อวสานของโรงเรียน

เรื่องของ “คน” หรือถ้ามอง “ภาพใหญ่” ก็คือ “ประชากร” ของประเทศไทยนั้น  เป็นเรื่องที่ผมสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่กลายมาเป็นนักลงทุนแบบ “VI” ที่เน้นการลงทุนระยะยาว  เหตุผลก็คือ  ในระยะยาวแล้ว  เรื่องของเศรษฐกิจ  ทั้งการผลิตและการบริการทั้งหลายนั้นก็ขึ้นอยู่กับคน  ถ้าคนมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ  และความสามารถหรือประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้นเรื่อย ๆ  เศรษฐกิจก็จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ  ตรงกันข้าม  ถ้าคนมีจำนวนน้อยลงไปเรื่อย ๆ  และความสามารถหรือประสิทธิภาพของคนไม่เพิ่มขึ้น  เศรษฐกิจก็จะถดถอยลงไปเรื่อย ๆ  ซึ่งทั้งสองประการก็กระทบกับการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างรุนแรง  ในกรณีแรกนั้น  เกิดขึ้นกับประเทศไทยมานานมากไม่ต่ำกว่า 60-70 ปีแล้วตั้งแต่ผมเกิดมาจนถึงวันนี้ที่เศรษฐกิจไทยโตขึ้นตลอดอย่างรวดเร็วและส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วปีละเกือบ 10% มาเป็นเวลาเกือบ 46 ปี  แล้ว

ในกรณีที่สองที่เศรษฐกิจจะถดถอยลงอย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น  ผมกำลังวิตกว่ากำลังใกล้จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย  นั่นก็เพราะว่าจำนวนคนหรือคนที่ทำงานได้ของประเทศไทยนั้น  กำลังเข้าสู่จุดสูงสุดและจะลดลงมาอย่างต่อเนื่อง  เช่นเดียวกับประสิทธิภาพหรือความสามารถของคนไทยที่จะไม่เพิ่มขึ้นอานิสงส์จากคุณภาพการศึกษาที่ไม่ได้พัฒนาขึ้นและอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วของคนไทยในช่วงเร็ว ๆ  นี้และต่อไปในอนาคต  โดยที่ผมเองก็ยังไม่เห็นว่าจะมีใครสนใจที่จะแก้ไขหรือชะลอปัญหาที่ยิ่งใหญ่และสำคัญขนาดนี้

ผมเองเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องของประชากรไทยมาหลายครั้ง  แต่ครั้งนี้ผมอยากที่จะเน้นถึงปรากฏการณ์สำคัญที่ยังไม่เคยพูดถึงอย่างจริงจังแต่จะมีความสำคัญมากในอนาคตนั่นก็คือ  การลดลงแบบ “ถล่มทลาย” ของจำนวนเด็กที่เกิดในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะกระทบกับกิจกรรมทั้งหลายเกี่ยวกับทารกและเด็กเล็กซึ่งน่าจะรวมถึงงานของสูตินรีแพทย์  อาหารเด็กเล็ก  โรงเรียนอนุบาลและหนังสือเกี่ยวกับแม่และเด็กมาก่อนหน้านี้แล้ว  อย่างไรก็ตาม  กิจกรรมใหญ่และสำคัญยิ่งกว่าที่จะเริ่มเห็นผลกระทบอย่างแรงก็คือ  “โรงเรียน” ซึ่งก็จะพบว่าจำนวนเด็กที่จะต้องเข้าโรงเรียนนั้น  จะลดลงไปมากและจะลดลงอย่างต่อเนื่อง  ตัวเลขของเด็กที่เกิดเมื่อ 7-8 ปีก่อนนั้นอยู่ที่ประมาณเกือบ 8 แสนคนต่อปี  หลังจากนั้น  ก็ลดลงตลอดทุกปี  ประมาณปีละ 30,000 คน  ทำให้เด็กที่เกิดล่าสุดนั้นอยู่ที่ประมาณแค่ปีละ 550,000 คน หรือเป็นการลดลงถึงประมาณ 30% และตัวเลขนี้ก็น่าจะยังไม่ดีขึ้นเมื่อคำนึงถึงปัญหาโรคโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจเลวร้ายที่ตามมาซึ่งน่าจะทำให้คนเลื่อนและลดการมีลูกลงไปอีก

ที่จริง  เรื่องของการศึกษาของไทยนั้น  ก่อนหน้านี้เราก็เริ่มเห็นว่านักศึกษาที่เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเริ่มที่จะลดลงเพราะจำนวนคนที่เกิดและอายุครบ 17-18 ปี นั้น เริ่มลดลงจากปีละ 1 ล้านคนเมื่อ 20 ปีก่อนซึ่งก็สอดคล้องกับความเฟื่องฟูของมหาวิทยาลัยที่มีการขยายตัวขึ้นมากทั้งของรัฐและเอกชนในขณะนั้น  แต่พอถึงเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา  จำนวนคนที่อายุถึง 17-18 ปีก็ตกลงมาเหลือปีละ 9 แสนคน  มหาวิทยาลัยเอกชนหรือของรัฐที่เน้นการเรียนทางด้านที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจเริ่ม “ว่าง”  ผ่านมาจนถึงวันนี้ตัวเลขคนไทยที่อายุถึงเกณฑ์เข้ามหาวิทยาลัยลดลงอีกเหลือเพียงปีละ 8 แสนคน  นักศึกษาในหลักสูตรทางด้านศิลปศาสตร์ที่ไม่ทำเงินหรือหางานยากหายไปเกือบหมด  มหาวิทยาลัยเอกชนจำนวนมากต้องปิดแผนกเพราะจำนวนนักศึกษาบางแห่งน้อยกว่าอาจารย์ที่สอนเสียอีก อย่างไรก็ตาม  ตัวเลขจำนวนคนที่อายุถึงเกณฑ์ต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัยหลังจากนี้จะคงที่ประมาณเกือบ 8 แสนคนไปอีก 10 ปี  ซึ่งถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง  มหาวิทยาลัยที่ได้ลดขนาดและ “ปรับโครงสร้าง” หลักสูตรในช่วง 2-3 ปีนี้แล้วก็น่าจะยังสามารถรักษาขนาดของตนเองอยู่ได้อีก 10 ปี ก่อนที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไป  “อย่างสิ้นเชิง” อีกครั้งหนึ่งเมื่อจำนวนนักศึกษาจะลดแบบ  “ตกหน้าผา” ตั้งแต่ปี 2573-74

แต่ก่อนจะครบ 10 ปีนั้น  คนที่บริหารมหาวิทยาลัยก็คงไม่ได้อยู่อย่างสบายนัก  เพราะด้วยอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิตอลที่มีต่อกิจกรรมอย่างการศึกษานั้นสูงลิ่ว  การเรียนการสอนมีโอกาสที่จะถูก Disrupt จากแอปฯ สื่อสังคมอย่างซูมและข้อมูลต่าง ๆ จากเว็ปไซต์อย่างกูเกิลได้   มหาวิทยาลัย  “รูปแบบใหม่” ที่อาจจะลงทุนไม่มากแต่สามารถสอนคนจำนวนมหาศาลและด้วยอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถสุดยอด  ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำมาก  อาจจะมาทำลายมหาวิทยาลัย “รุ่นเก่า” ได้  นอกจากนั้น  “ค่านิยม” ใหม่ ๆ ที่ว่านายจ้างไม่สนใจใบปริญญาหรือความรู้ด้านอื่น ๆ  ที่ไม่เกี่ยวข้องอาจจะไม่ต้องการคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัย  แต่สนใจความสามารถและความเชี่ยวชาญเฉพาะของคนที่จะเข้ามาทำงานมากกว่าโดยที่ไม่ต้องเรียนจบมหาวิทยาลัยก็ได้  ทั้งหมดนั้นทำให้ “อนาคต” ของมหาวิทยาลัย  โดยเฉพาะที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยชั้นนำมีความไม่แน่นอนสูงมาก

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็คือ  ทำอย่างไรถึงจะทำให้คนเรียนมีศักยภาพหรือความสามารถเพิ่มขึ้น?  สมัยที่ผมเรียนจบมหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมและไปทำงานในโรงงานนั้น  ก็ต้องบอกว่าทำงานสายตรงกับที่เรียน 100%  แต่ความรู้สึกก็คือ  ที่เรียนมาทั้งหมดนั้นก็ใช้งานได้น้อยมาก  ส่วนใหญ่แล้วต้องไปเรียนรู้เองจากงานที่ทำงาน  ยังจำได้ว่า  ไม่มีหัวหน้างานที่จะ “สอน” เป็นเรื่องเป็นราว  ทำผิดบ้างถูกบ้างและก็ไม่สามารถพัฒนาความสามารถจนเป็นผู้ออกแบบหรือสร้างสรรค์อะไรได้เป็นเรื่องเป็นราว  ความสามารถสูงสุดเป็นได้แค่ “Operator” หรือ ผู้ควบคุมเครื่องจักรอุปกรณ์ให้ทำงานเสียเป็นส่วนใหญ่  นาน ๆ ครั้งก็เป็นนัก “ก็อปปี้” หรือเลียนแบบคนอื่นหรือเครื่องจักรจากต่างประเทศ  สุดท้ายถ้ายังทำงานอยู่ก็จะถึงจุด “ตัน” ก้าวหน้าต่อไปไม่ได้

ถ้าจะเปรียบเทียบตัวเองกับภาพใหญ่ของประเทศโดยรวมก็อาจจะคล้าย ๆ การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่เติบโตไปเรื่อย ๆ เนื่องจากฐานที่ต่ำ  แต่พอทำได้ดีถึงจุดหนึ่งก็ไปไม่ได้เพราะองค์ความรู้หรือศักยภาพจำกัด  สุดท้ายก็ “ติดกับดัก”  กลายเป็น “Middle Income Trap” ประเทศที่ “แก่ก่อนรวย”  ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายแห่งนั้น  คนของเขาน่าจะได้รับการศึกษาหรือความรู้ที่ดีกว่า  ผมยังจำได้ว่าวันที่ผมอยู่โรงงานเป็น “วิศวกร” นั้น  เรามี  “ช่างเทคนิค” ที่มาจากบริษัทที่ขายเครื่องจักรที่มีความซับซ้อนอย่างเครื่องเทอร์ไบนที่ใช้หมุนเครื่องจักรขนาดใหญ่จากญี่ปุ่นเข้ามาช่วยดูแลเครื่องจักรด้วย  ความน่าทึ่งก็คือ  ช่างเทคนิคที่ไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัยของเขานั้น  รู้เรื่องเครื่องจักรดีกว่าเรามาก  สามารถแม้กระทั่งแก้ไขปรับปรุงเครื่องจักรที่เราคิดว่า “สมบูรณ์แล้ว” จากโรงงาน  หลังจากการแก้ไขและปรับปรุงจุดอ่อนที่เกิดขึ้นจากการใช้งานแล้ว  ข้อมูลหรือความรู้นั้นถูกป้อนกลับไปสู่บริษัทที่ญี่ปุ่น  เพื่อที่จะปรับปรุงเครื่องจักรรุ่นใหม่ให้ดีขึ้น  และนี่ก็คงเป็นเหตุผลที่ทำให้ญี่ปุ่นเจริญเติบโตและกลายเป็นประเทศพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว

ผมเองไม่ได้อยู่ในแวดวงการศึกษาและก็ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้เราสอนอะไรในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัย  จากการอ่านในบทความต่าง ๆ  เขาบอกว่าการศึกษา “ยุคใหม่” จะต้องสอนคนให้รู้จักคิด  รู้จักเรียนรู้เอง  เพราะว่าโลกและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก  บางทีเรียนอะไรบางอย่างมาแต่ถึงเวลาเรื่องนั้นอาจจะ “ล้าสมัย” ไปแล้ว  ดังนั้น  นักศึกษาจะต้องรู้จักวิธีคิดและมีความยืดหยุ่นปรับตัวได้   ผมเองคิดถึงระบบการจัดการการศึกษาของไทยแล้วก็ได้แต่ถอนใจ  ระบบการศึกษาของเรานั้นดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยสนใจให้นักเรียนคิด  ครูส่วนใหญ่ก็จะ “รับนโยบาย” จากรัฐหรือส่วนกลางให้มาสอนให้นักเรียนทำหรือคิดตาม  ครูเป็น  “แม่พิมพ์” ของชาติ  เด็กที่ “ถูกพิมพ์” ออกมาก็น่าจะคล้าย ๆ  กับ “แม่พิมพ์”  ดังนั้น  ความคิดสร้างสรรค์จะมาจากไหน?

ก่อนหน้านี้ภาระของการให้การศึกษาแก่เด็กของเราคงจะหนักมาก  งบประมาณถูกจัดให้สูงสุดในทุกกระทรวงแต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เกิดผลดีอะไรมากนัก  บางทีเราอาจจะมีจำนวนเด็กที่ต้องเรียนมากเกินไป  เวลานี้เด็กกำลังลดลงมากมายผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหันมาสนใจการพัฒนาระบบการเรียนการสอนของเราอย่างจริงจังและแบบ  “ปฏิวัติ เพื่อที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้โตต่อไปได้ในยามที่ทุกอย่างไม่เอื้ออำนวย  ถ้าเราไม่ทำในวันนี้  ผมคิดว่ามันก็คงเป็น  “อวสานของโรงเรียน”

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2021/02/08/2461

TSF2024