สองสามสัปดาห์ก่อนมีข่าวบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่งแจ้งว่าสต็อกสินค้าของบริษัท “หายไป” หรือไม่มีตัวตนตามที่ลงบัญชีไว้คิดเป็นเงินประมาณกว่าสองพันล้านบาท ข่าวนั้นทำให้หุ้นของบริษัทตกลงไปกว่า 20% ในวันเดียวและทำให้ CEO ต้องประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน บริษัทจดทะเบียนอีกสองสามแห่งก็มีราคาตกลงมากว่า 20% บางตัวลดลงถึง 50% โดยไม่มีสาเหตุชัดเจนมาก แต่หลังจากนั้นก็มี “ข่าวลือ” ออกมาว่าบริษัทมีการทำ “ออร์เดอร์ปลอม” เพื่อที่จะทำให้กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นมากก่อนที่เจ้าของจะขายหุ้นออกไปทำกำไรมหาศาล ข่าวลือนั้นถูกปฎิเสธอย่างสิ้นเชิงโดยผู้บริหารและผมไม่รู้ว่าจะมีใครสืบสวนหรือทำอะไรต่อไปหรือไม่ แต่นักลงทุนจำนวนมากก็ขาดทุนกันอย่างหนัก ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นโดยรวมคงไม่แตกต่างกัน และนี่ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันว่ากรณีที่เกิดการฉ้อฉลหรือแม้แต่ข่าวลือว่ามีการฉ้อฉล หุ้นนั้นก็มักจะเกิด “หายนะ” คนที่เข้าไป “เล่น” ก็มักจะเสียหายหนัก
ผมเองคงไม่พูดถึงกรณีที่เกิดขึ้นนั้นมากนักเพราะเรื่องราวต่าง ๆ ยังไม่กระจ่างชัดว่าเกิดอะไรขึ้นจริง ๆ แต่อยากจะยกกรณีของหุ้น “ในตำนาน” ตัวหนึ่งที่เกิดเหตุการณ์คล้าย ๆ กันนั่นก็คือหุ้นของบริษัทอเมริกันเอ็กเพรสหรือ AMEX ที่บัฟเฟตต์เคยเข้าไปซื้อหลังจากเกิดเรื่องและทำกำไร “มโหฬาร” จนกลายเป็น “ตำนาน” การลงทุนของบัฟเฟตต์และก็ยังเป็นบริษัทที่บัฟเฟตต์ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในวันนี้
ในปี 1962-63 เอเม็กซ์ซึ่งเป็นผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใหญ่ได้เริ่มเข้าไปทำธุรกิจให้กู้กับธุรกิจคลังสินค้าโดยที่บริษัทจะให้กู้โดยเอาสินค้าซึ่งเป็นโภคภัณฑ์ที่เก็บไว้ในคลังสินค้าของลูกค้าเป็นหลักประกัน ในช่วงเวลานั้น ผู้ค้าน้ำมันพืชรายใหญ่คนหนึ่งคือ Anthony De Angelis หรือ “Tino” อดีตพ่อค้าส่งออกอาหารไปยุโรปผู้เคยมีประวัติ “ไม่ค่อยดีนัก” ในเรื่องของการส่งสินค้าต่ำกว่ามาตรฐานที่ตกลงกันไว้ กำลังพยายามปั่นราคาน้ำมันถั่วเหลืองในตลาดฟิวเจอร์ของอเมริกาอยู่ พอเอเม็กซ์เริ่มเข้ามาปล่อยกู้ในตลาด เขาก็มองเห็นโอกาสที่จะทำกำไรมหาศาลโดยการกู้เงินจำนวนมากจากเอเม็กซ์แล้วนำเงินนั้นมา “Corner” หรือซื้อน้ำมันถั่วเหลืองจนหมดตลาดเพื่อดันราคาน้ำมันให้ขึ้นไปสูงลิ่ว
การกู้เงินของ Tino นั้น เนื่องจากเขาไม่มีหลักประกันเพียงพอ สิ่งที่เขาทำก็คือ เขาเติมน้ำเข้าไปในแท้งค์แล้วเติมน้ำมันถั่วเหลืองซึ่งเบากว่าลอยปิดหน้าซึ่งทำให้ดูเหมือนว่ามีน้ำมันถั่วเหลืองเต็มแท้งค์ทุกใบ โดยรวมแล้ว เขามี “น้ำมันปลอม” คิดเป็นเงินถึง 175 ล้านเหรียญซึ่งถ้านับมูลค่าปัจจุบันเท่ากับ 1,450 ล้านเหรียญหรือประมาณ 50,000 ล้านบาท โชคไม่ดี ปริมาณน้ำมันที่เก็บอยู่ในแท้งค์นั้นมีคนเริ่มพบว่ามันมีมากกว่าปริมาณน้ำมันของผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองทั้งหมดซึ่งแสดงว่าน้ำมันในแท้งค์นั้นเป็น “ของปลอม” ข่าวนั้นออกมาทำให้ “วงแตก” เอเม็กซ์เข้าไปตรวจสอบและพบว่าสต็อกนั้นไม่มีจริง ราคาน้ำมันถั่วเหลืองในตลาดฟิวเจอร์ร่วงลงหนัก Tino ขาดทุนจนต้องล้มละลาย หนี้ของเอเม็กซ์กลายเป็นหนี้สูญ เอเม็กซ์เสียหายอย่างหนัก ราคาหุ้นเอเม็กซ์ร่วงลงกว่า 50%
วอเร็น บัฟเฟตต์ วิเคราะห์แล้วพบว่าธุรกิจของเอเม็กซ์ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดบัตรเครดิตนั้นยังแข็งแกร่งมากและน่าจะรับกับความเสียหาย “ครั้งเดียว” ครั้งนี้ได้ แต่ราคาหุ้นตกลงมามากเกินไป คำนวณแล้วต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานของเอเม็กซ์มาก เขาตัดสินใจใช้เงินน่าจะประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งพอร์ตซื้อหุ้นเอเม็กซ์ มันเป็นการ “ตีแตก” ที่ใหญ่ที่สุดของบัฟเฟตต์ เขาทำกำไรมหาศาลและกลายเป็นศาสตร์แห่งการลงทุนที่เป็นยี่ห้อหรือซิกเนเจอร์ของบัฟเฟตต์ที่ว่า “โอกาสการลงทุนที่ดีเยี่ยมที่สุดก็คือการซื้อหุ้นของบริษัทที่ยิ่งใหญ่เมื่อเกิดเหตุการณ์เลวร้ายครั้งเดียวที่แก้ไขได้ในราคาที่ถูกเหลือเชื่อ”
เมื่อพูดถึงเรื่องของ Fraud หรือ Scandal หรือเรื่องของการโกงหรือความฉาวโฉ่และพูดถึงกรณีของเอเม็กซ์แล้ว คนอาจจะคิดว่าผมกำลังบอกว่าให้พิจารณาเข้าไปซื้อหุ้นในตลาดหุ้นไทยเหล่านั้นเมื่อราคาหุ้นตกลงมามากแล้ว แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อ กรณีของเอเม็กซ์นั้นเป็นเรื่องของสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจเดิมและเป็นธุรกิจหลักที่ “ยิ่งใหญ่” ซึ่งก็คือธุรกิจบัตรเครดิตที่บริษัทเป็นผู้นำและคนอเมริกันต่างก็ใช้กันอย่างกว้างขวาง น้ำมันถั่วเหลืองที่ใช้ทำน้ำมันสลัดและการปล่อยกู้ของเอเม็กซ์นั้นเป็นเรื่อง “ครั้งเดียวจบ” แต่ถ้าเป็นเรื่องฉาวโฉ่ในธุรกิจหลักอย่างในกรณีของหุ้นเทสโก้ที่บัฟเฟตต์เคยลงทุนเหมือนกันนั้น มักเป็นเรื่องที่เข้าทำนอง “แมลงสาบมักจะไม่ได้มีตัวเดียว” ดังนั้นถ้าเกิดขึ้นแล้ว แทนที่จะเข้าซื้อเราอาจจะต้องขายอย่างในกรณีของหุ้นเทสโก้ที่ในที่สุดบัฟเฟตต์ก็ต้องขายหุ้นทิ้งทั้งหมด เพราะเขาคิดว่ามันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียวและเป็นเรื่องที่ “แก้ไขไม่ได้” โดยเฉพาะถ้ามันเป็นเรื่องของการบริหารและผู้บริหารที่ไม่น่าไว้วางใจ
กลับมาที่หุ้นไทย ประเด็นที่จะต้องระวังก็คือ ราคาหุ้นนั้นแม้ว่าจะตกลงมามาก แต่ราคาก็ยังสูงมากเมื่อเทียบกับราคาหุ้นก่อนที่จะขึ้น ซึ่งไม่เหมือนกับกรณีเอเม็กซ์ซึ่งหุ้นของบริษัทก่อนเกิดเรื่องนั้นไม่ได้ปรับตัวขึ้นผิดปกติ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ “โอกาสซื้อที่ยิ่งใหญ่” นั้น เราจะต้องวิเคราะห์ดูถึงมูลค่าพื้นฐานที่ควรจะเป็นของตัวธุรกิจหลักว่าควรจะมีค่าเท่าไรเมื่อเทียบกับราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมา ในกรณีของเอเม็กซ์นั้น ผมคิดว่าเอเม็กซ์ในช่วงนั้นน่าจะกำลังเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” เหตุผลก็เพราะว่าในปี 1963 นั้น บัตรเครดิตยังเป็นของใหม่ที่มีคนใช้ไม่มาก การเติบโตน่าจะมีมหาศาลและเอเม็กซ์เป็นผู้นำที่โดดเด่นมาก ผมเองยังจำได้ว่าเมื่อผมไปอเมริกาครั้งแรกสมัยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ผมต้องซื้อเช็คเดินทางของเอเม็กซ์ แต่ Market Cap. ของบริษัทในช่วงที่บัฟเฟตต์เข้าซื้อนั้นดูเหมือนว่าจะเล็กมากจนบัฟเฟตต์สามารถซื้อจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ทั้ง ๆ ที่พอร์ตของบัฟเฟตต์ยังไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น
อีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องของสถานะของบริษัทที่เราจะต้องดูว่ามันดีหรือเป็นระดับ “ซุปเปอร์สต็อก” หรือไม่? นี่ก็เป็นเรื่องสำคัญ ในกรณีของหุ้นเอนรอนบริษัทพลังงานที่ยิ่งใหญ่ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์ “ฉาวโฉ่” ที่ผู้บริหารมีการแต่งบัญชีหรือทำ “รายการปลอม” และราคาหุ้นตกลงมามากนั้น ก่อนที่จะเกิดเรื่องก็ได้รับการกล่าวขวัญกันมากว่าเป็นหุ้นระดับ “ซุปเปอร์สต็อก” ที่โตเร็วและกำไรดีมาก โดยที่ไม่รู้ว่าที่จริงสิ่งที่เห็นนั้นมันเป็น “ของปลอม” ถ้าเราไปซื้อหุ้นเอนรอนที่เราคิดว่าตกลงมามากแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาก็คือ มันล้มละลายและหุ้นกลายเป็นศูนย์ ว่าที่จริงหุ้นไทยหลายตัวก็มีลักษณะคล้าย ๆ กับหุ้นเอนรอน หลายตัวถูกพักการซื้อขาย และในอนาคตก็อาจจะกลายเป็นศูนย์เหมือนกัน
กล่าวโดยสรุปก็คือ ถ้าเราพบหุ้นที่มีราคาทิ้งดิ่งลงมาเนื่องจากเหตุการณ์ที่พบหรือคนสงสัยว่าเป็นเรื่องของความฉาวโฉ่หรือเป็น “ของปลอม” นั้น อย่าไปคิดว่ามันเป็น “โอกาสซื้อที่ยิ่งใหญ่” ว่าที่จริงโอกาสที่จะเกิดแบบนั้นมีน้อยมาก ในชีวิตเราน่าจะมีไม่กี่ครั้ง การวิเคราะห์เองก็ไม่ง่าย ที่สำคัญก็คือ เป็นเรื่องยากที่จะ “Un-learn” หรือถอนความทรงจำและการเรียนรู้ของเราต่อตัวหุ้นที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ นั่นก็คือ ถ้าเรามีภาพที่ดีต่อตัวหุ้นก่อนเกิดเหตุการณ์ เราก็อาจจะคิดว่าในที่สุดบริษัทก็จะดีขึ้นเหมือนเดิม เราไม่สามารถเห็น “ภาพใหม่” ที่อาจจะถูกต้องเป็นจริงมากกว่า นี่อาจจะต้องใช้เวลาให้สมองของเราค่อย ๆ ซึมซับภาพใหม่ที่ทยอยเกิดขึ้น และเมื่อถึงวันนั้นเราก็จะสามารถมองบริษัทหรือหุ้นได้ถูกต้องและไม่ลำเอียง ซึ่งสำหรับบางคนแล้ว มันก็อาจจะช้าเกินไป แต่สำหรับผมแล้ว ไม่มีอะไรช้าเกินไปสำหรับการลงทุน สำหรับผมแล้ว “เสียดายดีกว่าเสียใจ” ถ้าตัดสินใจเร็วแล้วผิดพลาด
ที่มาบทความ: thaivi.org