Corner หุ้นแสนล้าน

ช่วงที่ตลาดหุ้นร้อนแรงสุด ๆ อย่างในช่วงเร็ว ๆ นี้ วัดจากปริมาณการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นหลักแสนล้านบาทต่อวัน  เราก็ได้เห็นหุ้นขนาดกลาง ๆ หลายตัว  ถูกนักลงทุนเข้ามาซื้อขายเก็งกำไรหรือถูกใครบางคนเข้ามากวาดซื้อหุ้นของบริษัทเหล่านั้นในจำนวนที่มากจน “หุ้นหมด” ส่งผลให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นอย่างรวดเร็วทะลุ “เพดาน”  ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปหลายเท่าตัวภายในเวลาไม่กี่เดือน  ลักษณะอาการของหุ้นเหล่านี้ผมเรียกว่าเป็นหุ้นที่ถูก “Corner” หรือถูก “ต้อนเข้ามุม”  ราคาจะวิ่งขึ้นไปได้มากจน  “เป็นไปไม่ได้”  และตราบใดที่คนอื่นที่ถือหุ้นอยู่ยังไม่ขายออกมาเป็นเรื่องเป็นราวเนื่องจากเหตุผลบางอย่างรวมถึงการที่พวกเขาคิดว่าหุ้นก็จะยังคงวิ่งต่อไป  ราคาหุ้นที่สูงเสียดฟ้าก็จะยังคงสูงอยู่อย่างนั้น  บางทีก็นานเป็นปี ๆ

หุ้นที่ถูกคอร์เนอร์ในอดีตนั้น  มักจะเป็นหุ้นขนาดเล็กที่มีหุ้นหมุนเวียนในตลาดน้อย  ดังนั้นจึงง่ายที่นักเล่นหุ้นรายใหญ่ บางทีก็แค่รายเดียว  สามารถซื้อหุ้นจนเหลือน้อยและดันราคาขึ้นไปมหาศาลในเวลาอันสั้น  หลังจากนั้นซักระยะหนึ่งเขาก็จะ “ออกของ” หรือทยอยขายหุ้นทิ้งโดยพยายามที่จะไม่ทำให้ราคาตกลงมาเร็วมากจนทำให้ขาดทุนกำไรไปมากหรือถึงกับขาดทุน  และนั่นก็คือการ  “จบเกม”  ซึ่งโดยปกติคนที่เข้าไปเล่นหุ้นตัวนั้นเพราะเห็นราคาวิ่งขึ้นไปมากก็มักจะขาดทุนหนัก  ส่วนคนที่กำไรมหาศาลก็คือคนที่เข้าไปคอร์เนอร์หุ้น  ทั้งโดยตั้งใจหรือเข้าไปร่วมซื้อตั้งแต่ตอนแรก  อย่างไรก็ตาม  อานิสงส์ของขนาดของเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นมากของนักเก็งกำไรและนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหุ้นในช่วงเร็ว ๆ  นี้ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามองมากนั่นก็คือ  ขนาดของหุ้นที่ถูกคอร์เนอร์ขยับขึ้นเป็นหุ้นขนาดกลางที่มี Market Cap. เป็นหมื่นหรือหลายหมื่นล้านบาทที่ถูกต้อนเข้ามุมและดันราคาจนมีมูลค่าหุ้นเป็นหลักแสนล้านหรือหลายแสนล้านบาท  ลองมาดูตัวอย่างว่ามีมากน้อยแค่ไหน

ชุดแรกที่มีความร้อนแรงมากนั้น  เป็นหุ้นแนวสินค้าโภคภัณฑ์  ตัวแรกเป็นสินค้าทางการเกษตรอุตสาหกรรมและตัวที่สองเป็นสินค้าที่เป็นชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์อิเลกโทรนิกส์  ทั้งคู่มีราคาวิ่งขึ้นไปเฉลี่ยน่าจะในระดับ 10 เท่าตัวในเวลาอันสั้นไม่กี่เดือนโดยมีสตอรี่ว่าสินค้าขายดีและมีราคาเพิ่มขึ้นมากอานิสงค์จากโควิด-19  มูลค่าของหุ้นหรือ Market Cap. เฉลี่ยคิดจากราคาวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ประมาณกว่า 270,000  ล้านบาทและกลายเป็นหุ้นที่ใหญ่ติดอันดับต้น ๆ ของตลาดหุ้นไทย  และแน่นอนว่าเป็นหุ้นที่มีราคาแพงมากวัดจากค่า PE เฉลี่ยที่กว่า 44 เท่า ค่า PB ที่ 7.9 เท่า ปันผลตอบแทนที่ต่ำกว่า 1% ต่อปี  โดยรายได้ในช่วง 3 ไตรมาศ ของปี 63 เฉลี่ยที่ประมาณ 31,000 ล้านบาท ซึ่งต้องถือว่าเป็นบริษัทระดับกลางเท่านั้น  นอกจากนั้น  หุ้นน่าจะมี “Free Float” หรือ “หุ้นหมุนเวียน” ในตลาด น้อยวัดจากปริมาณการถือหุ้นของรายใหญ่ 5 อันดับแรก ยกเว้นหุ้น NVDR) ที่เฉลี่ยประมาณ 76% ของหุ้นทั้งหมด

ชุดที่สองอยู่ในกลุ่มพลังงานไฟฟ้าจำนวน 3 ตัว  ซึ่งน่าจะถูกคอร์เนอร์มาเป็นปี ๆ  แล้ว  โดยมีสตอรี่เป็นหุ้นเติบโตเร็วและกำไรดี  อานิสงค์จากราคาขายไฟฟ้าที่ได้ราคาดีในอดีต  แต่การเติบโตใหม่มักจะมาจากต่างประเทศเป็นหลัก  หุ้นตัวใหญ่ที่สุดนั้นมีมูลค่าตลาดหลายแสนล้านบาทติดอันดับต้น ๆ ของหุ้นใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์   เฉลี่ยแล้ว มูลค่าหุ้นเท่ากับประมาณ 250,000 ล้านบาท  ค่า PE อยู่ที่ประมาณ 76 เท่า ค่า PB ที่ 6.3 เท่า ปันผลต่ำกว่า 1% ต่อปี  รายได้เฉลี่ยต่อบริษัทในช่วง 3 ไตรมาศที่ผ่านมาประมาณ 24,000 ล้านบาท  และห้าอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่ถือหุ้นรวมกันประมาณ 67% โดยเฉลี่ย

ชุดที่สามก็คล้ายชุดที่สองในแง่ที่ว่าหุ้นน่าจะถูกคอร์เนอร์มานานพอสมควร  เป็นหุ้นในกลุ่มสถาบันการเงินซึ่งอาศัยเรื่องราวที่ว่าเป็นกลุ่มที่สามารถเติบโตได้เร็วมากโดยเฉพาะจากสินเชื่อส่วนบุคคลรายย่อยที่มีความต้องการสินเชื่อ  “ไม่จำกัด”  เพราะตลาดมีขนาดใหญ่มาก  ที่สำคัญ  แม้ว่าจะให้กู้ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อที่จะสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยสูง  แต่ด้วย  “ความสามารถในการจัดการ” ก็ทำให้อัตราหนี้เสียต่ำกว่าสถาบันการเงินอื่น ๆ  มาก  ในกลุ่มนี้มี 2 ตัวที่มี Market Cap. เกินแสนล้านบาทและเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 130,000 ล้านบาท  ค่า PE เฉลี่ยประมาณ  25 เท่า  ค่า PB อยู่ที่ 6.3 เท่า  อัตราปันผลต่อปีที่ประมาณ 1%  ทั้งหมดนี้อาจจะดูว่าราคาไม่แพงมากเมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์  แต่เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินหลัก ๆ  ของประเทศที่ทำธุรกิจคล้ายกันที่มักจะมีค่า PE ต่ำกว่า 10 เท่าและค่า PB ต่ำกว่า 1 เท่า  อัตราปันผลปีละ เกิน 3% ก็ต้องถือว่าแพงมาก  นอกจากนี้  รายได้ของบริษัทในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาเฉลี่ยเพียง 12,500 บาทก็ถือว่าน้อยมาก  ในส่วนของฟรีโฟลทของหุ้นก็ต่ำกว่ามากเฉลี่ย 5 อันดับผู้ถือหุ้นใหญ่รวมกันเท่ากับประมาณ 75% เทียบกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่แทบไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นเรื่องเป็นราว

ชุดที่สี่ที่ผมจะพูดถึงนี้ถ้าจะให้ถูกต้องจริง ๆ  ผมคิดว่าน่าจะเป็นหุ้นที่  “เคยถูก Corner” เมื่อซัก 2-3 ปีก่อน แต่ในปัจจุบันผมเองก็ไม่ค่อยแน่ใจนัก  เป็นกลุ่มที่ขายสินค้าผู้บริโภคโดยเฉพาะทางด้านเครื่องดื่ม  โดยมีสตอรี่ที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดโดยการขยายตัวไปต่างประเทศ- ทั่วโลก  มีหุ้นอยู่ 2 ตัวที่มี Market Cap. เฉลี่ยประมาณ 120,000 ล้านบาท  ค่า PE โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 34.2 เท่า PB 9.7 เท่า  และปันผลตอบแทนปีละ 2%  ส่วนรายได้ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมานั้นอยู่ที่เฉลี่ย 16,500 บาท  ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด 5 อันดับถือหุ้นรวมกันเฉลี่ยที่ประมาณ 51%  ซึ่งตัวเลขทั้งหมดในปัจจุบันนั้นก็ดูเหมือนว่าไม่ถึงกับแพงจัดจนเป็นไปไม่ได้โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดต่ำมากและเงินล้นตลาดหุ้น  ซึ่งต่างจากอดีตในช่วงที่ผมคิดว่าหุ้นอาจจะถูก Corner เนื่องจากช่วงนั้นหุ้นมีราคาแพงมากและอาการของหุ้นที่วิ่งขึ้นไปแรงและเร็วเกินจากพื้นฐานไปมากในเวลาอันสั้น

หุ้นตัวสุดท้ายที่ผมคิดว่ามีอาการของการถูกต้อนเข้ามุมมานานหลายปีมากนั้น  เป็นหุ้นในกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์  เป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ติดอันดับต้น ๆ  ของตลาดหลักทรัพย์ มี Market Cap. หลาย ๆ แสนล้านบาท  โดยที่หุ้นเคยวิ่งขึ้นมาเป็นสิบเท่าในเวลาแค่ 2-3 ปี อานิสงค์จากการเติบโตของการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลานั้น  ค่า PE ของหุ้นสูงเกิน 100 เท่า ส่วนหนึ่งจากการที่กำไรของบริษัทตกลงไปมากจากเรื่องของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม  แม้ก่อนหน้านี้ค่า PE ก็ค่อนข้างสูงในระดับประมาณ 40 เท่าขึ้นไป ค่า PB เกือบ 10 เท่า และปันผลตอบแทนน้อยกว่า 1% ต่อปี  รายได้ในปีก่อนหน้าอยู่ที่แค่ 30,000 กว่าล้านบาท  ในส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรกนั้นถือหุ้นรวมกันกว่า 75% ของหุ้นทั้งหมด

กล่าวโดยสรุปก็คือ  หุ้นที่มีคุณสมบัติและมีอาการของการเป็นหุ้นที่ถูกต้อนเข้ามุมก็คือ  เป็นหุ้นที่มีสตอรี่น่าตื่นเต้นโดยเฉพาะว่ามันจะโตเร็วมากในอนาคตด้วยเหตุผลที่ “น่าเชื่อถือ” และส่วนมากก็มีข้อมูลพิสูจน์ได้มาระยะหนึ่งเช่นอย่างน้อยใน  2-3 ไตรมาศที่ผ่านมา  และเมื่อ “เกิดขึ้น” ราคาหุ้นก็จะวิ่งขึ้นไปแรงและเร็วมาก  ภายในระยะเวลาอันสั้นบางทีหุ้นขึ้นไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์หรือหลายเท่าในเวลาไม่กี่เดือน  ซึ่งแทบทั้งหมดก็ทำให้ราคาหุ้น  “แพงมาก” เทียบกับหุ้นอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือเทียบกับตลาดหลักทรัพย์โดยรวม  บ่อยครั้งราคาขึ้นไปสูงจน  “เป็นไปไม่ได้”  ในระยะยาว  หลังจากที่ขึ้นไปแล้ว  ราคาหุ้นต่อจากนั้นก็มักจะ “ผันผวนรุนแรง” ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากมีคน “ขายทำกำไร” เป็นระยะ  อย่างไรก็ตาม  อานิสงส์จากคนถือหุ้นหรือนักลงทุนรายใหม่ที่อาจจะ “เปลี่ยนมุมมองของหุ้น”  และคิดว่าราคาหุ้นที่สูงลิ่วนั้น  “สมเหตุผล” เนื่องจากราคาที่ยืนอยู่ได้พร้อมกับปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันที่สูงลิ่ว  ก็มักจะเข้ามาซื้อขายหรือลงทุนหรือเก็งกำไรในหุ้นเหล่านั้น  ทำให้หุ้นก็ยังแพงสุดกู่ต่อไป

หุ้นส่วนใหญ่ที่ถูก Corner ในที่สุดก็มักจะ  “แตก” โดยเฉพาะเมื่อคนเริ่ม “เปลี่ยนมุมมอง” ที่มีต่อหุ้น  อาจจะเนื่องจากสตอรี่ เช่น  การเติบโตนั้นไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาที่มีการคาดไว้และคนเริ่มตระหนักว่ามัน  “ไม่ได้เป็นหรือดีอย่างที่คิด” จึงเริ่มขายหุ้นและในที่สุดก็มีแต่คนที่คิดจะขายโดยคนที่จะซื้อนั้นมีน้อยมากเนื่องจากราคาหุ้นที่อาจจะแพงเกินไปมาก  ผลก็คือ ราคาหุ้นดิ่งแบบ “ถล่มทลาย”  และนั่นก็คือเกมการเงินหรือการลงทุนที่จบลงและคนที่เจ็บตัวก็โทษความผิดพลาดของตนเองที่เข้ามา “ผิดจังหวะ” ขายไม่ทันในช่วงที่หุ้นขึ้น  ก่อนที่เขาจะตัดใจขายไปและหันไปหาหุ้นที่อาจจะกำลังถูก Corner ตัวใหม่

พูดถึงหุ้นไทยขนาดแสนล้านบาทที่อาจจะถูกต้อนเข้ามุมแล้ว  ผมก็นึกไปถึงหุ้นดิจิตอลและไฮเท็คระดับโลกอย่างอะมาซอนหรือเทสลาที่หุ้นขึ้นไปหลาย ๆ  เท่าในเวลาอันรวดเร็ว  บางทีนี่ก็อาจจะเป็นการ  “Corner ระดับโลก ที่มีเม็ดเงินมหาศาลจากนักลงทุนทั้งโลกเข้าไปรุมซื้อจนราคาวิ่งขึ้นไปอย่างที่เห็นก็เป็นได้  ดังนั้น  คนที่จะเข้าไปเล่นหุ้นแบบนั้นในเวลานี้ก็ควรจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ            

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2020/12/14/2429