อาชีพน่าเบื่อกับ VI

ทุกสิ้นปีหรือต้นปีใหม่ของทุกปีผมจะต้อง  “ทบทวน” ผลงานและกิจกรรมทางการลงทุนของผมว่าเป็นอย่างไร  เหตุผลนั้น  นอกจากจะต้องทำบันทึกเพื่อเอาไว้เขียนหนังสือแล้ว  ยังเป็นการดูว่าเราได้ทำอะไรไปบ้างและมันถูกต้องหรือผิดพลาดอย่างไรเพื่อเก็บไว้เป็น  “บทเรียน”  สำหรับอนาคต

ปี 2561 นั้นน่าจะเป็นปีแรกในช่วงเวลา 22 ปี ที่ผมลงทุนเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ของเงินเก็บทั้งหมดในฐานะของ “VI” ที่ผม “ไม่ได้ทำอะไรเลย” นั่นก็คือ  ผมไม่ได้ซื้อหรือขายหุ้นแม้แต่ตัวเดียว  ผมรู้สึกว่าไม่มีหุ้นที่น่าสนใจพอที่จะซื้อเพื่อถือระยะยาวแบบ VI เพราะมันไม่มี Margin of Safety หรือส่วนต่างเพื่อความปลอดภัยเพียงพอ  หุ้นที่ดีเป็นซุปเปอร์สต็อกก็มักจะมีราคาแพงค่า PE สูงตั้งแต่ 30 เท่าขึ้นไปซึ่งผมคิดว่าบางตัวราคาก็อาจจะยังพอยอมรับได้ว่าสมเหตุผล  แต่ในสภาวะของเศรษฐกิจสังคมการเมืองของไทยมันก็อาจจะยังมีความเสี่ยง  โอกาสขาดทุนในระยะยาวก็เป็นไปได้ไม่ต้องพูดถึงระยะสั้นที่อาจจะขาดทุนได้ง่าย ๆ   ส่วนหุ้นราคาถูกนั้น  แม้ว่าจะถูกจริงแต่ก็ยังไม่ถูกมากพอที่จะลงทุนได้อย่างสบายใจ  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ผมเองก็ได้ลงทุนไปแล้วหลายตัวตั้งแต่ปี 2560  ดังนั้น  ผมจึงอยากจะเก็บเงินสด  “ก้อนสุดท้าย”  หรือบางคนเรียก  “ก๊อกสุดท้าย”  เอาไว้เผื่อตลาดหุ้นตกลงมาแรงเป็น  “แพนิก”  จะได้มีเงินสดมาซื้อหุ้นในราคาที่ถูกมากได้

ที่ผมพูดว่า “ไม่ได้ทำอะไรเลย”  ทั้งปีนั้น  ว่าที่จริงก็คงไม่ใช่และก็ไม่ถูกเลย  ความเป็นจริงก็คือ  ผมก็ยังคง “ทำอย่างเดิม”  อย่างที่เคยทำมาทุกปีเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว  ผมยังอ่านหนังสือจำนวนมากทั้งทางด้านของการลงทุน  จิตวิทยาของมนุษย์ที่อิงกับยีน  ประวัติศาสตร์  เรื่องของสุขภาพและอื่น  ๆ  อีกมาก  ผมยังติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับตัวหุ้นและราคาหุ้น  พฤติกรรมของการลงทุนของนักลงทุนในตลาดรวมถึงพฤติกรรมของคนทั่วไปซึ่งแน่นอนรวมไปถึงข่าวคราวของดาราภาพยนต์และเซเล็บทั้งหลายเพื่อที่จะเรียนรู้โลกและสังคมโดยรวม  ทั้งหมดนั้นก็เพื่อที่จะสามารถตัดสินใจเลือกหุ้นและการลงทุนต่าง ๆ  ได้ดีขึ้น  สิ่งเดียวที่ผมไม่ได้ทำในปี 2561 ก็คือ  ไม่ได้ซื้อหรือขายหุ้น  ผมไม่ได้ลืมทำ  ผมเพียงแต่เลือกที่จะไม่ทำหรือผมไม่เห็นว่าควรทำหรือต้องทำ  ผมนั่งรอไปเรื่อย ๆ  แต่ผมมองและผมคิดอยู่ตลอดเวลา  ถ้าสมมุติว่ามีคนแอบมองผมอยู่ตลอดเวลาเขาคงจะรู้สึกว่าแปลก  วัน ๆ  นั่งอ่านแต่หนังสือหน้าจอคอมพิวเตอร์แล้วบอกว่าทำงานหนักและก็ดูเหมือนว่าจะทำเงินได้มากเกือบทุกปี

ผมเองลองคิดดูแล้วนี่ก็ไม่แปลกอะไรนักโดยเฉพาะสำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานนี้ที่จะไม่เข้าใจ  ครั้งหนึ่งผมนั่งคุยกับเพื่อนที่เป็นนักธุรกิจเขาบ่นว่าหายามหรือ รปภ. ทำงานยากทั้งที่รายได้ดีซึ่งทำให้ผมรู้สึกแปลกเพราะผมคิดว่ามันเป็นงานที่ง่ายและไม่ต้องอาศัยทักษะอะไรเลย  แต่เขากลับบอกว่ามันเป็นงานที่  “ทำยาก” เพราะธรรมชาติของคนนั้นมักจะอยู่นิ่ง ๆ  นานมากไม่ค่อยได้  บางทีอาจจะเป็นเพราะยีนของมนุษย์บอกให้มนุษย์ต้องไม่อยู่นิ่ง  ต้องเคลื่อนไหวเพื่อหาอาหารและทำกิจกรรมต่าง ๆ  เพื่อให้อยู่รอดและเผยแพร่เผ่าพันธุ์  มนุษย์ที่  “ขี้เกียจ”  เอาแต่อยู่นิ่ง ๆ  นั้น  ตายหรือสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว  คนที่เหลือรอดมาได้ส่วนใหญ่ก็จะต้องขยันและ “ทำงาน”  ไม่อยู่เฉย ๆ  “ทั้งวัน” ดังนั้น  อาชีพ รปภ. จึงเป็นอาชีพที่คนไม่ชอบหรือไม่อยากทำและดังนั้นนายจ้างก็มักจะต้องจ่ายค่าจ้างดีกว่าอีกหลายอาชีพเช่นงานก่อสร้างที่ดูเหมือนว่าจะ “ทำงาน” หนักกว่ามาก

นี่ก็พูดราวกับว่าอาชีพ  รปภ. ไม่ต้องทำงานเพราะ  “นั่งเฉย ๆ”  สุดท้ายเขายังท้าทายผมว่า  “พี่ลองนั่งเฉย ๆ  ซัก 2-3 ชม. ดูว่าทำได้ไหม” ตั้งแต่นั้นมา  ผมก็ชอบลองสังเกต รปภ. ที่ต้องนั่งยามตลอดวันละ 8-10 ชม. ดูว่าเขาทำอะไร  และในที่สุดผมก็สรุปว่า  บางทีอาชีพนักลงทุนแบบผมเองนั้นก็ไม่ได้ต่างจากพวกเขามากนัก  ยิ่งเดี๋ยวนี้ผมเห็น รปภ. กดดูจอมือถือตลอดเวลาแล้วก็รู้สึกว่า  ที่จริงเขากับเรานั้นคล้ายกันมาก  รปภ. นั้น  นั่งนิ่ง ๆ  คอยระแวดระวังเพื่อรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินภายในสถานที่  เราเองก็มักจะอยู่นิ่ง ๆ เพื่อรักษาความปลอดภัยของทรัพย์สินคือพอร์ตการลงทุนของเราเช่นเดียวกัน

แน่นอนว่านักลงทุนนั้นต้องอาศัยความสามารถในการวิเคราะห์สูงกว่ารปภ.มาก  และเราก็ไม่ได้ต้องการแค่รักษาความปลอดภัยทรัพย์สิน  เราต้องการสร้างการเติบโตของทรัพย์สินด้วย  ผมเองไม่ได้ต้องการจะถกเถียงเกี่ยวกับเนื้องานของอาชีพทั้งสองอย่างซึ่งแตกต่างกันราวฟ้ากับเหวสำหรับหลาย ๆ  คน  สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อก็คือ  “ปรัชญา”  ที่สำคัญสำหรับงานสองอย่างนี้ที่ผมคิดว่าสำคัญและมันมีความคล้ายกันอยู่มากนั่นก็คือ  มันเป็นงานที่ต้องอาศัยความ “นิ่ง”  และการคอยระแวดระวังเพื่อที่จะรักษาความปลอดภัยให้กับทรัพย์สินในความรับผิดชอบของเรา  และนี่ก็เป็นเรื่อง  “ยาก”  เพราะมัน  “ผิดธรรมชาติ” ของคน  การนิ่งหรือเคลื่อนไหวให้น้อยหรือทำให้น้อยนั้น  วอเร็น บัฟเฟตต์ บอกว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จ  เขาเคยบอกให้เราคิดเปรียบเปรยว่าในชีวิตเรามีโอกาสที่จะลงทุนในหุ้นได้แค่ 20 ตัวเท่านั้น  ดังนั้น  เราก็จะคิดว่าต้องลงทุนในหุ้นที่ดีที่สุดและถือให้ยาวที่สุดและนั่นจะทำให้เราประสบความสำเร็จในการลงทุน

นอกจากอาชีพ รปภ. แล้ว  ผมยังคิดว่าอีกอาชีพหนึ่งที่น่าจะนำมาใช้เป็นอุทาหรณ์สำหรับ VI ก็คือ  อาชีพคนขับรถบรรทุกส่งสินค้าทางไกลที่จะต้องตระเวนไปทั่วประเทศ  และนี่ก็เป็นสิ่งที่ปีเตอร์ ลินช์ เคยบอกว่าถ้าคุณมีอาชีพเป็นคนขับรถบรรทุกคุณก็น่าจะได้เปรียบในฐานะของการเป็นนักลงทุน   เหตุผลเป็นเพราะว่าคนขับรถบรรทุกจะได้สัมผัสกับชีวิตของผู้คนทั่วประเทศรวมถึงสินค้าต่าง ๆ  ที่ขายดีและเป็นที่ต้องการของคนส่วนใหญ่  พวกเขามีข้อมูลที่ “ทันสมัยที่สุด”  ที่จะรู้ว่าอะไรกำลัง “มาแรง” เป็นที่นิยม  ไล่ไปตั้งแต่เรื่องของความคิดของคนในที่ต่าง ๆ  ไปจนถึงสินค้าที่เริ่มขายดีขึ้นหรือตกต่ำลงที่ถูกขนส่งโดยรถบรรทุกที่เดินทางไปทั่วประเทศ  และสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นในการที่จะเลือกลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

สำหรับประเด็นอาชีพขับรถบรรทุกนั้น  ผมคิดว่าน่าจะเปรียบเทียบกับ VI ที่ยังนิยมการเทรดหุ้นมากกว่า VI แนวซุปเปอร์สต็อกที่เน้นการลงทุนระยะยาวที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าโดยการ “นิ่ง”  ในส่วนของ VI ที่ยังชอบเทรดหรือซื้อขายหุ้นอิงจากพื้นฐานและราคาหุ้นที่เหมาะสมในช่วงระยะเวลาหนึ่งนั้น  พวกเขาต้องการ  Catalyst หรือตัวเร่งปฏิกิริยาที่จะทำให้หุ้นขึ้นหรือลงอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะใช้ในการฉวยโอกาสซื้อหรือขายหุ้นในช่วงสั้น ๆ  ด้วย    ฮีโร่ของ VI ในกลุ่มนี้ก็คือปีเตอร์ ลินช์ที่ยังอาศัยสถานการณ์ในการลงทุนประกอบกับพื้นฐานระยะยาวของกิจการด้วย

ว่าที่จริงปีเตอร์ ลินช์ เองนั้นมองว่าอาชีพทุกอย่างมีโอกาสที่จะทำเงินจากการสังเกตความเป็นไปของอุตสาหกรรมที่บริษัทตนเองดำเนินการอยู่  เช่น  ถ้าคุณทำงานเป็นพนักงานขายของร้านขายโทรศัพท์ของแอปเปิลแล้วคุณเห็นว่ารุ่นใหม่ที่ออกมานั้นขายไม่ออกเลย  คุณก็อาจจะขายหุ้นแอบเปิลทิ้งก่อนที่ตัวเลขผลประกอบการจะออกหรือถ้าคุณไม่มีหุ้นก็อาจจะชอร์ตหุ้นแอบเปิลก็ได้  ด้วยความรู้ในตัวสินค้าหรือความเป็นไปของบริษัทผ่านอาชีพการงานของเรานั้น  เราก็อาจจะสามารถทำเงินหรือลงทุนได้อย่างประสบความสำเร็จไม่แพ้นักลงทุนมืออาชีพที่มักจะอิงจากตัวเลขหรือการสอบฐานจากผู้บริหารบริษัทหรือจากนักวิเคราะห์ที่มักจะรู้เรื่องราวต่าง ๆ  เป็น “คนสุดท้าย” หรือ “รองสุดท้าย”  ก่อนคนที่อ่านบทวิเคราะห์โดยไม่ได้รู้สถานการณ์จริงใน “สนาม” ของการแข่งขันทางการตลาดของบริษัท

ที่มาบทความ: thaivi.org

TSF2024