทุนก็เพิ่มทวีขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็วพร้อม ๆ กับผลตอบแทนรายเดือนที่มีการจ่ายให้เห็น ๆ ไม่มีพลาด “หุ้นลูกโซ่” เองก็เช่นเดียวกัน เริ่มจากการบอกต่อถึงเพื่อนที่เป็นนักลงทุนด้วยกัน มีการวิเคราะห์ถึงสิ่งดี ๆ ต่าง ๆ ของหุ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของกิจการ ต่อมาก็เริ่มเห็นว่าราคาหุ้นปรับตัวขึ้นผลตอบแทนที่สูงลิ่วมาตามคาดเป็นรายเดือนหรือวันสำหรับคนที่นำเงินมาลงทุนซื้อหุ้น ต่อมาก็มีการบอกต่อเพื่อนของเพื่อน ต่อมาก็ไปถึงนักลงทุนทั่วทั้งตลาด ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปพร้อมกับเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นทวีคูณจากนักลงทุนรายใหม่ ๆ แต่ที่เพิ่มขึ้นสุดยอดก็คือเม็ดเงินที่เป็นตัวเลขในพอร์ตของเจ้ามือแม้ว่าจะไม่มีใครเอาเงินมาหยิบยื่นให้โดยตรงแต่ผลก็คล้ายๆ กัน
ข้อสี่คือกระบวนการ “เชิดเงินหนี” ในกรณีของแชร์ลูกโซ่นั้นก็คือการที่เจ้ามือหยุดจ่ายคืนผลตอบแทนและไม่คืนเงินต้นซึ่งก็นำไปสู่การร้องเรียนแจ้งความของคนลงทุนจำนวนมาก เจ้ามือบางคนก็สามารถเชิดเงินซึ่งมักจะมีจำนวนมหาศาลหนีไปอยู่ต่างประเทศ บางคนก็ถูกจับและติดคุก ในกรณีของหุ้นนั้นก็คือการที่เจ้ามือขายหุ้นทิ้งในราคาที่สูงลิ่วเทียบกับเงินลงทุนของตนเองและในกระบวนการนั้นทำให้หุ้นตกลงมาอย่างแรงและรวดเร็วทำให้นักลงทุนที่เข้าไปลงทุนก่อนหน้านั้นในราคาที่สูงมากต้องขาดทุนอย่างหนัก หลายคนต้องขายหุ้นทิ้งและขาดทุนไปบางทีเกิน 50% ในเวลาอันสั้น นี่ทำให้เงินทั้งหมดที่เคยเป็น “ตัวเลข” กำไรและขาดทุน กลายเป็นกำไรและขาดทุนเป็นเงินสดจริง เจ้ามือเองนั้นเก็บเงินไปมหาศาลอย่างมีความสุข น้อยครั้งที่จะต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ
ความแตกต่างระหว่างแชร์ลูกโซ่กับหุ้นลูกโซ่นั้นก็คือ ในกรณีแชร์ลูกโซ่นั้น เจ้ามือมักจะไม่ต้องลงทุนในเรื่องของเม็ดเงินในขณะที่หุ้นนั้นพวกเขาต้องมีทุนในการที่จะซื้อหุ้นจำนวนมากเพื่อ Corner หรือซื้อหุ้นที่กระจายในตลาดด้วยเม็ดเงินที่มีนัยสำคัญเพื่อทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปสูงอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าหุ้นนั้นจ่ายผลตอบแทนรายเดือนหรือรายวันสูงลิ่ว ประเด็นต่อมาก็คือในเรื่องของ “ความเสี่ยง” เจ้ามือแชร์นั้นไม่ได้เสี่ยงในแง่ของเม็ดเงินแต่ต้องเสี่ยงที่จะถูกจับติดคุกและเสียชื่อเสียง ในขณะที่กรณีของหุ้นนั้น ความเสี่ยงของเจ้ามือก็คือเกิดความผิดพลาดในระหว่างกระบวนการทำให้ไม่สามารถ “ออกของ” หรือขายหุ้นได้ทันก่อนที่มันจะตก ตัวอย่างเช่น เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่รายอื่นที่คิดว่าไม่ใช่หุ้นที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดนำหุ้นจำนวนมากออกมาขายส่งผลให้หุ้นตกลงมาแรงก่อน “เจ้ามือ” จะขายหุ้นทัน หรือในระหว่างนั้นผลประกอบการบริษัทอาจจะย่ำแย่และทำให้คนขาดความมั่นใจและต่างก็ขายหุ้น “หนีตาย” ทำให้เจ้ามือต้องขายหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าที่ซื้อมาเป็นต้น นาน ๆ ครั้งก็มีเหมือนกันที่เจ้ามือต้องถูกดำเนินคดีในกรณีที่มีการทำผิดกฎหมายในกระบวนการทำหุ้น
ความแตกต่างสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ ในกรณีของแชร์ลูกโซ่นั้น คนที่เข้าไปเล่นดูเหมือนว่าจะมีน้อยคนที่จะได้กำไรหรือไม่ขาดทุน ส่วนใหญ่เงินลงทุนแทบจะศูนย์ เมื่อจบแล้วทุกคนรู้ว่าตนเองถูกโกงและไม่กลับไปเล่นอีก แต่ในกรณีของหุ้นลูกโซ่นั้น คนเล่นที่ยังได้กำไรดูเหมือนว่าอาจจะมีอยู่บ้าง จำนวนไม่น้อยก็อาจจะขาดทุนไม่มากแม้ว่าบางคนเงินลงทุนเกือบศูนย์ แต่คนส่วนใหญ่ก็ดูเหมือนจะไม่คิดว่าตนเองถูกโกง พวกเขามักโทษตัวเอง บางคนก็ด่าเจ้ามือในเวบหรือสื่อสังคม เสร็จแล้วก็มักจะกลับไปเล่น “หุ้นลูกโซ่” ตัวต่อไป เขาคงคิดว่าคราวนี้ต้อง “ออก” ทัน ผลตอบแทนที่มักจะสูงลิ่วในเวลาอันสั้นเป็นสิ่งที่ดึงดูดคนที่มีความโลภได้เสมอ
ที่มาบทความ : http://www.thaivi.org/แชร์หุ้นลูกโซ่