การตกลงมาของหุ้นเมตาหรือเฟซบุ๊คในช่วงประมาณ 1 ปี เศษ ๆ ที่ผ่านมานั้น เป็นสิ่งที่เตือนให้นักลงทุนตระหนักว่า มูลค่าของหุ้นนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้มหาศาลไม่ว่าหุ้นอาจจะดูว่าดีหรือแข็งแกร่งแค่ไหน ราคาของหุ้นเมตาตกลงมาจากจุดสูงสุดเมื่อต้นเดือนส.ค.ปีที่แล้วที่ประมาณ 380 ดอลลาร์ เหลือเพียง 110 ดอลลาร์ หรือตกลงมาประมาณ 70% และนั่นทำให้มาร์กซักเคอร์เบิร์ก ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้ง ตกอันดับจากคนที่รวยที่สุดอันดับ 5 ของโลกในปีที่แล้ว และเหนือกว่าวอร์เรนบัฟเฟตต์ที่อยู่อันดับ 6 กลายเป็นอันดับที่ 27 ของโลก ในขณะที่บัฟเฟตต์ก็ยังอยู่ประมาณ Top 5 หรือ 1 ใน 5 อันดับแรกของโลก ตามที่เขาก็อยู่มาหลายสิบปีแล้ว
เมื่อเร็ว ๆนี้ หุ้น MORE ที่มีราคาซื้อขายประมาณ 2.9 บาทต่อหุ้น ได้ตกลงมาเหลือเพียง 58 สตางค์ภายในเวลาไม่กี่วัน หรือลดลงถึง 80% เมื่อเกิดเรื่องการซื้อขายหุ้นที่ “ผิดปกติ” และกำลังถูกตรวจสอบจากทางการว่าอาจจะผิดกฎหมาย ผลก็คือ ความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นใหญ่หลายคน หรือหลายครอบครัวหดหายไป “หลายพันล้านบาท” ในชั่วข้ามคืน
มาซาโยชิ ซัน เป็นคนที่ “รวยที่สุดของญี่ปุ่น” มาเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่หุ้นดิจิทัลและไฮเทคของโลกร้อนแรงมากในช่วงโควิด-19 ระบาด เหตุผลก็เพราะว่าเขาคือ “นักลงทุนในหุ้นสตาร์ตอัป-ไฮเทคบันลือโลก” แต่เมื่อ “ฟองสบู่แตก” ความมั่งคั่งของเขาก็ตกลงมากว่าครึ่ง และเหลือเพียงประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์พอ ๆ กับคนที่รวยที่สุดของไทยที่ทำธุรกิจ “Old Tech” หรือธุรกิจที่มีการ “ผูกขาด” ด้วยปัจจัยบางอย่างและความมั่งคั่งก็ยังคงอยู่แบบนั้นมานานหรือยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ทั้งหมดนั้นก็เป็นกรณีที่โด่งดังและเห็นได้ชัดว่า ความมั่งคั่งของคนหรือนักลงทุนในตลาดหุ้นนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้มากและเกิดขึ้นได้เร็วมาก บางครั้งอาจจะชั่วข้ามคืน เพราะราคาหุ้นในตลาด โดยเฉพาะหุ้นที่ขึ้นไปแรงมากจน “แทบจะเป็นไปไม่ได้” มองจากพื้นฐานของธุรกิจ
โดยเฉพาะจากนักลงทุนแบบ “VI พันธุ์แท้” สไตล์วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ Conservative และมีหลักการลงทุนสำคัญที่ว่า ต้องซื้อเฉพาะหุ้นของกิจการที่ดีในราคาถูกหรือยุติธรรม และลงทุนอะไรก็คิดว่าจะต้องไม่ขาดทุนและมีมาร์จินออฟเซฟตี้เสมอ นอกจากนั้นจะต้องมีการกระจายความเสี่ยงของการลงทุนเพียงพอ ไม่ลงทุนในกิจการหรือหุ้นเพียงตัวหรือสองตัวหรืออุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียวเช่นเฉพาะพวกดิจิทัลเป็นต้น
ผมเองมีความเชื่อว่า ความมั่งคั่งของเราที่อยู่ในหุ้นหรือในตลาดหุ้นนั้น ส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่ของจริง แต่เป็น “Illusion” หรือ “ภาพลวงตา” เพราะมันมีโอกาสเปลี่ยนแปลงไป บางครั้งมากจนทำให้สถานะเปลี่ยนได้ เช่น จากเศรษฐีเป็นคนธรรมดาหรือยาจกได้ คำว่า “คนเคยรวย” หรือ “เจ้าสัวเยสเตอร์เดย์” ที่พูดกันมากในยุควิกฤติปี 2540 นั้น เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและแม้แต่ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจปกติและโดยเฉพาะในช่วงที่หุ้นบางกลุ่มหรือตลาดหุ้นร้อนแรงซึ่งก็น่าจะรวมถึงช่วงเร็ว ๆ นี้ที่หุ้นเก็งกำไรหรือหุ้นปั่นทั้งตัวเล็กและใหญ่ได้สร้างเซียนหรือเศรษฐีหุ้นขึ้นมากมาย
กรณีของหุ้น MORE ที่ทำให้ความมั่งคั่งสูญสลายไปใน “ชั่วข้ามคืน” นั้น ผมคิดว่ามีโอกาสเกิดขึ้นอีกไม่น้อย เมื่อคำนึงถึงหุ้นที่มีธุรกิจขนาดเล็ก แต่ราคาหุ้นขึ้นไปสูงมากเป็นหลายเท่า หรือเป็นสิบเท่าในเวลาบางทีไม่ถึงปี จนทำให้หุ้นแพงมากแบบเหลือเชื่อ คือมีค่า P/E เกิน 50 เท่า จาก “กำไรปกติ”
ซึ่งมักจะทำให้ธุรกิจที่มีขนาดเล็กก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ กลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าเป็น “หมื่นล้านบาท” และทำให้เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่กลายเป็น “มหาเศรษฐี” วัดจากราคาหรือมูลค่าหุ้นนั้น ควรจะต้องตระหนักว่า นี่อาจจะเป็น “ภาพลวงตา” ที่อาจจะหายไปได้ง่าย ๆ
เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ถ้าเราอยากจะ “คว้า” ความมั่งคั่งที่เราคิดว่ามันมีอยู่จริงนั้นไว้ ก็อาจจะพบว่า เราไม่ได้มีเงินหรือความมั่งคั่งขนาดนั้น เพราะเมื่อเราขายหุ้นออกไปเพื่อที่จะ Realized หรือแปลงให้เป็นเงินสดจริง ราคาหุ้นก็อาจจะร่วงลงมาอย่างแรง และถ้ายิ่งขายออกมามาก ราคาหุ้นก็อาจจะถล่มจนแทบจะไม่เหลือค่าอย่างที่เกิดขึ้นในกรณีหุ้น MORE หรือหุ้นอีกมากมายในประวัติศาสตร์ที่เคยสูงจนสุดฟ้าแล้วก็ตกจากสวรรค์ และคนก็ลืมไปแล้วว่าครั้งหนึ่งเราเคยมีหุ้นแบบนี้ในตลาดหลักทรัพย์ และบางทีเราก็อาจจะเคยเล่นด้วย
การตระหนักว่าความมั่งคั่งในหุ้นหรือตลาดหุ้นเป็นภาพลวงตานั้น ผมคิดว่าควรเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งของ “VI พันธุ์แท้” ที่เน้นการลงทุนระยะยาวเพื่อชีวิตที่มั่นคงหรือชีวิตที่มั่งคั่ง เพราะการตระหนักในสิ่งนี้จะทำให้เราทบทวนเสมอว่าพอร์ตการลงทุนของเราใหญ่เพียงพอหรือไม่ที่จะดูแลชีวิตและครอบครัวของเราได้อย่างมั่นคงและโอกาสที่จะผิดพลาดนั้นต่ำและอยู่ในระดับที่ยอมรับได้
ในระดับของหุ้นแต่ละตัวนั้น “ภาพลวงตา” ของมูลค่าหุ้นจะสูงมากถ้าหุ้นตัวนั้นมีราคาแพงมาก เช่น เป็นหุ้นที่มีค่า P/E 50 70 เท่า หรือ 100 เท่าจากกำไรปกติ ซึ่งก็คือกำไรที่เกิดจากธุรกิจปกติไม่ใช่กำไรพิเศษ และไม่เป็นกำไรในสถานการณ์อุตสาหกรรมที่ดีผิดปกติหรือแย่ผิดปกติ และในกรณีที่พบว่ากำไรของบริษัทในปีนั้นไม่ปกติ ก็สามารถหา “กำไรปกติ” โดยใช้กำไรต่อยอดขายเฉลี่ยหลาย ๆ ปีของบริษัทหรือของอุตสาหกรรมคูณด้วยยอดขายของบริษัท จากนั้นจึงนำไปหารราคาหุ้น ก็จะได้ค่า P/E ที่ต้องการ
นักลงทุนจำนวนไม่น้อยคิดว่าค่า P/E ที่สูงนั้นไม่สำคัญ เพราะบริษัท “โตเร็วมาก” และนี่ก็คือสิ่งที่ VI โดยเฉพาะที่เป็นคนหนุ่มสาวยุคใหม่เชื่อ ดังนั้น เขาก็อาจจะไม่รู้สึกว่าหุ้นที่มีราคาวิ่งขึ้นไปเร็วมากและค่า P/E สูงสุดกู่จะเป็นหุ้นที่อาจจะตกลงมาได้แรงมาก พวกเขาคิดว่านี่คือหุ้นที่ดีและแข็งแกร่งและจะวิ่งขึ้นไปอีกมาก และนี่อาจจะเป็นหุ้น “เปลี่ยนชีวิต” ของเขา ซึ่งผมเองกลับคิดว่ามันมีโอกาสที่จะ “เปลี่ยนชีวิตให้จนลง” ได้เช่นเดียวกัน
ในระดับของพอร์ตโฟลิโอซึ่งเป็นตัวบอกว่าตอนนี้เรารวยหรือมีความมั่งคั่งแค่ไหนแล้ว พร้อมที่จะเป็นอิสระทางการเงินหรือยัง ก็เป็นสิ่งที่ VI ผู้มุ่งมั่นจะต้องประเมินอยู่ตลอดเวลา ผมเองยังจำได้ว่าในช่วงของการสร้างเนื้อสร้างตัวจากการลงทุน ทุกครั้งที่ภรรยาถามว่าเรามีเงินหรือหุ้นเท่าไรแล้ว
ผมจะ “Discount” หรือลดมูลค่าพอร์ตลงประมาณ 25-30% เพื่อไม่ให้เขารู้สึกว่าเรามีเงินมากพอแล้วและอาจจะย่ามใจเกินไป แต่จริง ๆ แล้วผมเองก็เชื่อว่าโอกาสที่เราจะจนลงไป 20-30% จากที่เราเห็นนั้นมีความเป็นไปได้สูงแม้ว่าหุ้นที่ถืออยู่จะมีพื้นฐานเต็มเปี่ยม ไม่ใช่หุ้นเก็งกำไรที่มีค่า P/E สูงเลย ผมคิดจริง ๆ ว่าความมั่งคั่งในหุ้นนั้น เป็น “ภาพลวงตา”
วิธีลดภาพลวงตาลงหรือทำให้เราปลอดภัยว่าเงินจะไม่น้อยไปกว่านั้นมากก็คือ การกระจายความเสี่ยง โดยการไม่ถือหุ้นในอุตสาหกรรมหรือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งที่ใหญ่เกินไป หุ้นใหญ่ที่สุดไม่ควรจะเกิน 30-40% ของพอร์ต หุ้นใหญ่ที่สุด 5-6 ตัวรวมกันต้องไม่เกิน 75% ของพอร์ต เป็นต้น นอกจากนั้นก็จะต้องดูว่าหุ้นแต่ละตัวต้องเป็นหุ้นที่เป็น “Value” จริง ๆ ที่มีความแข็งแกร่งของกิจการและมีค่า P/E ไม่สูงเกินไป
VI บางคนที่ผมรู้จักดูถึงขนาดว่าค่า P/E เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของพอร์ตนั้นไม่เกินกี่เท่า เช่น ไม่เกิน 12 -15 เท่าอะไรทำนองนั้น ซึ่งการทำแบบนี้เองก็ไม่ได้หมายความว่าความมั่งคั่งของเขาจะเป็นจริงตามที่เห็น 100% แต่อย่างน้อยมูลค่าหุ้นก็มีความมั่นคงพอสมควร ไม่เป็น “ภาพลวงตา” และนั่นก็คงคล้าย ๆ กับความมั่งคั่งของวอเร็นบัฟเฟตต์ที่มีเสถียรภาพมากต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี และไม่เหมือนเจ้าของบริษัทที่มักจะ “ถือหุ้นตัวเดียว” และราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงมากมายจนแทบจะหามูลค่าความมั่งคั่งที่แท้จริงไม่ได้
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร