การประกาศเข้าซื้อหุ้นบิทคับออนไลน์จำนวน 51% ด้วยเงิน 17,850 ล้านบาท ของกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์หรือ SCBX เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เคยประกาศปรับโครงสร้างจากการเป็นธนาคารให้เป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินเมื่อเร็ว ๆ นี้ เหตุผลเพราะว่านั่นเป็นเครื่องแสดงว่ากลุ่ม SCBX “เอาจริง” กับการมุ่งหน้าไปสู่ “โลกใหม่” ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วซึ่งในที่สุดอาจจะ Disrupt หรือทำลายธนาคาร “แบบเก่า” ได้ นั่นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่อีกประเด็นหนึ่งก็คือ การที่บิทคับออนไลน์ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มซื้อขายเหรียญดิจิทัลและสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นได้กลายเป็น “ยูนิคอร์น” ตัวใหม่ เพราะมูลค่าของบริษัทจะเท่ากับ 35,000 ล้านบาทหรือมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ก่อนที่จะวิเคราะห์หรือวิจารณ์ดีลนี้ ผมอยากจะให้ทำความเข้าใจกับ “โลกใหม่” ที่โลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพย์สินต่าง ๆ ในโลกนี้กำลัง “ถูกทำให้เป็นดิจิทัล” อย่างรวดเร็วหรือก็คือการทำให้เป็น “โลกเสมือน” คู่ไปกับ “โลกจริง” อย่างที่มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก เพิ่งจะประกาศเป็นวิสัยทัศน์ของเฟซบุคว่าจะนำบริษัทเข้าสู่โลกของ “Metaverse” หรือ “อาณาจักรของโลกเสมือน” พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “Meta” แต่ผมเองคงไม่ไปไกลถึงขนาดว่าโลกจะเป็นอย่างไรในอนาคต แต่จะพูดเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องเพียงบางส่วนนั่นก็คือเรื่องของ “สินทรัพย์ดิจิทัล” และตลาดที่ซื้อขายสินทรัพย์เหล่านั้นซึ่งหนึ่งในตลาดนั้นก็คือบริษัทบิทคับออนไลน์ที่ SCBX ประกาศซื้อ
เริ่มตั้งแต่เทคโนโลยี “Block Chain” เกิดขึ้นในโลก ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ “ทรัพย์สินจริง” ที่สามารถจับต้องได้ของโลกก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เฉพาะอย่างยิ่งมันถูกแปลงให้กลายเป็น “ทรัพย์สินดิจิทัล” หรือ “ทรัพย์สินเสมือน” ที่สามารถกำหนดตัวตนชัดเจน ไม่มีใครสามารถปลอมแปลงได้ มันถูกเก็บรักษาไว้ได้โดยไม่มีการเสื่อมเสียและแทบไม่มีค่าใช้จ่ายในคอมพิวเตอร์หรือใน “คลาวด์” สามารถซื้อขายและโอนได้โดยที่ไม่ต้องมีตัวกลาง ไม่ต้องมีการจดทะเบียนอะไรกับใครทั้งนั้น มันเป็น “ทรัพย์สินในฝันที่มีค่า” โดยเฉพาะใน “โลกใหม่” ว่าที่จริงตอนนี้ก็เริ่มทำกันมากขึ้นเรื่อย ๆ อยู่แล้ว
ตัวอย่างเช่น เราสามารถเอาคอนโดทั้งหลังแปลงเป็น “เหรียญดิจิทัล” แล้วเอาไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้ เอารูปวาดของศิลปินไปทำเป็นดิจิทัลและสามารถจะขายได้ และเมื่อ 2-3 วันนี้เองก็มีข่าวว่าบริษัทไนกี้เอายี่ห้อรองเท้าของตนเองไป “จดทะเบียน” ไว้ในเมตาเวอร์สแล้ว เพราะอาจจะเกรงว่าในอนาคตถ้าคนเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนมาก ๆ และพวกเขาจำเป็นที่จะต้องมีรองเท้าใส่ ไนกี้จะได้ขาย “รองเท้าไนกี้เสมือน” ได้เป็นกอบเป็นกำ นอกจากนั้น เฟซบุคหรือเมตาเองก็ประกาศขาย “ที่ดินเสมือน” กันแล้วแม้ว่าโดยส่วนตัวผมเองก็ไม่รู้ว่าทำไมเราจะต้องมีที่ดินถ้าในโลกเสมือนนั้นเราไม่ได้มีตัวตนจริงและเราก็อาจจะไม่จำเป็นต้องประกาศว่าที่ดินนั้นมียี่ห้ออะไรหรืออยู่ที่ไหนเพื่อที่จะอวดกับคนอื่น เมื่อพูดถึงเรื่องนี้แล้ว ก็ไม่แน่ว่าวันหนึ่งสินค้าแฟชั่นหรูเช่นแอร์เมสหรือแชนเนลก็อาจจะต้องเข้ามา “จดทะเบียน” ในโลกเสมือนเหมือนกันถ้าไม่อยาก “ตกรถ” ที่มุ่งไปสู่เมตาเวอร์สที่ใหญ่โตอาจจะพอ ๆ กับโลกจริงในอนาคต
เทคโนโลยีบล็อกเชนเองยังสามารถ “สร้างทรัพย์สินดิจิทัล” ขึ้นมาเองโดยไม่ต้องมีของจริงเป็นฐาน และนั่นทำให้คนที่เชี่ยวชาญสามารถสร้างทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดในโลกจริงเช่น เงินหรือทองหรือที่ดินอย่างที่เฟซบุคทำขึ้นมา ว่าที่จริงมันก็เป็นเรื่องจำเป็นอยู่แล้วที่การค้าขายทรัพย์สินในโลกเสมือนจะต้องมีการจ่ายเงินรับเงิน ดังนั้น “เงินเสมือน” จึงถูกสร้างขึ้นเป็นจำนวนมาก เริ่มจากบิทคอยน์ที่เป็นผู้นำซึ่งในยุคแรกที่คนในโลกเสมือนยังมีน้อยมาก จึงไม่ค่อยมีคนยอมรับ เรื่องราวจึงเป็นว่าคนที่มีเงินบิทคอยน์หรือเป็นคนสร้างหรือผลิตมันขึ้นมาเอง ได้เอาไปแลกซื้อพิสซา 2 ถาดในราคา 10,000 บิทคอยน์ ซึ่งคิดแล้ว 1 บิทคอยน์ในโลกเสมือนเท่ากับประมาณ 10 สตางค์ของไทย แต่เมื่อเวลาผ่านไปแค่ 12 ปี จนถึงวันนี้ที่คนเชื่อว่าความต้องการบิทคอยน์จะสูงมากมหาศาลในโลกเสมือน จึงทำให้ 1 บิทคอยน์สามารถแลกเป็นเงินได้ถึง 2 ล้านบาท และคนที่ซื้อพิสซาถาดนั้นได้จ่ายเงินไปถึง 20,000 ล้านบาท
การสร้างหรือผลิตเงินหรือ “พิมพ์เงิน” เองในโลกเสมือนนั้น กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเต็มไปหมด นอกจากเงินแล้วก็ยังมี “เหรียญ” สารพัดที่จะนำมาใช้หรือนำมาขายในตลาด เมื่อเร็ว ๆ นี้หนังเรื่อง “Squid Game” ซึ่งดังมากในเน็ตฟลิกก็ถูกนำมาทำเป็นเหรียญเพื่อล่อให้คนมาซื้อแล้วสุดท้ายก็ “ถูกเชิด” หนีโดยการปิดโปรแกรมทิ้งได้เงินไปประมาณ 100 ล้านบาท และนี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ในแง่ของกฎหมายเองก็คงทำอะไรได้ยากเหมือนกัน เพราะนี่คือ “โลกเสมือน” ที่คนจำนวนมากเข้ามาด้วย “ความเชื่อ” และ “ความโลภ” โดยอาจจะยังไม่ตระหนักว่าอะไรคือ “กฎเกณฑ์” ที่ใช้บังคับการกระทำหรือข้อตกลงในโลกเสมือน
มูลค่าที่ “แท้จริง” หรือ “ค่าที่ควรจะเป็น” ของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ในสายตาของ VI อย่างผมก็คือ ถ้ามันเป็นสินทรัพย์ที่แปลงหรืออิงอยู่กับทรัพย์สินจริง เช่น คอนโดหรือธุรกิจบางอย่างที่มีรายได้มีกำไรและจ่ายปันผลก็เป็นเรื่องง่าย นั่นคือเราก็ไปวิเคราะห์สิ่งที่มันเป็นตัวแทน แต่ถ้าเป็นทรัพย์สินที่ถูกสร้างขึ้นมาในโลกเสมือน แม้ว่ามันจะสามารถนำมาใช้ในโลกจริงได้แต่โดยตัวมันเองไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือมีกำไรเช่น เงินดิจิทัล แบบนี้การประเมินมูลค่าก็ทำได้ยากมากถึงทำไม่ได้ ในกรณีแบบนี้ผมก็จะไม่สนใจเลย เพราะถ้าพยายามทำก็จะกลายเป็นการเก็งกำไรหรือการพนันที่โอกาสแพ้ชนะมีเท่ากันและราคามักขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านจิตวิทยามวลชนที่คาดการณ์ยากมาก และอะไรที่ไม่รู้ ผมก็มักจะหลีกเลี่ยง
กลับมาที่บิทคับซึ่งก็คือแพลทฟอร์มหรือตลาดหรือโบรกเกอร์ที่ให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเฉพาะเงินดิจิทัลเช่นบิทคอยน์นั้น จริง ๆ ก็คือธุรกิจที่มีรายได้จากค่าธรรมเนียมการซื้อขายแนวเดียวกับโบรกเกอร์ในตลาดหลักทรัพย์ จุดเด่นก็คือ บริษัทเป็นผู้นำและแทบจะ Dominate หรือครอบงำการซื้อขายเงินดิจิทัลในประเทศไทยซึ่งเติบโตขึ้นเป็นจรวดในเวลาแค่ 1-2 ปี อานิสงค์จากการปรับตัวขึ้นลงแรงมากของบิทคอยน์ คนไทยรุ่นใหม่จำนวนอาจจะเป็นล้านคนต่างก็เข้ามาเล่นในสินทรัพย์นี้ ซึ่งส่งผลให้บิทคับมีปริมาณการซื้อขายสินทรัพย์ในช่วง 9 เดือนของปีนี้คิดเป็นเงินระดับ 1 ล้านล้านบาท มีรายได้ 3-4 พันล้านบาท และกำไรประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งต้องถือว่าเป็นผลประกอบการ “สุดยอด” และอาจจะคุ้มค่าเงินที่ SCBX จ่าย อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของการลงทุนก็มีมากพอ ๆ กัน
ความเสี่ยงข้อแรกก็คือ ตลาดการซื้อขายเงินเหรียญปีต่อ ๆ ไปอาจจะไม่บูมและถ้า “ดับ” ตามราคาของบิทคอยน์หรือคอยน์อื่น ๆ รายได้ก็จะหายไปได้มาก ข้อที่สองซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีโอกาสเกิดค่อนข้างมากก็คือ “คู่แข่ง” ซึ่งก็มีอยู่หลายแห่งและอนาคตอาจจะรวมถึงรายที่มาจากต่างประเทศจะเข้ามาแข่งได้อย่างจริงจังมากขึ้นหลังจากบิทคับที่เป็นรายแรก ๆ เริ่มนำไปก่อน เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ แบ้งค์ของไทยหลาย ๆ แห่งก็คงไม่เฉยรอให้ SCBX ทำอยู่ฝ่ายเดียวและอาจจะมาแย่งลูกค้าของตนที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้นพวกเขาอาจจะต้องรีบเข้ามาทำบ้างก่อนที่จะ “สายเกินไป” และเนื่องจากธุรกิจให้บริการแบบนี้มักจะไม่มี Barrier to Entry และมักไม่มีความได้เปรียบที่ยั่งยืนนั่นคือ ไม่มี Network Effect หรือ Exit Cost ที่จะดึงลูกค้ารายใหม่หรือป้องกันลูกค้ารายเดิมให้อยู่กับบริษัทกรณีที่คู่แข่งเสนอเงื่อนไขเช่น ราคาค่าบริการที่ต่ำกว่า ผลก็คือ ดีลนี้อาจจะไม่ได้คุ้มค่าในแง่การลงทุน อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า SCBX คงได้อย่างอื่นโดยเฉพาะชื่อเสียงที่จะดึงดูดให้ธุรกิจหรือคนในแวดวงดิจิทัลให้เข้ามาเป็นตัวเลือกแรกเวลาอยากทำดีล ซึ่งแค่นี้ก็อาจจะ “คุ้มแล้ว” สำหรับ SCBX
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2021/11/08/2586