โลกต่อสู้กับโควิด-19 มาประมาณปีครึ่งแล้ว ในช่วงแรกนั้น ประเทศในเมืองหนาวที่เจริญแล้วและ/หรือประเทศที่มีวัฒนธรรมแบบตะวันตกที่มักจะอยู่ใกล้ชิดและสัมผัสกันมากต่างก็ประสบกับการระบาดอย่างหนัก ดังนั้น พวกเขาจึงต้อง “ต่อสู้” ซึ่งก็พบว่าไม่มีวิธีอื่นที่จะดีไปกว่าการใช้ “อาวุธ” ที่คิดค้นขึ้นด้วยเทคโนโลยี “ไฮเท็ค” ซึ่งเป็น “จุดแข็ง” ของมนุษย์ที่สามารถเอาชนะปรากฏการณ์ของ “ธรรมชาติ” มากมายมาแล้ว สิ่งนั้นก็คือ การผลิต “วัคซีนรุ่นใหม่” ที่สามารถจะทำได้เร็วและมากพอที่จะป้องกันคนไม่ให้ถูกโรคร้ายเข้ามาทำร้ายร่างกายได้
พวกเขารู้ว่า การ “ป้องกันตัว” โดยการสวมหน้ากากหรืออยู่ห่างกันอย่างที่เรียกว่า “Social Distancing” นั้น เป็นได้แค่ “มาตรการชั่วคราว” ที่จะชะลอไม่ให้คนติดเชื้อกันเร็วมากจนระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว และก็เป็นไปตามคาด วัคซีนถูกคิดค้นและผลิตขึ้นอย่างรวดเร็ว การฉีดให้กับประชาชนเป็นไปอย่างกว้างขวาง การติดเชื้อโควิดลดลงอย่างรวดเร็ว หลาย ๆ แห่งยกเลิก “มาตรการชั่วคราว” เช่นการสวมหน้ากากหรือการแยกห่างจากกัน แน่นอน โควิดไม่ได้หายไป ยังมีการติดเชื้อจำนวนไม่น้อยแต่ก็น้อยกว่าช่วงแรกที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนมากอย่างเทียบกันไม่ได้ อย่างไรก็ตาม คนที่ติดเชื้อก็มักจะเป็นคนที่ “ไม่ยอมฉีดวัคซีน” หรือยัง “ไม่ถึงคิวฉีด” ซึ่งรวมถึงคนที่อายุยังน้อยเกินไปด้วย และในกรณีของคนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนซึ่งจะเป็นด้วยเหตุผลใดก็ตาม รัฐบาลเองก็คงทำอะไรไม่ได้ เพราะนั่นเป็น “สิทธิ” ส่วนบุคคลที่ไม่มีใครมาบังคับได้ ดังนั้น โรคโควิดจึงน่าจะอยู่กับคนต่อไปและในแทบทุกประเทศ เรียกว่าเป็น “โรคประจำถิ่น” เหมือนโรคไข้หวัดใหญ่อื่น ๆ ถ้าใครไม่ฉีดวัคซีนก็รับความเสี่ยงกันเอง ไม่ได้เป็นปัญหาของรัฐหรือคนในสังคมที่ป้องกันตัวเองดีแล้วด้วยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ
กลับมาที่ประเทศไทยและอีกหลาย ๆ ประเทศในเอเซียที่มีอากาศร้อนโดยเฉพาะในประเทศที่ไม่ได้มีวัฒนธรรมการอยู่ใกล้ชิดและสัมผัสกันมากนั้น ในช่วงแรกของการระบาด การติดเชื้อโควิดมีน้อยมาก การต่อสู้กับโควิดที่ไม่ชอบอากาศร้อนดูเหมือนจะทำได้ไม่ยาก แค่สวมหน้ากาก อยู่ห่างกัน กินร้อนและหมั่นเช็ดมือด้วยแอลกอฮอล์ก็ดูเหมือนว่าจะ “เอาอยู่” แล้ว เห็นได้จากการที่ในบางช่วงนั้น แทบจะไม่มีคนติดเชื้อเพิ่มเป็นหลายสิบวัน วัคซีนป้องกันโควิดที่กำลังคิดค้นกันสำหรับบางคนนั้นเป็นแค่ “มาตรการเสริม” ถ้าเราสามารถรักษาสถิติการไม่ติดเชื้อนานพอและป้องกันไม่ให้ชาวต่างชาติที่อาจจะติดเชื้อเข้าประเทศได้ ในที่สุด โรคก็คงหายไปเอง ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นอาจจะกำลังคิดถึงโรคซาร์หรือไวรัสตัวร้ายอื่น ๆ ที่เคยเกิดและก็หายไปแล้วโดยไม่ต้องมีวัคซีนเพื่อฉีดป้องกัน ดังนั้น เรื่องการเตรียมหาซื้อวัคซีนจึงดูเหมือนว่าจะไม่ใช่ภารกิจหลักที่สำคัญที่สุดหรือเป็นเรื่อง “ความเป็นความตาย”
แต่ก็เป็นอย่างที่เห็น “มาตรการทางด้านสังคม” นั้นไม่สามารถเอาชนะโควิดได้ มันแค่ชะลอไม่ให้มันเกิดขึ้นเร็วเกินไปจน “เอาไม่อยู่” โควิดในไทยและในประเทศเอเชียอื่นอีกหลายประเทศเริ่มระบาดขึ้นใหม่เป็นระลอก ๆ และทุกครั้งจำนวนผู้ติดเชื้อมักจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ และนี่ก็น่าจะเป็นเรื่องปกติที่น่าจะคาดการณ์ได้ การกระจายตัวหรือติดต่อกันของไวรัสหรือแม้แต่การกระจายของข่าวสารข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น ตอนแรกที่มีน้อยก็จะเพิ่มขึ้นช้า แต่พอกระจายรอบสองรอบสามและต่อ ๆ ไปมันก็จะทวีคูณและมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อในเวลาอันสั้น โควิดก็เช่นกัน และไม่ว่าเราจะ “ปิดเมือง” หรือมีมาตรการเข้มข้นแค่ไหน มันก็เป็นได้แค่ “มาตรการชั่วคราว” ที่จะชะลอไม่ให้ระบบสาธารณสุข “ล่มสลาย” ดูแลคนป่วยไม่ไหว แต่การปิดธุรกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ นั้น มี “ต้นทุน” มหาศาล เวลา 1 เดือนอาจจะทำให้เศรษฐกิจเสียหายเป็นแสนล้านบาท คนที่ “เดือดร้อน” นั้นมักจะเป็นคนที่อยู่ใน “ระดับล่าง” ของสังคม พวกเขาคล้าย ๆ จะต้องเลือกว่า “จะอดตายหรือเป็นโรคตาย” ความไม่พอใจในการจัดการโควิดของรัฐบาลขึ้นสู่จุดสูงสุด
เราเริ่มรู้ว่าการได้รับวัคซีนป้องกันโควิดคือ “วิธีเดียว” ที่จะพาประเทศออกจากวิกฤตครั้งนี้ได้ก็ต่อเมื่อมันสายไปพอสมควรแล้ว เพราะวัคซีนที่เราวางแผนที่จะได้มาในตอนแรกนั้น มาช้าและน้อยกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับการที่โควิดมาเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คิดไว้มาก ผลก็คือ ทุกอย่าง “โกลาหล” ระบบสาธารณสุขที่มีอยู่รองรับไม่ไหว ภาพของคนป่วยที่ต้องรอเตียงจนตายกลายเป็นเรื่องปกติ คนดังที่ติดโควิดโดยไม่รู้ว่ามาจากไหนเต็มไปหมด ผู้คนทั่วไปรวมถึงคนที่ “แทบไม่ได้ออกไปไหน” ก็ยัง “ผวา” ว่าวันหนึ่งตนเองก็อาจจะติดโรคด้วย การจัดการเรื่องโควิดที่ไทยเคยได้รับการจัดอันดับว่าทำได้ดีในระดับต้น ๆ ของโลกในช่วงแรก ตกลงมาเป็นประเทศท้าย ๆ ถึงเวลานี้เอกชนเฉพาะอย่างยิ่งกิจการขนาดใหญ่ทั้งหลายต่างก็อยู่เฉยไม่ได้อีกต่อไป พวกเขาเรียกร้องที่จะเข้ามาช่วยหาวัคซีนโดยเฉพาะที่พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูงเพื่อฉีดให้กับพนักงานหรือลูกค้าของตนที่กำลังต้องการวัคซีนอย่างรีบด่วน แต่กว่าจะได้รับการ “อนุมัติ” หรือ “เปิดทางสะดวก” ก็ดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ “มติมหาชน” หรือเสียงเรียกร้องจากคนที่เดือดร้อนดังจน “รัฐ” รับไม่ไหวแล้ว
ปัญหาของการบริหารจัดการของไทยในเรื่องโควิดนั้น ผมคิดว่าอยู่ที่การไม่ได้กำหนดกลยุทธ์และยุทธศาสตร์ตั้งแต่ต้น ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ดูเหมือนว่าจะเป็นนักวิชาการด้านที่เกี่ยวกับเชื้อโรคหรือการระบาด คนที่ตัดสินใจเป็น “นักการเมือง” ส่วนคนที่ปฏิบัติเป็นข้าราชการ ทั้งหมดนั้นเป็นคนที่ค่อนข้างสูงอายุและไม่ได้มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการแบบสมัยใหม่ที่ต้องกำหนดกลยุทธ์ในการเอาชนะหรือประสบความสำเร็จ และในกรณีแบบนี้ที่เป็นเรื่องฉุกเฉินเร่งด่วน การกำหนด Priority หรือ ภารกิจสำคัญก่อนหลังที่ต้องทำว่าคืออะไรและจะทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แก้ปัญหาไปวันต่อวันและคิดเฉพาะในสิ่งที่ตนรู้และเข้าใจ ไม่มีคนที่ “เก่ง” และมีประสบการพอเป็นที่ยอมรับมาเป็น “แม่ทัพ” ที่จะนำการ “ต่อสู้” กับโควิดอย่างแท้จริง
ความผิดพลาดในการจัดการเรื่องของโควิดนั้น นอกจากการที่มีคนเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากแล้ว ยังรวมถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจที่หนักมาก เราต้องกู้เงินมหาศาลหลายแสนหรือล้านล้านบาทมาช่วยคนที่ถูกกระทบโดยโควิดไม่รู้กี่รอบและไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร หนี้สินที่เพิ่มขึ้นนั้น หลังจากโควิดผ่านไปเราก็จะต้องชดใช้คืนเจ้าหนี้ซึ่งทำให้เงินงบประมาณที่จะใช้ในการพัฒนาประเทศลดน้อยลงมาก และก็เช่นเดียวกัน คนจำนวนมากที่ไม่มีรายได้และต้องกู้เงินมาใช้จ่ายในช่วงโควิดระบาดก็มีหนี้สินมากขึ้นและเขาก็จะต้องชดใช้คืนด้วยเงินที่ทำมาหาได้หลังจากโควิดสงบ ดังนั้น การบริโภคที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจก็จะลดลง ทั้งหมดนั้นทำให้อนาคตการเจริญเติบโตของประเทศไทยอาจจะไม่สดใสไปอีกนาน
ยิ่งการแก้ปัญหาโควิดช้าลงเพราะวัคซีนมาช้า ความเสียหายก็จะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ ผมลองนึกดูแล้วก็ไม่เห็นเหตุผลเลยว่าทำไมเราจะต้องประหยัดในเรื่องของการนำเข้าหรือซื้อวัคซีนมาก ๆ และหลากหลาย เอาให้เหลือเฟือเหมือนประเทศพัฒนาอื่น ๆ เพื่อที่จะได้เร่งฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่และลดเวลาการแก้ปัญหาโควิดลงให้มากที่สุด ทำไมเราไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่มอีกไม่กี่หมื่นล้านบาทเพื่อที่จะประหยัดเงินจากความเสียหายทางเศรษฐกิจเดือนละ 1 แสนล้านบาทจากการขาดแคลนวัคซีน? คนที่เกี่ยวข้องบางคนอาจจะบอกว่าถึงมีเงินซื้อก็ไม่มีของ เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่หลายคนรวมถึงผมเองก็สงสัยเหมือนกัน เหตุผลเพราะผมเห็นประเทศอื่นที่เพิ่งสั่งซื้อกลับได้วัคซีนที่บอกว่าหายากก่อนไทย บางทีถ้าเรา “คิดใหม่” และเลือกใช้คนที่มีความสามารถหรือมีบารมีหรือมีเงินพร้อมจ่ายมากพอและปล่อยให้เอกชนเป็นคนทำแบบ “เสรี” ไม่ติดอยู่กับเกณฑ์หรือระเบียบต่าง ๆ ทางราชการที่ถ้ามีปัญหาก็แก้ไขได้ เราก็อาจจะสามารถหาวัคซีนได้ “เหลือเฟือ” อย่างหลายประเทศเช่น อิสราเอล หรือสิงคโปร์ก็เป็นได้
“สงครามโควิด” ของไทยผมคิดว่ากำลังขึ้นสู่จุดสูงสุดหรือ “Peak” ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบรุนแรงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ใน “โลกจริง” นั้น ถนนหนทาง ที่ทำงาน ห้องเรียน และห้างร้านว่างเพราะ “ถูกปิด” แต่ใน “โลกเสมือน” ที่อยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือนั้น ทุกอย่างกำลังดังอื้ออึงไปหมด “เสียง” มาจากประชาชนที่ลำบากยากเข็ญ บางคนอาจจะกำลังตาย คนจำนวนมากต้องการความช่วยเหลือ “อย่างสิ้นหวัง” คนที่ไม่ได้เดือดร้อนมากนักอ่านแล้วก็ “ร้องไห้” นี่หรือประเทศไทยที่แสนสบายและมีความสุขที่สุดในโลก? ผมเองก็สงสัยเหมือนกันว่าจะมีคนที่ไม่ได้ยินเสียงเหล่านี้ไหม? โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจมีหน้าที่ที่จะต้องแก้ปัญหา นี่ทำให้ผมนึกถึงท่อนหนึ่งของเพลงในภาพยนต์คลาสสิก เรื่อง “Les Miserables” ที่พูดถึงคนที่กำลังทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสว่า “Do you hear the people….( cry?, sing?, … )” ในวงเล็บคือสิ่งที่แต่ละคนสามารถเติมเองได้
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2021/07/12/2532