ผมมีเพื่อนนักลงทุนที่บริหารเฮดจ์ฟันด์คนหนึ่งชื่อ Petri Deryng หรือที่ผมและเพื่อนนักลงทุน VI ไทยกลุ่มหนึ่งเรียกว่าเพตทรี เขาบริหารกองทุนชื่อ PYN ELITE ซึ่งจดทะเบียนที่ฟินแลนด์ประเทศบ้านเกิดของเขา แต่กองทุนอีลิทฟันด์นั้น ตั้งแต่ตั้งกองทุนในปี 1999 ก็ลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก เริ่มจากตลาดหุ้นไทยที่ลงทุนนานถึงประมาณ 13-14 ปี และตามมาด้วยจีนและเวียตนามและล่าสุดเหลือแต่ที่เวียตนามซึ่งเขาลงทุนมา 6-7 ปีแล้ว ปีนี้เป็นปีครบรอบ 20 ปีของการก่อตั้งกองทุน และก็เป็นปีแห่งการ “เฉลิมฉลอง” ความสำเร็จในระดับต้น ๆ ของกองทุนอีลิทเทียบกับกองทุนในฟินแลนด์และยุโรป ผลงานการลงทุนนั้นสามารถทำได้ถึงประมาณ 18.2% ต่อปีแบบทบต้น หรือเท่ากับเงินลงทุนเริ่มต้นโตขึ้นถึงประมาณ 28 เท่าในเวลา 20 ปี ซึ่งน่าจะถือว่าเป็นสถิติ “สุดยอด” กองทุนหนึ่ง ว่าที่จริงตัวเลข 18% นั้นคือหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าบริหารกองทุนที่มี Profit Sharing หรือผู้บริหารได้รับส่วนแบ่งถ้ากองทุนทำผลตอบแทนได้เหนือกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ผลตอบแทนที่เพตทรีทำได้ต่อปีจากการลงทุนจริง ๆน่าจะประมาณ 21% แบบทบต้น
การเริ่มลงทุนในตลาดต่างประเทศซึ่งก็คือประเทศไทยในปี 1999 นั้นเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดตั้งแต่แรก เพราะในเวลานั้น ตลาดหุ้นไทยตกลงมาหนักมากเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 ดัชนีหุ้นไทยที่เคยสูงสุดถึงกว่า 1,750 จุดในช่วง 4-5 ปีก่อนหน้านั้นลดลงเหลือเพียง 363 จุดในวันที่เขาเริ่มลงทุน ซึ่งเขาตั้งเป้าว่าตลาดหุ้นจะปรับขึ้นไปถึง 1,200 จุด ในเวลาอาจจะแค่ 3-4 ปี ซึ่งต่อมาเขาได้ปรับขึ้นเป็น 1400 จุดเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวและดีขึ้นมาก และนี่ก็น่าจะเป็น “กฎข้อที่หนึ่ง” ของเขาที่ว่า เขาจะหาตลาดหุ้นที่ถูกมากซึ่งอาจจะเกิดจากภาวะวิกฤติที่ทำให้หุ้นตกลงมาอย่างหนักและเขาเชื่อว่ามันจะต้องฟื้นตัวในหลายปีข้างหน้า เขาจะเข้าซื้อหุ้นที่เป็น Value Stock ที่มีราคาถูกมากวัดจากค่า PE และ PB ที่ต่ำเช่นไม่เกิน 10 เท่าและ 1 เท่าตามลำดับ ถือไว้จนราคาหุ้นขึ้นไปถึงเป้าหมายแล้วก็จะขายทิ้ง
เพตทรีเป็นนักลงทุนแนว “VI พันธุ์แท้” ที่มีวินัยสูง เมื่อหุ้นหรือตลาดหุ้นแพงแล้วเขาก็จะถอนการลงทุนและหาตลาดหุ้นใหม่ที่ถูกและเข้าเงื่อนไขที่กำหนดดังกล่าวต่อไป และนั่นก็คือเหตุผลที่เขาทิ้งตลาดหุ้นไทยเมื่อดัชนีขึ้นไปถึง 1400-1600 จุดและเข้าลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามเมื่อดัชนีหุ้นเวียตนามตกลงมา 50% ในช่วง 5 ปีหลังวิกฤติการเงินและอสังหาริมทรัพย์ของเวียตนามในขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นกว่า 50% ในช่วงเวลาเดียวกัน วันที่เขาเข้าลงทุนในตลาดเวียตนามในปี 2013 นั้น ดัชนีตลาดหุ้นเวียตนามเท่ากับ 480 จุด ค่า PE ตลาดประมาณ 10 เท่า PB ประมาณ 1 เท่าและผลตอบแทนปันผลประมาณ 4% ต่อปี โดยเป้าหมายก็คือ เขาจะลงทุนจนดัชนีถึง 1,200 จุด อย่างไรก็ตาม ในช่วงเร็ว ๆ นี้ ดัชนีตลาดหุ้นเวียตนามได้ขึ้นมาถึงประมาณ 1,000 จุดแล้ว คงต้องดูกันต่อไปว่าเมื่อถึง 1,200 จุดเขาจะถอนการลงทุนหรือปรับเป้าหมายดัชนีขึ้นไปหรือไม่
วันที่เพตทรีถอนการลงทุนในไทยไปตลาดหุ้นเวียตนามนั้นเขาบอกว่า “เขาหลงใหลอาหารไทย.. เขาติดใจในวิถีชิวิตแบบชาวพุทธ.. เคารพรักสถาบันหลัก….ให้คุณค่าการดูแลนโยบายการเงินของแบ้งค์ชาติ…และรักเมืองไทยอย่างสุดซึ้ง” แต่เขาไม่ได้หลงรักหุ้นไทย งานหลักของเขาในฐานะของผู้จัดการกองทุนก็คือการเลือกหุ้นลงทุน เขาบอกว่า “ผมชอบหุ้นถูก ผมไม่ได้หลงรักมัน” หุ้นไทยคงแพงเกินไปแล้วสำหรับเขา เขาจึงไปลงทุนในหุ้นเวียตนามที่ยังถูก วันหนึ่งเขาก็อาจจะขายมันเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เวลา 6-7 ปีที่ไปลงทุนในเวียตนามเขาก็ยังอาศัยอยู่ในประเทศไทย สำหรับเขา นี่คือ “บ้าน” และเพื่อนนักลงทุนของเขาซึ่งรวมถึงผมด้วยก็ยังนัดกันกินข้าวกันทุก 3 เดือนติดต่อกันน่าจะไม่น้อยกว่า 10 ปีแล้ว ผมไม่รู้ว่าตลาดหุ้นที่เขาจะลงทุนแห่งต่อไปจะเป็นที่ไหนและเขาจะไปเมื่อไร แต่น่าจะมีโอกาสสูงที่ตัวเขาก็จะยังคงอยู่เมืองไทยต่อไป
กองทุนอีลิทนั้นเน้นการเติบโตหรือสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าปกติ ดังนั้น เขาจึงเลือกที่จะลงทุนในหุ้นตัวเล็กถึงกลางเป็นหลัก นอกจากนั้น เขายังลงทุนแบบ Focus คือลงทุนเน้นในหุ้นไม่มากเกินไป ตัวหลัก ๆ น่าจะประมาณ 10 ตัวบวกลบซึ่งจะเป็นตัวที่เขาลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นกิจการที่เขาจะศึกษาอย่างละเอียด เข้าไปพบและทำความรู้จักกับผู้บริหาร เขาทำได้เนื่องจากเขาเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของบริษัทที่บางตัวเขาถือหุ้นถึง 10% ในบริษัทหรือมากกว่านั้น อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะลดความเสี่ยงของการลงทุนลง กองทุนมีเกณฑ์ว่าจะไม่ถือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเกิน 20% ของพอร์ตโดยรวมไม่ว่าหุ้นตัวนั้นจะดีแค่ไหน และในบางครั้งที่หุ้นบางตัวโตเร็วจนทำให้มันมีสัดส่วนเกิน 20% เขาก็จะต้องขายมันบางส่วนเพื่อควบคุมไม่ให้มันใหญ่เกิน 20%
สไตล์การลงทุนของเพตทรีเองนั้น เขาน่าจะเป็นแนว VI พันธุ์แท้ที่ยึดหลักการแบบ VI อย่างเคร่งครัด สิ่งที่เขาไม่ทำก็คือการซื้อหุ้นราคาแพงหรือแพงมากแม้ว่ามันจะเป็นกิจการที่ดีมาก ดูเหมือนว่าหุ้นที่เขาลงทุนจะต้องเป็นกิจการที่ดีใช้ได้และกำไรจะเติบโตขึ้น แต่ราคาหุ้นจะถูกมากประเภท “Deep Discount” เขาจะซื้อแล้วถือไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งซึ่งผมเดาว่าเฉลี่ยน่าจะ 2-3 ปีขึ้นไปเพื่อรอให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปจนถึงมูลค่าพื้นฐานที่ควรเป็นเขาก็จะขายไปโดยไม่รู้สึก “ผูกพัน” ต่อผู้บริหารของบริษัทที่อาจจะมีความสัมพันธ์กันมานานพอสมควร การมุ่งเน้นในด้านของราคาหรือความถูกของหุ้นที่เขาจะลงทุนนั้นสามารถเห็นได้ชัดจากรายงานผลประกอบการของกองทุนประจำเดือนหรือรายปีที่เขาจะเล่าถึงผลงานที่ผ่านมาและบอกถึงสถานะของพอร์ตของกองทุนว่าเป็นอย่างไร สิ่งที่เขาพูดถึงเป็นประจำก็คือ เขาจะบอกด้วยความมั่นใจว่าพอร์ตของเขานั้นมีความปลอดภัยสูงและน่าจะทำผลงานได้ดีในอนาคตเนื่องจากบริษัทที่กองทุนถืออยู่นั้นจะเติบโตดีและเป็นพอร์ตหุ้นที่ราคาถูกมากวัดจากค่า PE โดยเฉลี่ยที่มักจะไม่เกิน 10 เท่า
กองทุนอีลิทบริหารโดยเพตทรีอย่างต่อเนื่องยาวนานมาถึง 20 ปีไม่มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นน้อยมากในแวดวงของกองทุนรวม และนี่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความสำเร็จของกองทุนที่คนลงทุนเชื่อมั่นและไว้ใจในตัวเขา อย่างไรก็ตาม กองทุนเองก็คงไม่ได้ขยายตัวเพื่อรับเงินใหม่ ๆ มากนัก ขนาดของกองทุนก็คงโตไปตามผลประกอบการเป็นหลัก จนถึงช่วงเร็ว ๆ นี้กองทุนก็มีมูลค่าทรัพย์สินเพียงประมาณ 13-14,000 ล้านบาทไทยซึ่งถือว่าไม่ใหญ่เลย แต่นั่นก็อาจจะเป็นสิ่งที่เพตทรีต้องการ การบริหารเงินจำนวนมากเกินไปนั้นมักจะทำให้ผลตอบแทนลดน้อยถอยลง และนั่นก็อาจจะทำลายสถิติที่ดีเยี่ยมและทำให้ชีวิตการทำงานเหนื่อยยากขึ้นไปมาก ดังนั้น ดูเหมือนว่าเพตทรีจะพึงพอใจกับขนาดของกองทุนที่เป็นอยู่เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตในปัจจุบันกับงานที่ทำ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เงินส่วนตัวของเขาเองก็อยู่ในกองทุนไม่น้อย ไม่มีประโยชน์ที่จะทำให้กองทุนโตขึ้นมากแต่ผลตอบแทนน้อยลง
จากการที่รู้จักและพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องของการลงทุนมานาน ผมเองรู้สึกว่าเราคล้ายกันมากในหลาย ๆ มิติของการลงทุน แม้แต่ช่วงเวลาของการเริ่มต้นเองนั้น ผมก็เริ่มใกล้เคียงกันคือเริ่มหลังวิกฤติเศรษฐกิจไทยในปี 1997 ต่างก็เป็น VI “พันธุ์แท้” ที่เน้นราคาหุ้นที่ถูกค่อนข้างมาก ลงทุนแบบ Focus ถือหุ้นน้อยตัวในหุ้นขนาดเล็ก-กลางที่ยังเติบโตโดยเฉพาะในช่วงแรกของการลงทุน สิ่งที่ดูเหมือนว่าเพตทรีจะนำหน้าผมก็คือ การเคลื่อนย้ายเงินไปยังตลาดที่อุดมสมบูรณ์ที่เขาไม่มีข้อจำกัด ในขณะที่ผมเองทำได้จำกัดมากและอาจจะไม่คิดเลยถ้าไม่เห็นว่าเพตทรีเริ่มย้ายเงินไปลงทุนในจีนและเวียตนาม อย่างไรก็ตาม หลังจากการผ่อนคลายของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมเองก็เริ่มลงทุนในเวียตนามบ้างแต่ก็ยังน้อยมากแค่ประมาณ 10% ของพอร์ต ถึงกระนั้นก็ตาม ทุกวันนี้เวลาเจอกันเราก็มักจะคุยแต่หุ้นและตลาดหุ้นเวียตนามเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผมก็กลายเป็นผู้ฟังมากกว่า เพราะความเข้าใจในหุ้นเวียตนามของผมนั้นน้อยกว่าเพื่อนในกลุ่มมาก
ที่มาบทความ: https://portal.settrade.com/blog/nivate/2019/09/16/2208