เหตุการณ์ในตลาดหุ้นช่วงเร็ว ๆ นี้และโดยเฉพาะเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมาที่หุ้นขนาดใหญ่และใหญ่มากอย่างน้อย 2 ตัวมีราคาปรับตัวขึ้นเกือบถึงเพดานที่ 30% ในวันเดียวโดยที่บริษัทไม่ได้มีข่าวอะไรเป็นพิเศษ ว่าที่จริงในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นใหญ่และกลางหลาย ๆ ตัวก็มีการปรับตัวขึ้นสูงมากและบางตัวก็ปรับขึ้นถึงเพดานในวันเดียวอยู่บ่อย ๆ โดยที่ไม่ได้มีข่าวหรือมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเป็นพิเศษ อาการที่เกิดขึ้นนั้นผมลงความเห็นว่าหุ้นเหล่านั้นอาจจะถูก “Corner” หรือถูก “ต้อนเข้ามุม” เพราะหุ้นถูกซื้อด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับ Free Float หรือหุ้นที่หมุนเวียนซื้อขายกันในตลาดส่งผลให้ราคาปรับตัวขึ้นไปแรงมากโดยไม่ได้อิงกับมูลค่าที่แท้จริงที่คิดจากผลประกอบการของบริษัทในอนาคต แต่ราคาขึ้นไปเพราะคนซื้อที่เป็นนักเก็งกำไรที่เข้ามาซื้อเพราะคิดว่าหุ้นจะต้องขึ้นต่อไป ส่วนคนแรก ๆ ที่เข้าไปซื้อนั้น อาจจะมองจากพื้นฐานของกิจการเมื่อเทียบกับราคาหุ้นที่ยังอาจจะ “ไม่แพง” ก็ได้ หรือบางที ซึ่งอาจจะมากกว่า ก็คือ เข้าไป “ปั่น” โดยการ “กระชากราคา” และ “ซื้อหุ้นต่อเนื่อง” จนหุ้นเหลือน้อยลงและราคาวิ่งขึ้นไปเร็วและแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็ดึงดูด “นักเล่นเก็งกำไร” ซึ่งมีอยู่มากมายในตลาดหุ้นไทยเข้ามา “ร่วมวงเล่น” ผลก็คือ หุ้น “วิ่งทะลุฟ้า”
ราคาหุ้นที่ถูกคอร์เนอร์นั้น จะไปถึงไหน? ผมคงบอกไม่ได้ แต่อยากเล่าประวัติศาสตร์ของหุ้น โฟล์กสวาเก้นในตลาดหุ้นเยอรมันในช่วงปลายปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติตลาดหุ้นทั่วโลก ในช่วงนั้นหุ้นโฟล์กกลับไม่ตกลงมาเนื่องจากเจ้าของ “แอบ” เข้าไปช้อนซื้อไว้จำนวนมากเพื่อหวังจะเทกโอเวอร์ซึ่งจะต้องมีหุ้นถึง 80% ในขณะเดียวกัน นักลงทุนจำนวนมากก็เข้าไปขายชอร์ตเซลเนื่องจากเห็นว่าราคาหุ้นยืนอยู่ได้แบบ “ไม่สมเหตุผล” เพราะหุ้นทั่วโลกกำลังเจ๊ง เฉพาะอย่างยิ่งหุ้นรถยนต์ จนถึงวันหนึ่งเมื่อบริษัทผลิตรถพอร์ซซึ่งเป็นเจ้าของต้องประกาศตัวว่ากำลังเทคโอเวอร์ คนที่ขายชอร์ตเซลซึ่งมีจำนวนประมาณ 12% ของหุ้นทั้งหมด แต่หุ้นที่ยังหมุนเวียนในตลาดที่พอจะให้ซื้อได้นั้นมีแค่ 6% ทำให้คนทำชอร์ตเซลตกใจต้องรีบแย่งกันซื้อหุ้นปิดสถานะชอร์ต ซึ่งทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ในวันเดียวและก็วิ่งต่อไปอีกในวันต่อ ๆ มา จนหุ้นทะลุเกือบ 1,000 ยูโร จากราคา ประมาณ 200 ยูโรไม่กี่วันก่อนหน้านั้น และนั่นทำให้หุ้นโฟล์กสวาเก้นกลายเป็นหุ้นที่มีมูลค่าตลาดหรือมาร์เก็ตแค็ปใหญ่ที่สุดในโลกและใหญ่กว่าหุ้น เอ็กซอน ปิโตรไชน่า และไมโครซอฟท์ มีมูลค่าหรือ Market Cap. 420 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 12.6 ล้านล้านบาทไทย ในเวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่วัน
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น หุ้นโฟล์กก็ตกลงมาอย่างแรง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพอร์ซต้องยอมขายหุ้นให้กับคนที่ทำชอร์ตเซลไว้เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร และเมื่อทุกอย่างผ่านไปและสถานการณ์ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิมรวมถึงราคาหุ้น ในที่สุดพอร์ซเอง ซึ่งเป็นคนที่ดูเหมือนว่าจะทำ Corner หุ้นเองและในเวลาอันสั้นไม่กี่วันก็น่าจะ “รวยมหาศาลระดับโลก” ก็ล้มละลาย ส่วนสำคัญน่าจะมาจากการที่ต้องกู้เงินมหาศาลเพื่อเข้าไปซื้อหุ้นโฟล์ก ในด้านของนักลงทุนหรือนักเก็งกำไรเองนั้น ต่างก็ขาดทุนหนักอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน กองทุนโดยเฉพาะเฮดจ์ฟันด์หลายแห่งจะต้องจำเป็นบทเรียนไปตลอดชีวิต และทั้งหมดนี้ก็คือ “อภินิหาร” ของหุ้นที่ถูก Corner ซึ่งในกรณีนี้น่าจะ “ไม่ผิดกฎหมาย” อะไรเลย เพราะทุกอย่างอยู่ใน “เกม” แม้ผลมันจะออกมาเหมือนกับการ “ปั่นหุ้น” อย่างร้ายแรง เพราะราคาหุ้นผิดไปจากราคาที่ควรจะเป็นมากโดยที่ไม่น่าจะหาเหตุผลทางพื้นฐานใด ๆ มารองรับได้
กลับมาที่ตลาดหุ้นไทยบ้าง หุ้นหลาย ๆ ตัวที่ผมคิดว่าถูก Corner ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น มี “วิวัฒนาการ” ที่มีขนาดใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ อานิสงส์จากการที่ประสบความสำเร็จมาเรื่อย ๆ ซึ่งก็ทำให้คนที่ทำร่ำรวยขึ้นมหาศาล พวกเขาจึงสามารถเพิ่มขนาดของหุ้นที่ทำให้ใหญ่ขึ้นจนสามารถคอร์เนอร์หุ้นขนาดกลาง ๆ ให้กลายเป็นหุ้นแสนล้านบาทได้ ความสำเร็จนั้น จริง ๆ ก็ต้องบอกว่าเพราะตลาดหุ้นไทยมีสภาวะแวดล้อมที่เอื้อให้การทำ Corner นั้นง่ายขึ้นมาก ประการแรกก็คือ มัน “ไม่ผิดกฎหมาย” ทุกครั้งที่มีการตรวจสอบโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะ “ไม่พบความผิดปกติของการซื้อขายหุ้น” สองก็คือ การซื้อขายหลักทรัพย์เก็งกำไรในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เสียภาษีจากกำไรรวมทั้งค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้นก็ต่ำมากสำหรับรายที่ซื้อขายหุ้นจำนวนมาก สามก็คือ เรามีการใช้ Leverage หรืออาศัยการกู้ในระดับที่สูงมาก ตัวอย่างรวมถึงการทำบล็อกเทรดที่ทำให้สามารถเพิ่มวงเงินการซื้อหุ้นได้เป็น 10 เท่า เป็นต้น สี่ก็คือ บริษัทจดทะเบียนจำนวนมากนั้น มีหุ้นที่ซื้อขายหมุนเวียนค่อนข้างต่ำ ส่วนหนึ่งก็คือ เป็นหุ้นขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนรายใหญ่ และในกรณีของหุ้นขนาดใหญ่เองนั้น ก็ยังมีหุ้นที่มี Free Float ต่ำอยู่จำนวนหนึ่ง อาจจะเนื่องจากเป็นบริษัทลูกของบริษัทหรือสถาบันขนาดใหญ่ที่จะไม่ขายหุ้นออกเพียงเพราะราคาหุ้นขึ้นมามากทั้งจากในและต่างประเทศ
ข้อสุดท้าย และน่าจะเป็นสภาวะที่สำคัญที่สุดก็คือ การเข้ามาของนักลงทุนใหม่ ๆ ที่มีเงินสดมากแต่ไม่มีหนทางการลงทุนอื่นที่ดีและสะดวกเท่ากับตลาดหุ้น พวกเขาเป็นคนรุ่นหนุ่มสาวที่มองหาการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนที่รวดเร็วและไม่ต้องการรอคอย ดังนั้น พวกเขาต้องการหุ้น “ร้อน” ที่มีสภาพคล่องสูงที่พร้อมจะซื้อขายทำกำไรได้ทันทีในอัตราที่สูงลิ่ว และในภาวะแบบนี้ หุ้นที่ถูกคอร์เนอร์ก็เป็นหุ้นที่ใช่เลย!
ความร้อนแรงของการ Corner หุ้นนับถึงวันนี้ก็ต้องบอกว่า น่าจะใกล้ถึงจุดสุดยอด เดิมทีนั้น ดูเหมือนจะมีกฎอย่างหนึ่งว่า เวลาจะคอร์เนอร์หุ้นตัวไหน คนที่ทำหรือเป็นคน “เริ่มต้นแบบหวังผล” ก็มักจะเน้นว่าจะต้อง “คุยกับเจ้าของหรือผู้บริหาร” ให้ชัดเจนก่อนว่ากิจการต้องดีแน่นอน สตอรี่จะต้อง “ขายได้” ผู้บริหารจะต้อง “ร่วมมือ” ในการ “เชียร์” หรือให้ข้อมูลที่ “ดีเลิศ” บางทีก็ต้องยอมขายหุ้นล็อตใหญ่บางส่วนให้กับคนที่ทำในราคาตลาดขณะนั้น และที่สำคัญก็คือ เมื่อเริ่มทำแล้วก็ต้องไม่ขายหุ้นสวนลงมา ถ้าจะให้ดีเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มเพื่อแสดงความมั่นใจ หลังจากหุ้นขึ้นและ “ติดตลาด” แล้ว การขายก็ควรขายให้กับสถาบันที่จะถือยาวเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเมื่อถึงวันนั้น นักวิเคราะห์ก็จะออกมาเชียร์หุ้นกันอย่างเต็มที่
ในขณะนี้ ผมคิดว่าการคุยกับผู้บริหารและการทำคำมั่นสัญญาต่าง ๆ ดังที่กล่าว น่าจะมีความจำเป็นน้อยลง ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะบริษัท “เป้าหมาย” นั้นใหญ่ขึ้น การพบผู้บริหารระดับสูงสุดยากขึ้นหรืออาจจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น พวกเขาก็อาจจะมองถึง “โครงสร้าง” ต่าง ๆ ของบริษัทและ/หรือหุ้น ว่ามีลักษณะที่เอื้ออำนวยให้เข้าไปเล่นแบบคอร์เนอร์หุ้นได้มากน้อยแค่ไหน เช่น การดูว่าใครเป็นเจ้าของบริษัท หุ้นมีฟรีโฟลทมากน้อยแค่ไหน การดูเรื่องของผลประกอบการในอนาคตเองก็อาศัยการวิเคราะห์จากสถานการณ์และผลงานในอดีตของบริษัท เป็นต้น เมื่อได้ข้อมูลพร้อมแล้ว เขาก็อาจจะเริ่มลงมือซื้อหุ้นนำ และถึงจุดหนึ่งก็อาจจะต้อง “กระชาก” เพื่อให้นักลงทุนในตลาดจับตามอง หลังจากนั้น ถ้า “จุดติด” ทุกอย่างในกระบวนการของการคอร์เนอร์ก็จะตามมาโดยอัตโนมัติ ปัญหาต่อไปก็คือการ “ออกของ” หรือขายหุ้นทิ้งซึ่งจะเป็นศิลปะที่ต้องฝึกฝนกันมาก เพราะบ่อยครั้ง การทำให้หุ้นขึ้นนั้น บางทีก็ไม่ยากเท่ากับการขายหุ้นจำนวนมากให้ได้ราคาสูงและไม่ตกลงมาก่อน
ผมเองไม่เคยคิดที่จะคอร์เนอร์หุ้นเลย ทุกครั้งที่ซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่ซื้อ “มากเกินไป” จนกลายเป็นการคอร์เนอร์โดยปริยาย ผมคิดว่าการเข้าไปมากเกินไปนั้นก็มีความเสี่ยงสูงเพราะถ้าพลาดก็อาจจะ “ติดหุ้นยาว” นอกเหนือจากนั้น ผมเองคิดว่าการทำกำไรมาก ๆ ในกรณีที่หุ้นขึ้นสูงแล้วเราขายไป แต่สุดท้ายหุ้นตกกลับลงมาและทำให้คนที่เข้ามาซื้อหุ้นในราคาสูงขาดทุนหนัก นี่เป็นเรื่องที่ขัดกับความรู้สึกที่ว่า “เราไปกินเงินคนอื่น” แทนที่เราจะได้ผลตอบแทนจากผลงานของบริษัทเป็นหลัก ผมชอบยึดคติว่าถ้าเราจะรวย เราควรจะรวยจากการที่บริษัทที่เราเลือกทำผลงานได้ดีมากกว่า
สุดท้ายนี้ ผมเองก็ได้แต่มองดูว่า “พัฒนาการ” ของการ Corner หุ้นรอบนี้จะไปถึงไหน เป็นไปได้ว่าเราอาจจะเจอหุ้นขนาดกลาง ๆ กลายเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทยแบบเดียวกับหุ้นโฟล์กสวาเกนก็ได้ แต่สิ่งที่ผมมั่นใจก็คือ เมื่อ Corner “แตก” ซึ่งก็คงจะเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่ง คนที่เข้าไปเล่นก็จะขาดทุนมหาศาลและจะต้องจำไปตลอดชีวิต และผมก็เชื่ออีกเช่นกันว่า กระแสการคอร์เนอร์ในตลาดหุ้นไทยก็คงจะต้องซบเซาลงและอาจจะต้องรออีกนานกว่ามันจะกลับมาอีกครั้ง ปัญหาของผมก็คือ ไม่รู้ว่าทุกอย่างที่พูดถึงนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไร
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2020/12/28/2436