เส้นทางชีวิตก่อนเป็นนักลงทุนเต็มตัว

“คนรุ่นใหม่” ที่สนใจในเรื่องของ “การลงทุน” จำนวนไม่น้อยมักจะมี “ความฝัน” ว่า วันหนึ่งเขาจะประสบความสำเร็จ กลายเป็นคนที่มี “อิสรภาพทางการเงิน” และเป็น “นักลงทุนเต็มตัว” ที่หาเงินเลี้ยงชีพโดยไม่ต้องทำงานประจำ แต่ลงทุนหรือซื้อขายหลักทรัพย์หรือตราสารทางการเงินหรือทรัพย์สินดิจิทัลเป็นหลัก ซึ่งนั่นก็คือสิ่งที่เขา “ชอบ” และเป็น “อิสรภาพที่แท้จริง” ที่จะทำให้เขา “มีความสุข” เพราะไม่ต้องตรากตรำทำงานหนัก ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่นที่ตนเองไม่ชอบ อยากทำอะไรหรือไปท่องเที่ยวที่ไหนก็ทำได้ ในขณะเดียวกันก็ “ไม่รู้สึกเบื่อ” ยังมีชีวิตที่น่าตื่นเต้นเร้าใจเมื่อตลาดหุ้นหรือสิ่งที่ลงทุนขึ้นลงหวือหวาตลอด

ผมเองน่าจะถือว่าผ่านจุดที่เป็นความฝันแบบนั้นมานานพอสมควรแล้ว แต่เป็นการมาถึงที่แทบจะไม่ได้ฝันเลย จะเรียกว่า “มาโดยบังเอิญ” ก็พูดไม่ได้เต็มปากเช่นกัน เพราะความฝันแบบนั้นเพิ่งจะเกิดขึ้นในหมู่ของคนรุ่นใหม่ไม่นานมานี้เอง เหตุผลก็เพราะว่า ตลาดหุ้นหรือตลาดการลงทุนต่าง ๆ นั้น เพิ่งจะบูมมาไม่นาน อาจจะแค่สิบกว่าปีมานี้เอง แม้แต่คำว่าอิสรภาพทางการเงินเองนั้นก็เป็นคำที่ใหม่มาก ผมเองก็ไม่เคยรู้จักจนกระทั่งตัวเอง “เกษียณ” จากงานประจำไปแล้ว แต่ในเมื่อคนรุ่นใหม่สนใจและอยากเดินทางไปสู่ความฝันนี้ ผมก็เลยอยากที่จะเล่าเรื่องราวชีวิตของผมแบบสั้นที่สุดว่าแต่ละช่วงเป็นอย่างไรเพื่อว่าจะเป็นบทเรียนสำหรับคนที่อยากเดินทางสายนี้

ผมเองเกิดมาในครอบครัวที่ยากจนมากแต่เนื่องจากเรียนดีใช้ได้และเป็นลูกคนสุดท้อง จึงมีโอกาสได้เรียนจนจบปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ทำให้สามารถหางานทำที่มีเงินเดือนค่อนข้างดีในยุคเกือบ 50 ปีมาแล้วตอนอายุ 22 ปี มองย้อนหลังกลับไป ผมเกิดมาก็มีคุณสมบัติเป็น “VI โดยธรรมชาติ” นั่นก็คือ เป็นคนที่ขยันหาเงินตั้งแต่เด็กประหยัดอดออม เป็นคนที่ชอบคิดและหาเหตุผล มีวินัยสูง และที่สำคัญก็คือ “ยากจน”

ช่วงอายุต่อมาคือ 23-32 ปี เป็นเวลา 10 ปี นั้น ผมทำงานและเรียนปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจด้านการตลาดไปด้วยในประเทศ และเรียนปริญญาเอกด้านการเงินที่สหรัฐอเมริกาจนจบและกลับมาเมืองไทยเมื่ออายุ 32 ปี โดยที่ไม่มีเงินเก็บเลยเพราะต้องใช้ในการเรียนและส่งให้พ่อแม่เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว ดังนั้น นี่คือเวลา 10 ปีที่ใช้ไปกับการ “สะสมความรู้” ที่อาจจะพูดได้อย่างหยาบ ๆ ก็คือ “ที่ไม่ทำเงิน” มองย้อนหลังกลับไป ผมเสียเวลาเรียนโดยที่ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร ผมไปอเมริกาเพราะอยากจะ “เห็นโลก” มากกว่าที่จะอยากรวยหรือประสบความสำเร็จ แต่ลึก ๆ ก็คือ อยากจะมีชื่อว่าเป็น “ดอกเตอร์” นำหน้าชื่อตัวเอง

กลับจากอเมริกาหลังจากเรียนจบและใช้เวลา 4 ปี ผมก็แต่งงานและเข้าทำงานในสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ก่อนที่จะย้ายไปทำงานในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมื่อตลาดหุ้นเริ่มบูมอย่างหนักและบริษัทต้องการคนที่จะเข้ามาเริ่มธุรกิจใหม่โดยเฉพาะการทำ IPO เอาหุ้นเข้าตลาด การทำงานในช่วงเวลาประมาณ 12 ปี คือตั้งแต่อายุ 33-44 ปี นี้ มองย้อนหลังแล้วก็เป็นช่วงชีวิตที่ทำงานและดูแลครอบครัวที่มีลูกเล็ก 1 คน โดยที่งานก็ “ไปเรื่อย ๆ” เงินที่ได้รับก็ดีใช้ได้โดยเฉพาะในช่วงอยู่บริษัทหลักทรัพย์ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ทุกอย่างเหมือนว่าจะ “อยู่ตัว” แต่ถ้าจะพูดถึง “ความสำเร็จในชีวิต” นั้น ก็แทบจะไม่มี พยายาม “ค้นหาตัวตน” ของตนเองก็ดูเหมือนว่าจะไม่พบ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ตั้งแต่อายุ 28 ที่ “เสี่ยง” เดินทางไปเรียนต่อที่อเมริกาโดย “ไม่มีเงินเลย” ผมก็ไม่เคยเสี่ยงกับอะไรอีกเลย ดังนั้น ผมคิดว่าผมคงทำงานเป็นลูกจ้างไปจนเกษียณ

วิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 ตอนอายุ 44 ปี ผมก็พบกับ “โชคร้าย” ซึ่งมองย้อนหลังไปกลับเป็น “โชคดี” ที่ผมต้องถูกให้ออกจากงานในฐานะเป็นผู้บริหารคนหนึ่งของบริษัทที่มีปัญหาและต้องกู้เงินจากแบงก์ชาติ สถานการณ์ที่อาจจะหางานทำที่เหมาะสมไม่ได้ บังคับให้ผมต้องลงทุนเงิน “ก้อนสุดท้าย” เพื่อรักษามาตรฐานการดำรงชีวิตของคนในครอบครัว และหลังจากการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนแล้วผมก็เลือก “ลงทุนเพื่อชีวิต” แบบ “VI” ในตลาดหุ้น ทั้ง ๆ ที่ตลาดหุ้นกำลัง “ล่มสลาย” คน “เลิกเล่นหุ้น” ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันเหลือแค่ 3-4,000 ล้านบาทต่อวัน

ผมลงทุนเต็มที่ด้วยเงินทั้งหมดที่เก็บสะสมมา ส่วนค่าใช้จ่ายประจำวันของครอบครัวนั้น ผมโชคดีที่ยังมีงานเบา ๆ เป็นที่ปรึกษาบริษัทสื่อสารให้ทำต่อมาอีก 3 ปี และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ก็กลับมาทำงานในธนาคารพาณิชย์ที่ปรับโครงสร้างเสร็จจากวิกฤติอีก 3-4 ปี ซึ่งทำให้ผมมีเงินเติมในพอร์ตอีกเป็นเท่าตัว ส่งผลให้พอร์ตโตขึ้นอีกเท่าตัวเมื่อเทียบกับการเลิกทำงานและลงทุนเพียงอย่างเดียว ผมกลายเป็น “VI ผู้มุ่งมั่น” และเป็นผู้เผยแพร่หลักการลงทุนแบบ VI ในประเทศไทยคนแรก และนี่ก็เป็นสิ่งที่ผม “ฝัน” ว่าจะเป็น

ถึงอายุ 51 ปี พอร์ตการลงทุนของผมก็เพิ่มขึ้นจนถึงจุดที่เรียกว่ามีอิสรภาพทางการเงินอย่างสมบูรณ์แล้ว ประกอบกับงานที่ทำก็ถึงจุดที่ผม “รับไม่ไหว” เพราะมีความเครียดและความเสี่ยงที่สูงมาก ผมก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำและไม่กลับไปทำอีกเลย จนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลา 18 ปีแล้ว ผมคิดว่าการใช้เวลากับการลงทุนเลือกหุ้นของผมนั้นใกล้เคียงกับของเดิมตอนที่ผมยังทำงานประจำอยู่ เวลาที่ไม่ได้ไปทำงานนั้นถูกใช้ไปในการอ่านและศึกษาเรื่องราวอื่น ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ เรื่องของวิวัฒนาการของมนุษย์และพฤติกรรมของเขา เรื่องของสังคมและการเมืองที่เราสนใจแต่ไม่เข้าใจอีกมากมาย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผมคิดว่ามันเกี่ยวข้องกับการลงทุนทั้งสิ้น

ระยะเวลาของการลงทุน เต็มตัว 25 ปี นับจากปี 2540 ทำให้พอร์ตโตขึ้นมากมาย “เหนือจินตนาการ” ได้เปลี่ยนชีวิตผมไปอย่างสิ้นเชิง แต่จริง ๆ แล้วเป็นการ “เปลี่ยนทีละน้อย” นั่นคือ ดีขึ้นเล็กน้อย “แบบทบต้น” เกือบทุกปี เช่นเดียวกัน ความรู้และปรัชญาทางความคิดก็ปรับดีขึ้นทุกปี ในด้านสังคมก็ได้รับการยอมรับนับถือและมีคนฟังเวลาเราพูดมากขึ้น

แต่ทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตประจำวันของผมเลย ผมยังใช้ชีวิตคล้าย ๆ กับช่วงเวลาก่อนที่ผมจะเริ่มลงทุนเต็มตัว นั่นก็คือชีวิตของคน “ชั้นกลางค่อนข้างดี” ที่เดินทางไปกินอาหารภัตตาคาร จ่ายตลาดและทำอาหารกินเองบ้าง เดินทางบ่อย ๆ ด้วยรถไฟฟ้า ออกกำลังตามสวนสาธารณะและไปเที่ยวต่างประเทศปีละ 2-3 ครั้ง ดูหนังฟังเพลงในยูทูปและติดตามข่าวสารพัดในสื่อสมัยใหม่ เป็นต้น โดยที่ความสุขนั้นยังใกล้เคียงของเดิมก่อนที่จะร่ำรวยและแม้แต่ช่วงที่ยังจนอยู่ ซึ่งนั่นก็ทำให้ผมตระหนักว่าเงินซื้อความสุขจริง ๆ ไม่ได้ แต่ผมก็เชื่อเช่นกันว่าเงินนั้นสามารถซื้อความทุกข์หลายอย่างทางร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นทิ้งไปได้ และนี่ก็อาจจะเป็นประโยชน์ของเงินจริง ๆ

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2022/08/08/2698