ตลาดหุ้นสัปดาห์ที่แล้วดูสดใสมากจนทำให้นักลงทุนจำนวนมากคิดว่าเราน่าจะกำลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเริ่มขึ้นประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 1,500 จุด พอถึงกลางเดือนมีนาคม ดัชนีก็ตกลงมาเหลือเพียงประมาณ 1,000 จุดเศษ ๆ หรือเป็นการลดลงประมาณ 33% ภายในเวลาเพียงเดือนเดียว ซึ่งเข้าข่ายเป็น “วิกฤติตลาดหุ้น” ซึ่งมีสาเหตุจากการระบาดของไวรัสโคโรน่าที่กระจายไปทั่วโลกและทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้อง “ปิดเมือง” ส่งผลให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก ความเสียหายทางเศรษฐกิจนั้น “รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง” ในเกือบทุกประเทศ แต่แล้ว ภายในเวลาเพียงแค่ 2-3 เดือนจนถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ดัชนีตลาดหุ้นจำนวนมากในโลกก็ปรับตัวขึ้นอย่างแรง เฉพาะอย่างยิ่งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับตัวขึ้นเป็น 1,436 จุด หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 40% จากจุดต่ำสุดในช่วงวิกฤติ
การปรับตัวขึ้นของหุ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ มาพร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่คึกคักมาก เฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 4 วันทำการในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีปรับตัวขึ้นทุกวัน รวมแล้วประมาณ 7% แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ปริมาณการซื้อขายหุ้นในวันที่ 4 และ 5 มิถุนายน 2563 นั้นสูงถึงกว่าแสนสองหมื่นล้านบาทต่อวันซึ่งแทบไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย ดังนั้น นี่น่าจะเป็นการ “ฟื้นตัว” จากวิกฤติที่ “สุดยอด” ที่สุดเท่าที่ผมจำความได้ คนที่พอร์ตว่าง ไม่มีหุ้นหรือถือหุ้นน้อยมากที่กล้าเข้าไป “ช้อนซื้อหุ้น” ในช่วงที่เลวร้ายที่สุดกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาและถือจนถึงวันนี้น่าจะทำกำไรได้มหาศาล นักลงทุนจำนวนไม่น้อยในช่วงนี้น่าจะมีความสุขมากขนาดที่เรียกตามภาษาวัยรุ่นว่า “ฟิน” กันไปเลย
อย่างไรก็ตาม คนที่อยู่ในตลาดหุ้นมานานและมักจะอยู่แทบจะตลอดเวลานั้น ถึงวันนี้ก็อาจจะยังขาดทุนอยู่ เพราะดัชนีตลาดหุ้นจนถึงวันนี้ก็ยังต่ำกว่าเมื่อสิ้นปี 2562 ที่ 1,580 จุด หรือต่ำกว่าประมาณ 9% ผมไม่รู้ว่าอารมณ์พวกเขาจะเป็นอย่างไร แต่ความรู้สึกของผมเองนั้นก็คือรู้สึกดีขึ้นมากแม้ว่าจะยังไม่ได้ช้อนซื้อหุ้นที่ตกลงมามากในช่วงวิกฤติ เงินสดที่ถืออยู่ประมาณเกือบ 10% ของพอร์ตตั้งแต่ก่อนวิกฤติถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้ซื้อหุ้นทั้ง ๆ ที่ “จดจ้อง” มานานแล้ว เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ที่คิดว่าปีนี้จะเป็นปีที่แย่มากนั้น ถึงวันนี้ก็แทบจะไม่ขาดทุนแล้ว ความรู้สึกดี ๆ ที่เห็นหุ้นปรับตัวขึ้นแรงเกือบทุกวันและนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนส่วนบุคคลแห่กลับเข้ามาซื้อหุ้นราวกับว่าเราอยู่ในช่วง “กระทิงดุ” นั้น มันเป็นเหมือนการ “สะกดจิต” ให้เรามีความมั่นใจว่าหุ้นจะต้องขึ้นต่อไปอีกอย่างแน่นอน ใครไม่รีบก็จะต้อง “ตกรถ”
อาการของตลาดหุ้นบูมนั้นเกิดขึ้นในทุกมิติ การเก็งกำไรของรายย่อย การปั่นหุ้นของขาใหญ่ บทวิเคราะห์หุ้นที่ไม่คำนึงถึงพื้นฐานแต่เน้นสตอรี่ต่าง ๆ กลับคืนมา เวลาพูดถึงหุ้น ทุกคนต่างพูดกันถึงการ Turnaround พูดถึงการเติบโตของกำไรที่จะกลับมาหลังไตรมาส 2 หรือปีหน้า นักวิเคราะห์จำนวนมากพูดถึงเม็ดเงินที่จะไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นเพราะภาวะเงินที่ล้นอยู่ในระบบอานิสงส์จากดอกเบี้ยที่ต่ำลงและการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของรัฐบาลทั่วโลก แต่ทั้งหมดนั้นก็ยังไม่เท่ากับความหวังและความเชื่อมั่นว่าภาวะเรื่องของโควิด-19 กำลังจะจบลงในไม่ช้าและทุกประเทศต่างก็ทยอยเปิดเศรษฐกิจแม้ว่าโควิดก็ยังไม่หมดไป ถ้าจะพูดว่าเวลานี้ประเทศส่วนใหญ่กำลัง “มองผ่านโรคโควิด-19 ไปแล้ว” ก็น่าจะได้ สงครามกับเชื้อโรคนั้นกำลังจบลงแล้วด้วย “ชัยชนะ” ของมนุษยชาติ สงครามต่อไปก็คือ “สงครามทางเศรษฐกิจ” ที่ทุกประเทศต่างก็พยายามต่อสู้เพื่อไปสู่ชัยชนะเช่นเดียวกันในที่สุด
สัปดาห์ก่อนผมเองไปเที่ยวพักผ่อนที่หัวหิน สิ่งที่พบก็คือ ชายหาดหน้าโรงแรมหรูที่ผมพักอยู่นั้นค่อนข้างคึกคักแม้เป็นวันธรรมดา อัตราการเข้าพักของโรงแรมนั้นต้องถือว่า “เต็ม” อย่างไม่น่าเชื่อ ผมคิดว่าหัวหินนั้นได้เปรียบที่คนกรุงเทพฯ สามารถเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวซึ่งทำให้ความเสี่ยงในการติดโควิดไม่มี การพักผ่อนริมชายหาดที่เป็นสถานที่เปิดนั้นความเสี่ยงในการติดเชื้อก็น่าจะน้อย ดังนั้น นี่เป็นทางเลือกแรกของการท่องเที่ยว ผมคิดว่าหากสถานการณ์การติดเชื้อของไทยยังดีแบบนี้อยู่ การท่องเที่ยวในประเทศแม้แต่การเดินทางด้วยเครื่องบินก็น่าจะดีขึ้น
เช่นเดียวกับการท่องเที่ยว ผมเองก็เริ่ม “เดินห้าง” เพราะมันเป็นกิจวัตรในยามปกติของผม จำนวนคนในห้างที่ผมเห็นก็ดูเหมือนว่าจะเพิ่มขึ้นพอสมควรแล้ว เช่นเดียวกับภัตตาคารในห้างที่คนเริ่มเข้าไปนั่งกินที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลจากคนในวงการบอกว่าขณะนี้อัตราการใช้บริการประมาณ 50-60% ของอัตราก่อนโควิดไปแล้ว นี่คือสถานการณ์ของภาคธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้เปิดซึ่งผมคิดว่าน่าจะดีขึ้นไปเรื่อย ๆ จนใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด สนามรบต่อไปที่น่าจะตามมาในไม่ช้าก็คือการเปิด “เต็มที่” ในทุกธุรกิจซึ่งรวมถึงการชุมนุมคนจำนวนมากเช่น การแข่งขันกีฬา งานสัมมนา มหกรรมการแสดงและขายสินค้า การจัดคอนเสิร์ต และที่สำคัญมากที่สุดก็คือ การเปิด “ชีวิตกลางคืน” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ใหญ่มากในสังคมไทย ทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าจะเกิดขึ้นภายในไม่เกิน 2 เดือน เพราะดูแล้วเหตุผลที่จะไม่เปิดนั้นมีน้อย ว่าที่จริง เป็นเวลากว่า 10 วันติดต่อกันแล้วที่เราไม่มีคนในประเทศติดเชื้อกันเองเลย
กิจกรรมสุดท้ายที่สำคัญไม่น้อยกว่ากิจกรรมอื่น ๆ ที่กล่าวถึงทั้งหมดก็คือ การ “เปิดประเทศ” ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เพราะนี่อาจจะมีผลกับคนไทยหลายล้านคนหรือคิดเป็นประมาณ 10% ของ GDP แต่ผมยังไม่เห็นแผนการที่ชัดเจนเนื่องจากการระบาดของเชื้อโรคในต่างประเทศส่วนใหญ่ก็ยังไม่สงบเพียงพอ การเปิดประเทศอาจจะทำให้เรามีความเสี่ยงที่โรคจะระบาดซ้ำ ผมเองคิดว่าประเด็นนี้อาจจะลากยาวไปอีกหลายเดือนและถ้าจะให้เปิดได้เสรีกับนักท่องเที่ยวเกือบทุกประเทศก็อาจจะใช้เวลาเป็นปีหรือมากกว่านั้น ดังนั้น การท่องเที่ยวจากต่างประเทศก็จะเป็นภาคเศรษฐกิจที่จะเป็น “ลมต้าน” สำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถจะโตกลับมาเท่าเดิมภายในเวลาก่อน 2 ปี
คำถามสำคัญสำหรับนักลงทุนที่เน้นดู “พื้นฐานที่แท้จริง” ของหุ้นในระยะยาวก็คือ ราคาหรือดัชนีหุ้นในช่วงนี้สูงเกินไปหรือยัง การพุ่งขึ้นของหุ้นอย่างรวดเร็วในช่วงนี้มีพื้นฐานที่รองรับหรือไม่?
ถ้ามองว่าราคาหุ้นไทยก่อนโควิด-19 นั้นมีความเหมาะสมอยู่แล้ว เพราะดัชนีตลาดหุ้นอยู่ที่ประมาณ 1,500 จุด ซึ่งมีค่า PE ที่ประมาณ 18 เท่า ซึ่งทำให้ค่า EP เท่ากับ 5.5% ต่อปีเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ประมาณ 1-2% ก็คือมีส่วนต่างประมาณ 3.5-4.5% สำหรับการรับความเสี่ยงในการลงทุนในหุ้นนั้น มองจากประวัติศาสตร์ก็ดูเหมาะสม ไม่แพงหรือถูกเกินไป แต่การเกิดของโควิด-19 นั้น ถ้าเราสมมติว่าจะทำให้เศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนถอยหลังไป 2 ปี คือต้องใช้เวลาอีก 2 ปี เศรษฐกิจและกำไรถึงจะกลับมาที่เดิม นั่นก็แปลว่าดัชนีหุ้นตอนนี้ควรที่จะต่ำกว่า 1,500 จุด ซัก 12% เพื่อที่ว่าตลาดหุ้นจะโตขึ้นปีละ 6% ต่อปีซึ่งเป็นอัตราที่ผมคิดว่าตลาดหุ้นจะทำได้ในระยะยาวนับจากวันนี้ นั่นก็หมายความว่าดัชนีที่เหมาะสมในวันนี้ก็ควรจะเป็นประมาณ 1,320 จุด ซึ่งต่ำกว่า 1,436 จุด และถ้าเราเชื่อตามนี้ก็หมายความว่าดัชนีหุ้นที่เราเห็นในวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ก็ถือว่า “เต็มมูลค่า” แล้ว
แน่นอนว่าการคาดการณ์แบบหยาบที่สุดข้างต้นนั้น มีโอกาสผิดพลาดสูงมากทั้งทางบวกและทางลบ แต่การที่หุ้นปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกับปริมาณการซื้อขายสูงลิ่วและเกิดขึ้นในยามที่คนจำนวนมากกำลังมีความหวังสูงสุดและสถานการณ์เต็มไปด้วยความสดใสหลังจากความเศร้าหมองหดหู่ซึ่งมักจะก่อให้เกิด “Euphoria” หรือความ “ฟิน” ในตลาดหุ้นนั้น เราในฐานะ VI ก็จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะตลาดหุ้นจะมีเหตุผลซึ่งทำให้ดัชนีหุ้นมีเหตุผลก็ต่อเมื่อคนไม่อยู่ในภาวะที่ฟินหรือหดหู่เกินไป
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ที่มาบทความ: https://portal.settrade.com/blog/nivate/2020/06/08/2335