กว่าสิบปีที่ผ่านมาเราได้พบนักลงทุนทั้ง VI และ “รายใหญ่” แนวทางอื่น ๆ ที่ร่ำรวยมีพอร์ตเป็นสิบ ร้อยหรือพันล้านบาทจำนวนไม่น้อยที่ปรากฏขึ้นบน “ยุทธภพ” ของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เรามักจะสรุปว่าพวกเขาเป็น “เซียน” ที่มีฝีมือระดับ “เทพ” ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงลิบเป็นหลายสิบหรือบางทีเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ต่อปีแบบทบต้นต่อเนื่องกันหลาย ๆ ปี ผู้ประสบความสำเร็จเหล่านั้นบางคนก็เขียนหนังสือเปิดเผยหรืออธิบายถึงหลักการที่ตนเองใช้ในการเอาชนะตลาดอย่างงดงามและหลักการเหล่านั้นบ่อยครั้งก็เป็นหลักการที่เป็น “เอกลักษณ์” ของตนเองหรือประยุกต์จากหลักการที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก ผลงานการลงทุนที่อ้างว่ามาจาก “ฝีมือ” ของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาถ้าเป็นความจริงก็น่าจะเรียกว่าเป็น “สุดยอดนักลงทุนของโลก” เพราะผลตอบแทนที่ได้นั้นสูงกว่าของปีเตอร์ลินช์ จอร์จโซรอส และวอเร็นบัฟเฟตต์ที่มีสถิติสร้างผลตอบแทนแบบทบต้นได้ปีละ 20-30 กว่าเปอร์เซ็นต์ต่อปี ไม่ต้องพูดถึงจอห์นเนฟเซียน VI แนวอนุรักษ์ ที่อาจจะได้แค่ 15-18% ต่อปีซึ่ง “ไม่น่าเป็นไปได้” และนี่ก็คือเหตุผลที่ผมคิดว่าผลงานของ VI ไทยซึ่งรวมถึงตัวผมเองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น เป็นผลงานที่ส่วนใหญ่แล้วมาจาก “โชคดี” หรือปัจจัยอื่น ๆ ส่วนเรื่องของ “ฝีมือ” นั้น เป็นส่วนประกอบที่อาจจะมีผลไม่มากนัก
โชคดี หรือ ฝีมือ
บางคนอาจจะเถียงว่าถ้าเป็นเรื่องของ “โชค” จะเป็นไปได้อย่างไรที่คนเราจะโชคดีติดต่อกันเป็นหลาย ๆ ปีหรือเป็นกว่าสิบปีและก็เกิดขึ้นกับคนจำนวนไม่น้อย? คำตอบของผมก็คือ เป็นไปได้! ลองมาดูว่าบางทีเรื่องของโชคก็สามารถสร้างคนให้รวยขึ้นมาได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ สมมุติว่าเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมามีคน 200,000 คน เอาเงินมาพนันด้วยเม็ดเงินเท่ากันที่คนละ 100,000 บาท ดังนั้นเงินที่เข้ามาอยู่ในวงก็เท่ากับ 20,000 ล้านบาท พอสิ้นปีแรกเราก็จับคู่คนที่เข้าแข่งและ “ปั่นแปะ” ว่าใครจะชนะ คนที่ชนะก็จะได้เงินของคนแพ้ทั้งหมดซึ่งจะต้องออกจากการแข่งขันไป ส่วนคนชนะจะมีเงิน 200,000 บาทซึ่งก็จะนำไปเล่นต่อในปีต่อไป ซึ่งก็จะเหลือคนแข่งในปีที่สองเพียง 100,000 คน พอสิ้นปีที่สอง คนชนะก็จะเหลือ 50,000 คนและแต่ละคนก็จะมีเงินคนละ 400,000 บาท เราจะทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบ 10 ปี ก็จะพบว่าเหลือคนเพียงประมาณ 200 คน และแต่ละคนจะมีเงินคนละ 100 ล้านบาท หรือเงินเพิ่มขึ้น 1,000 เท่าในเวลา 10 ปี ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นจาก “โชค” หรือความบังเอิญทั้งหมดไม่ได้เกี่ยวกับฝีมืออะไรเลย ตัวอย่างที่ผมยกมานั้นก็อาจจะคล้าย ๆ กับว่ามีนักลงทุนหรือคนเล่นหุ้นเข้ามาเล่นสองแสนคนซึ่งก็ใกล้เคียงกับคนเล่นหุ้นปัจจุบันซึ่งเวลาผ่านไปส่วนใหญ่ก็อาจจะไม่ได้กำไรหรือขาดทุน คนที่รวยถึง 100 ล้านบาทจำนวนประมาณ 200 คนก็อาจจะคล้าย ๆ กับจำนวน “เซียน” ที่มีอยู่ในปัจจุบันหลังจากที่ลงทุนผ่านมา 10 ปี อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้บอกว่าคนที่รวยทุกวันนี้ในตลาดหุ้นได้มาเพราะโชค ผมเพียงแต่อยากจะบอกว่า อย่าคิดว่าทุกคนที่รวยนั้นมาจากฝีมือล้วน ๆ
การที่คนมีพอร์ตเงินลงทุนเป็นเงินจำนวนมากและเราคิดว่าเขาประสบความสำเร็จอย่างสูงและมาจากฝีมือในการลงทุนของเขาเองนั้น บางทีก็อาจจะไม่เป็นอย่างนั้น ข้อแรกก็คือ เขาอาจจะไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลยเพราะเราอาจจะไม่รู้ว่าเขาเริ่มนำเงินเข้ามาลงทุนเท่าไร เป็นไปได้ว่าเขาอาจจะลงทุนด้วยเงิน 50 ล้านบาทและกำไรเป็นเท่าตัวหลังจากผ่านไปหลาย ๆ ปีซึ่งก็ไม่ได้ให้ผลตอบแทนมากนัก หรือที่อาจจะแย่กว่ามากก็คือ เขาลงทุนด้วยเงินเริ่มต้น 200 ล้านบาท แต่ตอนที่เราเห็นนั้นเหลือเพียง 100 ล้านบาท ดังนั้น ขนาดของพอร์ตจึงบอกไม่ได้ว่านักลงทุนประสบความสำเร็จในการลงทุนจริง อย่างไรก็ตาม คนที่พอร์ตมีขนาดเล็กนั้น ต่อให้พอร์ตเติบโตเร็วแค่ไหนก็ไม่มีใครยกย่อง คนมักจะให้ค่ากับคนที่รวยและพอร์ตใหญ่
ข้อที่สองก็คือ คนที่มีพอร์ตที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีขนาดใหญ่จนคนทั้งหลายเห็นและยอมรับอย่างกว้างขวางเองนั้น บางทีก็ไม่ได้มาจาก “ฝีมือ” การลงทุนแบบ “สุจริต” นั่นคือ เขาอาจจะใช้วิธีการที่ “ฉ้อฉล” เช่น “ปั่นหุ้น” หรือใช้ “ข้อมูลภายใน” ในการซื้อขายหุ้นเอาเปรียบโดยที่คนอื่นไม่รู้ นอกจากนั้น การซื้อขายหุ้นโดยใช้วิธีที่ต้องรับความเสี่ยงมหาศาล เช่น เล่นหุ้นโดยมาร์จินเต็มที่และ/หรือซื้อขายตราสารอนุพันธ์เป็นนิจสินก็ถือว่าไม่ได้เกิดจาก “ฝีมือ” ในการเลือกหุ้นลงทุนเท่าที่ควรและมีโอกาสสูงที่อาจจะพลาดและขาดทุนหนักมากได้เพียงแต่ในวันที่เห็นนั้น “หายนะ” ยังไม่เกิดขึ้น
แบบไหนเรียกว่าประสบความสำเร็จ
การที่จะดูว่าใครซึ่งรวมถึงตัวเราเองด้วยว่าประสบความสำเร็จแค่ไหนในช่วงที่ผ่านมาและความสำเร็จนั้นมาจากโชคหรือฝีมือหรือจาก “กลโกง” นั้น ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจว่าพอร์ตที่ยังเล็กมากนั้น มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงลิ่วโดยที่ไม่เกี่ยวกับฝีมือนั้นมีมาก สาเหตุก็คือ เราสามารถหาหุ้นลงทุนได้ง่ายและเราจะกล้าเสี่ยงมากกว่าเนื่องจากเราพร้อมที่จะเสียได้มากกว่า ว่าที่จริงเราจะเสียจนหมดก็ยังได้ ดังนั้น เราจึงไม่ต้องกระจายความเสี่ยงโดยการถือหุ้นหลายตัวหรือถือหุ้นที่ปลอดภัย การวัดผลตอบแทนในช่วงแรกจึงอาจจะไม่มีความหมายมากนัก ยิ่งพอร์ตเราใหญ่มากขึ้นเท่าไร การสร้างผลตอบแทนสูงมาก ๆ ก็มักจะทำได้ยากขึ้น โอกาสที่จะทำกำไรเป็นเท่าตัวในปีเดียวนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ คำถามว่าจะเริ่มวัดผลตอบแทนเมื่อไรนั้นผมคิดว่าอยู่ที่แต่ละคน หลักการก็คือ ในวันนั้นพอร์ตควรจะมีขนาดที่เราคิดว่าความเสียหายหนักๆ จะกระทบกับชีวิตตนเองอย่างแรง และสำหรับคนกินเงินเดือนและไม่มีทรัพย์สินจากพ่อแม่ พอร์ตที่จะเริ่มนับผลตอบแทนเป็นเรื่องเป็นราวควรจะมีมูลค่าอย่างน้อยเท่ากับรายได้จากแรงงานของตน 3-4 ปีขึ้นไป
ความสามารถในการลงทุนนั้น ปกติต้องเปรียบเทียบกับผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเวลาเดียวกัน และเราจะต้องใช้ผลตอบแทนรวมของเงินทั้งหมดที่สามารถลงทุนได้ของเรา ตัวอย่างเช่น ถ้าเงินที่เราสามารถนำมาลงทุนได้เท่ากับ 1 ล้านบาท เราต้องคิดว่าผลตอบแทนที่ได้ทั้งหมดเท่ากับเท่าไร ไม่ใช่คิดเฉพาะเงินลงทุนในหุ้นเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีหุ้น 5 แสนบาท ได้ผลตอบแทน 10% เราจะได้เงิน 5 หมื่นบาท ในขณะที่เงินอีก 5 แสนบาทนั้นเราฝากออมทรัพย์ได้ 1% ต่อปีซึ่งจะทำให้เราได้ดอกเบี้ย 5,000 บาท รวมแล้วเราได้ผลตอบแทน 55,000 บาทหรือคิดเป็น 5.5% ของเงิน 1 ล้านบาทเท่านั้น กฎเกณฑ์ข้อนี้เพื่อที่จะบังคับให้เราต้องคิดถึงการเลือกลงทุนในเครื่องมือหรือตราสารการเงินที่ถูกต้องและให้ผลตอบแทนสูงและในความเสี่ยงที่ยอมรับได้
ผลการลงทุนที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์นั้นจะต้องเป็นผลงานระยะยาวและคิดค่าเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น โดยสถิติระยะยาวผลตอบแทนของตลาดจะเท่ากับปีละประมาณ 10% แบบทบต้น แต่ในบางช่วงเวลา เช่น 10 ปีที่ผ่านมานั้นตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนประมาณ 11% ต่อปีโดยเฉลี่ยแบบทบต้น แต่ถ้ามองย้อนหลังไปแค่ประมาณ 8 ปี คือนับจากหลังวิกฤติตลาดหุ้นที่ดัชนีตลาดตกลงมาเหลือเพียง 400 จุดในเดือนพฤศจิกายน 2551 มาถึงปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ก็ให้ผลตอบแทนทบต้นถึงปีละ 21% ดังนั้น ถ้าเราเริ่มลงทุนหลังวิกฤติและเราได้ผลตอบแทนสูงมากถึง 20% ต่อปีแบบทบต้น เราก็ไม่ถือว่าทำผลงานได้ดีเลยเมื่อเทียบกับคนที่ลงทุนมา 10 ปี และได้ผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นปีละ 15%
นอกจากผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาดในระยะยาวแล้ว คนที่ทำผลตอบแทนเหนือกว่าตลาดปีต่อปีก็ต้องถือว่ามีผลงานที่ดี ตัวอย่างเช่น ถ้าใน 10 ปีเราสามารถเอาชนะได้ 8 ปี แบบนี้ก็ต้องถือว่าผลงานน่าประทับใจ นอกจากนั้น ผลงานที่ผมคิดว่าสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผลตอบแทนปีต่อปีควรจะเป็นบวกมากกว่าเป็นลบมาก ๆ โดยที่ตลาดหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยแล้วมีผลตอบแทนเป็นบวกประมาณ 6-7 ปีในขณะที่ผลตอบแทนติดลบประมาณ 3-4 ปีในช่วงเวลา 10 ปี ถ้าผลงานของเราติดลบแค่ 1-2 ปีใน 10 ปีแบบนี้ก็ต้องถือว่าเราทำผลงานการลงทุนได้ดี
ทั้งหมดนั้นพูดถึง “ผลงาน” การลงทุนที่จะต้องวัด “ระยะยาว” อย่างต่ำน่าจะต้อง 10 ปีขึ้นไป ยิ่งยาวยิ่งดี แต่การที่จะสรุปว่าเป็นเพราะ “ฝีมือ” นั้น เราจะต้องพิจารณาอย่างไม่ลำเอียงโดยเฉพาะในกรณีที่สถิติของเรายังไม่ยาวพอ อย่างไรก็ตาม คนที่สร้างสถิติผลตอบแทนที่สูงมาก ๆ แบบเหนือกว่าผลตอบแทนตลาดระดับ 10-20% ขึ้นไปต่อปีแบบทบต้นนั้น ผมคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่จะมาจากฝีมือทั้งหมด โชคน่าจะมีส่วนที่สำคัญ เช่นเดียวกับ “กลโกง” ซึ่งทั้งสองอย่างนั้น ไม่จีรัง และเราจะหวังให้เป็นอย่างนั้นต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ วอเร็นบัฟเฟตต์นั้นลงทุนมานานถึง 60 ปีซึ่งน่าจะตัดเรื่องของโชคไปได้ทั้งหมด ผลงานของบัฟเฟตต์จึงน่าจะเกิดขึ้นจากฝีมือเพียงอย่างเดียว ซึ่งสถิติก็คือ สามารถเอาชนะผลตอบแทนของตลาดได้ประมาณ 10% ต่อปีโดยเฉลี่ยแบบทบต้น และนี่ก็คือสิ่งที่เราจะต้องตระหนัก
ที่มาบทความ : http://www.thaivi.org/โชคดีฝีมือหรือกลโกง