โควิดรอบ 3

ในขณะที่การระบาดของโควิด-19 ในประเทศหลัก ๆ ของโลกเช่นในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ในยุโรปที่ต้องเผชิญกับปัญหาอย่างรุนแรงมากในปีที่แล้ว  กำลังเริ่มลดลงเพราะการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง  สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยกลับเลวร้ายลง “อย่างมาก” เนื่องจากเรากำลังประสบกับการระบาดของโรค “โควิดรอบ 3” ที่มีการกระจายและติดเชื้อในหมู่คนค่อนข้างกว้างขวางเมื่อเทียบกับการระบาดรอบแรกที่เกิดจากสนามมวยและรอบสองที่เกิดในหมู่คนงานต่างชาติและในตลาดสดที่อยู่ในต่างจังหวัด  แต่การระบาดรอบนี้เริ่มจากสถานบันเทิงระดับหรูที่เกี่ยวข้องกับคนที่มีสถานะทางสังคมสูงที่มักจะมีการติดต่อกับผู้คนจำนวนมาก  และยังรวมถึงผู้ให้บริการเช่นนักร้องนักดนตรีที่มักจะเดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ  และพบกับผู้คนจำนวนมากด้วย  การกระจายตัวของการติดเชื้อรอบนี้จึงมีมากและการติดตามและป้องกันก็คงจะยากขึ้นมาก  ผู้เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญบางคนถึงกับบอกว่า  โควิดรอบนี้อาจจะรุนแรงกว่ารอบก่อนหน้าเป็น 10 หรือ 100 เท่า  ผมเองก็รู้สึกว่าคงเป็นอย่างนั้น  ว่าที่จริง  ใน 2 รอบก่อนนั้น  ผมไม่เคยมีเพื่อนหรือคนรู้จักที่ติดจริง ๆ เลย  แต่รอบนี้มีและพบว่ามีคนแทบทุกวงการที่ติดเชื้อ   มันคง “ใกล้ตัว” เข้ามาทุกทีแล้ว  ก่อนหน้านี้ผมเคยคิดว่าเรื่องวัคซีนเราจะรอ ๆ ไปก่อนเพื่อความมั่นใจว่ามันจะไม่มีผลข้างเคียงที่ร้ายแรงจริง ๆ  ตอนนี้ผมคิดว่าผมอยากฉีดวัคซีนแล้ว  แต่ก็ไม่รู้ว่าจะได้ฉีดเมื่อไร

ตลาดหุ้นของแต่ละประเทศนั้น  เป็น “เทอร์โมมิเตอร์” หรือเป็น “เครื่องวัด” ที่ทรงประสิทธิภาพมากว่าผลงานการบริหารหรือการจัดการโดยเฉพาะในด้านของเศรษฐกิจ  สังคม และการเมืองของประเทศนั้นทำได้ดีแค่ไหน  ปรากฏการณ์โควิด-19 นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกและมีความสัมพันธ์กันใกล้ชิด  แม้แต่สายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งก็สามารถกระจายไปยังอีกประเทศหนึ่งได้ง่าย   ในช่วงแรกที่เกิดกรณีโควิด-19 นั้น  เราคิดว่าเรามีความสามารถในการจัดการที่ดีมากจนทำให้เกิดกรณีการติดเชื้อน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ  รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย  แต่นั่นก็เป็นแค่ในเรื่องของการป้องกันการติดเชื้อ  แต่สำหรับผมแล้ว  วิกฤติโควิด-19 นั้น  แท้ที่จริงมี 2 มิตินั่นก็คือ  เรื่องของการติดเชื้อที่ทำลายสุขภาพของคนกับเรื่องของเศรษฐกิจที่มีการทำลายการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง  ซึ่งในมิติหลังนี้  ก็ต้องถือว่าไทยเราจัดการไม่ดีเลย  เห็นได้จากการที่เศรษฐกิจไทยติดลบไปถึงประมาณ 6% ในปีที่แล้วซึ่งเลวร้ายที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง  นอกจากนั้น  IMF รวมถึงหน่วยงานของไทยก็ยังประเมินว่าปี 2564 ไทยก็จะเติบโตเพียง 2-3% ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง  ไม่ต้องพูดถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียตนามที่มีภูมิศาสตร์และภาวะเศรษฐกิจคล้ายคลึงกับไทยที่ปีที่แล้วยังเติบโตถึง 2-3% และปีนี้คาดว่าจะโตไม่น้อยกว่า 6-7% ขึ้นไปและเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่งในช่วง “ปีโควิด”

ตลาดหุ้นของประเทศเฉพาะอย่างยิ่งที่มีปัญหารุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 แต่สามารถผลิตหรือมีการฉีดวัคซีนค่อนข้างแพร่หลายมากแล้วอย่างอเมริกาหรืออังกฤษนั้น  ในช่วงเร็ว ๆ  นี้ต่างก็ปรับตัวขึ้นอย่างแรงและหลายแห่งก็เป็น  “All Time High” กันแล้ว  ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้าคนทั้งประเทศก็จะได้รับการป้องกันจากการติดเชื้อโควิดและทุกอย่างก็จะกลับมาเป็นปกติ  แต่สำหรับตลาดหุ้นไทยนั้น  นอกจากประเด็นเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อานิสงส์จากการที่มีการ “ปิดเมือง” ที่ทำให้แทบไม่มีนักท่องเที่ยวหรือการเดินทางเข้ามาติดต่อหรือทำธุรกิจ  ได้ทำให้ตลาดหุ้นยังไม่สามารถที่จะปรับตัวขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวได้  ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ  การระบาดรอบ 3 ที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อนก็ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ “สะดุด” ลงอีกครั้งหนึ่ง  อย่างไรก็ตาม  ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะเริ่มตระหนักว่ามิติทางเศรษฐกิจนั้นมีความสำคัญไม่แพ้เรื่องของสุขภาพ  ดังนั้น  การระบาดรอบนี้ที่รุนแรงกว่าสองครั้งแรกมากแต่รัฐบาลก็ไม่ปิดเมืองหรือปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเท่า  ผลก็คือ  ตลาดหุ้นที่ตกลงมาประมาณ 2.5% ใน 2 วันจึงหยุดตกต่อ  นักลงทุนคงจะรอดูว่าหนทางการแก้ปัญหาโควิดแบบ “ยั่งยืน” ซึ่งก็คือการฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างทั่วถึงจะทำได้เมื่อไร?

แต่เดิมดูเหมือนว่าเราจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับวัคซีนซึ่งเป็นเรื่อง  “ระยะยาว”  เท่าที่ควร  ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการที่ไทยมีกรณีติดเชื้อน้อยและทีมงานที่แก้ปัญหาของโควิดซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคคลากรทางด้านสาธารณสุขที่อาจจะไม่ได้มองมิติทางด้านเศรษฐกิจมากนัก  จึงมุ่งเน้นการ “ต่อสู้” โควิดที่เป็นเรื่องเร่งด่วนระยะสั้น  ประเด็นสำคัญสำหรับทีมงานก็คือ  ต้องไม่ให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มหรือเพิ่มมากโดยอาศัยการเว้นระยะห่างและการป้องกันการติดเชื้อโดยการสัมผัส   ส่วนวัคซีนนั้นก็มีการเตรียมผลิตหรือจัดซื้อ  เพียงแต่ไม่ได้เป็นปัจจัยชี้ขาดของการจัดการโควิดในช่วงเวลา “หน้าสิ่วหน้าขวาน” ในตอนนั้น   ผลก็คือ  เมื่อการคิดค้นและผลิตวัคซีนของโลกประสพผลสำเร็จ  เรากลับต้องรอประเทศอื่นใช้ก่อนหรือไม่ก็ไม่สามารถใช้ยี่ห้อที่ดีหรือผลิตได้สำเร็จก่อน  ทั้งหมดนั้นดูเหมือนเราจะทำเพราะต้องการ  “ประหยัด”  ไม่ยอมทุ่มเงินเพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อวัคซีนของโลกมาถึง  เราจะได้ใช้ก่อนหรือได้ใช้เร็วเพื่อที่จะแก้ปัญหาทางสุขภาพและเศรษฐกิจที่ถูกกระทบอย่างหนัก  เราอาจจะลืมไปว่าความล่าช้าในการแก้ปัญหามี  “ต้นทุนแอบแฝง” มหาศาล  ความเสียหายทางเศรษฐกิจแต่ละวันที่เราจะต้องเผชิญกับโควิดนั้นสูงกว่าค่าวัคซีนอย่างเทียบกันไม่ได้เลย

วิธีที่จะแก้ปัญหาการฉีดวัคซีนล่าช้าในขณะนี้ก็คือ  การเปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีนมาให้บริการแก่คนที่ต้องการฉีดและพร้อมที่จะจ่ายเงินเอง  ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลจะเริ่มยอมรับและสนับสนุนโดยการประกาศเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนว่าจะอนุญาตให้นำเข้ามาประมาณ 10 ล้านโดสหรือฉีดได้ประมาณ 5 ล้านคน  คงจะต้องดูว่าจะทำได้เร็วแค่ไหน  ส่วนตัวผมเองคิดว่าเป็น “ข่าวดี” และนี่ก็ส่งผลให้หุ้นของโรงพยาบาลเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวขึ้นกันทั่วหน้าประมาณ 5-6% ซึ่งรวมถึงหุ้นของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุด  นอกจากนั้น  หุ้นบางตัวที่เคยพยายามนำเข้าวัคซีนแต่ไม่สำเร็จเพราะถูก “บล็อก” โดยหน่วยงานรัฐก็ปรับตัวขึ้นไปกว่า 10% ในวันเดียว

อีกครั้งที่ตลาดหุ้นนั้น “ส่งสัญญาณ” ว่าอะไรคือสิ่งที่ดี  นโยบายแบบไหนที่จะช่วยให้เศรษฐกิจและธุรกิจดีขึ้น  แค่ประกาศแต่ไม่รู้ว่าในทางปฏิบัติจะเป็นแบบนั้นและเร็วแค่ไหน  หุ้นก็ขึ้นไปแล้ว  ผมเองก็หวังว่าวัคซีนจะมาเร็วพอ  ข่าวที่บอกว่า “เกณฑ์” การนำเข้าจะเสร็จภายใน 1 เดือนนั้น   ผมคิดว่านานเกินไป  ผมคิดว่า “ของ” ควรจะต้องมาพร้อมฉีดภายใน 1 เดือนน่าจะเหมาะสมกว่า  โดยเฉพาะในภาวะที่ต้องเรียกว่า  “ฉุกเฉิน” อย่างเวลานี้  ยิ่งไปกว่านั้น  ผมเองอยากจะเห็นการ “เปิดเสรี” ไม่จำกัดจำนวนแค่ 10 ล้านโดส  จริงอยู่รัฐเองอาจจะเสียเงิน “จอง” วัคซีนไปแล้วจำนวนมาก  ถ้าใช้ไม่หมดก็อาจจะเกิดความเสียหาย  แต่ผมเองคิดว่า  เวลาที่โรคหายและเศรษฐกิจเปิดเต็มที่และสามารถรับนักท่องเที่ยวเดินทางจากต่างประเทศนั้น  มีค่ามากกว่าเงินค่าวัคซีนมาก  ลองคิดดู  ขนาดแค่ประกาศว่าจะให้นำเข้าวัคซีน 10 ล้านโดสหุ้นโรงพยาบาลก็ตอบสนองขนาดนี้แล้ว  ถ้าบอกว่าภายใน 3-4 เดือนจะฉีดให้ครบ 80 ล้านโดส  หุ้นทั้งตลาดซึ่งจะได้ประโยชน์มหาศาลจะวิ่งกันขนาดไหน?

นอกจาก “ภาพใหญ่” ของเรื่องวัคซีนแล้ว  ผมเองก็คิดว่า “ภาพเล็ก” เช่นที่เกี่ยวกับยี่ห้อก็อาจจะมีความสำคัญเช่นกัน  เพราะผมเองก็เพิ่งจะเข้าใจจริง ๆ  หลังจากอ่านความเห็นของหมอคนหนึ่งว่า  วัคซีนแต่ละยี่ห้อนั้นมีคุณสมบัติหรือคุณภาพต่างกันมาก  โดยสิ่งที่วัคซีนป้องกันนั้นจะแบ่งเป็น 3 ระดับคือ  1) ป้องกันการติดเชื้อ   ซึ่งก็ปรากฏว่าวัคซีนที่ดูเหมือนป้องกันได้มีแค่ 2-3 ตัวเท่านั้น และป้องกันได้ประมาณ 60-90% วัคซีนส่วนใหญ่ป้องกันการติดเชื้อโควิดไม่ได้เลย  พูดง่าย ๆ  ฉีดแล้วก็ติดเชื้อได้เท่า ๆ  กับคนที่ไม่ได้ฉีดและสามารถเป็นตัวแพร่เชื้อได้  ระดับที่ 2) ก็คือ  ป้องกันการเป็นโรคหรือมีอาการ  นี่คือสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนที่ฉีดวัคซีน  แต่ก็ไม่ได้ 100%  ส่วนใหญ่ป้องกันได้ประมาณ 50-60% แต่ตัวที่เด่น ๆ  ใช้มากในอเมริกานั้น  ป้องกันได้ถึง 90% ขึ้นไป  ดังนั้น  จึงน่าจะเป็นตัวที่ดีที่สุด  ส่วนระดับที่ 3) ซึ่งก็สำคัญมากหรืออาจจะมากที่สุดก็คือ  ความสามารถในการป้องกันอาการรุนแรงซึ่งอาจจะทำให้คนไข้ตายได้นั้น  ปรากฏว่า  วัคซีนตัวหลัก ๆ  ของโลกที่ฉีดกันไปมากมายแล้วในประเทศต่าง ๆ  สามารถป้องกันอาการรุนแรงถึงตายได้ 100% ซึ่งแปลว่าถ้าฉีดแล้วก็ค่อนข้างสบายใจได้ว่าถึงเป็นโรคก็คงไม่ตายแน่นอน  ดังนั้น  ก่อนที่จะฉีดวัคซีนจึงควรศึกษาประสิทธิผลของมันเสียก่อน  ที่ต้องระวังก็คือ  มีวัคซีนหลายตัวที่ไม่มีข้อมูลเหล่านี้ที่เป็นทางการและเผยแพร่ในเอกสารทางการแพทย์เลย ฉีดไปแล้วก็ไม่รู้ว่าป้องกันอะไรได้มากน้อยแค่ไหนจริง ๆ

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2021/04/12/2491

TSF2024