ผู้หญิงตัวคนเดียว อายุ 50 ปี ไม่มีญาติมิตร ไม่มีงาน ไม่มีความสามารถพิเศษ และไม่ได้ทำงานมานาน มีเงินออม 1.5 ล้านบาท ชีวิตดูแล้วกำลัง “สิ้นหวัง” เพราะดอกเบี้ยที่ได้รับจากแบ้งค์นั้นน้อยนิดปีละไม่เกิน 20,000 บาทซึ่ง “ไม่พอใช้” แต่แล้วเธอก็ได้ยินมาว่าตลาดหุ้นนั้นอาจจะเป็น “ทางออก” ของปัญหาที่กำลังประสบ เพราะมันสามารถจะสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีและทำให้เธอมีเงินใช้เพียงพอไปได้เรื่อย ๆ เป็นไปได้ไหมที่เธอจะทำเงินจากตลาดหุ้นด้วยเงิน 1.5 ล้านบาทในอัตราอย่างน้อยเดือนละซัก 15,000-20,000 บาทซึ่งจะทำให้เธอสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้? เธอเริ่มศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการ “เล่นหุ้น” โดยการดูรายการเกี่ยวกับหุ้นและการลงทุนทางสื่อต่าง ๆ รวมทั้งการเข้าร่วมสัมมนาฟรีทั้งหลาย สิ่งที่เธอต้องการก็คือ จะลงทุนหรือเล่นหุ้นตัวไหนที่จะทำให้เธอได้กำไรเพื่อนำมาใช้จ่ายทุกเดือน
เรื่องราวที่ผมเขียนข้างต้นนั้นเป็นเรื่องสมมุติที่น่าจะสอดคล้องกับคนหลายคนหรืออย่างน้อยก็มีพื้นฐานของเรื่องราวใกล้เคียงกันนั่นก็คือ คนที่กำลังมองว่าตลาดหุ้นคือแหล่ง “ทำมาหากิน” อีกแหล่งหนึ่งที่เขาจะต้องมี “เงินทุน” ระดับหนึ่ง และก็อาจจะต้องมี “ความรู้” และ “ข้อมูล” ที่จะต้องศึกษาและ “ตามให้ทัน” โดยเฉพาะ “การขึ้นลงของราคาหุ้น” และ “ดัชนีตลาดหุ้น” เขา “รู้” ว่า การที่จะเล่นหุ้นให้ได้กำไรและหลีกเลี่ยงการขาดทุนนั้นอยู่ที่ “ความรวดเร็ว” ในการ “สั่งซื้อสั่งขาย” เวลาหุ้นขึ้นหรือลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การเกาะติดราคาหุ้นในช่วงที่ตลาดหุ้นเปิดจึงเป็นภารกิจสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง และถ้าช่วงไหนที่ติดธุระยาว บางทีเพื่อความปลอดภัยก็ไม่ควรถือหุ้นไว้มาก เพราะอาจจะเกิดอันตรายจากการ “ขายไม่ทัน” ได้
สำหรับหลายคนแล้ว การเล่นหุ้นหรือ “ลงทุน” ในตลาดหุ้นนั้น อาจจะไม่เหมือนกับการทำงานเป็นลูกจ้างที่ได้รับเงินเงินเดือนแน่นอน หรือทำงานเป็นฟรีแล้นซ์ที่รับเงินตามผลงานตรงที่ว่า มันมีความเสี่ยงที่อาจจะ “ขาดทุน” ได้ แต่มันก็อาจจะไม่แตกต่างกับการ “ทำธุรกิจ” หรือการ “ค้าขาย” ไม่ว่าจะเป็นการขายที่มีหน้าร้านหรือผ่านอินเตอร์เน็ตที่มีโอกาสที่จะกำไรและขาดทุนเหมือนกันเพียงแต่ว่าโอกาสที่จะกำไร “น่าจะมีสูงกว่า” หรืออย่างน้อยเขาก็เชื่ออย่างนั้นโดยเฉพาะถ้ามีความตั้งใจและความพยายามสูงและ “ทำเป็น”
ในยามที่คนไทยเริ่มมีเงินเก็บสะสมมากขึ้นในระดับหนึ่ง ความคิดที่จะเลือกการเล่นหุ้นหรือการลงทุนเป็นช่องทาง “ทำมาหากิน” แทนที่ช่องทางทำมาหากินแนวทางอื่นก็เพิ่มขึ้น เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ในช่วงนับสิบปีที่ผ่านมานี้ “ดูเหมือน” ว่าการลงทุนในหุ้นจะเป็นกิจกรรมหากินที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก คนหนุ่มอายุไม่มากลงทุนไม่กี่ปีกลายเป็นคนที่มีเงินเป็นหลายสิบหรือหลายร้อยล้านบาท ข่าวคราวของมหาเศรษฐีจากตลาดหุ้นมีเต็มไปหมด เรื่องราวของราคาหุ้นนับไม่ถ้วนที่ปรับตัวขึ้นไปเป็นสิบ ๆ เท่าในเวลาอันสั้นดูเหมือนจะช่วยยืนยันเป็นอย่างดีว่าหุ้นนั้นให้ผลตอบแทนที่ดีสุดยอด ไม่ต้องนับว่านักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญการลงทุนต่างก็ยืนยันด้วยทฤษฎีและสถิติย้อนหลังบ่งบอกว่าการลงทุนในหุ้นนั้นให้ผลตอบแทน “สูงสุด” แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ทั้งหมดนั้นทำได้ “ไม่ยาก” และ “ไม่เหนื่อย”
กลับมาดูว่าสิ่งที่หญิงสาวอายุ 50 ปีที่มีเงิน 1.5 ล้านบาทนั้น เธอกำลังเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องและทุกอย่างจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่?
ก่อนอื่นต้องมองว่ารายได้หรือผลตอบแทนใน “ระยะยาว” ของเงิน 1.5 ล้านบาทในตลาดหุ้นน่าจะเป็นเท่าไร คำตอบก็คือประมาณ 10% ต่อปีหรือเท่ากับประมาณ 150,000 บาท หรือราว 12,500 บาทต่อเดือนถ้าไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการซื้อขายและการบริหารเงินลงทุน แต่ในความเป็นจริงเราต้องเสีย ดังนั้น ผลตอบแทนหรือรายได้ต่อเดือนโดยเฉลี่ยน่าจะประมาณ 12,000 บาทเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทน 10% ต่อปีโดยเฉลี่ยที่เห็นนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต อนาคตมันอาจจะเหลือเพียง 5-6% ก็ได้ อีกประการหนึ่งก็คือ ความสามารถในการลงทุน คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนนั้น โอกาสก็น่าจะแพ้ค่าเฉลี่ย ดังนั้น ผมคิดว่ามีโอกาสสูงที่ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยในระยะยาวจะเหลือไม่เกิน 5% หรือสรุปแล้ว เงิน 1.5 ล้านบาทที่นำมาลงทุนทำมาหากินน่าจะให้ผลตอบแทนต่อเดือนโดยเฉลี่ยไม่เกิน 6,000 บาท ถ้าโชคดี แต่ลึก ๆ แล้วผมกลับคิดว่าโอกาสที่จะได้น้อยกว่านี้หรืออาจจะถึงกับขาดทุนน่าจะมีสูงกว่ามากเมื่อคำนึงถึงความเข้าใจของเธอในหุ้นและตลาดหุ้น ดังนั้น สำหรับผมแล้ว ตลาดหุ้นไม่ใช่เส้นทางหรือทางออกของเธอ เธอจำเป็นที่จะต้องหางานทำทางอื่นเพื่อเลี้ยงชีพ
คนที่จะสามารถ “เลี้ยงชีพ” โดยการลงทุนนั้นจำเป็นที่จะต้องมีเงินทุนสูงในระดับหนึ่ง บางทีอาจจะประมาณ 200 เท่าของเงินรายเดือนที่ต้องการใช้ เช่น ในกรณีตัวอย่างที่ต้องการเงินเดือนละ 15,000 บาทจะต้องมีเงินถึง 3 ล้านบาท เป็นต้น
พูดถึงการลงทุนในหุ้นนั้น ผมเองคิดว่ามันไม่ควรที่จะเป็นทางออกหรือทางเลือกของการ “ทำมาหากิน” ซึ่งเป็นเรื่องของการหารายได้มาใช้จ่ายรายเดือนเลย เนื่องจากการลงทุนในหุ้นนั้นโดยหลักแล้วมันเป็นการลงทุนที่ในระยะสั้นแล้วให้ผลตอบแทนที่ไม่แน่นอนเลย บ่อยครั้งมันให้ผลตอบแทนติดลบ บางทีติดต่อกันหลาย ๆ เดือนและบางช่วงให้ผลตอบแทนติดลบหลายปีติดต่อกัน ดังนั้น ผลตอบแทนในหุ้นจึงไม่เหมาะกับการนำมาใช้กับการใช้จ่ายรายเดือนที่ค่อนข้างแน่นอน หุ้นนั้นเหมาะแก่การสร้างความมั่งคั่ง ในระยะยาวเพื่อเป็น “เงินสำรอง” หรือเงินที่สะสมไว้ใช้ในยามที่เราเกษียณไม่ได้มีรายได้จากการทำงานประจำอย่างอื่นแล้ว
เงินลงทุนและผลตอบแทนจากหุ้นนั้น สำหรับผมแล้ว ส่วนใหญ่มันไม่ใช่เงินที่เราจะนำไปใช้ แต่มันเป็นเงินที่จะสร้างความมั่นคงและความมั่งคั่งในชีวิต มันเป็นเงินที่ทำให้เรา “สบายใจและพอใจ” แต่ไม่ได้ใช้มันหรือใช้น้อยมากเนื่องจากเม็ดเงินมันมีมากเกินกว่าความต้องการมาก และในที่สุดก็มักจะได้ใช้ในวันตายที่เราจะส่งผ่านให้ลูกหลานหรือคนอื่นเพื่อการกุศล คนที่ “โชคดี” บางคนก็อาจจะได้ใช้ในวันที่เขาเกษียณ และนี่ก็คือเป้าหมายที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนที่คิดลงทุนในตลาดหุ้นนั่นคือ อย่าลงทุนเพื่อทำมาหากิน ลงทุนเพื่อวันเกษียณหรือลงทุนเพื่อเป็นมรดก และนั่นจะทำให้การลงทุน-และชีวิต ประสบความสำเร็จ
ที่มา : http://www.thaivi.org