ด้วยโลกของการลงทุนที่เปิดกว้างขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนสำหรับนักลงทุนไทย ประกอบกับการที่ตลาดหุ้นไทยมีผลงานการลงทุนที่ “ย่ำแย่” คือแทบไม่ให้ผลตอบแทนเลยมาเป็นเวลา 7-8 ปีแล้ว การเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนไปยังตลาดอื่น ๆ ทั่วโลกจึงเป็นสิ่งที่มีเหตุผลและนักลงทุนจำนวนไม่น้อยก็ได้เริ่มออกไปลงทุน หลาย ๆ คนได้ผลตอบแทนที่ดีมากในช่วงเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่าตลาดหุ้นที่ไปลงนั้น จะดีต่อไปอย่างยั่งยืนหรือเปล่า เรามีทางวิเคราะห์ว่าตลาดไหนน่าลงทุนในระยะยาว เป็นสิบ ๆ ปีหรืออย่างน้อย 5 ปีขึ้นไปโดยที่มีความเสี่ยงต่ำที่จะขาดทุนหรือให้ผลตอบแทนน้อยกว่าในตลาดหุ้นไทยสำหรับผมเอง มีวิธีการคิดดังต่อไปนี้
ประเด็นแรกก็คือ เราจะต้องดูการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศก่อนว่าจะเติบโตเร็วและยาวนานไปอย่างน้อยก็ต้อง 10 ปีขึ้นไปหรือเปล่า เพราะเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ นั้นก็มักจะทำให้ตลาดหุ้นเติบโตขึ้นตามกันไป ประเด็นที่สองก็คือ ขนาดของเศรษฐกิจก็จะต้องใหญ่พอที่จะรองรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่จะเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ และในยุคใหม่ของโลกในวันนี้ ประเทศที่มีคนน้อยเกินไปก็มักจะไม่สามารถที่จะมีเศรษฐกิจที่ใหญ่มากได้ เพราะคนก็คือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศในโลกปัจจุบันที่ทรัพยากรอื่น ๆ นั้นสามารถเคลื่อนไหวไปได้อย่างสะดวกทั่วโลก สูตรของผมสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวก็คือ หนึ่ง ประเทศจะต้องมีระบบการปกครองที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ สอง จะต้องมีกำลังคนหรือแรงงานที่เป็นหนุ่มสาวเพิ่มขึ้น และสามก็คือ คุณภาพของคนจะต้องดี อาจจะวัดจาก IQ และการศึกษาของคนในประเทศนั้น ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่ง ศักยภาพของประเทศก็จะจำกัด โตได้ถึงจุดหนึ่งก็จะหยุด
ด้วยกรอบความคิดดังกล่าว ผมได้นำมาใช้ในการประเมินเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของหลาย ๆ ประเทศออกมาเป็น 3 กลุ่ม เรียกว่า ประเทศหรือตลาดหุ้นแห่งอดีต ปัจจุบัน และประเทศหรือตลาดหุ้นแห่งอนาคต โดยพวกที่เป็น “อดีต” นั้นก็คือประเทศและตลาดหุ้นที่จะไม่เติบโตและจะค่อย ๆ ถดถอยและมีความสำคัญในโลกน้อยลงเรื่อย ๆ พวกที่เป็น “ปัจจุบัน” นั้น ยังเป็นสังคมที่ยิ่งใหญ่และมีบทบาทสูง หลายแห่งก็ยังอาจจะเติบโตต่อไปได้บ้าง แต่หลายแห่งก็อาจจะเริ่มถดถอยลงอย่างช้า ๆ ส่วนประเทศและตลาดหุ้นแห่ง “อนาคต” นั้น ปัจจุบันอาจจะยังไม่ยิ่งใหญ่แต่การเติบโตเร็วมากและจะกลายเป็นประเทศหรือตลาดที่มีความสำคัญมากขึ้นมากในอนาคต
ในการแบ่งกลุ่มนั้น ผมจะอาศัยดัชนีตลาดหุ้นของประเทศเป็นตัววัด ผลงานการเติบโตของดัชนีตลาดหุ้นระยะยาวนั้น ผมคิดว่าสามารถบอกถึงสถานะของประเทศได้ แน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่บอกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อนาคตอาจจะไม่เหมือนกับอดีต แต่ในกรณีของประเทศที่ก็คือ “คน” ผมคิดว่าคนนั้น ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว อายุขัยและอัตราการเกิดเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ เรื่องของคุณภาพก็ไม่ได้เปลี่ยนเพราะส่วนใหญ่แล้วก็กำหนดโดยยีนซึ่งเปลี่ยนช้ามาก ส่วนในเรื่องของ “ระบบ” การปกครองเองนั้น แม้ว่าจะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้เร็วหรือรุนแรง แต่ในโลกยุคปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารกระจายไปทั่วโลกโดยที่แทบไม่มีต้นทุน ระบบที่จะขัดแย้งกับความต้องการของคนก็จะอยู่ได้ยากมาก ดังนั้น สถานะของประเทศและตลาดหุ้นที่เราเห็นในวันนี้ก็น่าจะดำเนินต่อไปอีกอย่างน้อยก็ 10 ปีขึ้นไป
ประเทศหรือตลาดหุ้นกลุ่มแรกก็คือ “Past” หรืออดีต ประเทศแรกก็คือ อังกฤษ นี่คือประเทศที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกในศตวรรษที่ 19 แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 แล้ว อังกฤษก็ตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ดัชนีตลาดหุ้นฟุตซี่ของลอนดอนตั้งแต่ปี 1984 ถึงปัจจุบันคือต้นเดือนมีนาคม 2021 คิดเป็นเวลาประมาณ 36.9 ปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% แบบทบต้น อีกประเทศหนึ่งก็คือ ญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงที่ผมยังเป็นเด็กอายุ 10 ขวบจนถึงอายุ 37 ปี หรือระหว่างปี 1963 ถึง 1990 เคยเป็นประเทศ “แห่งอนาคต” คนเชื่อว่าญี่ปุ่นจะ “ครองโลก” และสามารถท้าทายอเมริกาทางด้านเศรษฐกิจได้ ดัชนีนิกเกอิปรับตัวจาก 1,200 จุดเป็น 38,900 จุด ให้ผลตอบแทนปีละ 12.6% แบบทบต้นในช่วงเวลา 27 ปี อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นประเทศและตลาดหุ้นก็ตกต่ำลงมาตลอด อานิสงค์จากคนที่แก่ตัวลง ถึงวันนี้ ดัชนีอยู่ที่ 28,900 จุด หรือลดลง 10,000 จุด ในช่วงเวลา 30 ปี โดยรวมแล้ว ในช่วงเวลา 58 ปี ดัชนีให้ผลตอบแทนทบต้นปีละ 5.6% ใกล้เคียงกับของอังกฤษ
ประเทศหรือตลาดหุ้นที่เป็น “Present” หรือ ปัจจุบัน ประเทศแรกก็คือ อเมริกา นี่คือประเทศหมายเลขหนึ่งของโลกในแทบจะทุกด้านตั้งแต่เริ่มสงครามโลกครั้งที่ 1 ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ดัชนีดาวโจนส์ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นจากประมาณ 965 จุดเป็น 31,392 คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 9.1% ในขณะที่ดัชนี S&P 500 ซึ่งเป็นตัวแทนของหุ้น “ทั้งประเทศ” เติบโตขึ้นจาก 130 จุดเป็น 3,870 จุด ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกันที่ 8.9%
ประเทศที่สองคือเยอรมัน นี่คือประเทศที่ยิ่งใหญ่และมีพลังแข็งแกร่งที่สุดในยุโรปแม้ว่าจะแพ้สงครามโลกมาทั้งสองครั้ง ดัชนีตลาดหุ้น DAX จากปี 1988 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 33 ปีให้ผลตอบแทนปีละ 8.6% แบบทบต้น พอ ๆ กับดัชนี S&P 500 ประเทศที่ 3 และ 4 คือเกาหลีและไต้หวัน นี่คือประเทศที่ยุคหนึ่งถูกเรียกว่า “ประเทศอุตสาหกรรมใหม่” ที่ถึงวันนี้มีศักดิ์ศรีไม่แพ้ “ประเทศอุตสาหกรรม” หรือประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ดัชนีตลาดหุ้นของเกาหลีตั้งแต่ปี 1980 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 41 ปี เพิ่มขึ้นจาก 100 เป็น 3,082 จุด ให้ผลตอบแทนทบต้นปีละ 8.7% ส่วนดัชนีตลาดหุ้นไต้หวันจากปี 1979 ถึง ปัจจุบันเป็นเวลา 42 ปี เพิ่มขึ้นจาก 451 เป็น 16,212 จุด ให้ผลตอบแทนทบต้นปีละ 8.9% ใกล้เคียงกับของเกาหลีมาก และใกล้เคียงกันทุกประเทศในกลุ่มประเทศ “ปัจจุบัน”
ประเทศหรือตลาดหุ้นแห่งอนาคตหรือ “Future” ประเทศแรกก็ต้องยกให้จีน ซึ่งก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดจากประเทศ “ยากจนมาก” แม้ในสายตาของคนไทยเมื่อประมาณแค่ 30 ปีก่อน ปัจจุบันนี้คนจำนวนมากเชื่อว่าจีนจะสามารถแข่งกับอเมริกาได้ และศตวรรษที่ 21 อาจจะเป็นของจีน ดัชนีเซี่ยงไฮ้จากปี 1991 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 30 ปีเพิ่มขึ้นจาก 100 เป็น 3,577 จุดให้ผลตอบแทนทบต้นปีละ 12.6% ขณะที่ดัชนีเสิ่นเจิ้น จากปี 1995 ถึงวันนี้เป็นเวลา 25.4 ปีเพิ่มขึ้นจาก 100 เป็น 2,332 จุด หรือเพิ่มขึ้นปีละ 13.2% แบบทบต้น
ประเทศ “แห่งอนาคต” อีก 2 ประเทศนั้นผมคิดว่าน่าจะเป็นเวียตนามที่เศรษฐกิจร้อนแรงมากช่วงเร็ว ๆ นี้ หลังจากเปิดประเทศและปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเป็นทุนนิยมตามแบบจีน ดัชนีตลาดหุ้นตั้งแต่ปี 2000 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 21 ปี เพิ่มขึ้นจาก 100 เป็น 1,180 หรือให้ผลตอบแทนทบต้นปีละ 12.7% ใกล้เคียงกับของจีน อีกประเทศหนึ่งก็คือ อินเดีย ซึ่งเศรษฐกิจเติบโตเร็วขึ้นมากและจากการที่เป็นประเทศที่มีคนมากและจะมากที่สุดในโลกในอนาคตอันใกล้ ดัชนีหุ้นตั้งแต่ปี 1979 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 42 ปี ปรับตัวขึ้นถึงปีละ 16% แบบทบต้น
ในกรณีของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นจากปี 1975 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 46 ปี จาก 100 เป็น 1,544 จุด ให้ผลตอบแทนปีละเพียง 6.1% แบบทบต้น ดีกว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นเพียงเล็กน้อย ผมเองก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดแห่ง “อดีต” หรือไม่ หรือเรายังเป็นตลาดแห่ง “ปัจจุบัน” อยู่ เพียงแต่ว่าช่วงหลายปีมานี้เรามีปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไม่ไปไหนเลยทำให้ผลตอบแทนดัชนีตลาดดูต่ำลง อย่างไรก็ตาม เราคงไม่สามารถเป็นตลาดแห่ง “อนาคต” ได้แน่ เหตุผลก็เห็นได้ชัดว่าเกิดจากการที่สังคมไทยกำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วคล้าย ๆ ญี่ปุ่น
มองดูเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ดัชนีในช่วง 39 ปีจากปี 1982 ให้ผลตอบแทนแค่ 4.2% สิงคโปร์จากปี 1988 เป็นเวลา 33 ปียิ่งให้ผลตอบแทนที่แย่กว่าคือเพียง 4% แบบทบต้น ทั้งสองแห่งนี้ผมคิดว่าเกิดจากการที่เป็นประเทศเล็กมีคนน้อยเกินไป อีกแห่งคืออินโดนีเซีย ซึ่งในช่วง 31 ปี จากปี 1990 ให้ผลตอบแทนปีละ 7.8% แบบทบต้น น้อยกว่าประเทศหรือตลาดที่เป็น Present เล็กน้อย ดังนั้นผมคิดว่าอินโดนีเซียอาจจะพอมีอนาคตและไม่ใช่เป็น Past แน่นอน
กล่าวโดยสรุปก็คือ พวกตลาดหุ้นที่เป็น Past ผลตอบแทนทบต้นที่คาดหวังระยะยาวอาจจะอยู่ที่ปีละประมาณ 5-6% พวกที่เป็น Present 8-9% และพวกที่เป็น Future 12-13% และไม่ควรลงในประเทศที่เล็กเกินไปเพราะตลาดหุ้นจะไม่ดีแม้ว่าประเทศจะเจริญเติบโตอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2021/03/08/2475