สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาของการประกาศงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่นักลงทุนต้อง “ลุ้น” กันว่าหุ้นที่ตนเองถืออยู่นั้นจะประกาศผลงานที่ดีขึ้นหรือแย่ลงมากน้อยแค่ไหน เพราะผลงานที่ดีขึ้นโดยเฉพาะที่ดีเกินกว่าที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนคาดจะทำให้หุ้นวิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้าม ผลงานที่น่าผิดหวังจะทำให้หุ้นตกลง ในกรณีของหุ้นขนาดเล็กหรือหุ้นที่ไม่มีนักวิเคราะห์ติดตาม กำไรที่ดีขึ้นก็มักจะเป็นสัญญาณให้นักเก็งกำไรหรือ “นักปั่นหุ้น” เข้าไปไล่ราคาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับหุ้นที่ตนเองถือ สำหรับ VI การติดตามผลประกอบการรายไตรมาศเป็นสิ่งสำคัญที่นอกจากจะช่วยให้เราวิเคราะห์หุ้นที่ตนเองถือต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นเวลาที่จะติดตามดูว่ามีหุ้นตัวไหนที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นจนถึงจุดที่น่าลงทุนหรือไม่
ไตรมาส 3 ปี 2562 นี้ดูเหมือนว่าการประกาศงบการเงินจะมีผลกระทบกับหุ้นโดยเฉพาะขนาดกลางและเล็กหลาย ๆ ตัวที่เคยเป็นหุ้นเด่นและนักเล่นหุ้นนิยมเล่นกันมาก หลังจากประกาศ หุ้นเหล่านั้นก็ตกลงมาน่าจะประมาณ 10% บวกลบทั้ง ๆ ที่ตัวเลขกำไรก็ไม่ได้เป็น “หายนะ” บางบริษัทกำไรเพิ่มมากด้วยซ้ำแต่ก็มักจะเป็นกำไรพิเศษในขณะที่ผลประกอบการปกตินั้นแย่ลง อย่างไรก็ตาม นี่ก็เป็นกำไรเพียงไตรมาสเดียวและผมเองก็คิดว่าบริษัทไม่ได้แย่ขนาดนั้น ส่วนใหญ่อาจจะเป็นแค่เรื่อง “ชั่วคราว” ถึงไตรมาส 4 ก็อาจจะเปลี่ยนไปโดยเฉพาะถ้าภาวะเศรษฐกิจของไทยดีขึ้นราคาของสินค้าดีขึ้น คำถามก็คือ อะไรทำให้หุ้นตกลงมาแรงเป็น 10% บางตัวตกลงมา 2-3 วัน ถึง 20-30% ก็มี
คำตอบของผมก็คือ ช่วงเวลานี้ ตลาดหลักทรัพย์กำลังอยู่ในช่วงของการปรับมูลค่าหุ้นให้เหมาะสมกับพื้นฐานที่แท้จริงของหุ้นแต่ละตัวที่ในอดีตนั้นมีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือมีราคาที่สูงเกินกว่าพื้นฐานหรือพูดอย่างหยาบ ๆ ก็คือค่า PE สูงเกินกว่าความสามารถในการทำกำไรระยะยาวแต่มี Story และมีกำไรเติบโตโดดเด่นในระยะสั้น หุ้นเหล่านี้มีนักวิเคราะห์และผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากช่วยกันเชียร์และสร้างภาพว่าเป็น กิจการชั้นเยี่ยมและเติบโตดีโดยที่ค่า PE นั้นไม่มีความสำคัญ และที่เหนือกว่าสิ่งอื่นใดก็คือ แรงซื้อเก็งกำไรของนักเล่นหุ้นทั้งขาเล็กและขาใหญ่นั้น มีมากพอที่จะสนับสนุนและดันราคาหุ้นให้ขึ้นไปได้ตราบใดที่ “กำไรยังโตขึ้นโดดเด่น”
ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงช่วงนี้ได้ทำให้กำไรโตขึ้นยาก กำไรที่โตช้าลงหรือน้อยลงมากหรือกำไรที่ลดลงนั้น คงทำให้คนบางคนที่มีหุ้นอยู่ลดความเสี่ยงโดยการเทขายหุ้นที่ยังได้กำไรอยู่พอสมควร การขายหุ้นของพวกเขานั้นทำให้หุ้นตกลงมาเพราะแรงซื้อน้อยลงไปกว่าเดิม นั่น “จุดชนวน” ให้คนอื่นที่มีหุ้นอยู่เทขายตามมาซึ่งทำให้หุ้นตกลงไปอีก จนถึงจุดหนึ่งที่ราคาหุ้นไป “Trigger” หรือจุดชนวนให้คนที่เล่นหุ้นตัวนั้นโดยการใช้ Leverage หรือการกู้เงินมาซื้อหุ้นหรือเล่นอนุพันธ์หรือตราสารการเงินที่มีอัตราทดสูงมาก ๆ เช่น การทำ Block Trade โดยผู้เล่นรายใหญ่และการเล่น DW โดยนักลงทุนรายย่อย ต้องเทขายหุ้นออกมาจำนวน “มโหฬาร” เพราะถูก “บังคับขาย” โดยโบรกเกอร์ ผลก็คือ หุ้นตกลงมาถึง 10% ในวันเดียวสำหรับหุ้นหลาย ๆ ตัว และในบางกรณีที่มีการซื้อหุ้นด้วยการกู้เงินที่สูงมากที่สุด หุ้นก็อาจจะตกถึงฟลอร์หรือต่ำสุดที่ 30% ภายในวันเดียวโดยที่เมื่อพูดถึงพื้นฐานของบริษัทเองก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจาก “เมื่อ 2-3 วันก่อน”
ถ้าจะให้เปรียบเทียบ ผมคิดว่าหุ้นจำนวนมากในตลาดทุกวันนี้เป็น “หุ้นร้าว” เหมือนกับแก้วน้ำหรือโครงสร้างคอนกรีตของอาคารที่ร้าว ตราบที่มันยังไม่ “แตก” ทุกอย่างก็เป็นปกติ แต่เมื่อไรที่มีอะไรมากระทบ มันก็อาจจะแตกหรือทรุดลงทันที บางทีก็อาจจะถล่มทลายได้ การ “ร้าว” นั้นบางครั้งก็พอมองเห็นจากภายนอก แต่บางครั้งก็อาจจะร้าวจากภายในจำเป็นต้องอาศัยการ “วิเคราะห์” โดยผู้เชี่ยวชาญ ในกรณีของหุ้นก็ต้องอาศัยความสามารถและความคิดที่เป็นอิสระมีเหตุผลปราศจากความลำเอียงและไม่สนใจกับ “จิตวิทยาหมู่” ในตลาดหุ้นรวมถึง “ราคาหุ้น” ที่มักจะทำให้เราไขว้เขวได้มากที่สุด
หุ้นที่ “ร้าว” นั้น จำนวนมากก็คือหุ้นที่มีราคา “แพงผิดปกติ” ค่า PE อาจจะเป็น 4-50 เท่าหรือบางตัวสูงเป็น 100 เท่า โดยที่สามารถแบ่งได้อีกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ร้อนแรงหรือเคยร้อนแรง มีราคาขึ้นไปมากอาจจะเป็นหลาย ๆ เท่าในเวลาไม่นาน มีปริมาณการซื้อขายคึกคัก มีนักเล่นหุ้นและนักวิเคราะห์ติดตามจำนวนมาก ราคาหุ้นขึ้นลงผันผวนแทบจะตลอดเวลา และบ่อยครั้งมีคนทำหรือดูแลหุ้นที่เป็นขาใหญ่หรือสปอนเซอร์หลัก ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งนั้น เป็นหุ้นขนาดเล็กหรือกลางเล็กที่เงียบเหงา บ่อยครั้งก็เป็นหุ้นที่เข้ามาจดทะเบียนซื้อขายหุ้นไม่นาน ผลประกอบการตั้งแต่เข้าตลาดก็ไม่น่าประทับใจ หุ้นมีราคาค่อนข้างนิ่งเพราะไม่มีคนเล่น ปริมาณการซื้อขายหุ้นก็น้อย อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นก็ยังคงอยู่ในระดับที่แพงวัดจากค่า PE ที่ยังอยู่สูงเป็น 40-50 เท่า หุ้นร้าวทั้งสองกลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งที่ราคาสูงมากได้นั้นก็เพราะว่ามักจะถูก “Corner” หรือเป็นหุ้นที่มีหุ้น Free Float น้อย อานิสงค์จากการที่เจ้าของยังถือหุ้นอยู่อาจจะเกิน 50% และมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่กวาดซื้อหุ้นไว้มากจนทำให้เหลือหุ้นหมุนเวียนในมือรายย่อยน้อย ซึ่งทำให้การ “ควบคุมราคา” หรือการ “ประคองราคา” สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หุ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจะเข้าข่ายเป็นหุ้นร้าวก็คือ หุ้นที่ผลประกอบการดูดีและโตเร็วใช้ได้ซึ่งทำให้ตลาดให้มูลค่าที่สูงกว่าค่า PE เฉลี่ยของตลาดที่ประมาณ 17 เท่ามาก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ทำอยู่นั้น ถ้าดูโดยเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกแล้ว ก็น่าจะถูก Disrupt หรือถูกทำลายในไม่ช้า บริษัทมีโอกาสสูญเสียทั้งยอดขายและกำไรได้อย่างรุนแรงถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้น ซึ่งก็แน่นอนว่ามันจะทำให้ราคาหุ้นมีโอกาสตกต่ำลงอย่างรุนแรงและรวดเร็วได้เมื่อรอยร้าวนั้นแตกออกมา
หุ้นร้าวกลุ่มสุดท้ายที่ผมคิดว่าเราต้องระวังด้วยก็คือหุ้นที่ “ดูดีเกินไป” โดยเหตุผลทางด้านเศรษฐศาสตร์ไม่รองรับ เช่น เป็นกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่แข่งขันกันสูงหรือสมบูรณ์แต่บริษัททำกำไรได้เหนือกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมมากโดยไม่สามารถอธิบายเหตุผลที่น่าเชื่อถือได้ ในกรณีแบบนี้ก็ต้องระวังว่าวันหนึ่งรอยร้าวก็อาจจะแตกออกมาอย่างไม่ทันตั้งตัวและหุ้นตกลงมาอย่างแรงได้
ในภาวะที่ทุกอย่างดูไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนในตลาดหุ้น ราคาหุ้นที่ “แพงมาก” นั้น มักจะเป็นหุ้นที่มีอันตรายสูงที่สุด เพราะความแพงที่ระดับค่า PE เป็น 40 เท่าขึ้นไปหรือบางทีเป็น 100 เท่านั้น หุ้นที่จะรองรับราคาได้ขนาดนั้นในระยะยาวจะต้องเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” เท่านั้น ซึ่งซุปเปอร์สต็อกนั้น ถ้าจะนิยามอย่างง่าย ๆ ก็น่าจะต้องเป็นบริษัทที่จะ “ครองโลก” ในอนาคตหรือในที่สุดเช่นหุ้นกลุ่มไฮเทคของโลกเช่น หุ้นกูเกิล อามะซอน อาลีบาบา หรือเฟซบุค เป็นต้น แต่ถ้าเป็นซุปเปอร์สต็อกระดับประเทศของไทยก็น่าจะต้องเป็นบริษัทที่เป็น “Undisputed Leader” คือเป็นผู้นำที่โดดเด่นและไม่มีทางที่ใครจะมาท้าทายได้รวมถึงสามารถที่จะต่อต้านการทำลายล้างโดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างน้อยในอีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าหุ้นไม่ได้เข้าข่ายดังที่ว่า ก็จะต้องมีการเติบโตมากและสามารถต่อสู้กับคู่แข่งทั้งในปัจจุบันและอนาคตและที่สำคัญ มันจะต้องมีช่องว่างที่จะให้เติบโตอย่างมีกำไรงดงามจนค่า PE ลดลงได้จนเหลือค่า PE ปกติของอุตสาหกรรมที่อาจจะแค่ 10-20 เท่าในเวลา 4-5 ปีข้างหน้า ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ยากพอสมควรในระบบเศรษฐกิจของไทยที่คนแก่ตัวลงและโตช้าลงมาก ดังนั้น หุ้นที่แพงจัดมาก ๆ นั้น น่าจะมีโอกาสเป็นหุ้นร้าวได้
หุ้นที่ร้าวนั้น บางส่วนได้แตกออกมาแล้ว หุ้นที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันหรือใกล้เคียงกันและมีพฤติกรรมทางด้านการดำเนินงานและราคาหุ้นใกล้เคียงกันในไม่ช้าก็อาจจะ “แตก” ตามกันไป หุ้นบางกลุ่มนั้นถึงร้าวแล้วก็อาจจะยังไม่แตกด้วยเหตุผลบางอย่าง อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะแตกก็น่าจะสูงในอนาคตโดยเฉพาะในภาวะที่สิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย ดังนั้น นักลงทุนที่ระมัดระวังจึงควรต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะลงทุนในหุ้นเหล่านี้ เพราะโอกาสที่จะได้กำไรสูงอาจจะมีน้อยกว่าโอกาสที่หุ้นจะตกแรงมาก
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ที่มาบทความ: https://portal.settrade.com/blog/nivate/2019/11/18/2240