กำไรที่หายไป

กำไรไตรมาส 4 ปี 2561 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลดลงอย่างมากถึงประมาณ 40% เมื่อเทียบกับผลประกอบการในไตรมาส 4 ปีที่แล้วและไตรมาส 3 ปี 2561 โดยตัวเลขก็คือกำไรลดเหลือประมาณ 157,400 ล้านบาทเทียบกับกำไร 253,235 ในปีก่อน หรือลดลงถึง 95,835 ล้านบาท  และนี่ก็ทำให้ผลประกอบการโดยรวมของปี 2561 ปรับตัวลงมาเหลือใกล้เคียงกับกำไรของปี 2560 ที่ประมาณเกือบ 1 ล้านล้านบาท ทั้ง ๆ  ที่ตั้งแต่ต้นปี 2561 นักวิเคราะห์ต่างก็คาดการณ์ว่ากำไรน่าจะโตขึ้นมากใกล้ ๆ  10%  และตัวเลขถึงไตรมาส 3 ปี 2561 ก็ชี้ว่ากำไรโตถึง 12% เมื่อเทียบกับช่วง 3 ไตรมาสของปี 2560   การลดลงของกำไรในไตรมาส 4 ปี 2561 อย่าง “ไม่คาดคิด”  ได้ทำให้นักวิเคราะห์  “หน้าแตก”  อีกเช่นเคยในแง่ของการคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนโดยรวมในแต่ละปี  และก็ช่วยยืนยันความเห็นของผมและ “ตัวเลขจากประวัติศาสตร์” ที่ว่ากำไรโดยรวมของบริษัทจดทะเบียน “โดยปกติ” นั้นมักจะโตอย่างช้า ๆ  โดยที่อัตราการโตจะประมาณเท่ากับอัตราการเติบโตของ GDP บวกด้วยอัตราเงินเฟ้อในระยะยาว  ซึ่งในกรณีของไทยเราในช่วงนี้และอาจจะต่อ ๆ  ไปก็คือ   อัตราการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนก็น่าจะประมาณ 5% ต่อปีเท่านั้น

แต่กำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นในไตรมาส 1 ของปี 2562 และกำไรในไตรมาสต่อ ๆ  ไปก็คงจะไม่เลวร้ายลงแบบที่เกิดขึ้นในไตรมาส 4 ปีก่อน  เหตุผลก็เพราะว่ากำไรในไตรมาส 4 ปีที่แล้วที่แย่ลงมากนั้น  เป็นเรื่องที่เกิดขึ้น  “ครั้งเดียว”  ไม่ใช่เกิดขึ้นจากกำไรตาม “ปกติ”  ของธุรกิจ  แต่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการลดลงของราคาน้ำมันดิบของโลกที่รุนแรงในช่วงปลายปี 2561 เทียบกับสิ้นปี 2560 ซึ่งส่งผลให้เกิดการ “ขาดทุน”  จากสต็อกน้ำมันของธุรกิจที่เกี่ยวกับการกลั่นและการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่และมีจำนวนมากในตลาดหลักทรัพย์  นอกจากนั้นก็ยังเกิดขึ้นเนื่องจากการสำรองการด้อยค่าและรายจ่ายเฉพาะบางอย่างของบริษัทโทรศัพท์มือถือขนาดใหญ่บางแห่งที่เป็นเรื่องที่น่าจะเกิดขึ้น  “ครั้งเดียว”  เช่นกัน  ลองมาดูกันว่ามีกลุ่มอุตสาหกรรมและบริษัทอะไรบ้าง

กลุ่มแรกนั้นแน่นอนก็คือกลุ่มพลังงาน

โดยเฉพาะก็คือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันไล่ตั้งแต่บริษัทใหญ่ที่สุดก็คือ ปตท. ที่กำไรลดลงสูงที่สุดที่ 15,825 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2561 เทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2560  ตามมาด้วยหุ้น TOP โรงกลั่นขนาดใหญ่ที่ผลประกอบการติดลบและกำไรถดถอยลง 11,739 ล้านบาท  หุ้น  SPRC IRPC ESSO และบางจาก  มีกำไรลดลง 6,453  6,139 5,653  และ 3,000  ล้านบาทตามลำดับเมื่อเทียบกับผลกำไรของไตรมาส 4 ปี 2560  และทั้งหมดนั้นส่งผลให้หุ้นในกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภคมีกำไรลดลงถึง  53,255 ล้านบาทในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561

หุ้นกลุ่มสื่อสารนั้น 

กำไรลดลงจาก 12,985 ล้านบาทเป็นแค่ 1,309 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2561 หรือลดลง  11,676 ล้านบาท  โดยที่การลดลงนั้นมาจากการขาดทุนของหุ้น DTAC ที่ทำให้กำไรลดลงถึง 5,483 ล้านบาท เช่นเดียวกับหุ้น TRUE ที่มีขาดทุนและทำให้กำไรลดลง 6,639 ในไตรมาส 4 ปี2561 เที่ยบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2560  ทั้งสองกรณีนั้นเป็นเรื่องของการสำรองในเรื่องราวที่น่าจะเกิดครั้งเดียวไม่ใช่การดำเนินงานปกติ

กลุ่มปิโตรเคมีเองนั้น 

เรื่องของราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงไปรุนแรงก็น่าจะส่งผลถึงรายได้และต้นทุนของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต  เห็นได้จากหุ้น IVL ที่เคยทำกำไรได้ถึง 10,003 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2560 เหลือเพียง 2,355 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2561 หรือกำไรลดลงถึง 7,648 ล้านบาท  และในทำนองเดียวกัน  หุ้น PTTGC ซึ่งมีกำไรลดลงจาก 9,559 ล้านบาทเป็น 4,062 ล้านบาทหรือลดลง 5,498 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน  โดยรวมแล้วหุ้นในกลุ่มปิโตรเคมีนั้นมีกำไรลดลง 13,070  ล้านบาท และนี่ก็น่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น  “ครั้งเดียว” ไม่ต่อเนื่องในไตรมาสต่อไป

หุ้นกลุ่มสุดท้ายที่มีกำไรลดลงมากในไตรมาส 4 ปี 2561 ก็คือหุ้นขนส่งและโลจิสติกส์

ที่กำไรทั้งกลุ่มเหลือเพียง 20 ล้านบาทจาก 13,179 ล้านบาทหรือลดลง 13,159 ล้านบาท  นี่ก็เป็นผลหลัก ๆ  มาจากหุ้นสายการบินโดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นการบินไทยที่ขาดทุนหนักกว่า 7 พันล้านบาท หรือกำไรลดลงถึง 9,315 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะมาจากสาเหตุที่ไม่น่าจะต่อเนื่องไปอีกในไตรมาสต่อไปมิฉะนั้นบริษัทก็อาจจะมีปัญหาได้

เมื่อรวมการลดลงของกำไรของ 4 อุตสาหกรรมทั้งหมดที่กล่าวจำนวนประมาณ 91,160 ล้านบาท เทียบกับตัวเลขการลดลงของกำไรของบริษัทจดทะเบียนทั้งตลาดที่ 95,835 ล้านบาท  เราก็สามารถสรุปได้ว่า  แท้ที่จริงแล้ว  กำไร  “ปกติ” ของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 4 ปี 2561 นั้น  ก็ยัง “ปกติ” อยู่  กำไรที่ลดลงเกือบแสนล้านบาทที่เห็นนั้น  เป็นการลดลงเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันเป็นหลักและน่าจะเกิดขึ้น  “ครั้งเดียว”  ไตรมาสต่อ ๆ ไปไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก  เพราะน้ำมันดิบคงไม่ลดลงไปมากแบบนั้นอีกในระยะเวลาอันสั้น  ว่าที่จริง  ราคาน้ำมันอาจจะปรับตัวขึ้นและอุตสาหกรรมที่กล่าวถึงอาจจะมีกำไรเพิ่มขึ้นก็ได้  แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  ในระยะยาว ๆ  แล้ว  ผลกระทบจากราคาน้ำมันน่าจะ “เป็นกลาง” นั่นก็คือ  ไม่ต้องนำมาคิดรวมกับกำไรปกติของธุรกิจที่เรานำมาใช้ในการประเมินมูลค่าของหุ้นทั้งตลาด

ผมเองได้ลองมองย้อนหลังตัวเลขกำไรของบริษัทจดทะเบียนระยะยาว  ซึ่งก็ทำให้ไม่ต้องคำนึงถึงกำไรหรือขาดทุนครั้งเดียวเนื่องจากราคาน้ำมันหรือเหตุการณ์สำรองใหญ่ ๆ  อื่น ๆ  ก็พบว่า  ในระยะเวลาตั้งแต่สิ้นปี 2547 จนถึงสิ้นปี 2561 คิดเป็นเวลา 14 ปี  นับตั้งแต่หุ้นพลังงานยักษ์ใหญ่อย่าง ปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์  กำไรของบริษัททั้งตลาดนั้นเริ่มที่ประมาณ 460,000 ล้านบาทในปี 2547 กลายเป็นประมาณ 984,000 ล้านบาท คิดแล้วกำไรเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยแบบทบต้นที่ประมาณ 5.6% ต่อปี ซึ่งก็น่าจะพอ ๆ  กับอัตราการเติบโตของ GDP ในช่วงเดียวกัน  แต่ถ้าดูย้อนหลังแค่ 5 ปี คือตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปี 2561  ก็พบว่ากำไรเพิ่มขึ้นจาก 795,000 ล้านบาท เป็น 984,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตของกำไรแบบทบต้นต่อปีเท่ากับ 4.4% หรือลดลงมา 1.2% ซึ่งก็สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของ GDP ที่ลดลงของประเทศไทยในช่วงหลัง ๆ  นี้

ข้อสรุปของผมจากตัวเลขและบทความนี้ก็คือ  การเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดแต่ละปีนั้น  น่าจะค่อนข้างจะสัมพันธ์กับการเติบโตของ GDP ของประเทศ  การผันผวนนั้น  ส่วนใหญ่น่าจะมาจากเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียวหรือไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียวแต่ในระยะยาวแล้วก็จะหักกลบลบกันไปจนทำให้ในระยะยาวแล้วไม่ได้มีผลอะไรต่ออัตราการเติบโตของกำไร  ดังนั้น  การวิเคราะห์ว่ามูลค่าหลักทรัพย์ของตลาดหรือดัชนีหุ้นจะเพิ่มขึ้นเท่าไรในแต่ละปีนั้น  จึงควรที่จะกำหนดจากการเติบโตของกำไรที่ก็อิงกับการเติบโตของ GDP  แต่ก็แน่นอนว่าในบางปีหรือบางช่วง  กำไรของบริษัทจดทะเบียนอาจจะดูดีหรือแย่กว่าปกติได้เนื่องจากเหตุการณ์พิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของราคาน้ำมันดิบโลก  อย่างไรก็ตาม  ถ้าเราเป็น VI ที่เน้นลงทุนระยะยาว  เราอาจจะต้องมองข้ามประเด็นนี้และเน้นไปที่  “กำไรปกติ”  ถ้ากำไรปกตินั้นยังดีอยู่  เราก็ไม่ต้องกังวล  แต่ถ้าคนอื่นกังวลและเทขายหุ้นจนมีราคาต่ำเกินไป  นั่นก็อาจจะเป็นโอกาสของเราที่จะซื้อ  ทั้งหมดนั้นก็คือเรื่องของกำไรของทั้งตลาด  แต่ในกรณีของหุ้นแต่ละตัว  เราก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน  และนี่ก็คือการมองแบบ VI ที่พยายามเข้าใจธรรมชาติของกำไรว่าอะไรคือกำไรปกติและแนวโน้มของมัน  และเราจะฉวยโอกาสอย่างไรในกรณีที่ตลาดมองอีกแบบหนึ่ง

ที่มาบทความ: http://www.thaivi.org/กำไรที่หายไป/

TSF2024